ศิลปินระดับโลกทำอะไรขณะไม่มีโชว์ช่วงโรคระบาด Bon Jovi ช่วยชุมชน-วงวัยรุ่นทำเพลงใหม่

[ซ้าย] จอน บองโจวี (Jon Bon Jovi) ล้างจานใน JBJ Soul Kitchen ภาพจาก Instagram / jonbonjovi [ขวา] Jon Bon Jovi ใน MV เพลง Do What You Can ภาพจาก YouTube / Bon Jovi

ปฏิเสธไม่ได้ว่าภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปีค.ศ. 2020-2021 ส่งผลกระทบต่อทุกชีวิต ทุกอาชีพ การปรับตัวดิ้นรนเอาตัวรอดจึงเป็นทักษะที่สำคัญอันขาดไม่ได้ในช่วงเวลานี้ โดยเฉพาะยิ่ง อาชีพที่จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนจำนวนมากอยู่เสมออย่างเหล่าศิลปินนักดนตรี เมื่อเกิดการแพร่ระบาดในทุกๆ รอบ ศิลปินและคนในแวดวงการแสดง-ดนตรีดูจะเป็นอาชีพแรกๆ ที่ถูกเบรคกิจกรรม และเป็นอาชีพท้ายๆ ที่จะได้รับอนุญาตให้กลับมาทำมาหากินได้

ไม่ใช่แค่ศิลปินหลากหลายสายเท่านั้นที่จำเป็นจะต้องหาเลี้ยงชีพ สำหรับแฟนเพลงแล้ว ในภาวะเช่นนี้ พวกเขาก็ต้องการกำลังใจจากศิลปินที่พวกเขาชื่นชอบ และถือว่าเป็นการเยียวยาทางจิตใจซึ่งเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาต่อสู้ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก

แต่ในเมื่อไม่สามารถจัดงานแสดงดนตรีได้ ไม่สามารถพบเจอกันแบบตัวเป็นๆ ได้ การจะสร้างปฏิสัมพันธ์กับแฟนเพลงภายใต้ข้อจำกัดของช่องทางต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่ศิลปินทั่วโลกจะต้องปรับตัว ไม่ใช่แค่เรื่องคุณค่าของผลงานอันเป็นความอยู่รอดของตัวศิลปินเท่านั้น ยังรวมถึงการเชื่อมโยงและการสร้างปฏิสัมพันธ์กับแฟนเพลงในช่วงเวลาที่ทุกคนต้องการกำลังใจมากเป็นพิเศษอีกด้วย

แม้ช่วงโรคระบาดจะสร้างความยากลำบากให้กับอาชีพนักดนตรีในแง่ของการหารายได้จากการออกแสดงอันเป็นรายได้สำคัญของศิลปิน แต่ด้วยความทันสมัยของเทคโนโลยีในเวลานี้ นวัตกรรมการสื่อสารยุคใหม่กลับเป็นตัวแปรที่ช่วยให้ศิลปินสามารถสร้างผลงานใหม่ๆ ออกมาได้แม้จะอยู่ในช่วงกักตัว ช่วงที่ผ่านมาเราจึงได้เห็นผลงานใหม่ๆ ของศิลปินจากหลากปลายประเทศไม่ว่าจะเป็นศิลปินรุ่นเล็กหรือรุ่นใหญ่เผยแพร่ออกมาเรื่อยๆ ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ยังน่าเป็นห่วง

แน่นอนว่าการสร้างผลงานให้ผู้ฟังมีความรู้สึกร่วม หรือสามารถเชื่อมโยงกับเนื้อหาในบทเพลง คงหนีไม่พ้นเรื่องของการดำเนินชีวิตในยุคโควิด-19 ผ่านมุมมองของศิลปินแต่ละคน

ตัวอย่างเช่น ศิลปินร็อครุ่นใหญ่อย่าง Bon Jovi วงรุ่นใหญ่ที่โลดแล่นในวงการมาหลายทศวรรษสร้างผลงานเพลงหลังจากเจ้าตัวมีโอกาสเป็นอาสาสมัครในชุมชนของเขา ถึงกับมีภาพ Jon Bon Jovi นักร้องนำของวงไปล้างจานในครัวแห่งหนึ่งซึ่งเลือกจะแจกจ่ายอาหารให้กับคนที่ต้องการมันในช่วงเวลายากลำบาก และจากการ “สัมผัสประวัติศาสตร์” นี้เอง Bon Jovi ได้สนับสนุนให้ทุกคนช่วยกันตามวิถีทางที่แต่ละคนสามารถทำได้ ผ่านบทเพลง Do what you can (ทำสิ่งที่คุณทำได้) นั่นเอง

หรือศิลปินโฟล์คซองอย่าง Luke Combs ที่ได้ปล่อยเพลง Six Feet Apart โดยถ่ายทอดถึงสิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตในช่วงกักตัว

แม้แต่ Avril Lavigne สาวพังก์ก็ยังให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ โดยเปรียบเทียบกับนักรบแนวหน้าผ่านบทเพลง We Are Warriors

หรือวงดนตรียอดนิยมอย่าง OneRepublic ก็ได้ให้กำลังใจผู้ฟังว่าทุกอย่างจะดีขึ้น ผ่านบทเพลง Better Days

นอกจากนี้ยังมีศิลปินอื่นๆ อีกมากมายจากหลากหลายแนวเพลว ทั้ง Twenty One Pilots, Pitbull, Bono (U2), Mike Campbell, Benjamin Gibbard, Queen, Adam Lambert และอื่นๆ อีกมากมาย ที่ปล่อยผลงานออกมาเพื่อถ่ายทอดเรื่องราว หรือมุมมองของตนเองในช่วงกักตัว

ไม่ใช่แค่การออกมาทำกิจกรรมชุมชน จนถึงสร้างเนื้อหาในงานเพลงร่วมสมัยเท่านั้น การผลิตมิวสิควิดีโอ ซึ่งถือเป็นผลิตภัณฑ์สำคัญในอุตสาหกรรมเพลงยุคใหม่นับว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ศิลปินจะต้องปรับตัวให้สามารถผลิตผลงานออกมาในช่วงกักตัวที่ไม่สามารถถ่ายทำมิวสิควีดีโอได้อย่างที่เคยทำ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือกรณีของวงดนตรีอย่าง Evanescence ที่ได้ปล่อยมิวสิควีดีโอ Wasted on You โดยเป็นการถ่ายทำจากที่พักของสมาชิกแต่ละคนด้วยสมาร์ทโฟน ซึ่งได้ถ่ายทอดให้เห็นถึงช่วงชีวิตที่ขาดการเชื่อมต่อกับผู้อื่นของสมาชิกวง ความโดดเดี่ยวของการกักตัว ความเงียบเหงาที่ต้องเผชิญ

โดย P.R. Brown ผู้กำกับมิวสิควีดีโอเพลงนี้ได้แต่คอยให้คำแนะนำการถ่ายทำผ่าน FaceTime โดยไม่ได้ลงมือควบคุมเองอย่างที่เคยทำ ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทาย และความแปลกใหม่อย่างมากสำหรับบทบาทหน้าที่ผู้กำกับ และเขายังกล่าวอีกว่า การที่สมาชิกแต่ละคนได้ควบคุมการแสดงออกของตัวเองนั้น มันได้สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงมากกว่าที่เขาเคยลงมือถ่ายทำด้วยตัวเองเสียอีก

ถึงที่สุดแล้ว Evanescence และผู้กำกับมิวสิควีดีโออย่าง P.R. Brown ก็แสดงให้เราได้เห็นว่าคุณภาพของผลงานไม่ได้ขึ้นอยู่ที่มูลค่าของสิ่งของที่ใช้ รวมถึงข้อจำกัดต่างๆ ก็ไม่ใช่อุปสรรคในการสร้างสรรค์ผลงานดีๆ

หรือในกรณีของ Dave Bayley ฟรอนต์แมนแห่งวง Glass Animal ที่ต้องอาศัยการจัดส่งขนาดใหญ่ถึงสองครั้ง ในการขนส่งวัสดุอุปกรณ์ สร้างสตูดิโอขนาดย่อมขึ้นมาสำหรับถ่ายทำมิวสิควิดีโอในบ้านของเขา จากนั้นจึงใช้เวลาในการประกอบวัสดุอุปกรณ์ทุกอย่าง ทั้งจัดไฟ จัดฉากหลัง และอื่นๆ ไม่ต่ำกว่าสองวัน เมื่อถึงวันถ่ายทำ ผู้กำกับมิวสิควีดีโอนี้คือ Colin Read ต้องควบคุมการถ่ายทำทางไกลผ่านระบบ remote video shooting

การลงมือทำทุกอย่างด้วยตัวเองของ Bayley ถูกนำเสนออยู่ในช่วงครึ่งหลังของมิวสิควีดีโอ Dreamland โดย Colin Read ได้กล่าวว่า หากปราศจากการแสดงกระบวนการเหล่านี้ มิวสิควีดีโอคงไม่อาจมีพลังได้ถึงขนาดนี้ กระบวนการเบื้องหลังแสดงให้เห็นถึงความทุ่มเทของ Bayley ความมุ่งมั่นและความทะเยอทะยาน ที่ต้องการเอาชนะขีดจำกัดของตัวเองและอุปสรรคต่างๆ

ความหมายที่ถูกถ่ายทอดผ่านบทเพลง และเรื่องราวที่ถูกนำเสนอผ่านผลงานเพลง-มิวสิควิดีโอของศิลปินต่างชาติ แสดงให้เห็นถึงการสื่อสารที่เชื่อมโยงและสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ฟังที่กำลังเผชิญความยากลำบากในการดำเนินชีวิต ผลงานเหล่านี้อาจเป็นทั้งการให้กำลังใจ สร้างแรงบันดาลใจ หรืออาจเป็นการระบาย การถ่ายทอดความรู้สึกเปล่าเปลี่ยว ที่ผู้ฟังสามารถสัมผัสและรู้สึกร่วมได้

ผลงานเพลงของศิลปินร่วมสมัยในช่วงโควิด-19 จึงไม่ใช่เป็นเพียงการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์เพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการเชื่อมโยงและสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ฟังหรือแฟนเพลง ให้พวกเขารู้สึกว่ามีเพื่อน หรือมีคนที่เข้าอกเข้าใจในความรู้สึกเดียวกัน และฝ่าฟันอุปสรรคปัญหาต่างๆ ไปด้วยกัน

 

คลิกอ่านเพิ่มเติม : ประวัติศาสตร์โรคระบาดและความเจ็บป่วย มีอะไรเป็นสาเหตุ

คลิกอ่านเพิ่มเติม : อหิวาตกโรคระบาดสมัยร.2 ศพเกลื่อนแม่น้ำ ยิงปืนใหญ่-สวดพระปริตร-รักษาศีล ไล่โรคระบาด

คลิกอ่านเพิ่มเติม : การรับมือโรคระบาดสมัย ร.5 รัฐยุคใหม่เลิกไล่ผี-พิธีสวด เปลี่ยนมาใช้การแพทย์ตะวันตก


อ้างอิง:

Contreras, Oliver. “Out of tune Every part of me is fed by my life as a musician”. The Washington Post. Published 1 OCT 2020. Access 1 JUN 2021. <https://www.washingtonpost.com/arts-entertainment/2020/10/01/musicians-not-performing-but-still-playing-during-pandemic/>

The Associated Press. “Listen to 40 songs about the coronavirus pandemic from Bon Jovi, Alicia Keys and more”. USA TODAY. Published 4 MAY 2020. Access 1 JUN 2021. <https://www.usatoday.com/story/entertainment/music/2020/05/04/coronavirus-40-songs-pandemic-rolling-stones-more/3080655001/>

Sanchez, Gabrielle. “The Best Quarantine Performances of 2020 In a year void of live shows with packed audiences, musicians pushed the creative limits right from home”. Vulture. Published 16 DEC 2020. Access 1 JUN 2021. <https://www.vulture.com/article/best-quarantine-music-performances-2020.html>

Freedman, Max. “How Artists Are Making Some of the Year’s Best Music Videos in Quarantine”. Flood magazine. Published 11 JUN 2020. Access 1 JUN 2021.
<https://floodmagazine.com/78554/how-artists-are-making-some-of-the-years-best-music-videos-in-quarantine/>


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 มิถุนายน 2564