“ข้าวแช่” อาหารมอญ-ของติดสินบนเทวดา ขอให้ได้ลูก ก่อนเป็น “อาหารชาววัง”

ข้าวแช่ อาหารมอญ บูชาเทวดา อาหารชาววัง
ภาพสำรับข้าวแช่ โดย Williamvonga, via Wikimedia Commons

ข้าวแช่ มักเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นตำรับอาหารชาววัง ซึ่งปัจจุบันสามารถหากินได้ไม่ยาก ตามตลาดทั่วไปก็มี ต่างจากอดีตที่ “อาหารมอญ” ชนิดนี้ มักจะมีให้กินกันเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีความเป็นมาเกี่ยวเนื่องกับความเชื่อของชาวมอญว่าด้วยการมีทายาทสืบสกุล ก่อนจะมาเป็นที่นิยมในรั้วในวัง กลายเป็น “อาหารชาววัง”

องค์ บรรจุน ผู้รู้เรื่องมอญเล่าว่า ข้าวแช่เป็น “อาหารมอญ” ที่ไม่ได้ทำกินกันทั่วไป “แต่เริ่มจากการปรุงขึ้นเป็นพิเศษเพื่อบูชาเทวดา ขอพรให้มีทายาทสืบสกุล ต่อมาได้ยึดถือเป็นประเพณีแต่ทำกันเฉพาะเทศกาลสงกรานต์ ตามตำนานที่ผูกพันกับวันมหาสงกรานต์”

เรื่องราวของตำนานดังกล่าวมีอยู่ว่า เศรษฐีผู้หนึ่งไม่มีบุตร รู้สึกอับอายชาวบ้านและทุกข์ใจด้วยยังขาดผู้สืบทอดมรดก ได้ทำการบวงสรวงพระอาทิตย์และพระจันทร์ แต่ก็ไม่ได้ผล

อยู่มาวันหนึ่งในหน้าร้อน ผู้คนทั่วทั้งชมพูทวีปพากันเฉลิมฉลองเทศกาลวันปีใหม่ อันถือเป็นวัน “มหาสงกรานต์” เศรษฐีได้พาบริวารไปยังต้นไทรใหญ่ริมน้ำ ซึ่งเป็นที่อยู่ของรุกขเทวดาทั้งหลาย นำข้าวสารล้างน้ำ 7 ครั้ง แล้วหุงบูชารุกขเทวดาประจำต้นไทร ตั้งจิตอธิษฐานขอบุตร

รุกขเทวดาเห็นความตั้งใจของเศรษฐี จึงไปทูลขอต่อพระอินทร์ พระอินทร์จึงให้เทพบุตรจุติลงมาเป็นบุตรของเศรษฐี ชื่อว่า “ธรรมบาลกุมาร”

ด้วยเหตุที่การทำข้าวแช่เป็นพิธีกรรมเพื่อบูชาเทวดา การหุงข้าวจึงเต็มไปด้วยพิธีรีตอง ตั้งแต่การต้องซาวน้ำ 7 ครั้ง ต้องตั้งไฟหุงกลางลานโล่งนอกชายคาบ้าน หุงแล้วก็ต้องเอาข้าวมาขัดเอายางข้าวออก เพื่อให้น้ำข้าวแช่ไม่ขุ่น เช่นเดียวกับน้ำที่ต้องผ่านกรรมวิธีที่พิธีพิถันอยู่หลายขั้นตอน เพื่อให้ได้น้ำที่หอมน่ารับประทาน สมกับเป็นเครื่องบูชาเทวดา

ส่วนการที่อาหารมอญเข้ามาเป็นที่นิยมในบรรดาชาววังได้นั้น องค์ เล่าว่า เป็นเหตุมาจากการที่สตรีมอญเข้ามารับราชการฝ่ายใน เป็นพระมเหสี เจ้าจอมหม่อมห้ามของเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ได้นำข้าวแช่ขึ้นถวายเป็นเครื่องต้น ต่อมาจึงได้แพร่หลายเป็นวงกว้าง อย่างที่องค์ได้กล่าวไว้ว่า

โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าวแช่ตระกูลเมืองเพชรบุรี สืบเนื่องมาจากการแปรพระราชฐานของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ไปยังพระราชวังพระนครคีรี (เขาวัง) ครั้งนั้นมีเจ้าจอมมารดาซ่อนกลิ่น เหลนเจ้าพระยามหาโยธา (เจ่ง คชเสนี)  ที่หลบหนีพม่าเข้ามาสมัยธนบุรี ได้ติดตามไปถวายงานที่พระราชวังพระนครคีรีด้วย

“และคาดว่าในครั้งนั้น ข้าวแช่จึงได้รับการถ่ายทอดไปยังห้องเครื่อง บ่าวไพร่สนมกำนัลได้เรียนรู้ และแพร่หลายไปสู่สามัญชนย่านเมืองเพชรบุรีในที่สุด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

องค์ บรรจุน. “ข้าวแช่: ติดสินบนเทวดาขอให้ได้ลูก”. ข้างสำรับมอญ. กรุงเทพฯ : มติชน, 2557. น.95-106.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 ธันวาคม 2560