ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
กำเนิด “พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม” พระเครื่องดังหนึ่งในเบญจภาคี
หากกล่าวถึง พระเครื่อง ชื่อของ “พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม” และ “พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม” ซึ่งต่างเป็นพระเครื่องที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เป็นผู้สร้างและปลุกเสก ย่อมเป็นศรัทธาและนิยมกันในวงการผู้สะสมพระเครื่อง
“พระสมเด็จวัดระฆังฯ” สร้างก่อนพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม โดยจัดสร้างในปริมาณที่จำกัด ราคาในวงการพระเครื่องอยู่ที่หลักล้าน และหาของแท้ยาก นักสะสมส่วนใหญ่จึงหันมาให้ความสนใจ “พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม” แทน เพราะมีจำนวนมากว่า มีพิมพ์ทรงให้เลือกบูชามากกว่า และราคาย่อมเยากว่า
วัดบางขุนพรหม ที่เป็นถิ่นกำเนิดพระสมเด็จวัดบางขุนพรหม เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นในปลายสมัยกรุงธนบุรี เดิมชื่อเรียกว่า “วัดวรามะตาราม” ต่อมาเปลี่ยนชื่อว่า “วัดอำมาตยรส” หรือ “วัดอมฤตรส” แต่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า “วัดบางขุนพรหม” วัดบางขุนพรหมมีพระองค์เจ้าอินทร์ กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นผู้ดูแลทำนุบำรุง กระทั่งพระองค์เจ้าอินทร์สิ้นชีพิตักษัย ก็มีเสมียนตราด้วง(ต้นตระกูลธนโกเศศ) มาเป็นโยมอุปัฏฐากแทน
ถึงสมัยรัชกาลที่ 5 มีการตัดถนนวิสุทธิกษัตริย์ผ่านกลางวัด แยกวัดบางขุนพรหมออกเป็น 2 วัด คือ 1. วัดบางขุนพรหมใน (วัดใหม่อมตรส) ที่ประดิษฐานพระมหาเจดีย์ และพบพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมในกรุ 2. วัดบางขุนพรหมนอก (วัดอินทรวิหาร) ตามพระนามพระองค์เจ้าอินทร์ ที่ประดิษฐานพระหลวงพ่อโตยืนองค์ใหญ่
พ.ศ. 2413 เสมียนตราด้วงได้ปรึกษากับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังฯ พระเกจิอาจารย์ในยุคสมัยนั้น ที่ตนมีความสนิทคุ้นเคย ว่าอยากจะสร้างพระไว้ให้คนรุ่นหลัง เพราะการสร้างพระเป็นมหากุศลยิ่งใหญ่อย่างหนึ่ง ซึ่งในตอนนั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เริ่มชราภาพ ท่านชอบวัดบางขุนพรหมมาก มักจะเดินทางไปๆ มาๆ ระหว่างวัดระฆังฯ กับวัดบางขุนพรหมเป็นประจํา
การสร้างพระครั้งนี้ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ท่านเห็นชอบ และยังแนะนํา ว่าถ้าจะสร้างพระให้สร้างเป็นพระเนื้อผง เหมือนที่ท่านเคยสร้างพระวัดระฆังฯ ที่มีชื่อเสียง ซึ่งพระวัดระฆังฯ มีชื่อเสียงเป็นที่เช่าบูชากันตั้งแต่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ยังไม่สิ้น โดยท่านจะให้ยืมบล็อกที่สร้างพระวัดระฆังฯ ซึ่งเป็นบล็อกที่นิยมมีอยู่ 4 บล็อก ได้แก่ บล็อกพิมพ์ใหญ่, บล็อกพิมพ์ทรงเจดีย์, บล็อกพิมพ์เกศบัวตูม และบล็อกฐานแซม
การสร้างครั้งนั้นมีความคิดว่าจะสร้างให้ได้มากที่สุด สร้างให้ครบพระธรรมขันธ์ คือ 84,000 องค์ [สันนิษฐานว่าจำนวนที่สร้างจริงคงไม่เกิน 10,000 องค์] เมื่อสร้างเสร็จแล้วจะนําไปบรรจุในองค์พระเจดีย์ใหญ่ เพื่อที่ต่อไปภายหน้า หากประเทศชาติวิบัติ จนประชาชนเดือดร้อน ก็สามารถนําพระที่สร้างขึ้นออกมาใช้ได้ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) มอบมวลสาร ผงวิเศษหลายชนิดที่ท่านปลุกเสกจากการร่ำเรียนตั้งแต่เป็นสามเณร ทั้งแนะนําให้ใช้เนื้อผงปูน เปลือกหอย หรือปูนหิน ผสมผสานสร้างพระขึ้นมา
หากการสร้างพระให้ครบ 84,000 องค์ บล็อกแค่ 4 บล็อก คงไม่พอ เสมียนตราด้วงจึงให้ช่างสิบหมู่ ที่เคยแกะบล็อกให้สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ทําบล็อกเพิ่มขึ้น โดยให้เลียนแบบพิมพ์เก่าของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)
พระสมเด็จวัดบางขุนพรหมที่สร้างในคราวนั้นจึงมีทั้งหมด 12 พิมพ์ ประกอบด้วย พิมพ์ใหญ่, พิมพ์ทรงเจดีย์, พิมพ์เส้นด้าย, พิมพ์เกศบัวตูม, พิมพ์ฐานแซม พิมพ์ฐานคู่, พิมพ์สังฆาฏิหูช้าง, พิมพ์สังฆาฏิไม่มีหู, พิมพ์อกครุฑ, พิมพ์อกโผล่, พิมพ์ปรกโพธิ์ และพิมพ์ไสยาสน์
เมื่อสร้างเสร็จก็จะบรรจุลงพระเจดีย์ แต่ในการสร้างพระครั้งนั้นต่างจากการสร้างสมเด็จวัดระฆังฯ ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ที่สร้างจำนวนน้อย ท่านสร้างพระด้วยความประณีต พิถีพิถัน พระที่ออกมาทุกองค์แทบจะเหมือนกันหมด โดยท่านสร้างด้วยตนเอง แต่ละวันจึงสร้างเพียงไม่กี่องค์ เมื่อท่านสร้างเสร็จตากแห้งแล้วแจกเลย ไม่มีความเสียหายจากการลงกรุ
ขณะที่พระสมเด็จวัดบางขุนพรหมสร้างปริมาณมาก มีผู้ร่วมจำนวนมาก การกดพิมพ์ต่างๆ ตามน้ำหนักมือที่ต่างกัน และความเอาใจใส่ที่ต่างกัน จึงผิดเพี้ยนไปบ้าง พอสร้างเสร็จก็ไปใส่ไว้ในกรุ ถูกความร้อน ความชื้น แร่ธาตุในดิน พระที่ตอนสร้างถอดพิมพ์มาสวย อาจจะบิดเบี้ยวโค้งงอ ที่สําคัญอีกประการสมเด็จบางขุนพรหมแก่ปูน คือใช้ปูนเป็นตัวนําหลัก แต่สมเด็จวัดระฆังฯ มีทั้งมวลสาร ปูน ผงวิเศษ
ดังนั้นรูปทรงพระของสมเด็จวัดบางขุนพรหม จึงสวยสู้พระสมเด็จวัดระฆังฯ ไม่ได้ ทั้งที่เป็นแม่บล็อกเดียวกัน
เมื่อสร้างพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมเสร็จ ในตอนบรรจุกรุสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) มาร่วมปลุกเสก คราวนั้นท่านได้นําพระเครื่องใส่ย่ามติดตัวมา คือสมเด็จวัดระฆังฯ, สมเด็จเกษไชโย (จังหวัดอ่างทอง) พิมพ์ 7 ชั้น มาร่วมใส่เข้าไปในกรุด้วย ดังนั้นหลังจากแตกกรุออกมา จึงบางคนเคยพบพระเครื่องดังกล่าวอยู่ในกรุวัดบางขุนพรหม
ต่อมาในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 (พ.ศ. 2457-2461) ไทยได้ส่งทหารไปร่วมรบ ก็เกิดความวิตกหวาดกลัวว่าเมื่อเกิดสงครามจะเกิดภัยพิบัติต้องหาของป้องกันตัว การพบพระสมเด็จบางขุนพรหมครั้งแรกจึงเป็นเพราะประชาชนต้องการหาของศักดิ์สิทธิ์ มีความเป็นสิริมงคล โดยเฉพาะของที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้บรรจุเอาไว้ซึ่งการบรรจุกรุในครั้งนั้น ไม่ได้เป็นการแอบบรรจุ แต่มีการฉลองใหญ่โตเป็นที่เล่าขานต่อกันมาว่าเมื่อ ปีพ.ศ.2413 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้นําพระบรรจุไว้ในกรุวัดบางขุนพรหมมีความศักดิ์สิทธิ์มาก
ซึ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 สมเด็จวัดระฆังฯ ก็มีราคาหายากจากเหตุที่กล่าวข้างต้น ทุกคนจึงอยากหาของมาทดแทน เพื่อป้องกันภยันตราย ซึ่งเผอิญองค์พระเจดีย์ที่บรรจุพระสมเด็จวัดบางขุนพรหมมีโพรงอากาศขนาดเท่าข้อมือ ถ้าใช้ไฟส่องก็จะมองเห็นพระวางอยู่ข้างล่าง แต่ลงไปเอาไม่ได้ จึงนําดินเหนียวมาผูกปลายเชือกคล้ายเบ็ดตกปลาหย่อนลงไปในโพรงอากาศเพื่อตกพระขึ้นมา พระที่ได้มาในครั้งนี้เรียกว่า “รุ่นตกเบ็ด” พระที่ตกได้ส่วนใหญ่เป็นพระที่วางอยู่ด้านบน ไม่ได้ถูกอะไรทับถม ทําให้เป็นพระที่มีคราบกรุน้อย เนื้อหาไม่ใคร่เสียหาย
แต่หลังจากตกเบ็ดขึ้นมาได้ทําให้เกิดการแย่งเช่าบูชากัน จึงตกเบ็ดกันเรื่อยมาโดยที่ไม่ได้ต้องการไว้ป้องกันตัวแล้ว แต่เป็นเพื่อค้าขายหวังผลกำไร มีการแข่งขันราคากันมาก เพราะทุกคนเชื่อมั่นว่าสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เป็นผู้สร้าง พระสมเด็จวัดบางขุนพรหมจึงเริ่มมีราคา เกิดการแย่งชิงกันชุลมุนวุ่นวาย ทําให้พระเดือดร้อน จึงมีการเฝ้าระวังไม่ให้ตกเบ็ดโดยนำปูนมาอุดรูที่ตกเบ็ด เพราะกลัวเจดีย์จะพัง เรื่องก็เงียบไปพักหนึ่ง แต่เมื่อรู้ว่ามีสิ่งที่มีค่ามีราคาอยู่ในนั้นแล้ว ทําให้พวกมิจฉาชีพเจาะเจดีย์ขโมยพระมาได้บ้างส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นพระที่อยู่ด้านบน
พ.ศ. 2500 ทางวัดเห็นว่า เห็นว่าหากปล่อยไว้เช่นนี้ จะทำให้พระเจดีย์พัง และทรัพย์สินที่เสมียนตราด้วง และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) เก็บไว้เกิดความเสียหาย จึงประชุมกันเพื่อเปิดกรุเป็นทางการในปีนั้น โดยมีจอมพล ประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขณะนั้นมาเป็นประธาน
พระที่ได้จากเปิดกรุมีประมาณ 3,000 องค์ พระทุกองค์จะใช้ตรายางขอวัดประทับตราที่ด้านหลัง พระที่ขึ้นมาในคราวนั้นจะมีคราบกรุจับหนา บางทีย่นเป็นหนังกระเบน บางองค์กอดกันเป็นก้อนต้องค่อยๆ กะเทาะออก
จากนั้นจึงเปิดให้เช่าบูชาโดยใส่ถุงไม่ระบุว่าเป็นพิมพ์อะไร ใครอยากได้พระที่สมบูรณ์ก็เช่าไปองค์ละ 1,000 ซึ่งเวลานั้น ทองคำราคาบาทละ 300-400 บาท ส่วนพระที่หักชำรุดทางวัดก็นำมาต่อกันหลายพิมพ์จนสมบูรณ์ ซึ่งสมัยนั้นมี “แฉล้ม บัวเปลี่ยนสี” เป็นนักต่อพระฝีมือดี เมื่อต่อเสร็จสมบูรณ์ ก็นำออกไปให้เช่าองค์ละ 500 บาท
ทำให้ “พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม” เป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันเป็น 1 ใน พระเครื่อง ชุดเบญจภาคี
อ่านเพิ่มเติม :
- ตำนานการสร้างพระกริ่งในไทย “กริ่ง” คำนี้มาจากไหนกัน
-
ทำไมยุคหนึ่ง “จตุคามรามเทพ” เครื่องรางของขลัง ถึงมีมูลค่านับหมื่นล้าน?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
หมายเหตุ : บทความนี้เรียบเรียงจาก พิศาล เตชะวิภาค(ต้อย เมืองนนท์) บรรยาย, กองบรรณาธิการข่าวสด เรียบเรียง, พระสมเด็จวัดบางขุนพรหม และพระผงสุพรรณ, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก มกราคม 2556
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มีนาคม 2565