จินตนาการประชาธิปไตย “ที่แท้จริง” ของกษัตริย์สยาม : รัชกาลที่ 5

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

จินตนาการประชาธิปไตยของรัชกาลที่ 5    

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกษัตริย์สยามพระองค์แรกที่ถูก “ท้าทาย” ให้ลดทอนพระราชอำนาจลง โดยพระราชวงศ์และขุนนางรวม 11 ท่าน ในปี 2427 (ร.ศ. 103) เป็นปีที่ 17 แห่งการครองราชสมบัติ     

ในหนังสือ “เจ้านายและข้าราชการกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงระเบียบราชการแผ่นดิน ร.ศ. 103” มีสาระสำคัญในการเสนอให้สยามเปลี่ยนแปลงระเบียบการปกครองให้เป็นแบบ “คอนสติตูชาแนลโมนากี” หรือการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญ ปันพระราชอำนาจการปกครองส่วนหนึ่งให้กับเสนาบดี ข้าราชการผู้ใหญ่ เป็นผู้ตัดสินใจ ซึ่ง “ผู้ที่เป็นเสนาบดีก็เป็นผู้แทนของราษฎรซึ่งเลือกมาต่อๆ ขึ้นไปเป็นชั้นๆ “ (เจ้านายและข้าราชการกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงระเบียบราชการแผ่นดิน ร.ศ. 103 และพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน, (กรุงเทพฯ : พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ หม่อมสนิท กฤดากร, 2510), น. 21.) โดยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็น “มหาประธาน” ของบ้านเมือง  

อย่างไรก็ดีการเรียกร้องครั้งนี้ มิได้ตัดรอนกันถึงขั้น “ล้มเจ้า” รวมถึงไม่ได้เรียกร้องถึงขั้นให้มีองค์ประกอบอื่น ๆ ตามที่ระบอบประชาธิปไตยควรจะต้องมี คือเบื้องต้นคณะผู้ถวายความเห็นฯ ยังไม่ต้องการให้มีรัฐสภาในทันที “หาได้ประสงค์ที่จะให้มีปาลิเมนต์ในเวลานี้ไม่” เพียงแต่ต้องการให้พระมหากษัตริย์ “ร่วม” ปกครองบ้านเมืองกับเสนาบดีโดย “การป้องกันรักษา และทะนุบำรุงบ้านเมืองทุกอย่างนั้น ต้องอยู่ในความคิดความตัดสินของข้าราชการผู้ใหญ่” อีกทั้งยังเรียกร้องให้ประชาชนมีอิสระใน “ถ้อยคำและความคิด” ที่จะแสดงออกต่อสาธารณะ    

นอกเหนือจากแนวคิด “ก้าวหน้า” ทางการเมืองของคณะผู้ถวายความเห็นฯ แล้ว เหตุผลสำคัญอันหนึ่งที่นำมาอ้างในการเรียกร้องครั้งนี้คือ การคุกคามจากชาติยุโรปในขณะนั้น ซึ่งมักอ้าง “ภารกิจของคนผิวขาว” ที่ต้องการจะนำความ “ศิวิไลซ์” มาสู่ประเทศป่าเถื่อน ด้วยการยึดครองและปกครอง

ซึ่งคณะผู้ถวายความเห็นฯ ก็มีความเห็นว่าการปกครองแบบ “แอฟโสลุดโมนากี” หรือระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ใช้อยู่ในประเทศสยามนั้น คือการปกครองโดยใช้สติปัญญาของคนเพียงคนเดียวนั้น ไม่เป็นประเพณีของบ้านเมืองอันประเสริฐ และส่งผลร้ายทำลายบ้านเมืองได้    

“อุปมาเหมือนอุบะที่แขวนไว้ด้วยเชือกเส้นเดียว พวงอุบะซึ่งอาศัยเชือกอยู่นั้นถ้ามีอันตรายเชือกขาดก็จะต้องตกถึงพื้น ถึงแก่ฟกช้ำเปลี่ยนแปลงรูปพรรณไปได้ต่างๆ ฤาบางทีทำลายยับเยินสิ้นทีเดียว” (เจ้านายและข้าราชการกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงระเบียบราชการแผ่นดิน ร.ศ. 103 และพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน, (กรุงเทพฯ : พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ หม่อมสนิท กฤดากร, 2510), น. 18.)

คณะผู้ถวายความเห็นฯ ได้เสนอความเห็นอันเป็นทางออกของปัญหานี้ทางหนึ่งคือ  

“การบำรุงรักษาอย่างเช่นมีในกรุงสยามทุกวันนี้ เป็นทางผิดตรงกันข้ามต่อทางยุโรป ปราศจากแบบแผนแลกฎหมายที่เรียกว่า คอนสติติวชัน ซึ่งประกอบไปด้วยสติปัญญาแลกำลังของราษฎรเป็นการพร้อมเพรียงกันเป็นประมาณ ซึ่งเขานับกันว่ามียุติธรรมทั่วถึงกันจะทำการสิ่งใดก็สำเร็จได้แน่จริง” (เจ้านายและข้าราชการกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงระเบียบราชการแผ่นดิน ร.ศ. 103 และพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน, (กรุงเทพฯ : พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ หม่อมสนิท กฤดากร, 2510), น. 20.)

สิ่งสำคัญที่จะต้องเกิดขึ้นทันทีภายใต้การเรียกร้องครั้งนี้คือ คอนสติติวชัน (กฎหมายรัฐธรรมนูญ) และคณะคาบิเนต (เสนาบดี) ซึ่งจะมาทำหน้าที่ตัดสินใจในกิจการบ้านเมือง โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น “มหาประธาน” แต่มิต้องทรงว่าราชการด้วยพระองค์เองทุก ๆ อย่าง ไม่ว่าเรื่องใหญ่เรื่องน้อยเหมือนเก่า    

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตอบ (โต้) ข้อเรียกร้องดังกล่าวของคณะผู้ถวายความเห็นฯ ใน “พระราชดำรัสตอบความเห็นของผู้จะให้เปลี่ยนการปกครอง” โดยมีพระราชดำริถึง “ความไม่พร้อม” ของสยามที่จะดำเนินกิจการตามแบบ “คอนสติติวชัน” ในทันที เนื่องจากความไม่พร้อมของ “ตัวบุคคล” ที่จะมาขับเคลื่อนแนวคิดอันนั้นได้ เช่น คณะบุคคลที่จะมาทำหน้าที่ “คอเวอนเมนต์” หรือรัฐบาล ทรงเห็นว่ายังไม่มีคนที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ “ไม่ใคร่จะได้อาศัย ฤาไม่ได้อาศัยเสนาบดีตามตำแหน่งนั้น ๆ เลย เราต้องรับการตำแหน่งนี้หนักยิ่งกว่าปริเมียอังกฤษ”    

นอกจากนี้มีพระราชดำริว่า “ลิยิสเลตีฟ” หรือสภานิติบัญญัตินั้นยิ่งไม่ค่อยมีใครจะอยากทำ เสนาบดีส่วนใหญ่ต้องการจะบริหารกรมต่าง ๆ มากกว่า การทำกฎหมายที่ผ่านมาจึง “ไม่สำเร็จไปได้สักเรื่องหนึ่ง” ดังนั้นการสรรหาบุคคลที่มีประสิทธิภาพมาทำงานในสภานิติบัญญัตินั้น จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ประเทศสยามยัง “ไม่พร้อม”   

“ในส่วนของลิยิสเลตีฟเคานซิลนั้น เป็นการจำเป็นจะต้องมีดังเช่นเราได้กล่าวมาแล้วแต่ไม่เป็นการง่ายเลย ที่จะหาตัวผู้ซึ่งจะเป็นการได้จริง ผู้ซึ่งจะมีปัญญาชี้เหตุการณ์ติแลชมได้นั้นมีมากคนไป แต่ไม่พ้นจากที่จะเหมือนกับชี้บอกว่าสิ่งนี้แดง สิ่งนี้ดำ สิ่งนี้ขาว ซึ่งแลเห็นอยู่แก่ตาทั่วกันแล้วอย่างนั้นเอง แต่ผู้ซึ่งจะทำให้เป็นรูปร่างอย่างใดเข้านั้นไม่ใคร่มีตัวเลย” (เจ้านายและข้าราชการกราบบังคมทูลความเห็นจัดการเปลี่ยนแปลงระเบียบราชการแผ่นดิน ร.ศ. 103 และพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแถลงพระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน, (กรุงเทพฯ : พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ หม่อมสนิท กฤดากร, 2510), น. 59.)

เมื่ออ่านพระราชวินิจฉัยทั้ง 2 เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการหาตัวเสนาบดีที่ “ไม่ยี้” กับสภานิติบัญญัติที่จะตั้งอกตั้งใจทำงาน “ออกกฎหมาย” ไม่ใช่เก่งแต่ “ติชม” เป็นสภาน้ำลาย จึงดูไม่เหมือนกับการ “จินตนาการ” เท่าไหร่นัก แต่คล้ายจะเป็นคำบรรยายการถ่ายทอดสดประชุมสภาฯ ในปัจจุบันนี้มากกว่า    

อย่างไรก็ดีในเวลานั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสนอว่าก่อนจะทำการสิ่งใดอันเป็นการปรับปรุงบ้านเมืองไปสู่การมี “คอนสติติวชัน” นั้น จำเป็นจะต้องทำ “คอเวอนเมนต์รีฟอม” เสียก่อน “ถ้าการเรื่องนี้ยังไม่เป็นการเรียบร้อยได้แล้ว การอื่น ๆ ยากนักที่จะตลอดไปได้” นั่นคือที่มาของการปรับปรุงการปกครองบ้านเมืองขนานใหญ่ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรียกว่า “Revolution” ดังที่ปรากฏใน “พระบรมราชาธิบายแก้ไขการปกครองแผ่นดิน” หรืออีกราว 3 ปี หลังจากที่คณะผู้ถวายความเห็นฯ กราบบังคมทูลเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

คลิกอ่านเพิ่มเติม : จินตนาการประชาธิปไตย “ที่แท้จริง” ของกษัตริย์สยาม : รัชกาลที่ 6

คลิกอ่านเพิ่มเติม : จินตนาการประชาธิปไตย “ที่แท้จริง” ของกษัตริย์สยาม : รัชกาลที่ 7

   


หมายเหตุ : บทความในนิตยสารชื่อ จินตนาการประชาธิปไตย “ที่แท้จริง” ของพระมหากษัตริย์สยาม

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 สิงหาคม 2562 (เน้นคำใหม่-กองบก.ออนไลน์)