สืบค้นที่มาของคติ “เทวดาให้ทุกข์จุกกะหรี่” หมายถึงอะไรกันแน่

หุ่นขี้ผึ้งสุนทรภู่ ที่พิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้งไทย จังหวัดนครปฐม

ในเรื่องพระอภัยมณี เมื่อศรีสุวรรณได้พบหน้านางสุวรรณมาลี ซึ่งเข้าใจว่าเป็นพี่สะใภ้เป็นครั้งแรก สุนทรภู่ บรรยายไว้ว่า

……..   ชำเลืองลักแลชะม้ายดูสายสมร

ทั้งคมขำสำอางอย่างกินนร   เสงี่ยมงอนงามพร้อมไม่ผอมพี

ดูเหมือนสาวราวสักยี่สิบถ้วน   ทั้งน้ำนวลผิวผ่องเป็นสองศรี

แต่ลูกยาอายุได้แปดปี   นางจะมีลูกเต้าแต่เท่าไร

รำจวนจิตพิศดูเป็นครู่พัก   แล้วกลับหักหวนห้ามความสงสัย

ถึงอ่อนแก่แต่เป็นพี่สะใภ้   เราเป็นน้องต้องไหว้เป็นไรมี

ส่วนท้าวทศวงศ์ พระสัสสุระหรือพ่อตาของศรีสุวรรณ เมื่อได้เห็นก็อดสงสัยไว้ไม่ได้ จึงถามไปว่า

อายุเจ้าเท่าไรจึงใคร่รู้   บิดาดูรูปราวกับสาวศรี

เมื่อทรงครรภ์ชัณษาสักกี่ปี   ประเดี๋ยวนี้คิดเข้าเป็นเท่าไร

นางสุวรรณมาลี แม้จะอึดอัดกับเรื่องที่ถูกถามเพราะไม่เคยปด จึง

แข็งฤทัยทูลความไปตามเกิน

ชัณษาข้ายี่สิบสี่เศษ   เบญจเพสจึงต้องตกระหกระเหิน

อังคารเข้าเสาร์ทับแทบยับเยิน   ให้เผอิญพรากพลัดพระภัสดา

ยังอยู่แต่แม่ลูกเป็นเพื่อนยาก   กำจัดจากบิตุรงค์พระวงศา

แล้วเลี้ยวลดปดโป้ทำโศกา   สะอื้นอ้อนซ่อนหน้าระอาอาย

ท้าวทศวงศ์ได้ฟังจึงกล่าวเป็นคติ มีความตอนหนึ่งว่า

วิสัยโลกโศกสุขทุกข์ธุระ   ย่อมพบปะไปกว่าจะอาสัญ

เบญจเพสเหตุเพราะพระเคราะห์ครัน   สารพันเผอิญเป็นไปเช่นนี้

จริงนะแม่แต่โบราณท่านย่อมว่า   เทวดาให้ทุกข์จุกกะหรี่

เทพไทให้คุณแล้วบุญมี   สุดแต่ที่บุญกรรมได้ทำมา

ในที่นี้ ท้าวทศวงศ์ได้ยกคติโบราณที่ว่า เทวดาให้ทุกข์จุกกะหรี่ ขึ้นมาอ้าง ซึ่งเข้าใจว่า คำจุกกะหรี่ เป็นที่รู้จักกันดีในสมัยสุนทรภู่ ลองถามตัวเองว่า คำนี้หมายถึงอะไรกันแน่ เพราะเปิดพจนานุกรมทั้งฉบับราชบัณฑิตยสถานและฉบับมติชนดูแล้วก็ไม่พบ ตอนเด็กๆ เคยได้ยินแม่พูดอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ถามไว้ จึงได้จัดเป็นปัญหาประเภทตราไว้ก่อนจนลืมค่อนข้างสนิท เมื่อได้พบตอนนี้จึงขอนำมากล่าวสู่กันฟัง

เมื่อลองวิเคราะห์ดูก็พบว่า นางสุวรรณมาลีได้พูดขึ้นก่อนว่า ตนเองอายุเข้าเบญจเพส (คือ 25 ปี, เบญจ = 5, เพส = 20) เป็นช่วงที่ “อังคารเข้าเสาร์ทับ”

ฉะนั้นเทวดาที่กล่าวถึง จึงควรหมายถึงเทวดาพระเคราะห์ (คือ พระอาทิตย์, พระจันทร์, พระอังคาร, พระพุธ, พระราหู, พระพฤหัสบดี, พระศุกร์ และพระเสาร์) ที่เข้าเสวยอายุ ตามคัมภีร์มหาทักษา ซึ่งมีคำอธิบายเมื่ออังคารและเสาร์เข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนี้

๏ เสาร์แทรกอังคาร แปดเดือนโดยกาล ยี่สิบหกวัน สี่สิบนาที พอดีครบครัน เกิดทุกข์พัวพัน โศกศัลย์จรดล

๏ หนึ่งให้ประหยัด ทรัพย์สินวิบัติ พลัดจากเรือนตน ผัวเมียผิดกัน ถึงปันลาภผล ทำให้ผู้คน อลวนวุ่นไป

๏ หรดีอีสาน อุดรสถาน อย่าหาญเข้าใน พบพาลมิดี ความมีแพ้ได้ ลูกเมียเล่าไซร้ ทำให้เสียผล

๏ ระวังมีดพร้า ถูกต้องกายา เลือดมาไหลล้น ตกที่โปริศาจ อำมาตย์ไล่ตน บูชาจะพ้น จากทุกข์เร็วพลัน

แต่ปัญหาก็ยังไม่หมด ทำไมเมื่อ “เทวดาให้ทุกข์” แล้วต้อง “จุกกะหรี่”

วลีจุกกะหรี่ เมื่อแยกวิเคราะห์หาความหมาย ก็พอเห็นเค้าความบ้างจากคำจุก ที่นอกจากที่เป็นคำนามและคำกริยาแล้ว (ที่เป็นคำนาม เช่นที่ใช้ว่า จุก (ผม) จุกหอม จุกกระเทียม จุกขวด เป็นต้น ที่เป็นคำกริยา เช่น เอาเรียวหนามมาจุกช่อง) ยังมีที่ใช้เป็นคำวิเศษณ์ ที่หมายถึงอาการซบเซาเหงาเศร้า เช่นที่ใช้กันว่า นั่งกอดเข่าเจ่าจุก นั้น

ฉะนั้นคำจุก ในวลี “จุกกะหรี่” ย่อมหมายถึงอาการเหงาเศร้า

ส่วนคำกะหรี่ที่รู้จักกันทั่วไป หมายถึงแกงชนิดหนึ่ง หรือเครื่องแกงอย่างเทศที่บดเป็นผง หรือไม่เมื่อใช้เป็นภาษาปาก ก็หมายถึงหญิงนครโสเภณี ไม่พบที่บ่งนัยไปทางสร้อยเศร้าเหงาหงอยเลย

การวิเคราะห์โดยวิธีแยกคำ จึงช่วยอะไรได้ไม่มาก

ได้พยายามสอบค้นจากพจนานุกรมที่นักวิชาการร่วมสมัยกับสุนทรภู่จัดทำไว้ เพราะเชื่อว่าหากเป็นคำที่คนร่วมสมัยใช้กันทั่วไป นักวิชาการเหล่านั้นน่าจะเก็บอธิบายไว้บ้าง

พจนานุกรมที่จัดทำร่วมสมัยกับสุนทรภู่ เท่าที่ผมหาได้ คือ “สัพะ พะจะนะ พาสาไท” ที่ท่านบาทหลวงปาเลอกัว จัดพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2397 โดยท่านได้จัดทำมาก่อนหน้าหลายปี เพราะท่านเข้ามาอยู่เมืองไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2372 (ปีที่ท่านสุนทรภู่แต่งเพลงยาวถวายโอวาท)

ที่จริงก่อนหน้าท่านปาเลอกัว ก็ได้มีผู้อื่นทำพจนานุกรมไทยมาแล้วหลายคน เช่น เทเลอร์ โจนส์ (พ.ศ. 2385) หมอคัสแวล กับหมอแซนด์เลอร์ (พ.ศ. 2389) เป็นต้น แต่ผมหาดูไม่ได้ จึงไม่ทราบว่าท่านเหล่านั้นได้เก็บคำ จุกกะหรี่ ไว้หรือไม่

ว่าจำเพาะของปาเลอกัว ท่านได้เก็บคำ จุกกะหรี่ อธิบายไว้ และยังบอกที่ใช้ไว้ด้วยว่า เช่น “เป็นหน้าทุกขจุกกะหรี่” ส่วนคำอธิบายนั้น มีทั้งเป็นภาษาละติน ภาษาฝรั่งเศส และภาษาอังกฤษ

ทั้งละตินและฝรั่งเศส ผมไม่กระดิกหูเลย ที่พอเห็นเป็นงูๆ ปลาๆ บ้างก็ตรงภาษาอังกฤษ ท่านอธิบายว่า Sorrowful, dull-To look wery dull. ก็เทียบภาษาไทยว่าเศร้าสร้อย หงอยเหงา นั่นแหละครับ เฉพาะคำ wery น่าจะตรงกับ very ในบัดนี้

เป็นอันว่า กรรมใดที่ทำแล้ว ทำให้โศกเศร้าเหงาหงอย ลำบากใจ เสียใจ ว่านั่นคือเทวดาให้ทุกข์

จุกกะหรี่ จึงเป็นอาการปรากฏที่เทวดามอบให้ และต้อง Sorrowful จนถึงกับ “ซ่อนหน้าระอาอาย” จนกว่าจะพ้นกรรม

เฉพาะอังคารเข้าเสาร์ทับ เหมือนกับสุวรรณมาลี ก็ต้องซมทุกข์ ถึงแปดเดือน ยี่สิบหกวัน กับสี่สิบนาที เข้าไปแล้ว

ส่วนที่ตำราว่า “บูชาจะพ้น จากทุกข์เร็วพลัน” นั้น ตำราก็ไม่ได้บอกไว้ ว่าต้องบูชาด้วยอะไร อย่างไร

ที่ได้ทราบว่าบิ๊กจิ๋วทำทานโดยปล่อยวัว 377 ตัว เมื่อ 14 พฤษภาคม 2548 นั้น ข่าวก็ไม่ได้แจ้งว่าท่านบูชาในยามเทพองค์ใดเข้า องค์ใดแทรก

สงสัยอยู่เพียงอย่างเดียว ว่าทำไมจำนวนวัว จึงไปฟ้องกับจำนวนในคอกชินก็ไม่รู้ หรือว่าท่านก็อึดอัดสภาพคอก เช่นเดียวกับนักการเมืองผู้เฒ่า เพราะพอกลับจากเกาหลี เจ้าของคอกชินก็รีบไปพบที่บ้านซอยปิ่นประภาคม

อันเป็นปริศนาเรื่องคอกๆ วัวๆ ที่วิเคราะห์ยากว่าจุกกะหรี่เป็นไหนๆ

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 เมษายน 2560