ตามรอยรูปสลัก พระมเหสีของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ณ ปราสาทพระขรรค์

รูปสลักของ พระนางอินทรเทวี และ พระนางชัยราชเทวี ปราสาทพระขรรค์
รูปสลักของ พระนางอินทรเทวี และ พระนางชัยราชเทวี ปราสาทพระขรรค์

เราได้เดินทางมาที่ ปราสาทพระขรรค์ หลังจากฝนหยุดอากาศเย็นสบาย พื้นหญ้าและตะไคร่เขียวใสดั่งแพมรกตเมื่อต้องแสงแดดยามบ่าย ทางเดินเข้าสู่ปราสาทค่อนข้างจะไกล ชุ่มฉ่ำไปด้วยน้ำฝน ซอกซอนไปตามซอกหินขึ้นๆ ลงๆ อยู่พักใหญ่ตามทางเดิน ลอดผ่านช่องแคบ ๆ บริเวณทางเดินช่องหนึ่งจนแทบจะมุด หากให้ไปเองอีกครั้งก็จำไม่ได้แล้ว เพราะมัวพะวงกับการถ่ายภาพ หลงทางเหมือนเมืองลับแล เราตกอยู่ในวงล้อมของก้อนหิน ทางแคบและรากไม้

พระนางอินทรเทวี พระมเหสีองค์ที่ ๒

ไม่นานนักเราก็ได้มาพบรูปสลักรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นรูปสลักของ พระนางอินทรเทวี พระมเหสีองค์ที่ 2 ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 หลบอยู่ในซอกแคบๆ และมืดมาก จนแทบจะมองไม่เห็นอะไร

แม่ชีชราท่านหนึ่งหน้าตายิ้มแย้มนั่งเฝ้ารูปสลักของพระนางอยู่ ไม่น่าเชื่อว่า แม่ชีชราจะนั่งอยู่ได้ พวกเราเองแทบหายใจไม่สะดวกที่แคบอับชื้นและมีละอองฝนพรำ เนื้อที่ว่างให้เรายืนได้ประมาณ 1.50 x 2 เมตร ในขณะที่เรายืนเกือบจะค้ำหัวแม่ชีชราอยู่ แสงแดดรำไรลอดผ่านทางเดินที่เปียกชื้นมาให้บ้างเล็กน้อย อากาศเริ่มอบอ้าวเพราะจำนวนคน มีแสงเทียนเพียงหนึ่งเล่มที่ฐานหินใต้รูปสลัก แม่ชีชราจุดธูปควันโขมงให้เราหลายดอก เพื่อให้เราบูชารูปสลักหินของพระนาง

ผมเองไม่มีแสงพอที่จะถ่ายภาพรูปสลักได้เลย ต้องอาศัยแสงจากไฟฉายที่ติดมาในกระเป๋ากล้องส่องนำไปในบริเวณใบหน้าของรูปสลัก

พระนางชัยราชเทวี พระมเหสีเอก

พระมเหสีเอกของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 คือ พระนางชัยราชเทวี ต่อมาภายหลังที่พระนางชัยราชเทวีได้สิ้นพระชนม์ พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ได้ทรงอภิเษกอีกครั้งกับพระนางอินทรเทวี ซึ่งเป็นพระเชษฐภคินี (พี่สาว) ของพระนางชัยราชเทวี และทรงได้รับการแต่งตั้งให้พระนางเป็นพระมเหสีเอกในเวลาต่อมา

พระนางอินทรเทวีนั้น ตามจารึกกล่าวว่า “ทรงมีปัญญาในวิทยายิ่งกว่านักปรัชญา”…พระนางได้ทรงช่วยแพร่พระมหากรุณาธิคุณของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในรูปของวิชาประดุจน้ำอมฤต พระนางคือผู้แต่งจารึกที่ค้นพบในพระราชวังหลวงด้วยภาษาสันสกฤตที่หาที่ติมิได้ รูปสลักของพระนางทั้งสองถูกซากปรักหักพังอันลึกลับของปราสาทพระขรรค์ซ่อนไว้

ขาตั้งกล้อง (Tripod) ถูกดึงออกมาตั้งถ่ายภาพในพื้นที่แคบๆ แทบจะไม่ได้ เพราะติดที่แม่ชีอาศัยนั่งอยู่ เพื่อนๆ หลายคนที่มุงดูรูปสลักถอยให้พื้นที่ มองเห็นไม่ชัดเจนนัก หากไม่มีไฟฉายก็แทบไม่เห็นอะไรเลย ควันธูปทำให้เราแสบจมูกแสบตาไปตามกัน เริ่มอบอ้าวมากขึ้นเรื่อยๆ ผมเองเหงื่อท่วมหน้าตั้งแต่นาทีแรกที่เข้ามายืน มีคนช่วยส่องไฟฉายนำแสงให้ถ่ายภาพจนสำเร็จ เราสละเงินคนละยี่สิบบาทบ้าง ห้าร้อยเรียลบ้างแล้วแต่ศรัทธาให้แม่ชีค่าธูปบูชาด้วยความเห็นอกเห็นใจ

ถัดจากนั้นมาไม่กี่ก้าว ทางเดินกว้างไม่เกิน 80 เซนติเมตร และการพังทลายของแท่งหินเกะกะ เราก็พบรูปสลักของพระมเหสีเอกของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 “พระนางชัยราชเทวี” ผู้โศกเศร้า ขณะที่เจ้าชายชัยวรมันที่ 7 ทรงออกรบนอกอาณาจักรกัมพูชา โดยนำกองทัพไปรบยังอาณาจักรจามปา พระนางทรงหนีความทุกข์โศกเข้าหาการบำเพ็ญตบะตามทางศาสนาพราหมณ์ และต่อมาทรงพบหนทางปลอดโปร่งในพุทธศาสนา ตามจารึกกล่าวว่า

“ทรงได้รับคำสอนจากพระเชษฐภคินีคือ พระนางอินทรเทวีให้เพ่งพิจารณาพระพุทธเจ้าเป็นที่ตั้งแห่งความเคารพบูชาของนาง ทรงเลือกหนทางอันร่มรื่นของพระอริยบุคคลผู้ดำเนินอยู่ท่ามกลางไฟของความทุกข์ทรมานและทะเลแห่งความวิปโยค”

เราเห็นรูปสลักของพระนางที่ถูกหินพังลงมาทับอยู่ในซอกแคบๆ พระพักตร์ดูอ่อนเยาว์กว่าพระนางอินทรเทวี แต่ตำแหน่งรูปสลักนั้นเสี่ยงต่อการชำรุดเสียหายสูง ผมต้องเหนื่อยอีกครั้งในการถ่ายภาพในที่แคบเตี้ยและมืด

คุณพิสิทธิ์ใช้แสงเทียนช่วยส่อง เพื่อนอีกคนส่องไฟฉายให้แสงสว่างเพื่อถ่ายภาพเช่นเดิม หลายคนอยากเข้ามาดูแต่ที่แคบมากอากาศก็ร้อนอบอ้าว หลังจากถ่ายภาพเสร็จก็มีหลายคนเดินเข้ามาดูรูปสลัก พวกเราเดินแยกออกมาทีละคนตามเส้นทางเดิม ทุกคนพูดกันเป็นเสียงเดียวว่า แม่ชีท่านอาศัยอยู่ได้อย่างไรกันในสภาพอย่างนั้น แคบก็แคบ ร้อนก็ร้อน อับก็อับ มืดก็มืด

“เคยชิน” หรือ “สงสัยแกจะเป็นนางอัปสรที่จำแลงมา ตกกลางคืนก็กลับเข้าไปอยู่ในหินเหมือนเดิม”

ผมสังเกตเห็นว่า รูปสลักของพระนางชัยราชเทวีดูจะมีความงดงามกว่ารูปสลักของพระนางอินทรเทวีที่ดูเป็นผู้ใหญ่ รูปร่างพระนางชัยราชเทวีบางกว่าเล็กน้อย ใบหน้าและริมฝีปากที่ดูอ่อนเยาว์ แม้จะเห็นไม่ชัดเจนเต็มองค์ คล้ายรูปสลักนางอัปสราที่ ปราสาทบายน และปราสาทอื่นๆ ในยุคของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7

รูปสลักของพระนางทั้งสองนั้นสะโพกผาย บริเวณสะดือจะมีริ้วเป็นลอนพุงสามลอนให้เห็นเป็นแบบเฉพาะตัว สิ่งที่แตกต่างมากก็คือ มีเครื่องประดับเยอะกว่ารูปสลักโดยทั่วไปอย่างชัดเจน เนื่องจากรูปสลักทั้งสองถูกทับอยู่ในซอกแคบๆ และมืด ทำให้เนื้อหินมีสีค่อนข้างดำมืด ดูไม่สะอาดตาและสวยงาม มีการนำเอาสีแดงมาทาริมฝีปากให้มีสีแดง และด้านข้างมีพวงมาลัยแขวนบูชาอยู่

หนึ่งเดือนหลังจากนั้น ผมได้มีโอกาสกลับไปที่ ปราสาทพระขรรค์ อีกครั้งอย่างส่วนตัว ผมพยายามหาทางเข้าอีกครั้งท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าว แต่ผมก็จำทางเข้าใต้กองซากหินไม่ได้แม้จะเดินอยู่หลายรอบ พยายามมองหาแต่ก็ดูแล้วก็นึกไม่ออก คล้ายตามหาทางเข้าเมืองลับแล แต่ก็หาไม่พบจริงๆ คราวหน้าผมคงได้มีโอกาสเข้ามาตามหารูปสลักของพระนางทั้งสองอีกสักครั้ง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลประกอบการเขียน :

จากการนำทางและบอกเล่าของมัคคุเทศก์ชาวกัมพูชาชื่อพิสิทธิ์

เซเดส์ ยอร์ช แต่ง, ปรานี วงษ์เทศ แปล. เมืองพระนคร นครวัด นครธม. สำนักพิมพ์มติชน, พิมพ์ครั้งที่ 3, พฤศจิกายน 2536.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่ิอ 6 มีนาคม 2560