“Old soldiers never die-ทหารเก่าไม่มีวันตาย” ประโยคเด็ดนายพลแม็กอาร์เธอร์

นายพล ดักลาส แม็กอาร์เธอร์ เจ้าของวาทะ ทหารเก่าไม่มีวันตาย
นายพลดักลาส แม็กอาร์เธอร์ ใส่แว่นตา (ที่ 3 จากซ้าย)

Old soldiers never die-ทหารเก่าไม่มีวันตาย” ประโยคที่ใครต่อใครในบ้านเรายืมทหารมาใช้กันอยู่บ่อยๆ หลายคนฟังแล้วอาจคิดค้านอยู่ในใจว่า เพราะข่าวฌาปนกิจนายทหารผู้ล่วงลับก็มีให้เห็นเสมอๆ จะไม่เคยได้ยินได้อย่างไร

ความหมายที่แท้จริงของสำนวนข้างต้นที่ว่า “ทหารเก่าไม่มีวันตาย” เพราะเขาจะอยู่ในหัวใจของคนข้างหลัง แต่จะเป็นหัวใจใคร และจดจำในแง่มุมใด ก็เป็นเรื่องของแต่ละบุคคล

เจ้าของสำนวนนี้คือ ทหารเก่าอเมริกันชื่อ นายพล ดักลาส แม็กอาร์เธอร์ (Douglas MacArthur) นายพลคนดังสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

นายพลแม็กอาร์เธอร์ (ค.ศ. 1880-1964) เกิดในครอบครัวทหาร เป็นนักเรียนชั้นดีจากโรงเรียนนายร้อยเวสต์ปอยต์แห่งสหรัฐฯ มีคุณสมบัติต่างๆ แบบนายทหารทั่วไป แต่มีอยู่ข้อหนึ่งที่ผิดแผกกับนายทหารทั่วไป ก็คือ “ถนัด” ในการประชาสัมพันธ์ตนเองด้วย เป็นที่ทราบในหมู่ทหารด้วยกันว่า นายพลแม็กอาร์เธอร์ เชี่ยวชาญในการเอาความดีใส่ตัว

หากเกิดอะไรขึ้นที่ไหน ถ้าเป็นฝ่ายชนะ นายพลแม็กอาร์เธอร์จะพูดจนคนฟังเคลิ้ม เห็นภาพว่าเขาตะลุยเดี่ยวจนชนะ มากกว่าที่จะเป็นผลงานของทหารน้อยใหญ่อื่นๆ ที่ร่วมรบด้วย แต่ถ้าเป็นฝ่ายแพ้ นายพลแม็กอาร์เธอร์ก็จะหลบฉาก ให้บรรดาลูกน้องมีโอกาสได้ช่วยรับผิดถ้วนหน้ากัน แบบนายใจกว้าง ให้โอกาสเด็กเกิด

ประโยคที่ว่า “Old soldiers never die.” นี้ มาจากประโยคเต็มที่ว่า “Old soldiers never die; they just fade away.-ทหารเก่าไม่มีวันตาย (แต่จะ) ค่อยๆ จางหาย” นายพลแม็กอาร์เธอร์มารับว่าขอยืมมาจากเนื้อเพลงอังกฤษสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่มีชื่อว่า Old Soldiers Never Die อีกต่อหนึ่ง

นายพลแม็กอาร์เธอร์จะพูดว่า “Old soldiers never die.” นี้ในวาระใดบ้างไม่ทราบแน่ชัด แต่คงจะบ่อยครั้งอยู่จึงเป็นประโยคทองประจำตัว แต่ครั้งหนึ่งที่เขาพูดประโยคนี้ต่อหน้ารัฐสภาสหรัฐฯ แล้วเขาก็ถูกประธานาธิบดีแฮร์รี ทรูแมน ปลดจากราชการทันที (เพราะเสนอให้เอาระเบิดปรมาณูไปถล่มเมืองจีน)

อันนี้เรียกว่าไม่ตายก็คางเหลือง แล้วนายทหารเก่าก็ค่อยๆ fade away จางหายไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

ศุภาศิริ สุพรรณเภสัช. เพลงของโลกและของเรา, สำนักพิมพ์มติชน, ธันวาคม 2557


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 ตุลาคม 2564