ตามรอย ลายประจำยามก้ามปู ลวดลายเก่าตั้งแต่สมัย “ทวารวดี”

ลายประจำยามก้ามปู ถ้ำเอลโลร่า
ศิลปะอินเดีย ประจำยามก้ามปู ประดับเสาภายในถ้ำเอลโลร่า (ถ้ำที่ 21) (สลักหิน)

ช่างไทยภาคกลางนิยมใช้ลายประดับแบบหนึ่ง ที่เรียกกันว่า “ลายประจำยามก้ามปู” ชื่อลายนี้คงตั้งเรียกกันตามลักษณะของลวดลาย คือ รูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน หรือ ประจำยาม และ ลายก้ามปู เป็นสำคัญ ที่มาของลวดลายนี้เก่าแก่ย้อนไปได้ถึงสมัย “ทวารวดี” เลยทีเดียว

รูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน เรียกกันตามภาษาช่างว่า ประจำยาม เพราะลายนี้มักประดับตามตำแหน่งหลักอยู่กึ่งกลาง หรืออยู่ริม เพื่อเป็นหลักกำกับการออกลายชนิดอื่น

ภายในรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน มักแบ่งออกสี่ส่วนคล้ายกลีบดอกไม้ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงมีการเรียกกันว่า ดอกประจำยาม อีกด้วย

ลายก้ามปู คือลายกระหนกสองตัวประกอบกันเป็นง่ามคล้ายก้ามปู บางครั้งประดับอยู่กับดอกประจำยาม

แต่อันที่จริงแล้ว ลายประจำยามก้ามปูยังต้องมีลายรูปวงกลมมีกลีบดอกไม้ ที่เรียกกันว่า ลายดอกกลม (หรือดอกจอก) ร่วมประกอบอยู่ด้วย จึงจะครบเป็นชุดใช้เรียงสลับต่อเนื่องกันไป มักมีการประดับลายก้ามปูอยู่กับลายดอกกลม มากกว่าประดับอยู่กับดอกประจำยามที่กล่าวมาแล้ว (รูปที่ 2)

ลายประจำยามก้ามปู ศิลปะอ ยุธยา วัดมหาธาตุ
รูปที่ 2 ศิลปะอยุธยา ประจำยามก้ามปู ประดับปรางค์รายภายในวัดมหาธาตุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ปูนปั้น)

ช่างไทยเว้นการออกชื่อลายดอกกลม ในขณะที่นักกวิชาการชาวตะวันตกเห็นว่าลายดอกกลม กับลายดอกเหลี่ยมขนมเปียกปูน เด่นเป็นหลักของลายนี้ จึงเรียกลายดอกกลมสลับสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ส่วนลายคล้ายก้ามปูเห็นเป็นลายประกอบจึงไม่รวมอยู่ในชื่อเรียกด้วย

รูปที่ 3 ศิลปะทวารวดี ประจำยามก้ามปู ประดับวงล้อธรรมจักร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร (สลักหิน)

ลายประจำยามก้ามปู มีเค้าอยู่ในศิลปะ “ทวารวดี” ทางภาคกลางของประเทศไทย ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 12 (รูปที่ 3)

ในประเทศกัมพูชาก็ปรากฏลวดลายแบบนี้ที่ศิลปะขอมก่อนสมัยเมืองพระนคร (รูปที่ 4) ในศิลปะจาม แบบมี่ซอน E1 (รูปที่ 5)

ศิลปะทั้งหลายที่กล่าวมานี้เกิดในพื้นที่ต่างกัน แต่อยู่ในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน มีแหล่งบันดาลใจสำคัญจากแหล่งเดียวกัน คือ ศิลปะอินเดีย

ลายประจำยามก้ามปูปรากฏขึ้นในศิลปะขอมได้ระยะหนึ่งก็หายไป ต่อมาศิลปะขอมสมัยเมืองพระนครในต้นพุทธศตวรรษที่ 15 ลงมาถึงราวพุทธศตวรรษที่ 18 อันเป็นระยะปลายของศิลปะขอมสมัยเมืองพระนคร ก็เชื่อว่าไม่นิยมลายนี้ บรรดาลวดลายในอิทธิพลศิลปวัฒนธรรมขอมที่พบในประเทศไทย จึงไม่ปรากฏลายประจำยามก้ามปูไปด้วย

ลายประจำยามก้ามปู ศิลปะ ขอม สมโบร์ไพรกุก จาม มี่ซอน
ซ้าย-รูปที่ 4 ศิลปะขอมสมัยก่อนเมืองพระนคร แบบสมโบร์ไพรกุก ประจำยามก้ามปู ประดับอาคาร (ปูนปั้น) ขวา-รูปที่ 5 ศิลปะจาม แบบมี่ซอน (สลักหิน)

หลังการครอบงำทางศิลปวัฒนธรรมขอม คือในปลายพุทธศตวรรษที่ 18 ต่อต้นพุทธศตวรรษที่ 19 ศิลปกรรมทางภาคกลางของประเทศไทยมีพัฒนาการจนเป็นลักษณะของตนเอง อาคารรุ่นแรกที่เริ่มมีรูปแบบเป็นไทย เช่น ปรางค์ประธานวัดมหาธาตุ ลพบุรี ลวดลายประดับก็ยังไม่มีลายประจำยามก้ามปูร่วมอยู่ด้วย

จนเมื่อมีพัฒนาการอีกระดับหนึ่ง ณ กรุงศรีอยุธยา ซึ่งได้รับการสถาปนาเป็นราชธานีของชาวไทยใน พ.ศ. 1893 ลายประจำยามก้ามปู จึงกลับมาได้รับความนิยม โดยมีเค้าโครงตามที่เคยมีอยู่ในศิลปะทวารวดี แต่ได้รับการปรับปรุงใหม่ให้เหมาะสมร่วมยุคสมัยกับลวดลายอื่นๆ

ช่างไทยสมัยต้นกรุงศรีอยุธยานิยมใช้ลายประจำยามก้ามปูประดับลงในแถบแนวนอน เช่น ปั้นด้วยปูนประดับหน้ากระดานฐาน หน้ากระดานบัวหัวเสา หรือโคนเสาของปรางค์ ดังที่ปรางค์วัดส้ม ปรางค์รายในวัดมหาธาตุ (รูปที่ 2) และปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา งานดุนทอง เช่น ที่ฐานเจดีย์จำลอง ก็ประดับลายนี้ด้วย ดังที่พบภายในกรุของปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ เช่นกัน

รูปที่ 6 ศิลปรัตนโกสินทร์ ลายประเภทประจำยามลูกฟักก้ามปู ประดับหน้ากระดานฐานเสากรอบประตู พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพฯ (ปูนปั้น ลงรัก ปิดทอง ประดับกระจก)

นับได้ว่า ลายประจำยามก้ามปูเหมาะสมแก่งานประดับหลายอย่าง จึงได้รับความนิยมแพร่หลายควบคู่กับลายประเภทเดียวกันที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งบางลายดัดแปลงไปจากลายประจำยามก้ามปู ได้รับความนิยมผ่านสมัยกรุงศรีอยุธยามาในสมัยรัตนโกสินทร์ด้วย

ลายแบบหนึ่งที่แตกออกจากลายประจำยามก้ามปู กลายเป็นลายใหม่ ได้แก่ ลายประเภทประจำยามลูกฟักก้ามปู ใช้กันเป็นประจำต่อเนื่องมาในศิลปะรัตนโกสินทร์ (รูปที่ 6)

การที่ลายประจำยามก้ามปูเป็นลายที่นิยมมากสุดลายหนึ่งในดินแดนทางภาคกลางของประเทศไทย ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะความเหมาะสมของจังหวะช่องไฟ ที่เกิดจากรูปร่างของลายที่แตกต่างกัน ทำให้ดูไม่เบื่อ ไม่ซ้ำซาก การปรับเปลี่ยนไม่ว่าจะประดับกระหนกก้ามปูกับลายดอกประจำยาม หรือกับลายดอกกลม ก็ได้ช่องไฟที่เหมาะสมเหมือนกัน จนแม้การยืดหรือหดลายก้ามปู ก็ไม่ทำให้จังหวะช่องไฟลดความงดงามลงไป กลับเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยปรับจังหวะของลายให้ได้สัดส่วนกับเนื้อที่ที่จะประดับ

ลายประจำยามก้ามปู มีระเบียบและมีความงดงาม รวมทั้งมีความคล่องตัวสำหรับการจัดวาง ให้ยักเยื้องได้ตามความเหมาะสมของพื้นที่ เป็นคุณสมบัติที่ตรงกับรสนิยมของคนไทยภาคกลาง

น่าจะหาความรู้กันต่อไปว่าเป็นเรื่องบังเอิญหรือมีเหตุผลอย่างใดหรือไม่ ที่ลายนี้ซึ่งเคยมีอยู่ในประเทศไทยสมัยทวารวดี จากนั้นก็ขาดช่วงไปหลายศตวรรษ จึงกลับมาได้รับความนิยมอีกในสมัยกรุงศรีอยุธยา และผ่านลงมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “ลายประจำยามก้ามปู ‘ทวารวดี’ ถึง ‘ศรีอยุธยา’ และ ‘รัตนโกสินทร์'” เขียนโดย ศาสตราจารย์ ดร.สันติ เล็กสุขุม ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2533


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มิถุนายน 2565