วัฒนธรรมมือที่สาม ทางออกของความขัดแย้ง และการปิดบังความจริง

ภาพประกอบบทความ(จาก pixabay.com)

หนังสือ “อยู่ชายขอบ มองลอดความรู้ รวมบทความเนื่องในวาระครบรอบ 60 ปี ฉลาด รมิตานนท์” (สนพ. มติชน, กุมภาพันธ์ 2549) โดยมี อานันท์ กาญจนาพันธุ์ เป็นบรรณาธิการ มีบทความหนึ่งเรื่อง ความจริงและการปฏิบัติต่อความจริงของรัฐและประชาชนภายใต้วัฒนธรรม มือที่สาม’ (พ.ศ. 2500-ปัจจุบัน)” โดย อรรถจักร สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่นำเสนอข้อมูลเรื่อง “วัฒนธรรมมือที่สาม” ที่เป็นเครื่องมือ เป็นทางออกใช้กันบ่อยๆ ในสังคม ไว้อย่างน่าสนใจ ในที่นี้จึงขอเนื้อบางส่วนมานำเสนอดังนี้  (จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการ)


 

ปัจจัยหลักอย่างหนึ่งที่ทำให้การจัดการความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชนในสังคมการเมืองไทยไม่มีประสิทธิภาพหรือล้มเหลวอยู่เสมอได้แก่ การที่สังคมไทยยังดำรงอยู่ในวัฒนธรรม “มือที่สาม”

“มือที่สาม” ถูกใช้ในการจัดการปัญหาทางการเมืองมาเนิ่นนาน คนจำนวนไม่น้อยคิดว่าการใช้มือที่สามเป็นเพียงการกล่าวอ้างเพื่อกลบเกลื่อนปัญหาเท่านั้นซึ่งก็มีส่วนจริงอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าการกล่าวอ้างเช่นนี้กลับกลายเป็นความจริงภายใต้การรับรู้ของคนอีกจำนวนมากในสังคมไทย ทำให้สังคมไทยต้องผ่านประสบการณ์ความเจ็บปวดลึกซึ่งหลายต่อหลายครั้ง ในการที่การอ้างมือที่สามกลายเป็นความจริงในการรับรู้ของสังคม ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หรือเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 มิพักต้องกล่าวถึงความเจ็บปวดของผู้คนที่อยู่ตามชายขอบของแผ่นดินที่มีการอ้าง “มือที่สาม” เป็นเครื่องมือในการทำลายพวกเขาอย่างถึงที่สุด เช่น กรณีถีบลงเขา เผาลงถังแดงที่พัทลุง เป็นต้น

การรับรู้และยอมรับในความคิดเรื่อง “มือที่สาม” ว่าเป็นความจริง โดยไม่ต้องพิสูจน์ของสังคมไทยที่ผ่านมาจึงไม่ใช่เพียงแค่การกล่าวอ้างธรรมดา หากแต่การกล่าวอ้างที่ทำให้เกิด “ความจริง” ขึ้นมาในการรับรู้ของสังคมเช่นนี้ มีความหมายอย่างชัดเจนว่าเป็นการกล่าวอ้างที่สอดคล้องกับระบบความหมายทางการเมือง หรือที่เรียกว่าวัฒนธรรมทางการเมืองอย่างชัดเจน

ขณะเดียวกันการอ้าง “มือที่สาม” ก็กระทำกันจนเป็นปกติวิสัย โดยผู้ปกครองรัฐรวมทั้งกลไกอำนาจรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกรัฐส่วนที่มีหน้าที่โดยตรงในด้านความมั่นคง…กลายเป็นแบบแผนในการอธิบายปัญหาและแก้ปัญหาของกลไกอำนาจรัฐทุกระดับ

จนกล่าวได้ว่าเป็น “วัฒนธรรมมือที่สาม” ซึ่งเป็นวัฒนธรรมแห่งการปิดบัง ปัญหาทำให้ละเลยปัญหาที่แท้จริงที่เกิดขึ้น และยังมีความชอบธรรมในการแก้ปัญหา โดยใช้ความรุนแรงภายใต้ข้ออ้างว่า เพื่อปกป้องประชาชนไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือหรือตกเป็นเหยื่อของมือที่สามด้วย

เมื่อวัฒนธรรม “มือที่สาม” เป็นวัฒนธรรมทางการเมืองของความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและประชาชน ที่มีความหมายและความสำคัญที่สุดประการหนึ่ง นับตั้งแต่การเกิดรัฐแบบใหม่ที่เน้นหน้าที่ของรัฐที่มีต่อสังคม ทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจในเรื่องนี้กระจ่าง

……..

การกล่าวอ้างถึงเบื้องหลังการเคลื่อนไหวทางการเมืองในเหตุการณ์หนึ่งๆ ว่าเกิดขึ้นเพราะมี “มือที่สาม” เข้าไปยุยงนั้น เป็นเรื่องที่สังคมไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดี จนกล่าวได้ว่าการใช้ “มือที่สาม” ได้กลายเป็นระบบวัฒนธรรมในการทำความเข้าใจเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

ความจริงที่ว่ามี “มือที่สาม” จริงหรือไม่นั้น มีความสำคัญน้อยกว่าการที่ทำให้สังคมเชื่อไปแล้วโดยบริสุทธิ์ใจว่ามี “มือที่สาม” อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นั้น เพราะความเชื่อของสังคมเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้มีอำนาจสามารถจัดการกับผู้ที่สังคมเชื่อว่าเป็น “มือที่สาม” ตามความต้องการของตนได้หลายลักษณะ

ความเชื่อของสังคมที่ว่ามี “มือที่สาม” อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวทางการเมืองไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ หากแต่มีรากฐานที่สำคัญ ได้แก่ มรดกทางประวัติศาสตร์ที่ตกทอดมาเป็นเวลานานในเรื่องของความคิดเกี่ยวกับรัฐและกษัตริย์…เป็นความคิดที่เน้นหน้าที่หรือพันธกิจของผู้ปกครอง ที่เมื่อได้เป็นผู้ปกครองแล้วก็ย่อมต้องทำหน้าที่ เพื่อให้ผู้ใต้ปกครองได้รับผลดี หากไม่ทำตามพันธกิจนั้นก็จะไม่สามารถดำรงอยู่ในอำนาจได้ต่อไป…

มรดกทางประวัติศาสตร์อันได้แก่ วัฒนธรรมทางความคิดที่ตกทอดมานั้นได้มีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้สังคมสามารถเข้าใจได้ว่า หากมีคนกลุ่มใดที่แสดงตนนอกเหนือจากหน้าที่ของตนย่อมหมายความว่า ได้เกิดความผิดปกติขึ้นมาแล้ว และความผิดปกตินั้นมิได้เกิดขึ้นเอง แต่มีผู้ที่ทำตัวเป็น “มือที่สาม” มายุยงให้เกิดการทำสิ่งที่นอกเหนือจากขอบเขตหน้าที่ที่ตนควรจะทำ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวบ้านที่ควรจะต้องยอมรับการจัดการแก้ปัญหาหรือการพัฒนาโดยรัฐ เพราะชาวบ้านเป็นราษฎรย่อมไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการปกครองและไม่มีศักยภาพที่จะแก้ปัญหาหรือพัฒนาชีวิตตนให้ดีขึ้น จึงไม่ควรทำตัวก้าวก่ายหน้าที่ของผู้ปกครอง ที่ย่อมคิดดีคิดถูกและมีความรู้ความสามารถเหนือกว่าชาวบ้าน

ด้วยมรดกทางประวัติศาสตร์เช่นนี้ จึงทำให้สังคมยอมรับการกล่าวอ้างว่ามี “มือที่สาม” อยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหวของชาวบ้านว่าเป็นความจริงได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น เพราะโดยกรอบความคิดทางสังคมการเมืองนี้ คนในสังคมแทบจะไม่สามารถเชื่อได้เลยว่า ชาวบ้านจะสามารถทำอะไร หรือเคลื่อนไหวอะไรได้ด้วยตนเอง

ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลังทศวรรษ 2500 ที่สำคัญได้แก่ สงครามเย็นที่ได้ขยายตัวมาสู่ประเทศไทย และได้เป็นเงื่อนไขทำให้จอมพลสฤษดิ์ขึ้นมามีอำนาจ การรักษาอำนาจเผด็จการของจอมพล นอกจากการสร้างความเชื่อมั่นและศรัทธาในการพัฒนาเศรษฐกิจแล้ว อีกด้านหนึ่งได้แก่ การสร้างความกลัว “มือที่สาม” ที่เป็นคอมมิวนิสต์ที่จะมายุแหย่คนไทยด้วยกันให้เกิดคามร้าวฉานสามัคคี

……..

ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ค่อยๆ เคลื่อนเข้าสู่การเมืองระบอบประชาธิปไตย โดยผ่านการเลือกตั้งและการต่อรองอำนาจระหว่างระบบราชการกับพรรคการเมืองที่มีกลุ่มนักธุรกิจเป็นแกนกลาง ได้ทำให้เกิดการเมืองระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบขึ้นมา ซึ่งในระบอบการเมืองเช่นนี้ การหักหลัง ปล่อยข่าว หรือทำลายกันทางการเมืองก็เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และหากในกรณีใดที่ไม่สามารถขจัดคู่ต่อสู้ไปได้ ก็มักจะอ้างมือที่สาม เพื่อที่จะทำให้แต่ละฝ่ายสามารถที่จะยุติความขัดแย้งไปได้โดยที่ไม่มีฝ่ายใดไม่เสียหน้า อีกทั้งไม่เสียคะแนนทางการเมืองด้วย เพราะเท่ากับว่าไม่มีผู้ใดเป็นฝ่ายผิด ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะ “มือที่สาม” สร้างสถานการณ์

……..

กล่าวได้ว่า วัฒนธรรม “มือที่สาม” เป็นการสร้างความจริงทางการเมืองที่สำคัญมากของสังคมการเมืองไทย ปฏิบัติการทางการเมืองหลากหลายที่สามารถบรรลุเป้าหมายของตนได้ก็เนื่องจากการใช้การกล่าวอ้าง “มือที่สาม” นี้เอง การสร้างความจริงนี้มีเงื่อนไขทางสังคมการเมืองสำคัญก็คือ สังคมไทยยังคงสืบทอดความคิดความเชื่อ ที่ว่าผู้นำของรัฐเท่านั้นที่มีหน้าที่ทางการเมืองการบริหารประเทศ และผู้นำทางการเมืองจะปกครองบ้านเมืองด้วยความบริสุทธิ์ใจ ซึ่งยังดำรงอยู่ต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้…

(ที่มา : บทความนี้เป็นบทสรุปของงานวิจัยเรื่อง “ความจริง” และการปฏิบัติต่อความจริงของรัฐและประชาชนภายใต้วัฒนธรรม “มือที่สาม” (พ.ศ. 2500-ปัจจุบัน) ในโครงการวิจัยเรื่อง “กระบวนการจัดการกับความจริง : การศึกษามิติ และพลวัตของความเปลี่ยนแปลง “ความจริง” ในสังคมไทย” โดยมี รศ.ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ เป็นหัวหน้าโครงการ ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสํานักงานกองทุน สนับสนุนการวิจัย ฝ่ายสนับสนุนการวิจัยด้านความสัมพันธ์ข้ามชาติและทาง เลือกในการพัฒนา)

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กันยายน 2564