นิเซ ลูกครึ่งญี่ปุ่น-เมกา กำลังพลในกองทัพอเมริกา ที่ประธานาธิบดีไม่ไว้วางใจ

ทหาร นิเซ
ทหารนิเซจากกองพันทหารราบที่ 100 กำลังฝึกการใช้ระเบิดมือใน ค.ศ. 1943  (ภาพจาก “แฟ้มลับสงครามโลกครั้งที่ 2)

นิเซ คือ ลูกครึ่งญี่ปุ่น-อเมริกา ที่เป็นกำลังพลในกองทัพอเมริกา ทว่าประธานาธิบดีอเมริกากลับไม่ไว้วางใจเขา

อันเนื่องจากบทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ลอสแอนเจลิสไทมส์ ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1942 ประกาศว่า

“ชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นซึ่งถือกำเนิดจากพ่อแม่ชาวญี่ปุ่น เลี้ยงดูมาตามขนบประเพณีญี่ปุ่น ใช้ชีวิตภายใต้บรรยากาศแบบญี่ปุ่น และถูกบ่มเพาะด้วยอุดมคติแบบญี่ปุ่น แม้ว่าชื่อแห่งสัญชาติที่ได้มาโดยบังเอิญจะเป็นอะไรก็ตาม แต่เห็นได้ชัดว่าคนเหล่านี้จะเติบใหญ่ขึ้นมาเป็นคนญี่ปุ่น ไม่ใช่อเมริกัน โดยอาจมีข้อยกเว้นที่หายากเย็นอย่างยิ่งเท่านั้น”

หนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าวยังแสดงทัศนะว่า เมื่ออเมริกากับญี่ปุ่นเป็นคู่สงครามอย่างเป็นทางการ พวกเขาจะเผชิญอันตรายจากภายในประเทศ เพราะ “งูพิษถึงอย่างไรก็ยังคงเป็นงูพิษ ไม่ว่าจะฟักออกจากไข่ที่ไหนก็ตาม”

ข้อเขียนของลอสแอนเจลิสไทมส์ดังกล่าว เป็นการสนองตอบต่อแนวคิดของประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลท์

รูสเวลท์อาศัยอำนาจประธานาธิบดีลงนามในคำสั่งบริหารเลขที่ 9066 ให้อำนาจกักกันประชาชนเรือนแสนที่มีเชื้อสายญี่ปุ่น ซึ่ง 2 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมดนั้นเป็นพลเรือนอเมริกัน ที่เรียกว่า “นิเซ” คนญี่ปุ่นรุ่นที่ 2 ซึ่งเรียกอเมริกาว่าบ้านเกิด คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ นั่นคือมากกว่า 100,000 คนถูกกักตัวอยู่ในค่ายกักกัน 21 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งถูกเรียกขานให้สละสลวยด้วยภาษาทางการว่า “ศูนย์โยกย้ายถิ่นฐาน”

นอกจากนั้น รัฐบาลอเมริกันยังยับยั้งรายงานข่าวกรองลับของเอฟบีไอที่ยืนยันว่า ในทัศนะของเอฟบีไอ คนอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นส่วนใหญ่ ไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติแต่อย่างใด

แม้กระทั่งชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นที่รับราชการทหารอยู่ในเวลานั้น ยังได้รับผลกระทบจากกระแสความหวาดระแวงอย่างไร้เหตุผลที่ระบาดไปทั่วประเทศ ตอนต้น ค.ศ. 1942 บรรดานิเซที่ประจำการอยู่ในกองกำลังรักษาดินแดนฮาวาย ถูกปลดประจำการเพราะเป็น “ข้าศึกต่างด้าวที่ไม่มีคุณสมบัติเหมาะสำหรับกองทัพ”

เพื่อเป็นการประท้วงคนเหล่านั้นมากกว่า 1,400 คน รวมตัวกันก่อตั้ง “กองพันชั่วคราวแห่งฮาวาย” ขึ้น ซึ่งในเวลาต่อมาก็สถาปนาใหม่เป็นกองพันทหารราบที่ 100 ก่อนที่จะกลายเป็นกรมยุทธการที่ 442 ใน ค.ศ.1943 อันเป็นปีเดียวกับที่ทางการอเมริกันยกเลิกคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการรับราชการทหารในกองทัพของคนอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่น โดยให้ขึ้นอยู่กับการที่ทหารแต่ละนาย กรอกแบบสอบถามความสมัครใจว่าจะภักดีกับชาติใด

ในปี 1944 กรมยุทธการที่ 442 ถูกลำเลียงขึ้นเรือรบไปยังภาคพื้นยุโรป เข้าร่วมรบการศึกดุเดือดทั้งในอิตาลีและฝรั่งเศสต่อเนื่องกัน 223 วัน เป็นผลให้ทหารจำนวน 21 นายได้รับการเชิดชูเกียรติด้วยเหรียญกล้าหาญสูงสุดของอเมริกาคือ เดอะเมดัลออฟออเนอร์

รัฐบาลผ่อนปรนนโยบาย เปิดโอกาสให้นิเซเป็นทหารในกองทัพได้อย่างเป็นทางการใน ค.ศ. 1943 ในปีก่อนหน้านั้นรัฐบาลเริ่มตระหนักว่า คนอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นอาจมีบทบาทสำคัญในสำนักงานข่าวกรองทหาร (เอ็มไอเอส) ได้ ใน ค.ศ. 1942 มีการเปิดโรงเรียนสอนภาษานิเซขึ้นที่ค่ายซาเวจ รัฐมินนิโซตา (ต่อมาถูกยกขึ้นเป็นโรงเรียนสอนภาษาสำนักงานข่าวกรองทหาร) เพื่อให้ทหารอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นเข้ารับการฝึกอบรมยุทธวิธีทางทหารของกองทัพญี่ปุ่นและภาษาญี่ปุ่น ฝึกฝนทักษะการเป็นล่ามและการแปลเอกสารทางการทหาร นักเรียนรุ่นแรกจำนวน 42 นาย สำเร็จการศึกษาจากที่นี่ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1942 และเมื่อสงครามสิ้นสุดลง ผู้ที่สําเร็จการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้มีมากถึงคราวละหลายร้อยนาย

นักเรียนรุ่นแรกๆ ของค่ายซาเวจแลงเกวจสคูลคนหนึ่งชื่อ รอย มัตสึโมโตะ วัย 29 ปี เกิดและเติบโตที่ลอสแอนเจลิส สำเร็จการศึกษาขั้นต้นจากมัธยมโพลีเทคนิคที่ลองบีช แม้จะเป็นพลเมืองอเมริกันแต่มัตสึโมโตะก็ถูกกักกันในช่วงต้น ค.ศ. 1942 ที่ศูนย์เพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานเจอโรมในรัฐอาร์คันซอ “ผมสูญเสียแทบทุกอย่าง ทรัพย์สินส่วนตัว เงินทอง รวมทั้งบัญชีเงินฝากของตัวเอง” เขาเล่า “รัฐบาลอ้างว่านี่คือทรัพย์สินต่างด้าวของข้าศึกและไม่เคยส่งมอบคืนมา ผมโกรธแทบบ้า”

แม้จะได้รับการปฏิบัติอย่างน่าอดสู เขายังอาสาเข้ารับการฝึกอบรมที่โรงเรียนสอนภาษาเอ็มไอเอสที่ค่ายซาเวจ ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1942 เขาผ่านชั้นเรียนต่างๆ ส่วนใหญ่ได้แบบสบายๆ และกำลังรอรับการบรรจุเข้าหน่วยข่าวกรอง เขาสังเกตเห็นใบประกาศบนกระดานข่าวของค่ายในฤดูร้อน ค.ศ. 1043 แสดงความจำนงต้องการอาสาสมัครนิเซซึ่ง “กำยำบึกบึนและมีความทนทานสูง” และต้องใช้ภาษาญี่ปุ่นได้คล่องแคล่ว

อาสาสมัครจะถูกสอบถามเกี่ยวกับ “สถานะสมรส สุขภาพ ความสามารถในการใช้ภาษา” เมื่อถึงคราวของมัตสึโมโตะเขาไม่ต้องรอลุ้นว่าจะได้เข้าร่วมหรือไม่ “ผมทำคะแนนได้ดีในโรงเรียนสอนภาษา ดังนั้นเลยไม่มีการสัมภาษณ์ ผมได้รับคำสั่งให้เข้าร่วมทันที” เขาเล่า 2-3 วันต่อมามัตสึโมโตะกับเพื่อนนิเซอีก 13 นาย ที่ได้รับการคัดเลือกก็นั่งอยู่บนขบวนรถไฟที่ปกปิดมิดชิด มุ่งหน้าไปยังซานฟรานซิสโก ภายใต้การเก็บเป็นความลับยิ่งยวด

ทันทีที่ถึงนครซานฟรานซิสโก ทหารรักษาการณ์ติดอาวุธก็นำนิเซทั้ง 14 นาย ขึ้นเรือเอสเอสเลอร์ลีน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเรือโดยสารระดับหรู แต่ถูกดัดแปลงให้กลายเป็นเรือลำเลียงพล เพราะความจำเป็นเร่งด่วนของสงคราม ต่อมาในวัน ที่ 21 กันยายน ค.ศ. 1943 เรือลำนี้เล็ดลอดออกจากแคลิฟอร์เนีย และอีก 2-3 วันหลังจากนั้นบรรดานิเซก็ได้รับการแนะนำให้รู้จักกับเพื่อนร่วมเรือลำเดียวกัน นั่นคืออาสาสมัครอีกกว่า 2,000 นาย ที่เป็นสมาชิกของหน่วยทหารอาสาเรียกว่า หน่วยแยกที่ 1688 (อาสาสมัครอีก 1,000 นายจะมาร่วมสมทบที่นิวแคลิโดเนีย)

นิเซ ทั้ง 14 นาย ซึ่งแยกย้ายกันเข้าสังกัดกองพัน 3 กองพันของหน่วยแยกที่ 1688 หรือคนอื่นๆ ที่เหลือทั้งหมดต่างก็ไม่รู้ว่าจุดหมายปลายทางของพวกตนคือที่ใด นับตั้งแต่เริ่มกระบวนการอาสาสมัครเมื่อ 2-3 สัปดาห์ก่อนหน้า ทุกอย่างตกอยู่ในสภาพความลับสูงสุด ขนาดที่เจ้าหน้าที่ 2 คนซึ่งถูกจับได้ว่าพูดคุยถึงหน่วยของตัวเองกับลูกเรือแบบไม่จริงจังนักก็ถูกสั่งปลดและส่งตัวกลับทันที

เมื่อลำเลียงเสบียงขึ้นเรียบร้อย และเรือเอสเอสเลอร์ลีนเดินทางออกจากท่าทางตะวันตกของออสเตรเลียแล้ว จึงมีการเปิดตู้เซฟของเรือ “และมีการแจกพัสดุปิดผนึกจากวอชิงตันให้กองพันทั้งหลาย ตอนนั้นแหละถึงได้มีสิ่งบ่งชี้ว่าเราจะใช้ยุทโธปกรณ์แบบไหนและจะจัดตั้งกองกำลังอย่างไร”

คำสั่งดังกล่าวยังเปิดเผยจุดหมายปลายทางของพวกเขาอีกด้วย นั่นคือ อินเดีย จากอินเดียหลังการฝึกเสร็จสิ้น เมื่อทุกคนปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศ และเปลี่ยนชื่อเรียกหน่วยเป็นกรมผสม (ชั่วคราว) ที่ 5307 แล้ว พวกเขาก็ถูกส่งเข้าประจำการทางตอนเหนือของพม่าเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ภายใต้การบัญชาการโดยรวมของ พลเอก โจเซฟ สติลเวลล์ ซึ่งรับผิดชอบกองทหารอเมริกันในสมรภูมิจีน-พม่า-อินเดีย

กรมผสมที่ 5307 ถูกกำหนดให้เป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการที่ใช้ชื่อรหัสว่า “แคปิตอล” ซึ่งรวมถึงการจู่โจม 3 ทิศทางเข้าใส่ฝ่ายญี่ปุ่นที่ยึดครองพม่าอยู่ 2 ปีแล้ว กองทัพจีนจะโจมตีลงมาจากทางตะวันออกเฉียงเหนือและกองพลน้อยที่ 4 ของอังกฤษจะบุกข้ามแม่น้ำชินด์วินเข้ามาทางตะวันตก

ในเวลาเดียวกันทหารจีนอีก 2 กองพลจะรุกลงมากลางพม่าตอนเหนือ เพื่อยึดเมืองยุทธศาสตร์สำคัญคือ “มิตจินา” พร้อมการสนับสนุนจากกองกำลังอเมริกัน 3,000 นาย การเข้าร่วมรบครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงสัญลักษณ์ของการร่วมมือเท่านั้น แต่กองกำลัง 3,000 นายนี้ยังทำหน้าที่เป็นกำลังรบกองโจรเคลื่อนที่เร็ว บุกโจมตีญี่ปุ่นจากแนวหลังเมื่อจำเป็น

ไม่นานหลังจากหน่วยนี้เดินเท้ามุ่งลงใต้ไปในดินแดนที่ตกอยู่ใต้การยึดครองของข้าศึก การปะทะครั้งแรกกับฝ่ายญี่ปุ่นก็เกิดขึ้น หน่วยลาดตระเวนจากกองพันที่ 3 นำโดยร้อยโท โลแกน เวสตัน ถูกโจมตีด้วยกองทหารระดับหัวกะทิของญี่ปุ่น กองพลที่ 18 ซึ่งมีกำลังเหนือกว่า

ทหารอเมริกันหลายนายถูกสังหารหรือได้รับบาดเจ็บ ขณะที่ฝ่ายญี่ปุ่นรุกคืบเข้าหาที่มั่น สถานการณ์คับขันและสิ้นหวัง ตอนนั้นเองที่ “นิเซ” ที่ทำหน้าที่เป็นล่ามประจำหน่วยลาดตระเวนคือ เฮนรี โกโช เด็กหนุ่มวัย 23 ปีจากซีแอตเติล เข้ามากอบกู้สถานการณ์ พ่อของโกโชเคยส่งเขาไปญี่ปุ่นในตอนปลายทศวรรษ 1930 เพื่อให้เรียนรู้ภาษา แต่ตอนอยู่ในวิทยาลัยเขาถูกบังคับให้เข้าเรียนเตรียมทหาร เขารู้คำสั่งบัญชาการของทหารญี่ปุ่นทั้งหมดดี และใช้ความรู้ที่ว่านี้แก้สภาวะคับขันของหน่วยได้

ข้อมูลภายในที่ทรงคุณค่านี้ยับยั้งไม่ให้ญี่ปุ่นปิดล้อมเข้ามาได้สำเร็จ เป็นช่องทางให้หน่วยเล็กๆ ของเวสตันมีโอกาสถอนกำลังออกมายังพื้นที่ปลอดภัย ก่อนจะถูกบดขยี้ เขาวิทยุขอกำลังเสริมและไม่นานทหารญี่ปุ่นก็ตกเป็นฝ่ายสูญเสียหนัก เมื่อถูกซุ่มโจมตีขณะไล่ล่าหน่วยลาดตระเวนของเวสตัน

ทางด้านรอย มัตสึโมโตะ ก็ใช้ความรู้ภาษาญี่ปุ่นของตัวเองเป็นประโยชน์สำหรับกองพันที่ 2 ซึ่งได้รับคำสั่งให้ตรึงถนนสายหนึ่งไว้ ไม่ห่างจากจุดที่เกิดการปะทะของเวสตันมากนัก จากที่มั่นมัตสึโมโตะสังเกตเห็นอะไรบางอย่างแฝงอยู่บนต้นไม้ เมื่อไต่ขึ้นไปดูก็พบสายโทรศัพท์เชื่อมโยงกองพลที่ 18 ของกองทัพญี่ปุ่นในกามายกับผู้บัญชาการภาคสนามคนหนึ่งของกองพล มัตสึโมโตะดักฟังการสนทนาด้วยชุดอุปกรณ์โทรศัพท์สนามเป็นเวลานานหลายชั่วโมง

“ผมได้ยินข้อมูลความเคลื่อนไหวทางทหารและคำสั่งของกองพลที่ 18 ที่สำคัญมากๆ” มัตสึโมโตะย้อนความหลัง “แล้วผมก็ได้ยินสิบเอกนายหนึ่งพูดกับ ผบ.ร้อยของ ตัวเอง เลยได้รู้ว่าพวกเขาต้องเฝ้ารักษาการณ์คลังแสงแห่งหนึ่ง โดยมีพวกอยู่เพียงแค่ 3 หรือ 4 คนเท่านั้น แล้วสิบเอกก็บอกว่า ‘เราจะทำยังไงดี’ ร้อยเอกรายนั้นเอ่ยที่ตั้งออกมา แล้วผมก็รายงานไปทั้งหมด” เมอร์ริลล์ส่งผ่านข้อมูล เหล่านี้ไปยังสติลเวลล์ ขอให้มีการโจมตีคลังแสงดังกล่าวทางอากาศ เขาได้รับความเห็นชอบ และผลลัพธ์ที่ได้ก็เยี่ยมยอด

ข่าวกรองสุดท้ายทีมัตสึโมโตะดักฟังได้ก็มีค่ามากเช่นกัน นั่นคือกองการส่วนหน้าของกองพลที่ 18 ได้รับคำสั่งให้ถอนตัวจากมายกวานลงมาทางใต้ เพื่อคุ้มกันการล่าถอยครั้งนี้ ทหารญี่ปุ่นได้รับคำสั่งให้เข้าโจมตีทหารอเมริกันที่ตั้งมั่นตามแนวถนนด้านล่างของต้นไม้ ที่มัตสึโมโตะกำลังดักฟังการสนทนาอยู่นั่นเอง กองทหารญี่ปุ่นบุกโจมตีเข้ามาในอีกไม่นานนัก กองพันที่ 2 ก็เตรียมตัวตั้งรับอยู่เป็นอย่างดี สังหารข้าศึกไปมากกว่า 100 ราย ด้วยข่าวกรองที่ได้มาจากมัตสึโมโตะ

อีก 2-3 สัปดาห์ต่อมา พื้นที่ลึกลงทางใต้อีกไม่น้อย มัตสึโมโตะสร้างวีรกรรมที่ห้าวหาญที่สุดครั้งหนึ่งในศึกพม่า ระหว่างไล่ติดตามกองทัพญี่ปุ่นลงมาใต้กองพันที่ 2 ถูกโจมตีโต้กลับ และได้รับคำสั่งให้ตรึงพื้นที่ไว้ที่หมู่บ้านบนเนินเขาเล็กๆ ชื่อ “นะพุมกา” เพื่อสกัดไม่ให้กองทัพญี่ปุ่นขึ้นเหนือ และเปิดโอกาสให้กองทัพจีนได้มีเวลาเคลื่อนกำลังพลหลายพันนายเข้ามา เวลานั้นโรคบิดระบาดไปทั่วกองพันที่ 2 และในบรรดานิเซทั้ง 4 นายมัตสึโมโตะเป็นเพียงคนเดียวที่แข็งแรงพอจะปฏิบัติการได้

คืนหนึ่งในต้นเดือนเมษายน มีเสียงดังจากที่ตั้งฝ่ายญี่ปุ่นห่างออกไปเพียงไม่กี่สิบหลาจากบริเวณหลุมเพลาะที่ฝ่ายอเมริกันขดตัวอยู่ข้างใน พวกเขากำลังเตรียมการโจมตีหรือเปล่า มัตสึโมโตะคิดแล้วตัดสินใจคืบคลานลงมาตามไหล่เนินตอนกลางคืนมืดสนิท จนเข้าไปถึงระยะเพียงไม่กี่หลาจากที่ทหารญี่ปุ่นนอนราบอยู่ใกล้เสียจนแทบจะเอื้อมมือออกไปสัมผัสพวกนั้นได้เลย

“ทหารญี่ปุ่นคุยกันในหลุมเพลาะเหมือนที่ทหารทั่วๆ ไปคุยกันนั่นแหละ” เขาบอก ผู้หญิง อาหาร ครอบครัว มัตสึโมโตะยังนอนนิ่งไม่ไหวติง ฟังการสนทนาหาเงื่อนงำว่าอะไรที่ทำให้ทหารเหล่านี้ดูมีชีวิตชีวานัก แล้วในที่สุดก็ได้ในสิ่งที่ต้องการ เมื่อทหารนายหนึ่งกระวนกระวายใจอดไม่ได้ และถามความคิดเห็นเพื่อนร่วมตายว่า การโจมตีตอนรุ่งสางจะเอาชนะฝ่ายอเมริกันได้หรือไม่

เขากลับมาพร้อมกับข่าวการโจมตีที่กำลังจะเกิดขึ้น ทำให้กองพันที่ 2 มี เวลาที่มีค่า 2-3 ชั่วโมงเพื่อหลบเร้นออกจากหลุมเพลาะอย่างเงียบกริบ แล้ววางกับระเบิดเอาไว้แทน พวกเขาถอนกำลังทั้งหมดกลับขึ้นเนิน ปรับเป้าปืนกลหนักของหน่วยทั้งหมดไปยังทิศทางที่กองทหารญี่ปุ่นจะบุกจู่โจมเข้ามา

การจู่โจมเกิดขึ้นตามที่ทหารญี่ปุ่นเปิดเผยให้มัตสึโมโตะรู้อย่างไม่ตั้งใจ ทหารหลายสิบนายเสียชีวิตขณะกระโจนเข้าหาศัตรูในหลุมเพลาะแต่กลับเจอระเบิด มัตสึโมโตะมองผ่านศูนย์ปืนคาร์ไบน์ในมือ เห็นทหารข้าศึกระลอก 2 แสดงท่าที่ลังเล ไม่แน่ใจว่าควรตะลุยต่อหรือถอนกำลังกลับที่ตั้ง

มัตสึโมโตะ ซึ่งเคยเรียนยุทธวิธีทหารราบขณะเรียนเตรียมทหารในญี่ปุ่น รู้ว่าควรมีคำสั่งอะไรในเวลาเช่นนั้น “เตรียมชาร์จ” เขาตะโกนสั่งเป็นภาษาญี่ปุ่นสมบูรณ์แบบ ทิ้งช่วงอึดใจหนึ่งแล้วแผดเสียงเต็มที่ “ชาร์จ!” ทหารญี่ปุ่นเข้าชาร์จตามคำสั่ง แล้วทหารหลายสิบนายก็ตายเพราะกระสุนปืนฝ่ายอเมริกัน ไม่กี่วันการปิดล้อมเนินนะพุมกาก็ล้มเลิก และกองพันที่ 2 ก็ปลอดภัยจากการถูกทำลายล้าง

มัตสึโมโตะกับเพื่อนนิเซ 13 นายที่ทำหน้าที่ล่ามให้กรมผสมที่ 5307 ไม่ได้เป็นเพียงกลุ่มเดียวที่แสดงความห้าวหาญและบากบั่น ผู้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนสอนภาษาเอ็มไอเอสอีกเป็นจำนวนมากแสดงวีรกรรมสำคัญๆ ไว้มากมายในการศึกภาคพื้นแปซิฟิก เช่นวีรกรรมของสิบเอก โออิชิ “ป๊อบ” คุโบะ ที่เกาะโอกินาวา เมื่อได้ยินว่าพลเรือน 100 คนกําลังถูกบังคับให้ฆ่าตัวตายหมู่ โดยทหารญี่ปุ่นที่จับกุมพวกเขาไว้ บ็อบก็คลานเข้าไปยังที่ตั้งของทหารญี่ปุ่น และกล่อมทหารเหล่านั้นนานถึง 2 ชั่วโมง โดยใช้เรื่องเกียรติศักดิ์ของนักรบเป็นเครื่องมือ จนในที่สุดทหารญี่ปุ่นก็ปล่อยพลเรือนทั้งหมดเป็นอิสระ

มีชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นราว 26,000 นายเข้าร่วมเป็นทหารในกองทัพอเมริกาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่มีเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่ได้รับการยอมรับเชิดชูพฤติกรรมห้าวหาญระหว่างการศึกครั้งนี้ จริงๆ แล้วกว่ารัฐบาลอเมริกาจะออกมาแถลงขอโทษอย่างเป็นทางการต่อบรรดาผู้ที่ถูกส่งเข้าค่ายกักกันก็ต้องรอจนกระทั่งมีรัฐบัญญัติว่าด้วยเสรีภาพแห่งพลเมืองปี 1988 แล้ว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก เกวิน มอร์ติเมอร์-เขียน, ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์-แปล. แฟ้มลับสงครามโลกครั้งที่ 2, สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งแรก ตุลาคม 2559


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มีนาคม 2565