“อัษฎางคประณต” แปลว่าอะไร ส่องท่าเคารพที่ไม่ค่อยพบในหมู่คนไทย

อัษฎางคประณต คำนี้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานไม่มี. อาจเป็นเพราะว่า ในเมืองไทยเรา หรือคนไทยเราไม่มีใครทำความเคารพแบบนี้. อย่างสุดยอดของเราก็แค่ “เบญจางคประดิษฐ”.

เบญจางคประดิษฐ แปลตามศัพท์ว่า ตั้งไว้ซึ่งองค์ 5, คือ การทำความเคารพด้วยอวัยวะ 5 แห่งแตะพระธรณี คือ หัว (1), มือ (2) และหัวเข่า อีก 2, ก็คือกราบนั่นเอง.

แต่ฉบับมติชน มี, และว่าดังนี้

“อัษฎางคประณต (อัด-สะ-ดาง-คะ-ปฺระ-นด) น. การทำความเคารพซึ่งถึงพร้อมด้วยองค์ ๘ แตะต้องธรณี คือ มือทั้ง 2, เข่าทั้ง 2 เท้าทั้ง 2 หน้าผากและอก.

“อัษฎางค์” แปลว่า “องค์ 8“, คือเพิ่มขึ้นมาจาก เบญจางค์ (5) อีก 3, คือ 2 เท้า และ 1 อก.

คลิกอ่านเพิ่มเติม : เปิดร่องรอยท่ากราบแบบ “อัษฎางคประดิษฐ์” ในศิลปะเขมร

ได้เห็นคำแปลอย่างนี้แล้วอดนึกถึงเอกสารชิ้น (และชั้น) หนึ่งเสียมิได้ นั่นก็คือ จารึกสุโขทัยหลักที่ 2 (วัดศรีชุม). พระมหาเถรศรีศรัทธา หลานลุงของพ่อขุนผาเมือง ท่านออกบวช และได้ไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุที่ลังกา แล้วกลับมาเล่าให้สานุศิษย์ของท่านฟัง ศิษย์ของท่านจึงจารึกแผ่นหินไว้ ได้กล่าวถึงการทำความเคารพพระบรมสารีริกธาตุไว้หลายประการ (ด้านที่ 2 บรรทัดที่ 68 ถึง 72) ดังนี้

“พระเกศธาตุเส้นหนึ่งเลื่อมงาม คว้างมาแต่บน สะพัดเหนือหัวพระศรีศรัทธาราชจุฬามุนี (พระศรีศรัทธาราชจุฬามุนี) ยินศรัทธาน้ำตาถั่งตกหนักหนา บูชาทั้ง ตน อก เข่าซอง ทั้งหลาย บมิว่าถี่เลย ชาวสีหลทั้งหลายเห็นอัศจรรย์ดังอั้น เขาจึงชันทอดตนไหว้คันพัดเบญจางค์ นอนพกชังตีนพระศรีศรัทธาราชจุฬามุนี คนทั้งหลายไหว้คันเต็มแผ่นดิน อุปมาดังเรียงท่อนอ้อยไว้มากดามดาษเต็มสถานที่นั้นแล”.

ข้อความที่ยกมานี้มีการทำความเคารพอยู่ 2 แห่ง, คือ

(1) “บูชาทั้งตน อก เข่าซอง“, การที่จะเอาอกแตะธรณีได้นี่ มันต้องนอนคว่ำ ใช่ไหมครับ.

(2) “ชันทอดตนไหว้คันพัดเบญจางค์“. ในวรรคนี้มีคำขัดกันอยู่, คือ “ทอดตน” อีนี่นอนแหงๆ แต่มีคำเบญจางค์เข้ามาขัด. เบญจางค์ แปลว่า 5 เข้าทำนองว่าจะเป็นเบญจางคประดิษฐ. แต่ความต่อมาก็ขยายความให้รู้ว่า นอน คือคำ “นอนพกชังตีน“. พก คือ พลิก (เช่น “ยินพระยศเกรอกเกรียง เพียงพกแผ่นฟากฟ้า-ตะเลงพ่าย”). ชัง คือ ชังฆ์ แปลว่า แข้ง, ขา. “นอนพกชังตีน” คือ นอนพลิกคว่ำเอาแข้งนาบธรณี.

ครามตรงนี้เมื่อคราวสัมมนา คุณชูศักดิ์ ทิพยเกษร ผู้เข้าร่วมสัมมนาในฐานะเจ้าหน้าที่ของหอฯ บอกว่า นอนคว่ำไหว้ ไม่มีใครเชื่อ, เช่นนั้น คำแปลของตรงนี้จึงไม่มีในเอกสารของหอฯ ที่ไขคำในจารึก.

อย่างไรก็ตาม หลังจากจบสัมมนาแล้ว ผมก็ตระเวนไปตามศาสนสถานต่างๆ ไม่ว่าวัดจีน วัดญวน วัดแขก และโบสถ์คริสต์ ก็ไม่เว้น, ไปเจอลูกฟลุคเอาที่วัดเทพมณเฑียร (ฮินดูสมาช) ทุกเย็นที่นั่นมีศาสนิกมาสวดมนต์ โดยมีบัณฑิตแขกเป็นผู้นำ พอจบแล้วทุกคนคุกเข่าลงกราบ (หนเดียว) แต่บัณฑิตผู้นำนั้นก็คุกเข่าลง ค่อยๆ ก้มแล้วก็เอาอกไถพรืดลงไปนอนเหยียดยาวทั้งมือยังประนมอยู่นั้น.

อย่างนี้เรียก “อัษฎางคประณต” หรือเปล่า.

พูดไปก็ไม่มีใครเชื่อ ถ้าไม่ได้เห็นแก่ตาตัวเอง ผมจึงถ่ายรูปมาให้ดู. (ภาพประกอบด้านบนเนื้อหา-กองบก.ออนไลน์)


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 17 มีนาคม พ.ศ. 2560