ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มกราคม 2549 |
---|---|
เผยแพร่ |
อับดุลเลาะห์ เจ๊ะแต วาด
กอเซ้ง ลาเตะ วาด
มะรอนิง สาและ ข้อมูล
อัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง ข้อมูล
แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง เรียบเรียง
เวลาว่างจากการเรียน เด็กปอเนาะหรือโต๊ะปาเกจะพูดคุยเกี่ยวกับหลักคำสอนที่ได้เรียนมากับเพื่อน ทบทวนบทเรียนท่องจำอัลกุรอ่านและหะดิษให้คล่องแคล่วและจำขึ้นใจ หากมีคำถามนักเรียนปอเนาะจะจดจำไปถามบาบอ หรือโต๊ะครูในโรงเรียนเพื่อเข้าใจในศาสนาอิสลามลึกซึ้งยิ่งขึ้น
นอกจากทบทวนบทเรียนแล้ว เด็กผู้ชายจะจับกลุ่มกันทำกิจกรรมเพื่อพักผ่อนด้วยการเลี้ยงนกกรงหัวจุก และทำกรงนก
เด็กผู้หญิงจะใช้เวลาว่างฝึกหัดงานฝีมือกับมามา หรือเพื่อนๆ รุ่นพี่ เช่น การปักผ้าคลุมผม ที่เรียกกันว่าฮิญาบ ทำหมวกกะปิเยาะห์หมวกสีขาวที่ผู้ชายมุสลิมสวม ทำดอกไม้ประดิษญ์ เป็นการพักผ่อนและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ทั้งยังนำความรู้เหล่านี้ไปประกอบอาชีพได้
จบจากสถาบันปอเนาะแล้วไปทำอะไร
เมื่อเรียนจบจากปอเนาะ โต๊ะปาเกจะเป็นผู้สืบทอดศาสนา บางคนเป็นโต๊ะครูสอนศาสนาในโรงเรียนสอนศาสนา หรือไปเปิดปอเนาะที่หมู่บ้านของตนหรือในพื้นที่ที่ยังไม่มีสถาบันการสอนศาสนา บางคนเป็นอิหม่าม เป็นกรรมการมัสยิด เป็นผู้รู้ศาสนาในหมู่บ้านต่างๆ ชักชวนให้ผู้อื่นดำรงชีวิตในแนวทางแห่งอิสลามที่เคร่งครัดและยึดมั่นศรัทธาในอัลลอฮ์
ขอ “ดุอาว์” (ขอพร) ให้ผู้คนในดินแดนประเทศไทยและในโลกใบนี้จงมีแต่ความสันติสุข พึ่งพิงและเอื้ออาทรต่อกันดั่งพี่น้องตลอดไป
ที่มา: การ์ตูนชีวิตชาวใต้ ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มกราคม 2549