กะโหลกโมสาร์ท-ทำไมสัปเหร่อรับส่งกันเสมือนมรดกตกทอด ?!?

“โวลฟกัง อามาเดอุส โมสาร์ท ค.ศ. 1791 - Musa Votat Mori!” Joseph Hyrtl นักกายวิภาคศาสตร์ชาวเวียนนา ผู้รับทอดกะโหลกนี้คนสุดท้ายได้จารึกข้อความนี้ไว้ด้วยหมึกพิเศษ

เกือบสองร้อยปีแห่งความลึกลับและความไม่แน่นอน สองปีแห่งการศึกษาค้นคว้าทางประวัติศาสตร์และการสำรวจตรวจสอบข้อมูล บัดนี้ ยืนยันด้วยความมั่นใจได้แล้วว่า เราได้พบกระโหลศีรษะของคีตกวีเทพยดาจากสวรรค์ : โมสาร์ท แล้ว

บนโต๊ะทำงานของศาสตราจารย์ กล่องกระดาษแข็งทื่อๆ สีเทาใบหนึ่งวางอยู่ กอทฟรีด ทิชี (Gottfreed Tichy) ศาสตราจารย์วัย 44 ปี สาขาฟอสซิลวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งกรุงซัลส์บวกค่อยๆ ดึงฝากล่องขึ้น ด้วยอาการนุ่มนวล เขาบรรจงหยิบกระโหลกศีรษะมนุษย์อันหนึ่งออกมา

นี่คือโวลฟกังอามาเดอุส โมสาร์ท

ความเงียบ จะพูดอะไรกันต่อดี? จะคิดอะไรต่อ? ไม่เชื่อ? หยิบศีรษะของมหาคีตกวีมาวางไว้บนมือผม [1] ใช่ บนมือผมจริงๆ เพ่งพินิจพิจารณาดูด้านหน้า พลางหวนรำลึกถึงอมพจน์ของท่านโมสาร์ท “ฉันเป็นของสวรรค์ และของแผ่นดิน แต่จริงๆ แล้วฉนเป็นของสวรรค์มากกว่า”

ช่วงเวลาสองปีของการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์ เชิงสัณฐานวิทยา (MOR PHOLOGIE) เชิงวิทยาศาสตร์ เพื่อนำไปสู่ความถูกต้องแน่นอน

เมื่อ ดร.อังเงอมุลเลอร์ (Angermuller) ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์โมสาร์ท (MOZARTIUM) ได้มอบหมายให้ผมสำรวจตรวจกระโหลกนี้ ผมยังสงสัยในความจริงแท้ของหลักฐานนี้อยู่ แต่ทว่าในระหว่างที่งานค้นคว้าของผมกำลังคืบหน้าไปนั้น การคลี่คลายก็ลงตัวอย่างชัดเจนแจ่มแจ้ง ผมขอยืนยันว่านี่คือกระโหลกของโมสาร์ทจริงๆ

กะโหลก โมสาร์ท
“โวลฟกัง อามาเดอุส โมสาร์ท ค.ศ. 1791 – Musa Votat Mori!” Joseph Hyrtl นักกายวิภาคศาสตร์ชาวเวียนนา ผู้รับทอดกะโหลกนี้คนสุดท้ายได้จารึกข้อความนี้ไว้ด้วยหมึกพิเศษ

แต่ศาสตราจารย์ผู้นี้ก้าวเข้ามาสู่ข้อสรุปที่ไม่น่าเชื่อนี้ได้อย่างไรกัน?

วันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 1791 เวลาตีหนึ่ง โมสาร์ทถึงแก่กรรม สิริรวมอายุได้ 35 ปี บนเตียงนอนของเขา บทเพลงมีการบันทึกจนถึงโน๊ตตัวที่แปด ลีลาเครสแช็งโด อันอ้อนสร้อยของลาคริโมซา [2] “ฉันยังไม่ได้บอกอีกหรือว่าฉันเขียนบทเพลงมรณคีตา [3] นี้เพื่อตัวของฉันเอง” โมสาร์ท เอื้อนปัจฉิมวาจาก่อนสิ้นลม…

ท่านคีตกวีจากไปอย่างไม่มีวันกลับโดยเหลือเงินเพียง 60 ฟลอเร็ง ผู้หวังดีแนะนำภรรยาม่ายของท่าน คองสตันซ์ (Constance) ทำพิพธฝังศพแบบชั้นสาม [4]…ต่อมาเราก็ได้ทราบถึงพิธีศพแบบจำกัดปราศจากเสียงดนตรีในโบสถ์เล็กข้างๆ วิหารแซ็งต์เอเตียนของกรุงเวียนนา คนในครอบครัวที่ใกล้ชิด เพื่อนนักแสดง 2-3 คน ศิลปินเพลงมิตรแท้ไม่กี่คน…รวมทั้งเจ้าตัวร้าย ซาเลียรี่ [5]

ข้างหน้าประตู สตูเบนเทอร์ ประตูด้านหนึ่งของนครเวียนนา พายุกราดเกรี้ยวขึ้น พิธีแห่ศพจบกลางคัน

ม้าแก่หนึ่งตัว รถขนศพหนึ่งคัน สัปเหร่อหนึ่งคน ขบวนแห่ศพผู้น่าสงสารหายลับไปในพายุหิมะ แต่นั้นมา ไม่มีร่องรอยอีกต่อไป อามาเดอุส ได้ก้าวเข้าสู่ตำนานบทหนึ่งแล้วนับจากวันนั้น

สุสานเล็กๆ แห่ง แซงต์ มาร์ก : คนขุดศพผู้เก็บงำความลับ

ณ สุสานแห่งนี้เอง เรื่องราวที่น่าสนใจบทหนึ่งเริ่มต้นขึ้นมาขณะเมื่อรถขนศพเคลื่อนเข้าไปในสุสาน แซงต์ มาร์ก เงาร่างหนึ่งรออยู่ที่นั่น พลั่วในมือ รองเท้าคู่ใหญ่ บนพื้นหิมะ นี่คือ โยเซฟ รอทไมเออร์ (Joseph Rothmayer) คนขุดหลุมศพชายต่ำต้อยผู้นี้ ทราบว่าในห่อผ้าใบถุงใหญ่นี้มีซากศพของนายโมสาร์ทนอนอยู่ วาทยากรอัจฉริยะแห่งวิหารอามาเดอุสเจ้าของ เพลงขลุ่ยปีติ (La Flûte Enchantee) ซึ่งชายขุดศพเคยเข้าไปปรบมือให้ ณ โรงละครสาธารณะชานเมือง ผู้ชื่นชมที่ต้อยต่ำหย่อนศพอมตชนผู้นี้ลงในหลุมฝังศพรวม

แล้วกาลเวลาก็ผ่านผัน…ในปี ค.ศ. 1808 ชาวโมสาเที่ยน [6] เริ่มขุ่นเคืองในแง่ที่ว่า ไม่มีแม้แต่กางเขนบนที่ตั้งหลุมศพของคีตกวี ด้วยเหตุนี้ ผู้ภรรยาคองสตันซ์ตัดสินใจไปที่สุสานเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี โชคร้ายเหลือเกิน คนขุดศพท่านโมสาร์ทเสียชีวิตไปแล้ว คนขุดศพผู้รับช่วงต่อมามีท่าทางบ่ายเบี่ยง บอกว่าไม่รู้อะไรทั้งสิ้นนอกจากว่า หลุมศพต่างๆ ของปี 1791 ถูกพลิกขึ้นมา และโครงกระดูกที่ฝังไว้เป็นกอง ก็ย้ายไปอยู่ที่อื่น อนิจจา สำหรับภรรยาม่ายของเขาและสำหรับ “ประวัติศาสตร์มนุษยชาติ” แล้ว โมสาร์ทเหลือไว้แต่เพียงผลงาน และเกียรติภูมิเท่านั้น

ศาสตราจารย์ทิชี ค้นคว้าเอกสารกองโต อันเป็นผลจาการอ่านด้วยอุตสาหวิริยะในห้องเอกสารของห้องสมุดหลายแห่งในกรุงเวียนนารวมทั้งพิพิธภัณฑ์โมสาร์ทด้วย

ต่อไปนี้ลองฟังคำพูดจากปากของท่านศาสตราจารย์ทิชี เองดูบ้าง :

“ย้อนหลังกลับไปสักช่วงหนึ่งในปี 1803 แน่นอนก่อนหน้าการเยี่ยมเยือนของนางคองสตันซ์ ณ สุสาน โมสาร์ท…ตามประเพณีนิยมของออสเตรีย ทุกสิบปีจะมีการรื้อหลุมศพรวมออกมา เนื่องจากมีคนตายกันมาก ซ้ำร้ายสุสานยังมีขนาดเล็ก ก็เลยต้องจัดที่จัดทางใหม่ กระนั้นคุณก็อย่าได้จินตนาการไปว่าหลุมศพรวมจะเหมือนกับโพรงใหญ่ที่ระเกะระกะด้วยซากศพในแต่ละหลุม จะมีอยู่สิบหกศพที่บันทึกไว้ในบัญชีอย่างเป็นระเบียบ สี่ศพซ้อนกันเป็นชั้นๆ และอีกสี่ศพเรียงไปมาข้างๆ หลักฐานจากห้องเอกสารของโบสถ์ยืนยันว่า โยเซฟ รอทไมเออร์ คนขุดหลุมศพโมสาร์ทยังทำหน้าที่อยู่ที่สุสาน แซงต์ มาร์ก วันที่หลุมศพปี 1791 ถูกพลิกขึ้นมา ฉะนั้น เขาย่อมจำได้แน่นอนถึงสถานที่ซึ่งเขาได้ฝังศพไว้!”

นี่คือ กุญแจดอกสำคัญ นายโยเซฟได้ขุดซากของโมสาร์ทขึ้นมา ชายขุดศพผู้ต่ำต้อยนี่เองที่เก็บกะโหลกศีรษะของโมสาร์ทไว้ กรณีการโจรกรรม การลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะถูกลงโทษอย่างอุกฤษฎ์จากกฎหมาย โยเซฟ รู้อยู่แก่ใจดี แต่เขาก็ปกปิดความลับนี้ไว้ จนกระทั่งเขาเสียชีวิต กะโหลกของโมสาร์ทจึงกลายเป็นมรดกตกทอดของแวดวงตระกูลของคนขุดศพของ แซงต์ มาร์ก อัฐิธาตุอันศักดิ์สิทธิ์ซึ่งถ่ายทอดสืบต่อกันมาเป็นเวลาถึง 40 ปี ของผู้รับผิดชอบสุสานแห่งนี้

แปดสิบปี แห่งความเงียบและหลงลืม

คนสุดท้ายที่บันทึกไว้ โยฮัน ราดชอพฟ (Johann Radshop) ไร้ผู้สืบทอด กระนั้นเขาก็ใกล้ชิดฉันมิตรสนิทกับ ยาคอบ ฮือรเติล (Jocob Hyrtl) จิตรกรและนักดนตรีชาวเวียนนาผู้มาภาวนาบนหลุมศพของมารดาทุกวัน อัฐิธาตุเปลี่ยนมืออีกครา แต่ก็ยังคงเป็นความลับสำคัญเสมอมา

ยาคอบ ฮือรเติล อุทิศการบูชาอันแท้จริงให้แด่โมสาร์ท เพื่อนคนหนึ่งของเขาที่ทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ของ “la Nouvelle Presse Libre” ลงมือเขียนต่อมาว่า ยาคอบ ทำให้เขาฉงนฉงาย เพราะว่าที่บ้านของยาคอบเอง เขาสีไวโอลินท่อนหนึ่งของเพลง ขลุ่ยปีติต่อหน้ากล่องกลมๆ เล็กๆ ที่มัดเชือก ไว้อย่างระมัดระวังใบนั้น!

ภายหลังมรณกรรมของยาคอบ เป็นธรรมดาอยู่เองที่เราจะพบกะโหลกในห้องทดลองของพี่ชายของเขา โยเซฟ ฮือรเติล นักกายวิภาคศาสตร์ชาวเวียนนาที่โด่งดังที่สุดของยุคสมัย โยเซฟด้วยความแน่ใจในความจริงแท้ของกะโหลก ได้เสียสละทุ่มเทให้กับงานอันยากลำบาก กล่าวคือเพื่อจัดความสัมพันธ์ระหว่างความเที่ยงตรงของประสาทการฟังกับคุณภาพของเสียงดนตรี นักปราชญ์ผู้ชราได้เลื่อยฐานทั้งหมดของกะโหลกออกโดยไม่ยี่หระต่ออะไรทั้งสิ้น

วันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ. 1901 ตระกูลฮือรเติล ได้มอบกะโหลกลึกลับนี้ให้กับมูลนิธิของพิพิธภัณฑ์โมสาร์ทแห่งซัลส์บวก นักวิชาการบริสุทธิ์เกิดความสงสัยว่า เรื่องราวเช่นนี้ออกจะโรแมนติกเกินไป มีการจัดวางอัฐิธาตุไว้ในหีบ ตรงปลายตู้ของห้องสมุดมากกว่า 80 ปีแห่งความเงียบและการหลงลืม…

สำหรับข้าพเจ้าแล้ว ดูจะเป็นไปไม่ได้ที่ รอทไมเออร์ คนขุดหลุมศพโมสาร์ท จะเข้าใจผิดเกี่ยวกับศพ และทำไมผู้สืบทอดรับมรดกจึงส่งมอบกะโหลกของใครก็ได้ให้แก่กันด้วยวิธีการลับสุดยอดเช่นนี้?

แต่นี่ก็ยังไม่ใช่เหตุทั้งหมด การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ ช่วยค้ำจุน “ประวัติศาสตร์” ไว้ หลังจากการตรวจสอบถึง 2 ปีศาสตราจารย์ก็ยืนยันอย่างเด็ดขาดว่า

“ไม่เป็นที่สงสัยอีกแล้วว่า นี่คือ กะโหลกของชายหนุ่ม อายุระหว่าง 20 ถึง 40 ปี รอยต่อของกระดูกชัดเจนมาก อีกประการหนึ่งได้พิสูจน์แล้วว่า กะโหลกนี้ถูกฝังดิน การวิเคราะห์โดยกล้องจุลทรรศน์เผยให้เห็นอนุภาคที่เป็นธาตุและพืชผัก แต่ที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้น ข้าพเจ้าได้พบในกะโหลกซากอวัยวะเกี่ยวกับสมอง และคอลลาเจน [7] จากหลักฐานนี้เองข้าพเจ้าจึงสรุปว่า กะโหลกนี้มิได้อยู่ในดินเกินกว่าสิบปี (หมายความว่า กะโหลกผังอยู่ในดินน้อยกว่าสิบปี ซึ่งสมเหตุสมผลกับหลักฐานการพลิกหลุมศพขึ้นมาทุกๆ ทศวรรษหนึ่ง)”

โดยซ้อนภาพเหมือนที่จริงที่สุด บนแผ่นถ่ายภาพด้วยเอ็กซเรย์ของกะโหลก ศาสตราจารย์ทิชี ก็ได้เปิดเผยในที่สึดว่า ดูนี่สิ ภาพหน้าด้านข้างทาบกันสนิทเลย!

ไม่มีข้อสงสัยอีกต่อไป เป็นกะโหลกของโมสาร์ทจริงๆ

ฟัน โมสาร์ท
รอยร่องจากฟันของโมสาร์ท คืออีกข้อมูลที่ใช้ยืนยัน

ยิ่งดูยิ่งหลงใหลมากขึ้นเรื่อย ท่านศาสตราจารย์ ก้มหน้าก้มตาค้นคว้าต่อไปและแต่ละเดือนก็มีข้อสรุปใหม่ๆ การตรวจสอบของท่านที่เที่ยงตรงขึ้นเรื่อยๆ สืบสาวไปจนถึงร่องรอยของฟันผุ ท่านวิเคราะห์เกี่ยวกับจดหมายของ เลโอโปลด์ โมสาร์ท ว่าด้วยการปวดฟันของโวลฟกัง โรคฟันผุของกรามซี่ที่สาม (ที่ใช้เคี้ยวหรือบดอาหาร) ตลอดจนจุดของการฝังเข็ม…

ทุกวันนี้ หลังจากเปรียบเทียบกะโหลกอมตะนี้กับอันอื่นๆ อีกมากมาย นักฟอสซิลวิทยาพยายามสร้างสัมพันธภาพด้านหน้าที่ระหว่างการทำงานของศูนย์กลางบางจุดของสมองกับรอยของลักษณะเส้นโลหิตที่เห็นได้ชัดบริเวณกะโหลกด้านในของโมสาร์ท แต่สำหรับ ศาสตราจารย์ทิชี แล้ว ต่อไปภายหน้าข้อพิสูจน์มีพร้อมอยู่แล้ว ผลรวมของการยืนยันที่นำท่านมาสู่ข้อสรุปดังนี้ :

ไม่มีอะไรจะพิสูจน์ได้ว่ากะโหลกนี้ไม่ใช่ของโมสาร์ท ขอยืนยันเพียงว่ากะโหลกใบนี้ไม่สามารถเป็นของคนอื่นได้เท่านั้น

ต้นเดือนธันวาคม [8] ข้อวินิจฉัยของศาสตราจารย์ทิชี จะได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือประจำปีที่เข้มข้นมากของพิพิธภัณฑ์โมสาร์ทแห่งเมืองซัลส์บวกด้วยความระมัดระวังพิถีพิถัน ดร. อังเงอมุลเลอร์ ผู้อำนวยการมูลนิธิและผู้ชื่นชมโมสาร์ทที่มีชื่อเสียง ระดับนานาชาติรอคอยการตีพิมพ์อย่างเป็นทางการของการค้นคว้าวิจัยนี้ด้วยใจจดใจจ่อ

ถ้าเป็นกะโหลกของโมสาร์ทจริงๆ ละก็ จะเป็นเรื่องบันลือโลกแน่! กะโหลกซึ่งคนทั่วโลกจะเดินทางมาชม!

ในไม่ช้า ณ กรุงซัลส์บวก แต่นี้ไป เราจะได้เห็นกะโหลกที่แท้ใบนี้อันเป็นตำนานบทหนึ่ง! ภายใต้ครอบแก้วที่กะโหลกวางอยู่ปรากฏแก่สายตา ควรจะมีตอนหนึ่งของจดหมาย ที่โมสาร์ทเขียนถึงบิดาของเขาลงวันที่ 4 เมษายน ค.ศ. 1787 ความว่า :

“เนื่องจากความตายเป็นเป้าหมายแท้จริงสุดท้ายของชีวิตคนเรา ที่ 2-3 ปีมานี้ ลูกรู้สึกคุ้นเคยยิ่งกับมิตรที่แท้และสมบูรณ์ของมนุษย์เยี่ยงความตาย ภาพของมรณาไม่เพียงแต่จะไม่มีอะไรน่าครั่นคร้ามหวั่นกลัวสำหรับลูกเท่านั้น แต่ยังสร้างความสงบและช่วยบรรเทาลูกได้ดี! ลูกขอขอบคุณพระเจ้าที่ทรงประทานความสุขให้ในการหาโอกาสเรียนรู้ที่จะรู้จักพระองค์ ประหนึ่ง “กุญแจ” แห่งความชื่นชมยินดีอย่างแท้จริงของเรา”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถผู้แปล :

[1] “ผม” ในที่นี้หมายถึง ศาสตราจารย์ กอทฟรีด ทิชี ผู้ชำนาญด้านฟอสซิลวิทยา

[2] ลีลาเครสแข็งโด (CRESCENDO) ของลาคริโมซา (Lacrimosa) หมายถึงท่วงทำนองเพลงที่ค่อยๆ เพิ่มความดังของเสียงขึ้นเรื่อยๆ ของเพลงคลาสสิกชื่อ ลาคริโมซา อันเป็นงานประพันธ์เพลงชิ้นสุดท้ายของโมสาร์ท

[3] มรณคีตา หมายถึง เพลงสวดศพ (REQUIEM) ที่ใช้ขับในการประกอบพิธีศพตามประเพณีนิยมของศาสนาคริสต์

[4] พิธีฝังศพแบบชั้นสาม ตามความเข้าใจของผู้แปล น่าจะคล้ายกับการเผาศพไม่มีญาติ แบบอนาถาของประเพณีไทย

[5] ซาเลียรี่ คือ ศัตรูคู่อาฆาตของโมสาร์ทที่เสแสร้งว่าเป็นกัลยาณมิตร

[6] ชาวโมสาเทียน (MOZARTIAN) หมายถึง คนที่นิยมชมชอบในตัวโมสาร์ท ตลอดจนงานสร้างสรรค์ด้านดนตรีของเขา

[7] คอลลาเจน (Collagene) ผู้แปลค้นหาศัพท์นี้ในพจนานุกรมหลายเล่มแต่ก็ไม่พบความหมาย เข้าใจว่าเป็นศัพท์ทางการแพทย์ ฉะนั้นถึงหาเจอก็คงไม่ทราบความหมายแท้จริง ผู้รู้โปรดให้แสงสว่างด้วยครับ

[8] ในต้นฉบับมิได้ระบุว่า เดือนธันวาคมของปีใด แต่เข้าใจจากปริบทว่า คงหมายถึงเดือน ธันวาคมปี ค.ศ. 1986 ถ้าเป็นเช่นนี้ขณะนี้คงตีพิมพ์ออกมาแล้ว แฟน “ศิลปวัฒนธรรม” ที่อาศัย อยู่ในประเทศออสเตรีย ช่วยสงเคราะห์ส่งข้อวินิจฉัยสุดท้ายของท่านศาสตราจารย์ทิชีมาให้ดูกันบ้างเด้อ ขอบคุณหลาย


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 มิถุนายน 2565