“วันหยุดราชการ” ในอดีตของไทยหยุดวันอะไรกัน?

วันหยุดราชการ เล่นน้ำ สงกรานต์ สาดน้ำ คนเยอะ
บรรยายเล่าสาดน้ำในวันหยุดราชการ "เทศกาลสงกรานต์" (ภาพจากhttps://www.matichon.co.th)

สำหรับมนุษย์เงินเดือนวันหยุดในแต่ละปีที่ชวนฝันที่สุด คงต้องยกให้ วันหยุดสงกรานต์ และปีใหม่ (แต่ถ้าใครทำงานกับหน่วยงานต่างประเทศ อาจเป็นคริสต์มาส หรือตรุษจีนแทน) เพราะได้หยุดยาวตั้งแต่ 3-5 วัน จนถึง 15 วันก็มี ขึ้นอยู่กลับแต่ละหน่วยงาน แต่วันนี้เราอยากชวนท่านไปดู “วันหยุดราชการ” ซึ่งเอกชนใช้อ้างอิงในการกำหนดวันหยุดของแต่ละหน่วยงาน แล้วในอดีตที่ผ่าน ราชการกำหนดวันอะไรเป็นวันหยุดกันบ้าง

เริ่มจากวันหยุดราชการสมัยรัชกาลที่ 6 พ.ศ. 2456[1] ก่อนที่จะดูว่ามีวันหยุดอะไรบ้าง มาดูเหตุผลในการให้หยุดก่อน รัชกาลที่ 6 ทรงพระราชดำริถึงวันหยุดว่า “การหยุดนั้นมี 3 อย่าง สำหรับได้ผ่อนร่างกายบ้างอย่างหนึ่ง หยุดเพื่อแสดงความเคารพต่อพระบรมราชวงษ์อย่างหนึ่ง เพื่อเคารพต่อพระสาสนาอีกอย่างหนึ่ง”

สำหรับวันหยุดราชการสมัยรัชกาลที่ 6 วัน พ.ศ. 2456 มีวันหยุดยาวต่อเนื่องถึง 19 วัน (28 มีนาคม-15 เมษายน) คือ “พระราชพิธีตะรุษสงกรานต์ แลนักขัตฤกษ์” ซึ่งคงรวมวันตรุษไทย (เทศกาลสิ้นปีของไทย), วันขึ้นปีใหม่เดิมของไทยวันที่ 1 เมษายน และเทศกาลสงกรานต์ เข้าไปไว้ด้วยกัน

ส่วนวันหยุดอื่นๆ ในปีนั้นได้แก่ “วิสาขะบูชา” หยุด 3 วัน (7-9 พฤษภาคม), “เข้าปุริมพรรษา” หยุด 7 วัน (6-12 กรกฎาคม), “ทำบุญพระบรมอัษฐิพระพุทธเจ้าหลวง” หยุด 1 วัน (23 ตุลาคม), “ทำบุญพระบรมอัษฐิ และพระราชพิธีฉัตรมงคล” หยุด 4 วัน (9-12 พฤศจิกายน), “เฉลิมพระชนมพรรษา” หยุด 5 วัน (30 ธันวาคม-3 มกราคม) และ“มาฆะบูชา จาตุรงค์สันนิบาติ” หยุด 1 วัน (1 มีนาคม)

ถึงสมัยรัชกาลที่ 7 วันหยุดราชการ พ.ศ. 2468 [2] อย่าง “ตะรุสะสงกรานต์” กลับหยุดเพียง 4 วัน (31 มีนาคม-3 เมษายน) และยังไม่มีวันหยุดสงกรานต์เช่นปัจจุบันในเดือนเมษายน ส่วนวันหยุดอื่นๆ ก็มี “วันที่ระลึกมหาจักรี”, “วิศาขะบูชา”, “เข้าปุริมพรรษา”, “วันสรรคตแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธหลวง”, “เฉลิมพระชนม์พรรษา” และ “พระราชพิธีฉัตรมงคล”

สมัยรัชกาลที่ 8 วันหยุดราชการ พ.ศ. 2480 [3] ที่น่าสนใจ คือ ในประกาศมี (…) เป็นภาษาอังกฤษ และมีวันหยุดเกี่ยวกับ “รัฐธรรมนูญ” ถึง 3 รายการ คือ “วันขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ (Constitution Petition Day)” หยุด 1 วัน (24 มิถุนายน), “วันรัฐธรรมนูญชั่วคราว (Provisional Constitution Day)” หยุด 1 วัน (27 มิถุนายน) และ “วันรัฐธรรมนูญ  (Constitution Day)” หยุด 3 วัน (9-11 ธันวาคม)

ส่วนวันหยุดอื่นๆ เช่น “วันตรุษสงกรานต์ (New Year)” หยุด 3 วัน (31 มีนาคม-2 เมษายน) ส่วนวันหยุดอื่นๆ ก็มี “วันจักรี (Chakri Day)” , “วันวิสาขะบูชา (Visakha Buja)”, “วันเข้าพรรษา(Buddhist day)”, “วันเฉลิมพระชนมพรรษา (The King’s Birthday)” และ “วันมาฆบูชา (Magha Day)”

สมัยรัชกาลที่ 9 ประกาศวันหยุด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2493 [4] ที่น่าสนใจคือ มี วันขึ้นปีใหม่ (New year) หยุด 3 วัน (31 ธันวาคม-2 มกราคม, วันสงกรานต์ (Songkran) หยุด 3 วัน (13-15 เมษายาน), วันชาติ (National Day) หยุด 1 วัน ( 24 มิถุนายน), วันสหประชาชาติ (United Nations Day) หยุด 1 วัน (24 ตุลาคม)

ส่วนวันหยุดอื่นๆ ได้แก่ วันมาฆบูชา, วันจักรี, วันวิสาขบูชา, วันเข้าพรรษา, วันปิยะมหาราช, วันเฉลิมพระชนมพรรษา และวันรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงวันหยุดประจำทุกๆ สัปดาห์ เป็นวันเสาร์ครึ่งวัน (ตั้งแต่ 12.00) และวันอาทิตย์ ส่วนโรงเรียนให้ถ้าเป็นโรงเรียนที่อาศัยสถานที่วัดเป็นสถานศึกษา ให้หยุดวันพระ หากไม่ต้องอาศัยที่วัดก็ให้หยุดวันอาทิตย์ ส่วนพื้นที่  4 จังหวัดภาคใต้ (ปัตตานี, สตูล, ยะลา และนราธิวาส) ให้หยุดราชการประจำทุกสัปดาห์ ในวันพฤหัสบดีครึ่งวัน และวันศุกร์เต็มวัน

ที่รวบรวมมานี้เป็นเพียงบางส่วนประกาศวันหยุดราชการที่เคยมีมา แม้จะขาดความต่อเนื่องในเรื่องเวลา แต่วันหยุดราชการก็สะท้อนสภาพบ้านเมืองและวิถีชีวิตของผู้คนในแต่ละช่วงเวลา เช่นนี้วันหยุดราชการที่มีผ่านจึงมีการเพิ่ม การลด หรือคงไว้ ตามสถานการณ์ขอทุกท่านโปรดวินิจฉัย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 30 หน้า 533-534 วันที่ 30 มีนาคม 2456

[2] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 42 หน้า 336-337 วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2468

[3] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 54 หน้า 2338-2339 วันที่ 30 มกราคม 2480

[4] ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 67 หน้า 6374-6375 วันที่ 12 ธันวาคม 2493


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 มีนาคม 2563