หมู่บ้านวัดโป่งแดง : ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองสุพรรณบุรี

เรื่องราวของหมู่บ้านวัดโป่งแดง ตำบลหนองผักนาก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี ข้าพเจ้าร้อยเรียงขึ้นจากการใช้หลักฐานประวัติศาสตร์ประเภทประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า (oral history) เป็นประการสำคัญ สืบเนื่องจากความขาดแคลนในหลักฐานประเภทตัวเขียนที่ให้ข้อมูลประวัติศาสตร์เกี่ยวกับหมู่บ้านวัดโป่งแดง

ทั้งนี้ กล่าวได้ว่าผลงานการเขียนบทความทางประวัติศาสตร์ชิ้นนี้เป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นโดยคนท้องถิ่น ด้วยความสำนึกและตระหนักถึงคุณค่าแห่งพลวัตรและความทรงจำร่วมของท้องถิ่น โดยบุคคลสำคัญซึ่งให้ข้อมูลประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าควรค่าแก่การกล่าวถึง ณ เบื้องต้นนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้อาวุโสที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน มีดังนี้

  1. นายซ้อน แก้วโกมล (อายุ 88 ปี)
  2. นางเผือด ไกรแสงสุริยวงศ์ (อายุ 80 ปี)
  3. นายประกอบ สัตยวงค์ (อายุ 76 ปี)
  4. นางบรรจบ แก้วโกมล (อายุ 67 ปี)
  5. นายดำรงค์ ทองโสภา (อายุ 63 ปี)
  6. นางสุวรรณ แก้วโกมล (อายุ 60 ปี)
  7. พระอุบล แตงอ่อน  (อายุ 57 ปี)

หมู่บ้านวัดโป่งแดงตั้งอยู่บนพื้นที่ราบ มีลำห้วยสามสายไหลมาบรรจบกันเป็นลำคลองโป่งแดงที่เป็นสายน้ำหลักหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนชาวบ้านวัดโป่งแดง ได้แก่ ลำห้วยวังโบสถ์ ลำห้วยร่องเอื้อง และลำห้วยร่องขนาน ซึ่งคลองโป่งแดงไหลจากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออกลงสู่แม่น้ำท่าจีนหรือแม่น้ำสุพรรณบุรี

แผนที่บริเวณอำเภอสามชุก เมื่อ พ.ศ. 2482

ทั้งนี้ ในอดีตคลองโป่งแดงไม่ได้ลึกและชันตลอดเส้นดั่งเช่นปัจจุบัน แต่เป็นเพียงลำรางน้ำธรรมชาติที่ไม่ลึกมาก คลองโป่งแดงในจุดที่ลึกเรือสามารถสัญจรได้มาหยุด ณ ท่าถ่าน บริเวณทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านโป่งแดง และในอดีตด้วยความเป็นที่ราบต่ำจึงมีแอ่งรองรับน้ำฝนจากธรรมชาติที่กระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณหมู่บ้านและนอกพื้นที่หมู่บ้าน (ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวถูกปรับสภาพให้เหมาะสมกับการทำไร่นาและที่อยู่อาศัยจึงไม่เห็นลักษณะของแอ่งน้ำที่กระจัดกระจายหลงเหลืออยู่อย่างชัดเจน)

ด้วยเหตุนี้ ทุกครัวเรือนจึงต้องขุดสระน้ำเพื่อเก็บน้ำไว้กินใช้ในช่วงหน้าแล้ง สำหรับบ้านใดที่ไม่มีสระน้ำจะมาตักน้ำที่สระวัดโป่งแดงซึ่งมีอยู่ 2 สระทางทิศเหนือของโบสถ์ (ปัจจุบันเหลือเพียงสระเดียว อีกสระถูกถมดินทำเป็นลานตากข้าวของหมู่บ้าน) ไปเก็บใส่ภาชนะไว้ใช้ต่อไป

โบราณวัตถุที่ถูกขุดค้นพบในบริเวณหมู่บ้านโป่งแดง (ภาพถ่ายโดย ธีรวัฒน์ ทองโสภา)

ท่าถ่านเป็นท่าเรือสำหรับแลกเปลี่ยนสินค้ากับเรือสินค้าที่มาจากทางตลาดสามชุกและบริเวณอื่น ๆ สินค้าหลักที่ส่งออก ได้แก่ ถ่านและของป่า ชาวบ้านผลิตขึ้นและนำมาแลกเปลี่ยนเป็นสินค้าหรือเงินตรากับพ่อค้าที่มารับซื้อโดยตามแต่จะตกลงกัน สินค้าที่พ่อค้าต่างถิ่นนำมาแลกเปลี่ยน เช่น น้ำตาลมะพร้าว กะปิ เป็นต้น ซึ่งชาวบ้านไม่ผลิตกัน เนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบและความชำนาญในการผลิต 

หลักฐานทางโบราณคดีที่เคยค้นพบกันในพื้นที่หมู่บ้านวัดโป่งแดง แสดงให้เห็นว่าเป็นหมู่บ้านที่มีความเก่าแก่และมีผู้คนอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ (ยุคหินใหม่?) เหตุด้วยพบเจอเครื่องมือหินโบราณ มีการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์บรรจุในไห หลักฐานสมัยฟูนันและทวารวดี รวมถึงการตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของขอม มีการค้นพบลูกปัดหินหลากสี ศิวลึงค์ เศียรพระพุทธรูปอย่างขอม พระอวโลกิเตศวร และเหรียญอีแปะจีน ทั้งนี้ กล่าวได้ว่า หมู่บ้านโป่งแดงในยุคต้นประวัติศาสตร์เป็นหมู่บ้านซึ่งมีการติดต่อกับดินแดนภายนอกอย่างกว้างขวาง เป็นท้องถิ่นหนึ่งของภูมิภาคที่กว้างออกไป

โบราณวัตถุชิ้นสำคัญซึ่งแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของผู้คนในบริเวณนี้อย่างยาวนานและประจักษ์ต่อสายตาชาวบ้านโดยทั่วไปคือ หลวงพ่อทิพย์ เป็นพระพุทธรูปเนื้อหินทราย ปางมารวิชัยเกตุบัวตูม/เปลวเพลิง (มีการเล่าขานว่า ช่วงสมัยหนึ่งกรรมการของวัดได้ดำเนินการสร้างพระพุทธรูปหลวงพ่อทิพย์เพื่อประดิษฐานในศาลาการเปรียญและให้ประชาชนเช่าบูชา แต่โรงงานที่รับหล่อทำเกตุในลักษณะเปลวไฟจึงมีการเปลี่ยนแปลงเกตุของหลวงพ่อทิพย์องค์จริงในโบสถ์ ปัจจุบันจึงเห็นเกตุเป็นเปลวไฟ) หน้าตักกว้าง 115 เซนติเมตร เป็นศิลปะสมัยอู่ทองยุคต้น ในปัจจุบันเป็นพระประธานในโบสถ์วัดโป่งแดง นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปสมัยอู่ทองอีกหนึ่งองค์ และพระพุทธรูปยืนทรงเครื่องสมัยอยุธยาตอนปลายอีกหนึ่งองค์ จัดเก็บไว้ที่กุฏิเจ้าอาวาสวัดโป่งแดง

หลวงพ่อทิพย์ พระประธานประจำอุโบสถ วัดโป่งแดง (ภาพถ่ายโดย ธีรวัฒน์ ทองโสภา)

หมู่บ้านวัดโป่งแดงมีผู้คนอาศัยอยู่เรื่อยมาจนถึงคราวกรุงศรีอยุธยาแตกพ่ายแก่พม่า มีการบอกเล่าต่อมาว่าก่อนที่พม่าจะเดินทัพมาทำศึกสงครามซึ่งได้ผ่านหมู่บ้านวัดโป่งแดงด้วยนั้น ผู้คนในพื้นที่ใกล้เคียงขนานนามหมู่บ้านวัดโป่งแดงว่า “ดอนเศรษฐี” กล่าวคือเป็นชุมชนที่มีคนร่ำรวยและมั่งคั่งอยู่มาก ดังเห็นได้จากในภายหลังเมื่อมีการปรับพื้นที่เพื่อทำไร่นานั้น มีการพบเจอไหที่บรรจุเต็มไปด้วยพระพุทธรูปทองคำอยู่หลายองค์และกระจายทั่วไปตามที่ดอน

ทั้งนี้ สัญลักษณ์หนึ่งซึ่งแสดงให้เห็นว่าหมู่บ้านวัดโป่งแดงแห่งนี้เคยมีทัพพม่าผ่านมาและอยู่ภายใต้อาณัติของพม่าด้วยด้านทิศใต้ของโบสถ์วัดโป่งแดง มีเสาไม้ต่อกันสูงขึ้นไปราว 10 เมตร ด้านบนสุดเป็นแผ่นสังกะสีตัดเป็นรูปสามเหลี่ยมคล้ายธงตีตะปูตอกไว้ อันเป็นสัญลักษณ์ในการยินยอมอ่อนน้อมต่อพม่า

โบสถ์วัดโป่งแดง อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี (ภาพถ่ายโดย หมู่จิต สุริฉาย)

แต่จากคำบอกเล่าจากรุ่นสู่รุ่นทำให้ข้าพเจ้าได้ตั้งข้อสันนิษฐานประการหนึ่งว่า ช่วงเวลาก่อนและภายหลังการสยบยอมต่อพม่า ผู้คนในหมู่บ้านวัดโป่งแดงต่างอพยพเดินทางออกไปตั้งถิ่นฐานในท้องที่อื่น เนื่องด้วยมีเหตุผลว่า มีหลายตระกูลของคนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านวัดโป่งแดงเมื่อสืบย้อนขึ้นไปได้ถึงสมัยรัชกาลที่ 5 พบว่า ต่างอพยพเข้ามาจับจองพื้นที่ทำไร่นาและอยู่อาศัยกันด้วยวิธีการหักร้างถางพง เช่น ตระกูลแก้วโกมลโดยปู่ปั้นและย่าคำเดินทางมาจากบ้านไร่ ศรีประจันต์ ตระกูลแม่คุณแต๋วเดินทางมาจากบ้านหนองผักนาก อีกทั้งหลายครอบครัวในหมู่บ้านวัดโป่งแดงเดิมมีต้นตระกูลเป็นคนบ้านหนองผักนาก เป็นต้น 

คราวที่สุนทรภู่จำพรรษาอยู่ที่วัดสระเกศ ได้ออกเดินทางมายังสุพรรณ ในปี พ.ศ. 2374 โดยมีวัตถุประสงค์ในการเดินทางคือ “การเล่นแร่แปรธาตุ” ทั้งนี้ เมื่อสุนทรภู่เดินทางมาถึงบ้านโป่งแดง ได้แต่งโคลงกล่าวถึงไว้ว่า

ถึงถิ่นสริ้นบ้านป่าโป่งแดง

เรือติดคิดขยาดแสยง พยัฆร้าย

สวบสวบยวบไม้แฝง ฟุ้งสาบ วาบแฮ

สองฝั่งทั้งขวาซ้าย สัตร้องซ้องเสียง ฯ

ภายหลังการอพยพเข้ามาจับจองพื้นที่ทำกินโดยผู้คนต่างถิ่นราวสมัยรัชกาลที่ 5 ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น เรื่องราวในช่วงเวลาดังกล่าวถูกเล่าสืบต่อมายังคนรุ่นปัจจุบันและกำลังจะลืมแล้วสิ้น เนื่องด้วยผู้รู้ก็มีอายุอักโขเสียแล้ว การตั้งถิ่นฐานในช่วงเวลาดังกล่าวกระจายตัวกันเป็นกลุ่มก้อนเครือญาติตั้งบ้านเรือนอยู่บนที่ดอน แบ่งออกเป็นกลุ่มตะกูลใหญ่ ๆ ดังนี้

  1. หมู่ปู่ปั้น-ย่าคำ
  2. หมู่ตานน-ยายเม้า
  3. หมู่ตาปั่น-ยายหลาด
  4. หมู่ตาขี-ยายเขียว
  5. หมู่ตาอุ่ม-ยายเป้า
  6. หมู่ตาส่ง-ยายลิ้ม
  7. หมู่แม่คุณแต๋ว

สังเกตได้ว่าการตั้งถิ่นฐานส่วนใหญ่จะอยู่ในบริเวณเหนือรางน้ำธรรมชาติหรือคลองโป่งแดงในปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่ดอนสูงเหมาะแก่การตั้งถิ่นฐาน ส่วนพื้นที่อื่น ๆ เป็นท้องทุ่งนาอย่างกว้างขวาง บางครัวเรือนมีที่นาถึงหลักร้อยไร่ โดยการทำนาเป็นนาปี ทำกันปีละหนึ่งครั้งด้วยรอน้ำฝนจากธรรมชาติ นอกฤดูกาลทำนา ชาวบ้างต่างใช้ชีวิตกับการเลี้ยงชีพตนเองอย่างไม่เป็นกิจจะลักษณะ กล่าวคือ มิได้มีอาชีพประจำอันใดในยามว่างจากการทำนา แต่ก็มีการเผาถ่านและหาของป่าสำหรับนำไปแลกเปลี่ยนที่ท่าถ่าน

นอกจากนี้มีการทำเครื่องจักสานไว้ใช้ภายในครัวเรือน เช่น สีชุก รำแพน กระด้ง กระบุง เป็นต้น โดยส่วนใหญ่ทำมาจากไม้ไผ่ซึ่งเป็นวัสดุท้องถิ่นที่พบโดยทั่วไปและมีปริมาณมาก และการถนอมอาหารอย่างการทำปลาร้า ปลาเค็ม ปลาย่าง น้ำปลา หน่อไม้ดอง ส่วนการทำกะปิเพิ่งจะเริ่มเมื่อไม่นานมานี้ กล่าวคือเริ่มทำกันภายหลังจากการขุดคลองส่งน้ำสายที่ 8 และสายที่ 9 ซึ่งชาวบ้านจะยกยอและดักกุ้งนำมาทำกะปิ นอกจากนี้ ชาวบ้านจะเลี้ยงวัวเลี้ยงควายตามท้องทุ่งซึ่งเอาไว้ใช้แรงงานในการทำนาและเทียมเกวียน

ผู้อาวุโสที่ให้ข้อมูลต่างเคยเห็นโบสถ์วัดโป่งแดงหลังเก่า กล่าวว่า มีลักษณะเป็นโบสถ์ขนาดใหญ่ เป็นเสาไม้สูงชะลูด หลังคามุงแผ่นกระเบื้องดินเผาโบราณ แต่ไม่มีกำแพง โดยกำแพงเพิ่งสร้างขึ้นราวต้นพุทธศตวรรษที่ 2490 ด้วยฝีมือของช่างอิฐชาวมอญ ใช้ดินจากสระน้ำข้างวัดและดอนลั่นทม (ปัจจุบันคือสนามโรงเรียนวัดโป่งแดง) ทำเป็นอิฐ และก่อตั้งเตาเผาอิฐขนาดใหญ่อยู่ที่ดอนลั่นทมนั้นด้วย

กล่าวกันว่า อิฐที่เผามีปริมาณมาก ภายหลังจากก่อกำแพงโบสถ์สูงประมาณ 2 เมตรซึ่งไม่สุดถึงติดกับหลังคาโบสถ์ ก็ยังคงเหลืออิฐมอญในเตาเผาเป็นจำนวนมาก และด้วยการใช้ศาลาวัดเป็นโรงเรียนได้มีการให้นักเรียนขณะนั้น นำอิฐที่หลงเหลืออยู่ไปใช้เรียงเป็นถนนทางเข้าวัด ด้านหน้าโบสถ์มีเจดีย์อยู่ 2 องค์ องค์หนึ่งสร้างโดยหลวงตาดี มีการบรรจุพระเครื่องในไหแล้วใส่เข้าเก็บไว้ในส่วนยอดของเจดีย์ แต่อีกองค์ไม่ทราบข้อมูลแน่ชัด

โบสถ์และเจดีย์วัดโป่งแดง อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี (ภาพถ่ายโดย หมู่จิต สุริฉาย)

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นยุคข้าวยากหมากแพง เกิดมีโจรผู้ร้ายชุกชุมชาวบ้านเรียกกันว่า “สมัยเสือ” บุคคลที่ขึ้นชื่อว่าเสือที่สำคัญและล่ำลือกันทั่วไป ได้แก่ เสือดำ เสือฝ้าย เสือหลอม และเสือก๊ก ซึ่งจะเข้าปล้นชาวบ้านและมีการจับตัวเรียกค่าไถ่อีกด้วย ในช่วงเวลากลางคืนผู้คนไม่สามารถอาศัยหลับนอนตามบ้านเรือนตนเองได้ ต้องไปหลบนอนกันอยู่ในบุ่งนาอันเป็นที่ลุ่ม ผู้คนใช้สำหรับหลบซ่อนภัยจากเสือต่าง ๆ

ทั้งนี้ หมู่บ้านแม่คุณแต๋วหลังวัดโป่งแดงเป็นบ้านที่อยู่อาศัยของผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านวัดโป่งแดงคือ นายแช่ม สว่างศรี ทางการได้ส่งตำรวจกองปราบจำนวน 20-30 คน มาพักอยู่เพื่อปราบเสือต่าง ๆ ที่เป็นภัยต่อประชาชน โดยมีจ่าแล้มเป็นหัวหน้า และล่ำลือกันว่าจ่าแล้มนี้ยิงโจรผู้ร้ายที่เรียกกันว่า “เสือ” และเป็นชาวบ้านในหมู่บ้านวัดโป่งแดงตายไปหลายคน ซึ่งโดยปกติชาวบ้านเองไม่ทราบด้วยว่าบุคคลที่ถูกสังหารนั้นเป็นโจร

แต่ภายหลังการสังหารเรื่องราวของโจรผู้นั้นก็แดงขึ้นประจักษ์แก่หูของชาวบ้าน ทั้งนี้ เคยมีเสือก๊กเข้าไปในบ้านผู้ใหญ่แช่มเพื่อฆาตกรรมผู้ใหญ่เหตุด้วยให้ที่พักพิงแก่ตำรวจ แต่ผู้ใหญ่แช่มก็รอดมาได้ เนื่องจากเมื่อเสือก๊กถามว่าใครคือผู้ใหญ่แช่ม ด้วยไหวพริบปฏิภาณ ทางผู้ใหญ่ก็ชี้ไปที่นายออด ซึ่งเป็นพี่ชายของตนเอง จากนั้นเสือก๊กก็ใช้ปืนยิงไปที่นายออด แต่โชคดีที่กระสุนไม่ถูกตัวและรอดมาได้เช่นกัน

ในอีกด้านหนึ่งที่บ้านของกำนันป้อม ภู่มาลา อยู่ทางเหนือคลองโป่งแดงหรือหมู่ตานน-ยายเม้า เป็นที่พักของพวกเสือที่แวะเวียนมาและบังคับให้กำนันป้อมต้องเลี้ยงดูด้วยความจำใจ จึงเป็นที่มาของคำพูดกันว่า “กำนันป้อมเลี้ยงเสือ ผู้ใหญ่แช่มเลี้ยงตำรวจ” แต่เมื่อเสือถูกปราบหนักขึ้นและเบาบางลง จ่าแล้มจึงมุ่งที่จะสังหารกำนันป้อมในการให้ที่พักพิงแก่เสือ แต่ด้วยผู้ใหญ่แช่มร้องขอไว้ จ่าแล้มจึงละเว้นปฏิบัติการดังกล่าว

เรื่องราวหน้าขำขันในหมู่เสือที่ควรแก่การบันทึกไว้ ณ ที่นี้ คือในช่วงเวลากลางวัน พวกเสือกลุ่มหนึ่งตั้งค่ายพักกันที่ลานวัดหนองผักนาก หุงข้าวเหนียวและทำอาหารกินกัน ด้วยพระภิกษุซึ่งชอบเล่นตระกร้อกันในช่วงบ่ายจึงเดินออกมาจากกุฏิ เมื่อพบเจอกับพวกเสือที่ไม่ค่อยได้ทำบุญทำทาน ในเวลาบ่ายนั้น พวกเสือจึงถวายอาหารที่ทำกินแก่พระภิกษุและบังคับให้พระฉันอาหารในขณะนั้นต่อหน้ากลุ่มเสือด้วยใจปรารถนาในการทำบุญ  

ภายหลังจากสมัยเสือ ชาวบ้านอพยพโยกย้ายออกจากกลุ่มหมู่บ้าน เพื่อไปอยู่ตามที่นาที่ไร่ของตนเอง และการนี้สอดคล้องกับช่วงเวลาของสมัยแห่งการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยรัฐบาลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีการขยายพื้นที่ทำนาเพื่อปลูกข้าว เริ่มตัดถนนหนทาง ซึ่งแต่เดิมทางที่ใช้สัญจรด้วยการเดินเท้าและถีบจักรยานเป็นคันนาขนาดกว้างประมาณ 1 เมตร โดยเพิ่งจะมีการตัดถนนในช่วงราวทศวรรษ 2510 ตลอดจนมีการขุดคลองตามรางน้ำธรรมชาติเดิมที่ปัจจุบันเรียกกันว่า “คลองโป่งแดง” แต่ก่อนหน้านี้ชลประทานก็เริ่มที่จะขุดคลองส่งน้ำสายที่ 8 และสายที่ 9 ซึ่งหมู่บ้านโป่งแดงอยู่ระหว่างกลางคลองสองเส้นนี้

ในช่วงทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา หมู่บ้านวัดโป่งแดงได้มีการพัฒนาความเจริญอยู่หลายด้านทั้งการสร้างถนนหนทาง ไฟฟ้า การขุดน้ำบาดาลมาใช้ (ปัจจุบันยังคงใช้น้ำบาดาลอยู่) และการสร้างโรงเรียนวัดโป่งแดง ซึ่งแต่เดิมใช้ศาลาการเปรียญวัดเป็นโรงเรียน ซึ่งจะต้องหยุดเรียนกันทุกวันพระ แต่ด้วยศาลาการเปรียญเก่าชำรุดทรุดโทรมอยู่มาก เป็นเหตุหนึ่งที่นำไปสู่การสร้างโรงเรียนอย่างถาวร ซึ่งนักเรียนรุ่นแรกที่ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนวัดโป่งแดงคือ รุ่นปี พ.ศ. 2512

ช่วงประมาณปี พ.ศ. 2524 ชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างโบสถ์หลังใหม่ นำโดยพระปลัดทองเกินเป็นผู้หาทุนและจัดการการก่อสร้างโบสถ์หลังใหม่ แต่ทั้งนี้ น่าเสียดายยิ่งที่มิได้มีใครคัดค้านการอนุรักษ์โบสถ์หลังเก่าและเจดีย์ต่าง ๆ ที่อยู่คู่กับโบสถ์หลังเก่านั้น ทุกสิ่งอย่างที่อยู่คงมาเป็นเวลานานถูกทลายพังลงแล้วสร้างสิ่งใหม่ทับลงไป จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2528 และจัดให้มีการปิดทองฝังลูกนิมิตในช่วงสิ้นปี พ.ศ. 2528 ต่อปีใหม่ พ.ศ. 2529 เป็นเวลา 9 วัน 9 คืน ชาวบ้านเล่าว่ามีผู้คนเดินทางมาจากทั่วทุกสารทิศ มีมหรสพหลายอย่างและมีชื่อเสียง เช่น การชกมวย หนังกลางแปลง ลิเก ดนตรีการแสดง เป็นต้น โดยนักร้องที่มีชื่อเสียงอย่างพุ่มพวง ดวงจันทร์ มาปรากฏตัวแสดงในคืนสุดท้ายของงาน

การพัฒนาหมู่บ้านวัดโป่งแดงมีอยู่เรื่อยมาและกำลังพัฒนาให้ก้าวหน้าต่อไป สิ่งที่ข้าพเจ้าเขียน ณ ที่นี้ น้อยอย่างนักที่ได้ประจักษ์แก่สายตา ทุกสิ่งอย่างในปัจจุบันขณะหาใช่ดังที่ผู้อาวุโสซึ่งผ่านประสบพบเห็นเมื่อครั้งเก่าแล้วเล่าให้ฟังไม่ เป็นธรรมดาของนักศึกษาประวัติศาสตร์รุ่นใหม่อย่างข้าพเจ้าที่รู้สึกเสียดายและเสียใจกับการจางหายไปของโบราณวัตถุที่สำคัญของหมู่บ้าน ตลอดจนรวมถึงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของหมู่บ้านซึ่งน่าสนใจยิ่งอีกด้วย

โดยบทความชิ้นนี้จึงแทนใจข้าพเจ้าด้วยเขียนขึ้นไว้เป็นเค้าโครงแห่งความทรงจำของผู้อาวุโสแห่งท้องถิ่นท่ามกลางห้วงเวลาของการพัฒนาในกระแสธารทุนนิยม เป็นประวัติศาสตร์ของชุมชนแห่งหนึ่งในที่ราบ ร้อยเรียงขึ้นด้วยประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า

 


บรรณานุกรม :

สุนทรภู่, หอสมุดวชิรญาณ. “โคลงนิราศสุพรรณ ของสุนทรภู่ ฉบับสมบูรณ์,” เข้าถึงเมื่อ 4 เมษายน 2561, http://vajirayana.org/โครงนิราศสุพรรณ.

ลาน สว่างศรี, (อดีตกำนันตำบลหนองผักนาก). ชีวิตและผลงาน “รำพึงรำพัน” โดย…กำนันลาน สว่างศรี. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์นิตยสารศิลปินเพลง, 2550.

การสัมภาษณ์

ซ้อน แก้วโกมล. สัมภาษณ์. 31 มีนาคม 2561.

ดำรงค์ ทองโสภา. สัมภาษณ์. 30 มีนาคม 2561.

บรรจบ แก้วโกมล. สัมภาษณ์. 29 มีนาคม 2561.

ประกอบ สัตยวงค์. สัมภาษณ์. 3 เมษายน 2561. 

เผือด ไกรแสงสุริยวงศ์. สัมภาษณ์. 1 เมษายน 2561.

สุวรรณ แก้วโกมล. สัมภาษณ์. 30 มีนาคม 2561.

อุบล แตงอ่อน, พระ. สัมภาษณ์. 2 เมษายน 2561.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 พฤษภาคม 2564