ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2544 |
---|---|
ผู้เขียน | สิทธิพร ณ นครพนม |
เผยแพร่ |
ศึกส้มป่อย เป็นสงครามที่เกิดขึ้นเมื่อเกือบ 200 ปีก่อน วิทยานิพนธ์ดีเด่นของคุณสายพิน แก้วงามประเสริฐ พ.ศ. 2536 ได้นำเสนอว่าทุ่งสัมฤทธิ์ จังหวัดนครราชสีมา มิใช่สมรภูมิชี้ขาดศึกไทย-ลาว พ.ศ. 2370 เพราะครัวไทยหมื่นคนเศษรุมตำรวจลาว 200 คน ที่คุมมายังไงก็ชนะอยู่แล้ว
แต่จะดีเด่นที่สุดหากค้นต่อว่าแล้วสมรภูมิชี้ขาดอยู่ที่ใด? คือทุ่งส้มป่อย ตำบลนาค่าย อำเภอสุวรรณคูหา-นากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู นี้เอง เก็บความจากนิราศเวียงจันท์ นิพนธ์โดยหม่อมเจ้าทับ (เสนีวงศ์) ตามเสด็จสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพจอมพยุห์ในครั้งนั้น (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพเจ้าจอมมารดา ม.ร.ว. แสง ในรัชกาลที่ 4 พ.ศ. 2473)
การตอบโต้ฝ่ายไทย
การกอบกู้เอกราชของสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 3 (เจ้าอนุวงศ์) เวียงจันนั้นเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว การตอบโต้ของไทยกลับรวดเร็วไม่น่าเชื่อ ซึ่งทราบภายหลังว่า สมเด็จเจ้ามหาอุปราช (ติสสะ) อนุชาต่างมารดาแอบส่งข่าวให้ทราบ และจัดทัพเคลื่อนจากกรุงเทพฯ วันที่ 3 มีนาคม 2369 คือ
1. สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ คุมทัพหลวงขึ้นท่าเรือพระพุทธบาท เดินทัพเข้าสระบุรี ดงพระยาไฟ (เย็น) ดงพระยากลาง นครราชสีมา เข้าเมืองชัยภูมิช่องสามหมอ เมืองภูเวียง และเมืองหนองบัวลำภู
2. เจ้าพระยาอภัยภูธร (น้อย บุญยรัตพันธ์) สมุหนายกทวนแม่น้ำป่าสัก เข้าเมืองเพชรบูรณ์สมทบกับทัพเมืองพิษณุโลกตีเมืองหล่มสัก ซึ่งเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) ยึดครองอยู่จัดเป็นทัพปีกซ้ายไทย
3. พระยาราชสุภาวดี (สิงห์ สิงหเสนี) เจ้ากรมพระสุรัสวดี เคลื่อนเข้าเมืองประจันตคาม เข้าช่องเรือแตกเป็นทัพปีกขวาไทยบุกถึงเมืองอุบลราชธานี จำปาศักดิ์ ทวนแม่น้ำโขงสู่เมืองนครพนมและเวียงจัน
การตั้งรับของลาว
เจ้าอนุวงศ์จอมทัพลาวผู้พิชิตพม่าที่เชียงแสนสิบสองจุไทปราบขบถจำปาศักดิ์มาแล้ว หลับพระเนตรเห็นภาพหมดก่อนถอยทัพจากเมืองสระบุรี ว่าจะสกัดทัพไทยอย่างไร จึงวางกำลังรับทัพปีกซ้ายไทยไว้เมืองหล่มสัก มีเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) คุมทัพ เจ้าราชบุตร (โย้) ซึ่งเป็นเจ้านครจำปาศักดิ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2363 เตรียมรับทัพปีกขวาไทยอยู่ หากจะพลาดก็คือเจ้าอุปราช (ติสสะ) ทัพหลัง ซึ่งแผนศึกจะให้คอยหนุนทัพต่างๆ แถวร้อยเอ็ดสุวรรณภูมินั้นเป็นไส้ศึกไทย ส่วนเจ้าอนุวงศ์เตรียมรับศึกทัพหลวงไทยอยู่เวียงจัน โดยวางกำลังคือ
1. ค่ายเมืองหนองบัวลำภู มี พระยานรินทร์ อดีตเจ้าเมืองสี่มุมเป็นแม่ทัพ กำลัง 3,000 คน
2. ค่ายช่องเข้าสาร (ข้าวสาร) เจ้าสุริยะ หลานเจ้าอนุวงศ์ กำลัง 26,000 คน (อ.สุวรรณคูหา)
3. ค่ายตำบลสนม มี พระยาเชียงสา คุมกำลัง 5,000 คน
4. ค่ายช่องหัวแตก (ช่องงัวแตก) มีกองคำเป็นหัวหน้า กำลัง 4, 000 คน
ยุทธการไทย
ทัพฝ่ายเหนือ (ปีกซ้าย) และทัพหลวงตีเมืองหล่มสักหักทัพปีกขวาลาวได้ และบุกตีเมืองหนองบัวลำภูวันที่ 1 พฤษภาคม แตกวันที่ 4 พฤษภาคม จัดทัพใหม่เตรียมบุกเวียงจัน พระยานรินทร์ถูกจับตัวได้ สมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ ตรัสถามก็กราบทูลแผนตั้งรับหมด
“ว่าอนุให้สุริยหลาน มาตั้งด่านเข้าสารเป็นที่มั่น พลรบสองหมื่นหกพัน ทำเขื่อนค่ายยับยันกับคีรี ตั้งบิลันกันทางไว้หว่างเขา ให้ขนเอาศิลาขึ้นหน้าที่ คอยจะทุ่มทิ้งทัพให้ยับยี กันวิถีไว้ที่หว่างหนทางจร ตูข้อยน้อยเห็นว่าเหลือกำลังนัก จะหันหักขึ้นข้ามบนศิงขร จงผันผ่อนทรงคิดจงให้ดี อันเวียงจันท์ล้วนแต่คันภูเขาล้อม จำเพาะจรขึ้นจอมคิรีศรี อันทางราบที่จะไปนั้นไม่มี ช่องวิถีแสนสุดกันดารเดิน”
สมเด็จพระบวรราชจอมพยุห์ไทย “ลิขิตคำให้การแล้วอ่านไป ไม่สงสัยทราบสิ้นทุกสิ่งอัน แล้วทรงคิดที่จะยกเข้าตีด่าน จะสิ้นพลทหารเป็นแม่นมั่น จะตั้งรอไว้พองามสักสามพัน (รักษาเมืองหนองบัวลำภู) ที่หนึ่งนั้นมีน้ำในลำธาร เป็นบ้านร้างทางลงมาจากเขา นามลำเนาส้มป่อยเป็นถิ่นฐาน ทรงดำริแล้วดำรัสให้จัดการ”
จึงเป็นที่มาของพระอัจฉริยะเชิงยุทธ์ “ศึกส้มป่อย” ครั้งนี้
ศึกส้มป่อย
ทัพหน้าไทยยกตามลำห้วยส้มป่อยห่างจากค่ายช่องเข้าสารประมาณ 10 กิโลเมตร กองลาดตระเวนลาวเห็นเข้าจึงล้อมไว้ถึง 3 ชั้น และรุกบีบเข้ามา ทัพหน้าไทยกำลังเพลี่ยงพล้ำแต่งม้าเร็วรีบไปกราบทูลจอมทัพเมืองหนองบัวลำภู
“ในวันนี้ทัพช่วยไม่ถึงทัน เห็นไม่ถึงสุริยันจะยอแสง ทั้งเข้าน้ำมิได้กินก็สิ้นแรง จะคุมแข็งอยู่สักกึ่งทิวาวัน”
สมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ จึงรีบยกทัพหลวงส่วนหนึ่ง ตามไปแก้ล้อมทัพหน้าลาวเป็นชั้นที่ 4 (ล่วงเข้าเป็นวันที่ 5 ตั้งแต่เข้าทุ่งส้มป่อย) ทัพหลวงลาวจึงถอนกำลังทั้งหมดล้อมทัพหลวงไทยเป็นชั้นที่ 5 สมเด็จพระบวรราชเจ้าฯ ลงจากช้างพระที่นั่งแล้ว
“จอมณรงค์ทรงยืนฟื้นพสุธา คอยเลี่ยงหลีกหลุมงาที่รุ่มรัง จัตุรงค์ร้อยเศษที่ตามไป ทั้งนายไพร่มิได้ท้อจะถอยหลัง”
สถานการณ์ศึกเช่นนี้ทัพไทยแพ้แน่ แต่จะเป็นเพราะพระบุญญาธิการหรืออะไรไม่ทราบ ทัพหลวงเมืองหนองบัวลำภูรุกตามมาเป็นทัพหลังทัพหนุนเข้าล้อมทัพหลวงลาวเป็นชั้นที่ 6 ทำให้ลาวพะว้าพะวัง แต่ก็สู้สุดฝีมือกัน
“ลาวรับไทยรุกเข้าบุกรบ ลาวหลบไทยไล่ด้วยใจหาญ ลาวยิงไทยวิ่งเข้ารอนราญ ลาวแตกแซกซ่านเข้าพงพี”
กลายเป็นพลิกสถานการณ์กลับไทยชนะอย่างขาวสะอาด แต่ “ศึกส้มป่อยฟั่นเฝือเหลือกำหนด จะจำจดสุดเล่ห์คะเนหวัง แต่ฟันฝ่าอาวุธสุดกำลัง เป็นศึกสั่งเวียงสิ้นฝีมือลาว” เผด็จศึกวันที่ 13 พฤษภาคม 2370 รวม 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม ซึ่งทัพหน้าไทยมาถึงทุ่งส้มป่อย
แต่จอมยุทธ์เจ้าอนุวงศ์ยังไม่แพ้ง่ายๆ ถือเป็นการถอยทัพทางยุทธวิธีเข้าเวียดนามและยังสามารถเข้าโจมตีทัพไทยที่เวียงจัน-พานพร้าวได้อีก ปี พ.ศ. 2371 ต่อมา และคาดไม่ถึงว่าเจ้าน้อยเมืองพวน บุตรเขยจะจับตัวส่งทัพไทย หากพิจารณาด้วยใจเป็นกลางแล้วต้องถือว่าเป็นจอมทัพผู้เยี่ยมยุทธ์คนหนึ่งในโลก แต่ความพ่ายแพ้ทั้ง 2 ครั้งนี้ นอกจากพระปรีชาญาณของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพแล้ว ทั้งเจ้าอุปราช (ติสสะ) เวียงจัน พระยานรินทร์เจ้าเมืองสี่มุมผู้ชี้ทางห้วยส้มป่อยและเจ้าน้อยเมืองพวนบุตรเขย คือ หอกแทงหลังเจ้าอนุวงศ์ทั้งสิ้น
บ้านส้มป่อยวันนี้
บ้านค่ายส้มป่อย หมู่ที่ 2 ตำบลนาค่าย แยกเป็นบ้านค่ายเมืองแสน หมู่ที่ 11 เมื่อ พ.ศ. 2541 นี้อีกหมู่บ้านหนึ่ง ท้องที่อำเภอสุวรรณคูหาและอำเภอนากลาง จังหวัดหนองบัวลำภู ต่อเนื่องกันเริ่มบุกเบิกเป็นหมู่บ้าน พ.ศ. 2489 จากบ้านนาด่าน จนเป็นหมู่บ้านใหญ่ปัจจุบัน และยังคงชื่อเดิมไว้แต่ไม่รู้ความเป็นมา ทางโรงเรียนสันบินฐานว่าอาจเป็น “ค่ายฮ่อ” สมัยปราบฮ่อ พ.ศ. 2428
ผมต้องรีบตามไปเก็บภูมิปัญญาท้องถิ่นไว้ก่อนสญ พบกลุ่มผู้เฒ่าอายุ 70-80 ปี รุ่นบุกเบิกมาทำนาแถวนี้กับพ่อแม่ พ.ศ. 2489 เล่าให้ฟังว่าผีดุมาก เมื่อตัดไม้มาเลื่อยก่อสร้างบ้านเรือนส่วนมากมีกระสุนเหล็กฝังในทุกต้น หากเลื่อยถูกต้องเสียเวลามาตะไบเลื่อยที่บิ่น พบกระบอกปืนคาบศิลาหลายท่อน ทั้งดาบง้าวหอกสนิมจับเกรอะจำนวนมาก และได้รวมขายเป็นเศษเหล็กเกือบหมด ไม่พบโครงกระดูกคนบริเวณหมู่บ้านที่อยู่ปัจจุบัน แต่
1. โรงเรียนบ้านค่ายส้มป่อย เดิมมีคันน้ำคูดิน พ่อแม่ผู้เฒ่าเคยบุกเบิกพบเตาหลอมถลุงเหล็กเศษเหล็กและตะกรันอยู่หลายเตา (ค่ายสรรพาวุธ?) และอาวุธเก่าหลายชนิดแต่นำไปขายหมดแล้ว ทั้งหม้อดินเผา กล้องยาสูบอีกมาก ซึ่งให้โรงเรียนรวมไว้จำนวนหนึ่งเรียกกันว่า “ค่ายเมืองแสน” สืบมา ไม่ใช่ค่ายส้มป่อยซึ่งเป็นชื่อห้วยและทุ่ง ผมว่าน่าจะถูกคือพระยาเมืองแสน เสนาบดีฝ่ายขวาของเวียงจันนั้นเอง
2. ทุ่งจันทา คือทุ่งส้มป่อยเดิมยังมีสภาพเป็นป่าดงอยู่และผีดุมาก ไม่มีใครกล้าบุกเบิก ซึ่งก็ใกล้เคียงกับ “พระยาเมืองจันทร์” เสนาบดีฝ่ายซ้ายของเวียงจัน อาจเป็นแม่ทัพบุกล้อมบริเวณนี้ก็ได้ หากมีการขุดค้นคาดว่าคงพบทั้งศาสตราวุธ โครงกระดูกคน ม้า ช้าง อีกมากมาย
ชาวบ้านค่ายส้มป่อยและบ้านค่ายเมืองแสน สืบทอดชื่อสถานที่ได้ถูกต้อง แต่ไม่มีใครช่วยขุดคุ้ยสมรภูมิไทย-ลาว ครั้งใหญ่ พ.ศ. 2370 จนลืมเลือนเป็นศึกฮ่อกันหมด ไม่มีใครรู้จักสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ แม่ทัพไทย หม่อมเจ้าทับ เสนีวงศ์ ผู้บันทึกเหตุการณ์และไม่รู้จักสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชที่ 3 (เจ้าอนุวงศ์) แห่งเวียงจัน จอมทัพลาว แต่ยังจำพระยาเมืองแสน พระยาเมืองจันทร์ เสนาบดีฝ่ายขวา-ซ้าย ผู้ยันศึกครั้งนั้นได้จนเป็นชื่อหมู่บ้าน
ผมชักไม่แน่ใจพระยานรินทร์ เจ้าเมืองสี่มุมผู้คุมทัพ เมืองหนองบัวลำภูเสียแล้วครับ ว่าทรยศจริงหรือไม่? ที่บอกทางทัพไทยให้เข้าทางห้วยส้มป่อยและกลายเป็นกับดัก เพราะเจอค่ายขนาบอยู่ถึง 2ค่าย (ค่ายเมืองแสน, ค่ายจันทา) เพราะตรวจรอบโรงเรียนน่าจะเป็นค่ายใหญ่ ที่ส่งกำลังสับเปลี่ยนกับกองทหารช่องเข้าสารซึ่งอยู่บนภูเขาแน่ และอาจเป็นค่ายสรรพาวุธส่งกำลังบำรุงให้กองนี้อีกหน้าที่หนึ่งก็ได้ กองทัพไทยเข้ามาสู่กับดักขนาดนี้แล้ว ยังชนะกองทัพลาวได้สมกับหม่อมเจ้าทับท่านว่าศึกส้มป่อยฟั่นเฝือเหลือกำหนดจริงๆ ครับ
ศรีสัตนาคนหุตเจ้า จอมสกล
ส้มป่อยพ่ายเสียพล ยิ่งร้อย
สองเสด็จดัสกรกล เทวษ ท่านฤา
ตูบ่อาจต่อต้อย เร่งร้างเวียงถวาย
(นิราศทัพเวียงจันท์ นิพนธ์ของหม่อมเจ้าทับ เสนีวงศ์)
อ่านเพิ่มเติม :
- พื้นเวียง : หลักฐานเบื้องลึกอีกด้าน สาเหตุสงครามเจ้าอนุวงศ์
- พระราชพิธีตัดไม้ข่มนามในสงครามปราบเจ้าอนุวงศ์
-
ประวัติศาสตร์ลาว ฉบับชาวฝรั่งเศสเขียน อ้าง “เจ้าอนุวงศ์” บุกถึง “กรุงเทพฯ”
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 14 กรกฎาคม 2565