พิธีแต่งงานชาวกัมพูชา ความสัมพันธ์กับตำนานเขมรโบราณ “พระทอง-นางนาค”

พิธีแต่งงานชาวกัมพูชา ตามความเชื่อ พระทอง-นางนาค
เจ้าบ่าวจับสไบเจ้าสาวตามความเชื่อเรื่องเปรี๊ยะเทากับนางนาค (ถ่ายโดยปฐมพงษ์ สุขเล็ก เมื่อ พ.ศ. 2555)

พิธีแต่งงานชาวกัมพูชา ในปัจจุบันนี้มีความสัมพันธ์กับตำนานเขมรโบราณเรื่อง “พระทอง-นางนาค” ซึ่งเป็นตำนานอธิบายเรื่องการสร้างเมืองกัมพูชา

สมัยก่อนชาวกัมพูชาจะใช้เวลาจัดพิธีการแต่งงานถึง 7 วัน แต่ปัจจุบันนิยมใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน (หรือมากกว่านี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมด้านต่างๆ อาทิ ฐานะของผู้แต่งงาน)

โดยเฉพาะพิธีกรรมวันที่สาม จะสัมพันธ์กับตำนานเขมรโบราณเรื่องพระทอง-นางนาค

พิธีกรรมวันสุดท้าย เริ่มตั้งแต่ช่วงเช้ามีพิธีสำคัญคือการผูกข้อมือคู่บ่าวสาว โดยเจ้าบ่าวและเจ้าสาวต้องใส่ชุดประเพณี คือ เจ้าสาวใส่ชุดนางนาค และ เจ้าบ่าวใส่ชุดพระทอง ซึ่งภาษาเขมรออกเสียงพระทองว่า เปรี๊ยะเทา เป็นเครื่องแต่งกายที่มีความสัมพันธ์กับตำนานเขมรโบราณเรื่องพระทอง-นางนาค เกี่ยวกับการแต่งงานที่เกิดครั้งแรก คือการแต่งงานของนางนาคกับพระทอง โดยเจ้าบ่าวจะต้องใส่ชุดพระทองและเจ้าสาวต้องใส่ชุดนางนาค ซึ่งถือว่าเป็นชุดแต่งกายที่งดงามที่สุด

เจ้าบ่าวจับสไบเจ้าสาวตามความเชื่อเรื่องเปรี๊ยะเทากับนางนาค (ถ่ายโดยปฐมพงษ์ สุขเล็ก เมื่อ พ.ศ. 2555)

ตำนานเรื่อง พระทอง-นางนาค เล่าสืบต่อกันมาว่า “นางนาคชื่อทาวดีเป็นลูกนาคราชอาศัยอยู่ใต้บาดาล และพระทองเป็นเจ้าชายจากแดนไกล วันหนึ่งนางนาคแปลงกายเป็นมนุษย์ขึ้นมาเล่นน้ำ เป็นจังหวะที่พระทองเดินทางมาพบจึงเกิดหลงรักนางนาคและแต่งงานกัน บิดานางนาคจึงเนรมิตเมืองขึ้นให้ชื่อว่า ‘กัมพูชา’ ให้แก่พระทองและลูกสาวของตน พระทองจึงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งกัมพูชา ต่อมาพระทองต้องการลงไปเมืองบาดาลแต่เป็นมนุษย์ไม่สามารถเดินทางไปได้ นางนาคจึงให้พระทองจับสไบเพื่อจะสามารถตามไปยังถ้ำใต้บาดาลได้”

ตำนานเรื่องนี้มีปรากฏในราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ฉบับพระองค์นพรัตน์ อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดมาบางส่วนจากบทความ เรื่องเก็บมาเล่า…พิธีแต่งงานชาวกัมพูชา “ความสัมพันธ์กับตำนานเขมรโบราณ พระทอง-นางนาค” เขียนโดย ปฐมพงษ์ สุขเล็ก ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกุมภาพันธ์ 2558)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 มีนาคม 2562