“ชิงเปรต” อาจเป็นประเพณีที่เริ่มจาก “ชาวฮอลันดา” เอารางวัลมาล่อให้ชนพื้นเมืองแย่งชิง?

การละเล่น ปันจัตปีนัง อินโดนีเซีย คล้ายคลึง ชิงเปรต
การละเล่น "ปันจัตปีนัง" ในมาเลเซีย เมื่อ 12 ธันวาคม 2016 (AFP PHOTO / MOHD RASFAN)

“ชิงเปรต” ประเพณีชาวใต้ ในเทศกาล “สารทเดือนสิบ” อาจเริ่มจาก “ชาวฮอลันดา” เอารางวัลมาล่อให้ชนพื้นเมืองแย่งชิงก็เป็นได้

คนใต้โดยเฉพาะชาวบ้านในนครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานี จะมีประเพณีหนึ่งซึ่งจัดขึ้นประจำช่วงประมาณเดือนกันยายน, ตุลาคม (วันแรม 1 ค่ำ เดือนสิบ ถึง วันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ) เรียกว่าประเพณี “ชิงเปรต” ในเทศกาล “สารทเดือนสิบ” ซึ่งชาวบ้านจัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพชน มีงานบุญเพื่อ “รับ-ส่งตายาย” หรือผีบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ โดยชาวบ้านจะจัด “หฺมฺรับ” หรือสำรับอาหารคาวหวานมอบให้แก่บรรดาผีบรรพบุรุษเป็นสำคัญ

เมื่อเสร็จพิธี บรรดาลูกหลานก็จะเข้าแย่งอาหารเหล่านี้ที่จะตั้งอยู่บน “ร้านเปรต” ซึ่งมีทั้งแบบร้านยกเสาสี่ต้น และแบบที่เป็นเสาต้นเดียว ทำจากลำต้นไม้หมาก หรือไม้ไผ่ หรือไม้หลาโอน (เหลาชะโอน) จึงได้ชื่อว่าเป็นการ “ชิงเปรต”

นั่งร้านเปรตของไทยซึ่งมีทั้งแบบใช้เสาต้นเดียว (ด้านหน้า) และแบบเสา 4 ต้น (ด้านหลัง) ภาพจาก สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้
นั่งร้านเปรตของไทยซึ่งมีทั้งแบบใช้เสาต้นเดียว (ด้านหน้า) และแบบเสา 4 ต้น (ด้านหลัง) ภาพจาก สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้

ประเพณีชิงเปรตของไทย ยังไปคล้ายคลึงกับประเพณีของวัฒนธรรมอื่น อย่างที่ พระยาอนุมานราชธน เคยอธิบายไว้ว่า การชิงเปรตมีลักษณะคล้ายคลึงกับการทิ้งกระจาดของจีน ดังความตอนหนึ่งในสารานุกรมราชบัณฑิตยสถาน ที่ระบุว่า

“เรื่องชิงเปรตนี้ ดูไม่ผิดอะไรกับเรื่องทิ้งกระจาดของจีนที่เขาทำในกลางเดือน ๗ ของเขา ซึ่งตรงกับเดือน ๙ ของไทย คือ เขาปลูกเป็นร้านยกพื้นสูง นำเอาขนมผลไม้เป็นกระจาดขึ้นไปไว้บนนั้น นอกนี้ยังมีของมีราคาเช่นเสื้อผ้า หุ้มคลุมบนเครื่องสานไม้ไผ่ คล้ายตะกร้า เมื่อถึงเวลามีเจ้าหน้าที่ ๒-๓ คน ขึ้นไปประจำอยู่บนนั้นแล้วจับโยนสิ่งของบนร้านลงมาข้างล่างให้แย่งชิงกัน เดิมเห็นจะโยนทิ้งลงมาทั้งกระจาดจึงได้เรียกชื่อว่าอย่างนั้น ต่อมาใช้หยิบของมนกระจาดบนร้านทิ้งลงมาเท่านั้น ส่วนเสื้อผ้าโดยส่วนมากเป็นผ้าขาวม้า เขาทิ้งลงมาทั้งตะกร้าที่เอาผ้าติดไว้ ผลไม้และขนมโดยมากเป็นขนมเข่งที่ทิ้งลงมานั้นมีแต่พวกเด็กๆ และผู้หญิงแย่งกัน

ส่วนผู้ชายไม่ใคร่แย่งเพราะคอยแย่งเสื้อผ้าดีกว่าลูกไม้ และขนมที่ทิ้งลงมากว่าจะแย่งเอาได้ก็เหลวแหลกบ้างเป็นธรรมดา แต่เสื้อผ้าที่ทิ้งลงมานั้นแย่งกันจนขาดไม่มีชิ้นดี บางทีคนแย่งไม่ทันใจปีนร้านขึ้นไปแย่งกันบนนั้น เจ้าหน้าที่มีน้อยห้ามไม่ไหว คราวนี้ชุลมุนวุ่นวายกันใหญ่ ถึงกับร้านทานน้ำหนักไม่ไหวพังลงมาก็เคยมี ต่อมาจึงได้เปลี่ยนเป็นทิ้งสลากสำหรับเสื้อผ้า ส่วนของอื่นยังคงทิ้งลงมาให้แย่งกัน การทิ้งกระจาดของจีนเป็นการทิ้งทานให้แก่พวกผีไม่มีญาติ ส่วนการไหว้เจ้าชิดง่วยปั่วหรือสารทกลางปีของเขา เป็นการเซ่นผีปู่ย่าตายาย คือทำบุญให้แก่ญาติที่ตายไป”

หากพิจารณาดูแล้ว ที่พระยาอนุมานราชธนกล่าวว่า “ดูไม่ผิดอะไร” แต่แท้จริงแล้ว ชิงเปรต และ เทกระจาด ยังต่างกันในรายละเอียดอยู่มาก ด้วยเทกระจาดนั้นมุ่งทำบุญให้ผีไม่มีญาติ แต่ชิงเปรตนั้นเป็นการทำบุญให้กับทั้งผีบรรพบุรุษและผีไม่มีญาติในคราวเดียว อีกทั้งลักษณะการละเล่นก็ยังต่างกันอยู่

ในขณะเดียวกัน หากมองในเชิงการละเล่น การชิงเปรตของไทยแบบร้านที่ตั้งขึ้นบนเสาต้นเดียว ดูจะคล้ายคลึงกับกับประเพณีที่เรียกว่า “ปันจัตปีนัง” (panjat pinang) ของชาวอินโดนีเซียมากกว่า เพราะไม่ใช่เป็นการ “เทกระจาด” ลงมาจากบนร้านเหมือนอย่างประเพณีจีน แต่เป็นการตั้งเสาชะโลมน้ำมันให้คนขึ้นไปแย่งชิงของรางวัลเหมือนกัน

แต่ปันจัตปีนังก็ยังต่างจากชิงเปรตของไทยในเชิงของความเชื่อ เพราะประเพณีไทยเชื่อมโยงกับศาสนาผีของชนพื้นเมือง (มีพุทธปนพอเป็นพิธี) แต่ปันจัตปีนังของอินโดนีเซียนั้น ผู้รู้ท่านว่าไม่ได้เกี่ยวของอะไรกับความเชื่อทางศาสนาแต่ประการใด หากเป็นการละเล่นที่เจ้าอาณานิคมฮอลันดาในอดีตเอามาให้ชนพื้นเมืองได้เล่นกันเพื่อความบันเทิง (ของเจ้าอาณานิคมเอง) ในงานฉลองต่างๆ ตั้งแต่เมื่อราว 2-3 ร้อยปีก่อน

จึงไม่แปลกที่หลายคนจะมองว่า ประเพณีนี้เป็นการหยามหมิ่นศักดิ์ศรีของชนพื้นเมือง ที่หลายคนยอมทิ้งศักดิ์ศรีลงทุนเจ็บเนื้อเจ็บตัว เพื่อแย่งสิ่งที่มีค่าในสายตาของพวกเขา แต่อาจเป็นแค่ของที่แทบไม่มีค่าอะไรสักเท่าไหร่สำหรับฝรั่งเจ้าอาณานิคม

เด็กๆ เชื้อสายอินโดนีเซียในมาเลเซียต้องเหยียบคนอื่นๆ ต่อตัวขึ้นไปเพื่อปีนเสาที่ถูกชะโลมด้วยน้ำมัน (AFP PHOTO / MOHD RASFAN)
เด็กๆ เชื้อสายอินโดนีเซียในมาเลเซียต้องเหยียบคนอื่นๆ ต่อตัวขึ้นไปเพื่อปีนเสาที่ถูกชะโลมด้วยน้ำมัน (AFP PHOTO / MOHD RASFAN)

อย่างไรก็ดี คนอินโดนีเซียในปัจจุบันส่วนใหญ่แล้วสามารถก้าวข้ามความรู้สึกจากปมขัดแย้งด้วยลัทธิอาณานิคมในอดีต และยังรักษาประเพณีนี้เอาไว้ในงานฉลองต่างๆ ในฐานะการละเล่นเพื่อความสนุกสนาน ซึ่งรวมถึงงานฉลองวันได้รับอิสรภาพของประเทศด้วย

และเมื่อชาวอินโดนีเซียเดินทางไปยังดินแดนข้างเคียงก็ยังนำเอาประเพณีนี้ติดตัวไปด้วย เช่น ในมาเลเซีย เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2016 ชาวบ้านเชื้อสายอินโดนีเซียในหมู่บ้าน Bawean ก็ได้ร่วมฉลองวันคล้ายวันเกิดของศาสดามูฮัมหมัด ด้วยการละเล่นที่เรียกว่า “ปันจัตปีนัง” ซึ่งดูคล้ายประเพณีชิงเปรตของคนใต้ในประเทศไทยมาก

จนน่าคิดได้เหมือนกันว่า “ชิงเปรต” ของไทยจะได้รับอิทธิพลมาจากชาวชวากับเขาด้วยหรือไม่?

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“ชิงเปรต”. สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้–กรุงเทพฯ : มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพานิชย์, 2542

“Slippery Race to the Top”. The Straits Times. <http://www.straitstimes.com/multimedia/photos/slippery-race-to-the-top>

Climbing the greasy pole – Jakarta style: Bizarre celebration rituals make up 69th anniversary of independence from Dutch colonial rule”. The Daily Mail. <http://www.dailymail.co.uk/news/article-2729205/Climbing-greasy-pole-Jakarta-style-Bizarre-celebration-rituals-make-69th-anniversary-independence-Dutch-colonial-rule.html>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 ธันวาคม 2559