กวาดยา การรักษาแบบกลางบ้าน กับการเจ็บป่วยสำหรับเด็กเล็ก

กวาดยา หรือ กวาดคอ เด็ก เด็กทารก
การกวาดยาเด็ก (ภาพจาก หนังสือภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยไทยใกล้ตัว สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก)

กวาดยา เป็นวิธีการรักษาแบบกลางบ้าน ที่ใช้บรรเทา และรักษาอาการโรคภัยที่มีอาการเจ็บป่วยไม่รุนแรง เช่น เจ็บคอ, เป็นหวัด, ร้อนใน, เป็นแผลในปาก, ไอ, ปวดท้อง, เบื่ออาหาร ฯลฯ บ้างก็เรียกว่า “กวาดคอ” ตามวิธีการรักษาคือนำยาที่ปรุงแล้วกวาดในลำคอของผู้ป่วย ซึ่งเป็นเด็กเล็กอายุประมาณ 1-5 ขวบ

ยาที่ใช้กวาดกันเป็นประจำได้แก่ ยาแสงหมึก, ยาเทพมงคล, ยามหานิล, ยาดำ, ยาแท่ง หรือยาเม็ดที่ปรุงไว้แล้ว นำมาฝนในฝาละมี หรือบดในโกร่งยา แล้วใช้น้ำสุก, น้ำมะนาว, น้ำเปลือกมังคุด ฯลฯ เป็นกระสาย ขึ้นกับอาการป่วย เช่น ถ้าเจ็บคอ, ไอ, เป็นหวัดก็จะใช้น้ำมะนาว ถ้าปวดท้องจะใช้น้ำเปลือกมังคุด

หมอกวาดยาโดยมากจะเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน (บางคนกวาดยาอย่างเดียวไม่ได้รักษาอาการเจ็บป่วยอื่น) ส่วนใหญ่จะกวาดยาให้โดยไม่คิดค่าบริการ แต่จะเรียกค่าครูเพียงเล็กน้อย เช่น 1 บาท หรือ 1.50 บาท ซึ่งนอกจากการกวาดยาทั่วไป หมอกวาดยาบางคนยังมีคาถากำกับในการกวาดยา โดยจะตั้งนะโม 3 จบ แล้วจึงว่าคาถาต่อ เป็นต้นว่า “พุทธัง ปัจจักขามิ ธัมมัง ปัจจักขามิ สังฆัง ปัจจักขามิ”

หลังจากนั้นหมอกวาดยาจึงใช้นิ้วชี้มือขวาป้ายยาจากโกร่งยาขึ้นมา แล้วล้วงลงไปในลำคอ กวาดไปให้ทั่วลำคอ บางครั้งผู้ป่วยก็เผลอกัดนิ้วหมอกวาดยาก็มี นี่จึงเป็นสาเหตุให้รักษาด้วยการกวาดยาใช้กับเด็กเล็ก เพราะถ้าผู้ป่วยเป็นผู้ใหญ่แรงกัดคงเอาเรื่องนิ้วหมอคงมีความเสี่ยงสูงมากหลายเท่า

ส่วนเวลาที่กวาดยามักจะเป็นช่วงเย็นเวลาโพล้เพล้ ทั้งนี้เป็นคติความเชื่อว่าการกวาดยาจะทำให้โรคที่เป็นหายไปเหมือนดวงอาทิตย์ที่กำลังจะตก

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

บุญมี พิบูลย์สมบัติ. “กวาดยา” ใน, สานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคกลาง, มูลนิธิสารานุกรมวัฒนรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดพิมพ์เรื่องใน พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542

นางพรทิพย์ เติมวิเศษ บรรณาธิการ. ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยใกล้ตัว, จัดพิมพ์โดยกลุ่มงานพัฒวิชาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 พฤศจิกายน 2564