ตำนาน “อิคารัส” มนุษย์วิหคประดิษฐ์ บินเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ท้าทายเทพอพอลโล

อิคารัส มนุษย์วิหคประดิษฐ์
The Fall of Icarus, วาดโดย Jacob Peter Gowy (ภาพจาก Museo Nacional del Prado)

เรื่องราวของ อิคารัส (Icarus) บุรุษผู้ติดปีกบินแล้วเกิดความคึกคะนอง บินสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ของ เทพอพอลโล เป็นเหตุให้เทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์พิโรธจนสาดแสงให้ร้อนกว่าเดิมจนแผดเผาปีกของเขา

อิคารัสเป็นบุตรของ เดดาลัส (Daedalus) นักประดิษฐ์อัจริยะ ประติมากร และสถาปนิกผู้ยิ่งใหญ่ในปกรณัมกรีก เดดาลัสคือผู้ออกแบบแปลนการสร้างเขาวงกตที่โด่งดังแห่งวังคนอสซอส (Knossos) บนเกาะครีต ดินแดนของ กษัตริย์ไมโนส (Minos) เขาวงกตนี้คือสถานที่จองจำ มิโนทอร์ (Minotaur) อมนุษย์ครึ่งคนครึ่งวัวนั่นเอง

ปีกแห่งอิคารัสเป็นสิ่งประดิษฐ์จากความพยายามเพื่อเป็นอิสระหลังการถูกจองจำของเดดาลัสและอิคาลัส พวกเขาถูกขังไว้หอคอยแห่งวังคนอสซอสของกษัตริย์ไมโนส แต่เหตุใดคนสำคัญอย่างเดดาลัสและบุตรชายจึงกลายเป็นนักโทษกษัตริย์เสียเอง ?

ต้นเรื่องนั้นเกิดจากกษัตริย์ไมโนสทรงสืบทราบว่าเดดาลัสให้ข้อมูลเขาวงกตแก่บุตรีของพระองค์ คือ เจ้าหญิงอาเรียดเน (Ariadne) นางนำข้อมูลนี้ไปบอกต่อแก่ เธซิอุส (Theseus) วีรบุรุษแห่งเอเธนส์ผู้มาเยือนคนอสซอสเพื่อสังหารมิโนทอร์ ข้อมูลดังกล่าวทำให้เธซิอุสหาทางออกมาจากเขาวงกตได้หลังเขาลงมือสังหารมิโนทอร์

กษัตริย์ไมโนสกริ้วหนัก เพราะมิโนทอร์เปรียบดั่งยมทูตที่คอยพรากชีวิตนักโทษและศัตรูของพระองค์ ทันทีที่ทราบเรื่อง กษัตริย์ไมโนสมอบข้อหากบฏต่อแผ่นดินแก่ทั้งเดดาลัสและอิคารัสพร้อมสั่งจองจำพวกเขาไว้บนหอคอยแห่งวังคนอสซอสทันที

การถูกจองจำไว้บนหอคอยทำให้ทั้งเดดาลัสและอิคารัสครุ่นคิดหาหนทางที่จะหนีจากสถานแห่งนี้ โดยเฉพาะอิคารัสผู้บุตรที่กระสับกระส่ายอย่างมากตามประสาเด็กหนุ่ม เขารักการผจญภัย อยากท่องโลกกว้าง การถูกจองจำไว้บนอาคารสูงอันน่าเบื่อหน่ายนี้สร้างความอึดอัดแก่เขาอย่างมาก เดดาลัสและอิคารัสมักแหงนหน้ามองท้องฟ้าและดูฝูงนกบินอย่างเสรีบนนั้น ด้วยสติปัญญาอันปราดเปรื่องและความอัจฉริยะของเดดาลัส เขาเริ่มคิดถึงบางสิ่งที่จะปลดปล่อยตนเองและบุตรชายจากคุกแห่งนี้ได้

เดดาลัสประมวลความคิดเพื่อสร้างสิ่งประดิษฐ์ที่ท้าทายโชคชะตากว่าทุกครั้ง เมื่อท้องฟ้าคือหนทางแห่งอิสรภาพเพียงทางเดียว… พวกเขาจำเป็นต้องติดปีกเพื่อบินให้ได้

เดดาลัสและอิคารัสหาทางจับนกที่บินโฉบไปมาผ่านหอคอยแห่งการจองจำได้สำเร็จ พวกเขาทำการถอนขนปีกนกและเชื่อมพวกมันด้วย “ขี้ผึ้ง” ให้กลายเป็นปีกขนาดใหญ่แล้วเชื่อมปีกประดิษฐ์นั้นกับแขนของตน เมื่อเดดาลัสลองกระพือปีกคู่แรกที่เขาเพียรสร้างขึ้นนั้น พบว่ามันทำให้ร่างของเขาลอยขึ้นได้จริง นำความยินดีมาสู่อิคารัสอย่างยิ่ง เขาขอให้บิดาสร้างปีกขึ้นมาอีกคู่สำหรับเขาทันที ปีกคู่ที่สองถูกสร้างขึ้น ด้วยวัยวุฒิและความเป็นบิดา เดดารัสย้ำเตือนบุตรชายว่าปีกประดิษฐ์จะทำให้เขาเป็นอิสระจากสถานที่คุมขังและเกาะแห่งนี้ แต่อย่าบินสูงจนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ เพราะความร้อนจะหลอมละลายขี้ผึ้ง รวมถึงอย่าบินต่ำจนเรียบไปกับผืนทะเล เพราะน้ำจะทำให้ขนนกเปียกจนมันหนักบินไม่ขึ้น นั่นจะทำให้เขาจะจมน้ำ

ปีกประดิษฐ์นำเดดาลัสและอิคารัสลอยขึ้นสู่ท้องฟ้า สองพ่อลูกโบยบินไปบนอากาศด้วยความยินดีอย่างล้นพ้น ท่ามกลางความตื่นตะลึงจากผู้คนด้านล่าง อิสรภาพและความคึกคะนองทำให้อิคารัสบินสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ การติดปีกบินทำให้เด็กหนุ่มรู้สึกเข้าใกล้ความเป็นเทพเจ้า เขาลืมคำเตือนของบิดาแล้วแหงนขึ้นไปมองแหล่งกำเนิดแสงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดบนฟากฟ้า นั่นคือ ดวงอาทิตย์

อิคารัสบินสูง ทิ้งบิดาไว้เบื้องล่างและเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น อิคารัสคิดแต่เพียงว่า เขาจะเป็นมนุษย์คนแรกที่เข้าใกล้เทพเจ้ามากกว่าใคร ๆ ซึ่งบัดนี้ เดดาลัสไม่สามารถเหนี่ยวรั้งหรือห้ามปรามบุตรชายจากหายนะที่กำลังจะเกิดได้แล้ว

ขณะเดียวกัน อพอลโล (Apollo) เทพแห่งดวงอาทิตย์สัมผัสได้ถึงแรงปรารถนาบางอย่างจากอิคารัส พระองค์จ้องมองลงมายังมนุษย์ตัวน้อยกับสิ่งประดิษฐ์ที่น่าตื่นตะลึงนั้นอย่างประหลาดใจ อพอลโลเริ่มไม่พอพระทัยต่อความอหังการของอิคารัส ความพยายามในการเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ถือเป็นการท้าทายเทพเจ้าอย่างพระองค์ ด้วยความพิโรธดังกล่าว เทพอพอลโล เร่งแสงและความร้อนของดวงอาทิตย์ อิคารัสและปีกวิหคของเขาเริ่มเกิดความเปลี่ยนแปลงบางอย่างขึ้น ความร้อนจากแสงอาทิตย์หลอมละลายขี้ผึ้งที่ยึดเหนี่ยวปีกแห่งอิคารัส

แสงแห่งความพิโรธของเทพเจ้าทำลายเผาไหม้ปีกประดิษฐ์จนสิ้นสภาพ อิคารัสไม่สามารถบินได้อีก แสงสว่างอันโชติช่วงที่สุดบนฟากฟ้าที่เด็กหนุ่มมุ่งหมายจะพิชิต บัดนี้มันส่งร่างของเขาร่วงลงสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนต่อหน้าต่อตาผู้เป็นบิดา อิคารัสจมน้ำเสียชีวิต…

The Lament for Icarus, วาดโดย Herbert Draper (ค.ศ. 1898) (ภาพจาก Wikimedia Commons)

เรื่องราวของ “อิคารัส” ถูกเล่าซ้ำ ๆ โดยกวีชาวกรีกและโรมันเพื่อย้ำเตือนถึงโทษจากความคึกคะนองลำพองตน รวมถึงอันตรายที่เกิดจากความโอหังของมนุษย์ เป็นคติสอนใจว่าแผนการอันทะเยอทะยานที่สุดก็เกิดความผิดพลาดได้ ทั้งด้วยความเป็นเด็กหนุ่มของอิคารัสที่เต็มไปด้วยความคิดโลดโผนอาจจะสอนเราได้เช่นกันว่า ความประมาทและประสบการณ์ที่ไม่มากพอสามารถสร้างความเสียหายได้เช่น

ดูเรื่องราวของเดดาลัสและอิคารัส เพิ่มเติมได้จาก ช่อง YouTube ของ TED-Ed

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง : 

Greek Mythology.com :  Icarus

Greek Reporter.com : The Tragic Story of the Fall of Icarus

TED-Ed : The myth of Icarus and Daedalus – Amy Adkins


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 ตุลาคม 2565