ย้อนดูมูลค่าของ “เงินบาท” สมัยรัชกาลที่ 3 มีราคาเท่าใด พ่อค้าต่างชาติเชื่อถือหรือไม่?

เงินบาท เหรียญเงิน กรุงเทพฯ ตอกตรา พระมหามงกุฎราคาเฟื้อง พ.ศ. 2399 เปรียบเทียบ ตัวอย่าง เหรียญทองแดง เมืองไท ตราดอกบัว และ ตราช้าง จ.ศ. 1197
เหรียญเงินกรุงเทพฯ ตอกตราพระมหามงกุฎราคาเฟื้อง พ.ศ. 2399 เปรียบเทียบกับตัวอย่างเหรียญทองแดงเมืองไท ตราดอกบัว และตราช้าง จ.ศ. 1197 (พ.ศ. 2378)

เงินพดด้วง มีน้ำหนัก 1 บาท [1] เรียกกันในหมู่พ่อค้าต่างชาติว่า tical ในสมัย รัชกาลที่ 3 นี้ เงินบาท ได้รับความเชื่อถือในหมู่พ่อค้าต่างชาติมาก ไม่เพียงแต่ทำด้วยเงินบริสุทธิ์เท่านั้น แต่เงินบาทยังได้กลายไปเป็นสินค้าชนิดหนึ่งที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขของกลไกตลาดด้วย

เงินบาท ท่ามกลางเงินตราสกุลต่าง ๆ

ความต้องการของตลาดโลกเป็นตัวกำหนดมูลค่าเงินตราที่รัฐบาลประเทศใดก็ไม่สามารถบงการได้ ระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 17-ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ดอลลาร์สเปนเป็นเงินตราที่พ่อค้าทั่วโลกยอมรับให้เป็นมาตรฐานในการแลกเปลี่ยน หรืออีกนัยหนึ่งมูลค่าโลหะเงินของดอลลาร์สเปนซึ่งหนัก 27 กรัม ถูกใช้เป็นราคากลางของเงินตราทุกสกุล

มาตรฐานดังกล่าวไม่ใช่ได้มาจากความเข้มแข็งของรัฐบาลสเปน เนื่องจากขณะนั้นสเปนสูญเสียอาณานิคมไปมาก ที่ยังเหลืออยู่ในย่านนี้คือเมืองมะนิลาเท่านั้น แต่ที่ดอลลาร์สเปนมีเสถียรภาพ ไม่แกว่งไปแกว่งมาก็เป็นเพราะพ่อค้าทั่วโลกตกลงกันเอง เสถียรภาพดังกล่าวยังส่งผลต่อเงินดอลลาร์เม็กซิกันด้วย เพราะหลังจากที่เม็กซิโกประกาศเอกราชจากสเปนใน พ.ศ. 2365 ก็ได้ผลิตเงินของตนโดยให้มีน้ำหนักโลหะเงินเท่ากับดอลลาร์สเปน สมัยรัชกาลที่ 3 หน่วยเงินอันเป็นมาตรฐานของสเปนนี้ คนสยามเรียกทับศัพท์ว่า เรียล (Real) อันเป็นที่มาของคำว่า เหรียญ [2] อาจเรียกได้ว่า ดอลลาร์สเปนเป็นเงินตราที่ไม่มีสัญชาติก็ได้

นักเดินเรือมักขนเงินเหรียญมาขายให้แก่หลายประเทศในย่านนี้ โดยใช้ราคาเทียบตามน้ำหนักโลหะเงิน ตัวอย่างเช่น เงิน 1 เหรียญ มีแร่เงิน 27 กรัม เงิน 1 บาท มีแร่เงินประมาณ 15 กรัม เงินบาท จึงมีน้ำหนักระหว่าง 55-57 เซ็นต์ แต่รัฐบาลสยามจะให้ราคาเหรียญละ 2 บาท [3]

ดังที่จีนกั๊กเล่าถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่ใช้ในกรุงเทพฯ ให้เจ้าเมืองบาหลีฟังว่า “ข้างไทชั่ง 1 คิดข้างจีนเป็น 2 ชั่ง ถ้าคิดเป็นเหรียน ชั่งไท 1 เป็นเงินสี่สิบเหรียน” เจ้าเมืองบาหลียังเห็นว่า “ที่กรุงเทพมหานครมั่งมีเงินมากจึงทำได้” [4] การให้ราคาเงินเหรียญสูงขนาดนี้สะท้อนว่า รัชกาลที่ 3 มีพระราชประสงค์ที่จะทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองท่าศูนย์กลางแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างฝั่งทะเลเบงกอลกับฝั่งทะเลจีน

เงินตราทำให้การแลกเปลี่ยนสินค้าเป็นไปโดยสะดวก ในรัชสมัยนี้สินค้าของสยามขายได้มากโดยเฉพาะน้ำตาลทรายเป็นสินค้าที่มีคุณภาพดีเยี่ยม และให้โอกาสพ่อค้าซื้อไปทำกำไร สยามจึงเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าและมีดอลลาร์สเปนสะสมไว้มาก นอกจากนั้นกรุงเทพฯ ยังเป็นเมืองท่าที่รู้จักกันดีในหมู่พ่อค้าชาวอินเดียและจีน พวกเขาจะนัดพบปะเจรจาต่อรองราคา ซื้อขายล่วงหน้า ให้สินเชื่อ และจบลงที่การชำระหนี้สิน กิจกรรมดังกล่าวส่งผลให้เงินบาทมีราคาเปลี่ยนแปลงไป ยิ่งมีการซื้อขายมากขึ้น เงินบาท ก็จะยิ่งมีราคาสูงขึ้นตามไปด้วย

ดังนั้น เงินบาท จึงมี 2 ราคา ได้แก่ ราคาตามเนื้อโลหะและราคาตลาด (ดูตารางที่ 1)

ตารางที่ 1 อัตราแลกเปลี่ยนเปรียบเทียบระหว่างราคาน้ำหนักโลหะ กับราคาตลาดในสมัยรัชกาลที่ 3 (หมายเหตุ 16 แอนนา เท่ากับ 1 ซิกการูปี, 100 เซ็นต์ เท่ากับ 1 ดอลลาร์สเปนหรือดอลลาร์เม็กซิกัน, 12 เพนนี เท่ากับ 1 ชิลลิง, 20 ชิลลิง เท่ากับ 1 ปอนด์)

ราคาตลาดของเงินสามารถสะท้อนสภาพเศรษฐกิจได้ เช่น ในสมัยกรุงธนบุรี เศรษฐกิจไม่ดีนัก ดังเช่นที่กรมหลวงนรินทรเทวีระบุไว้ในจดหมายความทรงจำฯ ว่า “เงินเหรียญหาย เหรียญละ 7 สลึง 1 เพื่อง” [5] ในสมัยกรุงธนบุรี 1 บาท จึงมีราคาเท่ากับ 53.3 เซ็นต์ ซึ่งต่ำกว่าน้ำหนักโลหะเงิน (ดูตารางที่ 3)

ในรัชกาลที่ 3 ปี พ.ศ. 2369 ร้อยเอกเฮนรี เบอร์นีย์ รายงานว่า “เงินเหรียญสเปนนั้นเป็นเงินตราที่ข้าราชการพร้อมจะรับไว้ด้วยความเต็มใจอย่างยิ่ง บางครั้งข้าราชการดังกล่าวก็ได้อนุญาตให้ผู้บังคับการเรืออเมริกัน ใช้ชำระค่าท่าเรือในอัตรา 8 สลึงหรือ 2 บาทต่อเหรียญ แทนที่จะใช้อัตราในท้องตลาดคือ 6 1/2 สลึง” [6] ดังนั้น ราคาตลาดของเงินบาทในรัชกาลนี้คือ 1 บาท เท่ากับ 61.5 เซ็นต์

ในบางครั้งเงินบาทมีราคาสูงกว่านี้ ดังในปี พ.ศ. 2393 พระคลังสินค้าแสดงยอดส่งเงินจากหัวเมืองปักษ์ใต้เข้าท้องพระคลังรายการหนึ่งว่า “…เงิน 2519 เรียล…คิดเรียล 1 บาท 2 สลึง 7 เบี้ย” [7] ดังนั้น ใน ปลายรัชกาลที่ 3 อัตราแลกเปลี่ยนจึงขึ้นไปอยู่ที่ 66.66 เซ็นต์ต่อ 1 บาท (ดูตารางที่ 1)

ซิกการูปี (Sicca Rupee) ของเมืองกัลกัตตา อินเดีย เป็นเงินตราอีกสกุลหนึ่งในภูมิภาคนี้ แต่ในสยาม ชิกการูปีไม่เป็นที่นิยม เบอร์นีย์รายงานไว้เมื่อต้นรัชกาลที่ 3 ว่า โรงกษาปณ์ที่กัลกัตตาได้นำเงินบาทไทยไปถลุง พบว่ามีแร่เงินเท่ากับ 1 ชิกการูปี 3 1/2 แอนนา” [8]

ส่วนราคาตลาดนั้นทราบจากมัลล็อก ซึ่งเป็นพ่อค้าและเป็นเจ้าหน้าที่บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ ที่บันทึกไว้ว่า “ในปี ค.ศ. 1822 (พ.ศ. 2365) พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้เคยขาดทุนที่กัลกัตตา เป็นเงิน 20,000 บาท หรือ 25,000 ชิกการูปี” [9] ดังนั้น เงินบาทจึงมีราคาตลาดเท่ากับ 1 ชิกการูปี 4 แอนนา (ดูตารางที่ 1)

หลังจากรัฐบาลอังกฤษก่อตั้งเมืองสิงคโปร์ขึ้นใน พ.ศ. 2362 เงินบาทได้เข้าสู่ตลาดเงินตราของโลกในระดับที่เข้มข้นมากกว่าเดิม สิงคโปร์นอกจากจะเป็นเมืองท่าปลอดภาษีแห่งแรกที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ ที่สุดแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางของการรับแลกเปลี่ยนเงินตราด้วย ในระยะแรกดอลลาร์สเปนเป็นเงินสกุลหลักของสิงคโปร์ ถึงรัฐบาลอังกฤษจะพยายามให้เปลี่ยนไปใช้ชิกการูปี แต่ก็ได้รับการต่อต้านจากพ่อค้าอังกฤษและพ่อค้าท้องถิ่น รัฐบาลอังกฤษจึงอนุโลมให้ใช้ดอลลาร์สเปนไปก่อน [10]

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายของรัฐบาลอังกฤษคือต้องการให้ใช้เงินปอนด์สเตอร์ลิงของแผ่นดินแม่ และกำจัดดอลลาร์สเปนออกไปให้หมดจากทุกตลาด ซึ่งกว่าจะประสบความสำเร็จก็ล่วงเข้า พ.ศ. 2400 [11]

ความพยายามของรัฐบาลอังกฤษมีมาอย่างต่อเนื่อง โดยใน พ.ศ. 2347 ธนาคารแห่งชาติอังกฤษประกาศ Bank of England Five Shilling Dollars ให้อาณานิคมของอังกฤษทุกแห่งใช้อัตรา 1 ดอลลาร์สเปน แลกได้ 5 ชิลลิง ทว่าในทางปฏิบัติ อัตราแลกเปลี่ยนในแต่ละดินแดนและแต่ละช่วงเวลาจะไม่เท่ากัน โดยมีค่าแกว่งอยู่ระหว่าง 4 ชิลลิง-8 ชิลลิง [12] เช่น สิงคโปร์ ดอลลาร์สเปนมีค่าเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 5 ชิลลิง 3 เพนนี (ดูตารางที่ 1)

ด้วยเหตุที่ในสมัย รัชกาลที่ 3 เงินปอนด์ไม่ใช่เงินตรามาตรฐาน จึงไม่ปรากฏอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับเงินปอนด์ในเอกสารของสยาม แต่ก็พอจะสันนิษฐานได้ว่ามี 2 ราคาเช่นกัน ราคาตามเนื้อโลหะเงินคือ 2 ชิลลิง 6 เพนนี ซึ่งได้มาจากการเทียบน้ำหนักเท่ากับครึ่งหนึ่งของเหรียญคราวน์ (5 ชิลลิง) หรือ 1 ดอลลาร์สเปน [13]

ส่วนราคาตลาด ได้มาจากเอกสารของเบอร์นีย์ เป็นคำกล่าวของพันเอกบัตเตอร์เวิร์ธ ผู้ว่าการเกาะปีนัง สิงคโปร์ และมะละกา ระบุไว้ใน พ.ศ. 2388 กล่าวถึงข้อร้องเรียนของฮันเตอร์ พ่อค้าอังกฤษที่มีต่อรัชกาลที่ 3 ไว้ว่า “ถ้าหากอัตราค่าอากรขึ้นไปถึง 34 ชิลลิง ข้าพเจ้าก็ใคร่จะขอสรุปในตอนท้ายนี้ว่า เราควรจะตั้งสถานกงสุลขึ้นในกรุงเทพฯ และเป็นการจำเป็นที่เรือรบของเราจะต้องถูกส่งเข้าไปเป็นระยะๆ” [14]

ซึ่งหมายถึง 34 ชิลลิง เท่ากับ 10 บาท ดังนั้น 1 บาท จึงมีราคาตลาดเท่ากับ 3 ชิลลิง 4 เพนนี หรือ 1 ปอนด์ เท่ากับ 6 บาท และเมื่อตรวจซ้ำโดยเทียบกับราคาตลาดของดอลลาร์สเปนในสิงคโปร์ แล้วตัวเลขตรงกัน (ดูตารางที่ 1, 2 และ 3)

ตารางที่ 2 อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลต่าง ๆ ในสิงคโปร์ ระหว่าง พ.ศ. 2327-2428
ตารางที่ 3 อัตราแลกเปลี่ยนในท้องตลาดของเงินบาทกับดอลลาร์สเปนและปอนด์ เปรียบเทียบก่อนและหลังสมัย รัชกาลที่ 3

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] มาตราเงินของไทยมีดังนี้ 800 เบี้ย เป็น 1 เฟื้อง, 2 เฟื้อง เป็น 1 สลึง, 4 สลึง เป็น 1 บาท, 4 บาท เป็น 1 ตำลึง, 20 ตำลึง เป็น 1 ชั่ง

[2] ล้อม เพ็งแก้ว. บ้าหาเบี้ย. (กรุงเทพฯ : มติชน, 2553), น. 5.

[3] Francis J. Grund. The merchant’s Assistant, or Mercantile Instructor. (Boston : Hilliard, Gray, & Company, 1834), p. 131. [Online] http://www.archive.org/stream/merchantsassista00fluoft#page/2/mode/2up, June 1, 2009

[4] จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 จ.ศ. 1208 (พ.ศ. 2389) เลขที่ 33 เรื่อง สำเนาตำให้การจีนกั๊ก เรื่องบรรทุกสินค้าไปจำหน่ายเมืองบาหลี.

[5] พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องจดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพธิ์) ตั้งแต่ จ.ศ. 1129 ถึง 1182 เป็นเวลา 53 ปี. (กรุงเทพฯ : ศรีปัญญา, 2552). น. 39

[6] เฮนรี เบอร์นีย์. เอกสารเฮนรี เบอร์นีย์ เล่ม 9. สวัสดิ์ ชื่นไพศาล (แปล). (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2551) น. 211-212.

[7] จดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 จ.ศ. 1212 (พ.ศ. 2393) เลขที่ 193 เรื่อง บัญชีพระคลังสินค้า.

[8] เฮนรี เบอร์นีย์. เอกสารเฮนรี เบอร์นีย์ เล่ม 9. สวัสดิ์ ชื่นไพศาล (แปล). (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2551) น. 211.

[9] D.E. Malloch. Siam : Some General Remarks On Its Productions and Particularly On Its Imports and Export. (Calcutta : J. Thomas at the Baptist Mission Press, 1852), p. 19.

[10] “Spanish Dollar Coin” [Online] http://heritagefest.sg/content/1742/Spanish_Dollar_Coin.html, August 16, 2010.

[11] Peter J. Drake. Currency, Credit and Commerce : Early Growth in Southeast Asia. (Aldershot : Ashgate Publishing Ltd., 2004), pp. 93-94.

[12] W.G. Sumner. “The Spanish Dollar and the Colonial Shilling,” in American Historical Review. 3 (July 1898) : [Online] http://dinsdoc.com/sumner-1.htm, May 17, 2002.

[13] จอห์น ครอว์ฟอร์ด บันทึกไว้ว่า “เงินบาทมีค่าประมาณหนึ่งของคราวน์” 1 crown = 6 shilling ซึ่งตรงกับที่ระบุไว้ในคู่มือพ่อค้า ดูรายละเอียดใน John Crawfurd. Journal of an Embassy to the Courts of Siam and Cochin China. p. 102. และ Francis J. Grund. The merchant’s Assistant, or Mercantile Instructor. p. 131.

[14] เฮนรี เบอร์นีย์. เอกสารเฮนรี เบอร์นีย์ เล่ม 14. น้อม นิลรัตน์ (แปล). (กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2551) น. 213.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์จักรพรรดิราช ผู้ปราศจากช้างเผือก” เขียนโดย จริยา นวลนิรันดร์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2554


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กรกฎาคม 2564