ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2549 |
---|---|
ผู้เขียน | ติ๊ก แสนบุญ เขียนรูปและเล่าเรื่อง |
เผยแพร่ |
เรื่องราวของศิลปะและวัฒนธรรมแขนงงานช่างพื้นเมืองบริสุทธิ์นั้น กล่าวได้ว่ามีอยู่มากมายหลายชนิด สำหรับแดนดินถิ่นอีสานนี้ เมื่อเราได้เข้าไปกราบนมัสการองค์พระประธานภายในหอแจกหรือแม้แต่ในสิม (โบสถ์) อาณาบริเวณส่วนด้านหน้าองค์พระประธาน ในอดีตจะประกอบไปด้วยฮาวไต้เทียน (ราวเทียน) พระไม้ พระซุ้มโขง หรือแผงพระ นอกเหนือจากนี้ไม่พบว่ามีงานหัตถกรรมอื่นใด
นอกจากงานเครื่องจักสานชนิดหนึ่งที่เรียกเป็นภาษาถิ่นอีสานว่า “กะย่อง” หรือ “ขันกะย่อง” ก็เรียก ซึ่งมีความหมายถึงภาชนะที่สานด้วยไม้ไผ่ชนิดหนึ่ง สำหรับใส่เครื่องสักการบูชา มีพระพุทธรูปและค้ำคุณ มีคุด เขา นอ งา เป็นต้น
เรียก “ขันกะย่อง” โดยมีลักษณะทางศิลปกรรมและประโยชน์ใช้สอยคล้ายกับ “ขันแก้วทั้งสาม” ซึ่งเป็นเครื่องประดับในศาสนสถาน (ใช้สำหรับวางเครื่องสักการะดอกไม้ธูปเทียน) ของทางภาคเหนือ นิยมทำด้วยวัสดุหลักจากไม้จริง โดยมีส่วนใบขัน
ส่วนเอวและส่วนขาเป็นแปลนรูปทรงสามเหลี่ยมหรือวงกลม จำหลักลวดลายไม้เป็นรูปพญานาคขดในส่วนเอว ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มหัตถกรรมเครื่องเขิน (เป็นอิทธิพลศิลปะจากพม่าในยุคที่เข้ามาปกครองล้านนา)
“ขันกะย่องของอีสาน” ยังมีเอกลักษณ์และความหมายแตกต่างในมิติอื่นๆ เช่น ขนาดที่เล็กกว่า โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 30-45 เซนติเมตร และสูงตั้งแต่ 35-65 เซนติเมตร รูปทรงเส้นรอบนอกมีลักษณะแบบโบกคว่ำโบกงายแบบบัวปากพาน (ดูภาพประกอบ)
วัสดุเป็นไม้ไผ่จักสานหลากหลายรูปแบบ (แตกต่างกับทางเหนือที่เป็นไม้จริง) มีลักษณะลายสานซึ่งเป็นแม่ลายสำคัญ เช่น ลายขัด ลายเฉลว ลายหัวสุ่ม ลายก้นหอย คุณค่าทางศิลปะของ “ขันกะย่อง” ยังบ่งบอกถึงตัวตนคนอีสาน ที่สื่อสารผ่านงานช่างในแขนงต่างๆ ที่แสดงออกถึงวิถีชีวิตของสังคมเกษตรที่เน้นถึงความเรียบง่ายอีกทั้งสัจจะทางวัสดุ หรือเรียกอย่างภาษาชาวบ้านว่า “สวยแบบซื่อๆ”
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 ธันวาคม 2559