เปิดชีวิต ประจวบ ภิรมย์ภักดี นักปรุงเบียร์คนแรกของไทย ผู้สืบทอดตํานาน “ตราสิงห์”

(ซ้าย) ประจวบ ภิรมย์ภักดี (ขวา) พระยาภิรมย์ภักดี

…ประจวบ ภิรมย์ภักดี ประธานกรรมการบริษัท บุญรอด บริวเวอรี่ เสียชีวิตลงด้วยโรคหัวใจด้วยวัย 82 ปี

ถือว่าเป็นภิรมย์ภักดีรุ่นที่ 2 ที่ได้สืบต่อกิจการเบียร์ตราสิงห์ ต่อจากพระยาภิรมย์ภักดี ผู้เป็นบิดา และเป็นเจ้าของต้นตํารับเบียร์ตราสิงห์ “เบียร์เจ้าแรกของไทย”…

เพราะฉะนั้น การจะศึกษาชีวิตและงานของนายประจวบ จึงควรเริ่มจากการทําความรู้จักพระยาภิรมย์ภักดีผู้บิดาก่อน ในฐานะที่เป็นผู้ริเริ่มทํากิจการโรงเบียร์ ธุรกิจที่ไม่มีใครกล้าคิดกล้าทํามาก่อนในขณะเดียวกันก็สนับสนุนให้นายประจวบ บุตรชายคนโตไปศึกษาวิชาการทําเบียร์ที่เยอรมนี เพื่อจะได้กลับมาสืบทอดกิจการนี้โดยเฉพาะ

พระยาภิรมย์ภักดี หรือ นายบุญรอด เศรษฐบุตร เจ้าของอาณาจักรเบียร์สิงห์ที่ยิ่งใหญ่ในขณะนี้ เป็นผู้ที่ชอบศึกษาและค้นคว้าเป็นชีวิตจิตใจ เริ่มต้นการเรียนหนังสือกับบิดาคือ พระภิรมย์ภักดี (ชม เศรษฐบุตร) จนอายุได้ 11 ขวบในปี 2426 ก็เข้าโรงเรียนวัดและศึกษาต่อในโรงเรียนหลวงสวนอนันต์ กับอาจารย์ เอส.จี. แมคฟาแลนด์ ซึ่งเป็นมิชชันนารีอเมริกันรุ่นแรก ๆ ที่เข้ามาในไทย และเป็นครูใหญ่คนแรกของโรงเรียนหลวงสวนอนันต์ ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯให้ตั้งขึ้นในปี 2421 ในบริเวณพระราชวังนันทอุทยาน

นายบุญรอดถือว่าเป็นศิษย์อาจารย์ฝรั่งที่ได้ความรู้ติดตัวไปทํามาหากินได้มากมาย

นายบุญรอดเรียนจบเมื่ออายุเพียง 17 ปี และสอบได้เป็นที่หนึ่งของโรงเรียนอีกด้วย จึงถูกนายแมคฟาแลนด์ดึงตัวไว้ให้เป็นครูในโรงเรียนแห่งนี้ ในขณะที่นายบุญรอดได้ไปสอบเข้ารับราชการตําแหน่งเลขานุการกระทรวงธรรมการได้ แต่นายแมคฟาแลนด์ไม่ยอม นายบุญรอดจึงลาออกจากโรงเรียนมาอยู่บ้านพักหนึ่ง เพื่อทบทวนตนเองถึงอนาคต

ในที่สุดจึงตัดสินใจกระโจนเข้าสู่อาชีพค้าขาย

แม้เวลานั้นอาชีพรับราชการจะทําให้คนก้าวหน้ามากกว่าก็ตาม

นายบุญรอดได้ไปทํางานเป็นเสมียนโต้ตอบจดหมายภาษาอังกฤษในธุรกิจป่าไม้และโรงเลื่อยในห้างกิมเซ่งหลี ของ อากรเต็ง โสภโนดร ซึ่งเป็นพ่อค้าที่ใหญ่โตมากในขณะนั้น มีทั้งกิจการโรงสีไฟ อู่เรือ โรงเลื่อยไม้ และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งธนาคารสยามกัมมาจล

คลิกอ่านเพิ่มเติมทำไมถึงเรียกสะพานอากรเต็ง “อากรเต็ง” มาจากไหน? เกี่ยวอะไรกับเมนู “ผัดผักโสภณ”

หลังจากนายบุญรอดเรียนรู้งานค้าไม้ได้ 4 ปี ก็ไปทํางานในห้างเด็นนิมอต ซึ่งเป็นโรงเลื่อยของฝรั่งซึ่งยิ่งทําให้มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับธุรกิจต่างประเทศมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็ทําธุรกิจกับนายอากรเต็ง โดยการรับไม้ของอากรเต็งมาเข้าโรงเลื่อยของห้างเด็นนิมอต ซึ่งแสดงให้เห็นแววของนักธุรกิจด้วยวัยเพียง 24 ปีเท่านั้น

หลังจากฝึกฝนวิทยายุทธ์ที่ได้จากห้างเด็นนิมอตแก่กล้าพอแล้ว นายบุญรอดจึงออกมาบินเดี่ยวทําธุรกิจค้าไม้และติดต่อส่งออก เพียง 2 ปี เท่านั้น ก็มีเงินทองสร้างบ้านตนเองที่คลองโอ่งอ่างและเหลือพอเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศได้

หลังจากออกมาเป็นเถ้าแก่เองจนมีเงินทองเหลือพอจึงได้เข้าไปติดต่ออากรเต็งขอซื้อกิจการ รับส่งคนโดยสารระหว่างตลาดพลูและท่าน้ำราชวงศ์ในปี 2453 ซึ่งเป็นธุรกิจที่เติบโตขึ้นมาแทนธุรกิจค้าไม้ที่ซบเซาลง

ในปี 2456 นายบุญรอดก็ตั้งบริษัทบางหลวงทําธุรกิจเรือโดยสารอย่างเป็นทางการ ประกอบกับเศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลกจนการค้าซบเซา ธนาคารจีนสยามซึ่งเวลานั้นคุมการหมุนเวียนของเงินค้าขายในกรุงเทพฯถึง 25%  ล้มละลายลง ทําให้เศรษฐกิจเกิดความปั่นป่วน นายบุญรอดจึงใช้ช่วงเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำดังกล่าวเข้าช่วยเหลือราชการในฐานะคหบดีคนหนึ่งจนได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงภิรมย์ภักดีในปี 2456

ช่วงก่อนที่นายบุญรอดจะได้รับบรรดาศักดิ์เป็น หลวงภิรมย์ภักดี นายประจวบก็ได้ถือกําเนิดมาในปี 2455 และเป็นลูกชายคนโตที่นายบุญรอดตั้งความหวังไว้ว่าจะให้สืบทอดกิจการ โดยนายประจวบได้รับการศึกษาอย่างดี เริ่มเข้าศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญจนจบมัธยมปีที่ 3 หลังจากนั้นก็ถูกส่งไปเรียนที่ประเทศฝรั่งเศสจนจบ ชั้นมัธยมศึกษา และระหว่างที่กําลังเข้าเรียนวิชาสถาปัตย์ที่ฝรั่งเศส หลวงภิรมย์ภักดีผู้บิดาก็เริ่มที่จะบ่ายหน้าเข้าหาธุรกิจใหม่คือการตั้งโรงเบียร์ เนื่องจากเวลานั้นเกิดเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นสําหรับคนกรุงเทพฯและคนธนบุรีคือมีการก่อสร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกซึ่งทําให้หลวงภิรมย์ภักดี ผู้มีสายตายาวไกลเริ่มเห็นว่าธุรกิจเดินเรือซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของครอบครัวคงไปไม่รอดเมื่อมีการเปิดสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเริ่มมองหาธุรกิจใหม่

ธุรกิจที่หลวงภิรมย์ภักดีกระโดดเข้าหาก็คือการตั้งโรงเบียร์ ซึ่งเป็นธุรกิจนอกจากจะไม่คุ้นเคยแล้ว ยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีแปลกใหม่ของคนไทยสมัยนั้น ประกอบกับหลวงภิรมย์ภักดีเองก็มาเริ่มต้นธุรกิจใหม่เมื่ออายุย่างเข้า 57 ปีแล้ว แต่ก่อนที่หลวงภิรมย์ภักดีจะคิดทําเบียร์ก็ได้ศึกษาอุตสาหกรรมนี้อย่างมาก จนพบว่าเบียร์สามารถผลิตได้ในประเทศร้อน ตลาดในประเทศก็มีพอจะรองรับได้เพราะมีเจ้านายชั้นสูงนิยมทานเบียร์จากต่างประเทศอยู่ และหลวงภิรมย์ภักดียังได้เดินทางไปไซ่ง่อนเพื่อศึกษากรรมวิธีการผลิตเบียร์ในประเทศร้อน

หลังจากนั้นก็ยื่นขอจดทะเบียนตั้งโรงเบียร์ในปี 2474 หลังจากได้รับใบอนุญาตแล้วก็เดินทางไปเยอรมนีเพื่อหาซื้อเครื่องจักรและหาคนปรุงเบียร์ โดยระหว่างทางก่อนไปเยอรมนีก็แวะฝรั่งเศส รับเอานายประจวบไปดูงานด้วย ซึ่งหลังจากกลับจากเยอรมนี้ นอกจากจะได้เครื่องจักรและคนปรุงเบียร์แล้ว ยังได้ย้ายนายประจวบให้ ไปเรียนวิชาการทําเบียร์ ที่สถาบัน Deomens เมืองมิวนิค ประเทศเยอรมนีแทน เนื่องจากเทคโนโลยีการผลิตเบียร์เป็นเรื่องสําคัญที่สุด การพึ่งพาต่างประเทศอย่างเดียวทําไม่ได้

นายประจวบใช้เวลาเรียน 4 ปี ก็สําเร็จ ได้รับประกาศนียบัตรทางนายช่างทําเบียร์ Diploma Braumeister เมื่อปี 2479

นับได้ว่าเป็นนักปรุงเบียร์คนแรกของประเทศไทย

เมื่อเจ้านายไทย “ทำธุรกิจ” ประเมินผลการลงทุนของ “พระยาภิรมย์ภักดี” ถึง “เจ้าพระยายมราช”

ในระหว่างที่นายประจวบเรียนรู้เรื่องการทําเบียร์อยู่นั้น หลวงภิรมย์ภักดีก็ได้ปูทางธุรกิจไว้เพื่อให้เบียร์ไทยเอาชนะเบียร์ต่างประเทศให้ได้ โดยการผลิตเบียร์ที่มีคุณภาพเช่นเดียวกับเบียร์นอกแต่ราคาถูกกว่า จึงมีการล็อบบี้ทางการให้ลดภาษีสรรพสามิตสําหรับเบียร์ไทยเป็นพิเศษ ซึ่งก็ทําได้สําเร็จ แม้พระคลังมหาสมบัติตอนนั้นจะอยู่ในฐานะไม่ค่อยดีก็ตาม และก่อตั้ง บริษัท บุญรอด บริวเวอรี เพื่อตั้งโรงเบียร์ โดยเริ่มแรกมีการผลิตเบียร์หลายยี่ห้อ ทั้งตราว่าว ซึ่งเป็นกีฬาที่หลวงภิรมย์ภักดีชอบมาก ตรานางระบํา ตราหมี และตราสิงห์

เมื่อนายประจวบกลับเมืองไทยก็ปรับปรุงรสชาติและคุณภาพเบียร์สิงห์ให้คุ้นลิ้นคนไทยมากขึ้น นอกจากนี้นายประจวบยังนําเทคโนโลยีการตลาดสมัยใหม่เข้ามาใช้ มีการตั้งร้านขายเบียร์โดยเฉพาะที่เรียกว่าเบียร์ ฮอลล์ ตั้งเอเย่นต์จําหน่ายเบียร์ ปล่อยเครดิตเพื่อให้สินค้าสามารถกระจายออกไปทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็ว ในขณะที่นายประจวบมีอายุเพียง 25 ปี

การบุกเบิกและการขยายตลาดครั้งนี้ นายประจวบได้ร่วมมือกับพี่น้องสองคนภายใต้การดูแลของหลวงภิรมย์ภักดี ซึ่งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น พระยาภิรมย์ภักดี พี่น้องทั้งสอง คือ นายวิทย์ บุตรบุญธรรมพระยาภิรมย์ภักดี ทําหน้าที่ด้านการตลาดและเป็นมือขายที่ลุยภาคสนาม และ นายจํานง บุตรชายต่างมารดากับนายประจวบดูแลด้านการเงินจนทําให้เบียร์สิงห์เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และครองตลาดอย่างไร้คู่แข่ง

และเมื่อพระยาภิรมย์ภักดีถึงแก่กรรมในปี 2493 นายประจวบก็ได้ขึ้นเป็นประธาน บริษัทบุญรอดฯสืบต่อจากบิดา

ปี 2501 ยุคที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เรื่องอํานาจและกําลังขยายอิทธิพลทางธุรกิจ ได้จัดตั้งโรงเบียร์ขึ้นในนาม บริษัท บางกอกเบียร์ ใช้ยี่ห้อ หนุมาน แต่แม้จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล โดยหน่วยราชการนายทัพนายกองเข้ามาช่วยซื้อเบียร์ตราหนุมานกันเต็มที่ แต่ก็ไม่สามารถทําให้บางกอกเบียร์ไปรอดได้ และอายุของบางกอกเบียร์ก็สิ้นสุดลงพร้อมกับอนิจกรรมของจอมพล สฤษดิ์ ทั้งที่เพิ่งตั้งได้เพียงปีเดียว

หลังจากนั้นบางกอกเบียร์ก็ถูกขายต่อให้กับ นายอุเทน เตชะไพบูลย์ และ นายสหัส มหาคุณ ที่ทําโรงงานสุราบางยี่ขันอยู่และเปลี่ยนชื่อบางกอกเบียร์เป็น บ.ไทยอมฤตบริวเวอรี่ ออกเบียร์หลายยี่ห้อและบุกตลาดอย่างหนัก แต่ก็ผลักดันไม่สําเร็จ

ในขณะที่ทางเบียร์สิงห์ทําการย้อนศรฝ่ายเตชะไพบูลย์เจ้าของอาณาจักรเหล้า ด้วยการผลิตน้ำโซดาออกมาขาย เพราะฉะนั้นไม่ว่าฝ่ายเตชะไพบูลย์จะขายสุราแม่โขง กวางทองได้มากเท่าไหร่ ฝ่ายภิรมย์ภักดีก็จะยิ่งขายโซดาได้มากขึ้นเป็นเงาตามตัว แถมเป็นตลาดที่ไร้คู่แข่งอีกด้วย

ในช่วงหนึ่งที่นายประจวบเรียนจบจากเยอรมนี้มาเป็นนายช่างควบคุมการทําเบียร์ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ส่งผลกระทบต่อการขนส่งทางเรือระหว่างยุโรป-เอเชียให้ต้องชะงักงัน บริษัทไม่สามารถสั่งซื้อวัตถุดิบคือข้าวมอลต์ซึ่งเป็นหัวใจของอุตสาหกรรมเบียร์มาจากต่างประเทศได้ นายประจวบได้อาศัยความรู้ที่ร่ำเรียนมา ดัดแปลงวัตถุดิบในไทยไปใช้แทนวัตถุดิบที่เคยใช้จนผลิตเป็นเบียร์ได้สําเร็จ จําหน่ายช่วงสงครามและยังมีรสชาติที่ทหารต่างชาติเองยังชมว่าอร่อยกว่าเบียร์ที่อื่น ซึ่งทําให้บริษัทบุญรอดสามารถเลี้ยงคนงานและเสมียนในแผนกต่าง ๆ จํานวน 500 คนเศษได้

หลังจากที่บุกเบิกธุรกิจเบียร์จนได้ครองตลาดแล้ว นายประจวบได้ร่วมกับนายวิทย์ และนายจํานงขยายงานเข้าธุรกิจต่อเนื่องมากมาย เช่น การร่วมทุนกับบริษัทบางกอกกล๊าส ทําขวด การร่วมทุนกับบริษัทฝาจีบ ตั้งโรงงานพลาสติก เข้าถือหุ้นในธนาคารบางแห่ง เช่น ธนาคารไทยพานิชย์ ธนาคารแหลมทอง และยังได้ลงทุนในโครง การปลูกมอลต์ที่ภาคเหนือ เนื่องจากมอลต์เป็นวัตถุดิบที่สําคัญแต่ต้องนําเข้าจากต่างประเทศ ในขณะที่ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม หากจะประกาศให้เบียร์สิงห์เป็นเบียร์ไทยได้อย่างเต็มภาคภูมิก็ควรจะต้องใช้วัตถุดิบในประเทศไทยให้ได้ โครงการนี้จึงต้องเกิดขึ้นแม้จะใช้เวลานานก็ตาม

ระยะเวลาที่นายประจวบเข้ารับตําแหน่งประธานกรรมการและผู้อํานวยการบริษัทแทนพระยาภิรมย์ภักดีผู้บิดาตั้งแต่ปี 2493 ได้มีการบริหารกิจการของบริษัทให้ก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา จากเนื้อที่ของบริษัทบุญรอด 9 ไร่เศษ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่บางกระบือ กลายเป็น 57 ไร่เศษ

มีพนักงานกว่า 1,300 คน และมีกําลังผลิตเพิ่มจากปีละ 500,000 ลิตร เป็น 1.5 ล้านลิตร มีการเปิดตลาดเบียร์ออกไปทั้งเอเชีย ยุโรป และ สหรัฐ จนรสชาติเป็นที่ยอมรับ สามารถคว้ารางวัลเบียร์คุณภาพดีที่สุดตราหนึ่งในบรรดาเบียร์ที่มีชื่อเสียงทั่วโลก

ในด้านชีวิตครอบครัวนายประจวบสมรสกับ นางสาวศรีจันทร์ จูฑะเตมีย์ … มี บุตร-ธิดา 5 คนคือ ปิยะ ภิรมย์ภักดี, ภควดี สุขุม, จวบจันทร์ ภิรมย์ภักดี, สันติ ภิรมย์ภักดี และ พรภิรมย์ ภิรมย์ภักดี โดยนายปิยะและนายสันตินั้นถือได้ว่าเป็น “ภิรมย์ภักดี” รุ่นที่ 3 ที่เติบโตขึ้นมาสืบทอดอุตสาหกรรมโรงเบียร์ของพระยาภิรมย์ภักดี ซึ่งนอกจากผลิตเบียร์ โซดา น้ำดื่มภายใต้ชื่อ “ตราสิงห์” แล้ว ภิรมย์ภักดีรุ่นใหม่ยังได้ขยายธุรกิจออกไปเป็นโครงการพัฒนาที่ดินและการท่องเที่ยวจํานวนมากมาย

บทสรุปสุดท้ายในชีวิตของนายประจวบได้ เดินมาถึงความสําเร็จสุดยอด เริ่มจากจบวิชาปรุงเบียร์มาโดยตรงและเข้ามาพัฒนาคุณภาพจนเป็น ที่ยอมรับของทั่วโลก จนเป็นอุตสาหกรรมที่ประสบความสําเร็จ อุตสาหกรรมหนึ่งของไทยภายใต้ชื่อไทยรสชาติไทย และได้แสดงความเป็นไทยโดยการเสียภาษีธุรกิจอย่างถูกต้อง จนได้เป็น 1 ใน 10 ของผู้ที่เสียภาษีให้กับชาติสูงสุดมาแล้ว

นี่คือความสําเร็จของคนไทย

พระยาภิรมย์ภักดี กับ-กีฬาว่าวไทย

พระยาภิรมย์ภักดี นามเดิมบุญรอด เศรษฐบุตร เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2415 ขึ้น11 ค่ำ เดือน 11 ปีวอก จ.ศ. 1233 ณ บ้านปลายสะพานยาว วัดบพิตรพิมุข

เป็นบุตรพระภิรมย์ภักดี (ชม เศรษฐบุตร) และนางมา เศรษฐบุตร

เหตุที่ได้ชื่อว่าบุญรอดนั้น ท่านเขียนเล่าไว้ในหนังสือ “ย่อรายงานประจําวัน” ของท่านว่า “เมื่อยังเป็นเด็กชักว่าวถอยหลังตกสะพานยาว หัวปักเสน มีผู้ช่วยขึ้นมาได้ ท่านบิดาจึงให้ชื่อว่า “บุญรอด” เป็นเด็กที่ค่อนข้างชนกว่าเด็กเพื่อนบ้าน”

พระยาภิรมย์ภักดีเริ่มเรียนหนังสือไทยขั้นต้นกับบิดาที่บ้านก่อน จนกระทั่งอายุได้ 11 ปี บิดาจึงนําไปฝากเรียนกับพระอาจารย์เมียม วัดบพิตรพิมุข เรียนอยู่ปีเศษก็ไปฝึกหัดการวาดเขียน ณ บ้านหลวงฤทธิ์ พออายุได้ 14 ปี ได้ขอให้บิดานําไปฝากกับอาจารย์เอส.จี.แมคฟาแลนด์ (S.G.Mcfarland) ณ โรงเรียนหลวงสวนอนันต์ ในคลองมอญ ธนบุรี ซึ่งต่อมา โรงเรียนนี้ยกเลิกการสอนมารวมกับโรงเรียนสุนันทาลัย ปากคลองตลาด พระยาภิรมย์ๆจึงย้ายมาเรียนที่โรงเรียนสุนันทาลัย จนกระทั่งจบหลักสูตร ท่านสามารถผ่านการสอบไล่เป็นที่ 1 ทุกวิชา

พระยาภิรมย์เป็นผู้นิยมและเชี่ยวชาญในการเล่นว่าวปักเป้า จนหาคู่ต่อสู้ได้ยาก เพราะเล่นว่าวมาแต่เด็ก ทําว่าวเอง นําไปชักด้วยตนเอง จึงรู้ข้อดีข้อเสีย และดัดแปลงจนว่าวได้สัดส่วนขึ้นสูงและบังคับว่าวได้อย่างใจนึก

พระยาภิรมย์ เป็นผู้แต่ง “ตํานานว่าวพนัน ตําราผูกว่าว วิธีชักว่าว และการเล่นว่าวต่อสู้กันในอากาศ” เมื่อปี พ.ศ.2464 เป็นตําราเล่มเดียวที่ให้ความรู้ด้านการแข่งขันว่าวเป็นอย่างมาก จนได้รับยกย่องว่าเป็น “ครู” ของ การเล่นว่าวไทย

ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ทรง กล่าวไว้ในคํานําเมื่อจัดพิมพ์ครั้งแรกว่า “ยังไม่ปรากฏว่าได้เคยมีผู้ใดแต่งเรื่องตํานานและตําราเล่นว่าวไว้แต่ก่อนมา และผู้ซึ่งจะแต่งนั้นก็ไม่มีใคร จะสมควรยิ่งกว่าพระยาภิรมย์ๆ ไปด้วยเป็นผู้ชํานาญการเล่นว่าวพนันไม่มีตัวสู้”

การเมืองเรื่องชักว่าว ดูว่าวพนันสมัยร.5 ทำไมชนชั้นนำเล่นพนันขณะที่ทั่วเมืองโดนกวาดล้าง?

เมื่อครั้งเป็นเด็กท่านกับพวกน้องๆ ได้รับการสอนและฝึกหัดให้รู้จักวิธีการเล่นว่าวจากบิดา ซึ่งได้รับการยกย่องว่า มีฝีมือเป็นเอกในการเล่นว่าวปักเป้าดังที่พระยาภิรมย์ๆบันทึกความไว้ว่า “ท่านบิดาเป็นนักล่อว่าว พนันชนะว่าวจุฬามีฝีมือเยี่ยมเลิศ ชื่อเสียงโด่งดังว่าว่าวปักเป้าพระภิรมย์ล่อเก่งที่สุดในสยาม”

พระยาภิรมย์ภักดีได้ติดตามไปช่วยบิดาเล่นว่าวทุกสนามที่มีการแข่งขัน เช่น สนามวัดโคก สนามวังสระปทุม สนามวัดบ้านทวาย หัวลําโพง สวนอนันต์ในคลองมอญ ฯลฯ เรื่อยมาจนถึงสนามหลวง การที่มีโอกาสได้เล่น ได้เห็นมากนอกจากจะทําให้เกิดความชํานาญแล้วท่านยังได้รับความรู้ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้เล่นว่าวแต่ละประเภทว่าใครมีฝีมือในเรื่องการเล่นว่าวประเภทใด และเล่นได้ดีมากน้อยเพียงไร จนกระทั่งพระภิรมย์ภักดีถึงแก่กรรม พระยาภิรมย์ภักดีก็ได้รับยกย่องว่าเป็นผู้มีฝีมือการเล่นว่าวพนันเป็นเยี่ยมสืบต่อจากบิดา

พระยาภิรมย์ภักดีให้ความสนใจในกีฬาว่าวพนันเสมอมา ทุกครั้งที่มีการเล่นแข่งขันที่ใดท่านก็มักจะไปร่วมเสมอ ดังเช่นใน พ.ศ. 2461 มีการนัดเล่นว่าวพนันที่สนามศาลาแดง ท่านเขียนเล่าไว้ว่า

“วันหนึ่งข้าพเจ้าไปดูเขาเล่น…ข้าพเจ้าไม่ได้จับว่าวเล่นมานานแล้ว นึกอย่างจะลองดูว่ามือกับนัยน์ตาจะเขวไปอย่างไรบ้าง จึงกรากไปที่ขุนจรูญฯยิ้มว่าวลองชักดู”

การเล่นว่าวครั้งนั้นผลปรากฏว่า ท่านสามารถคว้าว่าวจุฬาตกถึงสามตัวติดต่อกันจนนายสนามร้องเอ็ดมาว่า “หยุดก่อน พวกจุฬาเขายอม กลัวจริง ๆ และไม่ขอเล่นด้วยต่อไปถ้าคุณพระจับป่านว่าวปักเป้าสายใด ว่าวจุฬาตกลงมาจะไม่ให้เงิน” ท่านเล่าว่าเหตุการณ์เช่นนั้นเท่ากับเป็นการ ยอมแพ้ให้ขึ้นคานกลางสนาม

บางครั้งมีการเสด็จพระราชดําเนินมาทอดพระเนตร พระยาภิรมย์ๆได้แสดงฝีมือเล่นว่าวถวายจนได้รับคําชมว่า “ฝีมือยังเก่งจริง เหมือนเขาเล่าลือกัน”

แม้จะมีโอกาสเล่นว่าวได้น้อยลงแต่พระยาภิรมย์ๆยังคงเข้าร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับการจัดการเล่นว่าวต่าง ๆ เช่น เป็นนายกสมาคมสนามว่าว เมื่อ พ.ศ. 2466 ครั้งนั้นท่านได้สละทุนลงแรงเก็บเงินค่าตัดสินและค่าอื่น ๆ ส่งบํารุงสภากาชาดเป็นการกุศล นับจากนั้นมาท่านก็ได้รับเชิญเป็นนายกสนามว่าวต่อมาอีกหลายครั้ง

ในปี พ.ศ.2470 ท่านได้ริเริ่มจัดตั้งสมาคมกีฬาสยามต่อมาคือสมาคมกีฬาไทยๆ ปัจจุบันยังมีม้ารอก และตะกร้าใส่ป่านว่าว อุปกรณ์ประกอบการแข่งขันสมบัติของท่านจัดอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร

 


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 มกราคม 2563