สื่อชาวสีรุ้งไทยยุคแรก หนังสือมีกะเทยนำเรื่อง(อาจ)เก่าสุด “เผยชีวิต ดาวกะเทยยอดกระหรี่”

เผยชีวิต ดาวกะเทยยอดกะหรี่ หนังสือเพศที่สาม เกย์ สื่อชาวสีรุ้ง
ภาพหน้าปกหนังสือ "เผยชีวิต ดาวกะเทยยอดกะหรี่" จาก ศิลปวัฒนธรรม สิงหาคม, 2550

ในบรรดาสิ่งพิมพ์ในเมืองไทย นอกจากสื่อสิ่งพิมพ์ทั่วไปที่เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันแล้ว ยังมีสิ่งพิมพ์เฉพาะกลุ่ม ในรายงานนี้เป็น สื่อชาวสีรุ้ง ที่ว่าสีรุ้ง มิได้หมายความว่าเป็นสิ่งพิมพ์แนวสดใสวัยรุ่น หากแต่เป็นสิ่งพิมพ์ที่มีกลุ่มเป้าหมายสำหรับกลุ่มคนรักเพศเดียวกันหรือเดิมเรามักเรียกว่าชาวสีม่วง แต่เพื่อการปรับทัศนคติที่ดีขึ้นต่อความหลากหลายทางเพศ จึงใช้สีรุ้งซึ่งประกอบด้วยสีทั้งเจ็ดเป็นสัญลักษณ์ อันหมายถึงความแตกต่างหลากหลายในวิถีการมีชีวิตและวิถีทางเพศ ประหนึ่งสีสันหลากหลายที่มาอยู่รวมบนสายรุ้งเดียวกัน

ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกเห็นว่า สิ่งที่เคยเป็นความวิปริตเบี่ยงเบนที่เคยคิดเคยเชื่อว่าคนรักเพศเดียวกันหรือคนข้ามเพศคือคนที่มีปัญหาทางจิตและเป็นผู้ป่วยที่ต้องบำบัดรักษา มาบัดนี้ การรักเพศเดียวกันถือเป็นรสนิยมที่แตกต่างหลากหลายในวิถีชีวิต กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือเรียกย่อๆ ว่า LGBT (Lesbian Gay Bisexual Transgender) มีวัฒนธรรมย่อยของพวกเขาเองแทรกอยู่ในมุมต่างๆ ของสังคมกระแสหลัก ทั้งการสื่อสาร แหล่งเที่ยว และวรรณกรรมของคนรักเพศเดียวกันหรือคนข้ามเพศ

เดิมเป็นเพียงสิ่งที่รู้อยู่ในหมู่ของผู้ที่มีรสนิยมเดียวกันเท่านั้น หากปัจจุบันได้มีองค์กรหลายกลุ่มที่เกิดขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ทางวิชาการและสังคมเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ ทั้งองค์กรของชายรักชายและหญิงรักหญิง โดยเฉพาะการรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศในรูปแบบต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคมไทย

ขอเอ่ยถึงเป็นเบื้องต้นสักนิดว่า เรื่องราวของคนรักเพศเดียวกันนั้นมีอยู่ในสังคมไทยมายาวนาน นับตั้งแต่กฎมนเทียรบาลที่บรรจุไว้ในกฎหมายตราสามดวง ที่เอ่ยถึงการลงทัณฑ์หญิงชาววังว่าหากเล่นชู้ประดุจชายหญิง จะได้รับโทษให้ศักฅอและเอาลงเป็นชาวสะดึง

ทั้งในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 3 โดยเจ้าพระยาทิพากรวงศมหาโกษาธิบดี ที่กล่าวถึงกรมหลวงรักษรณเรศผู้ถูกสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์ ด้วยข้อหาหนึ่งคือการเล่นสวาทกับเจ้าละคร

วรรณคดีเรื่องพระอภัยมณี หรือเพลงยาวเรื่องหม่อมเป็ดสวรรค์ วรรณกรรมเหล่านี้กล่าวถึงพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน ซึ่งมีผู้ศึกษาไว้บ้างแล้ว

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2550…มีการเปิดตัว โครงการอนุรักษ์มรดกสีรุ้ง เพื่อการรวบรวมองค์ความรู้ด้านความหลากหลายทางเพศ เป็นต้นว่าสื่อต่างๆ ด้วยความร่วมมือขององค์กรที่ทำงานในด้านนี้ และ รศ.ดร. ปีเตอร์ แจ็กสัน นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ไทย จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ได้ศึกษาเรื่องราวของความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยมายาวนาน ด้วยความหวังว่าการอนุรักษ์มรดกสีรุ้งนั้นจะนำไปสู่การถือกำเนิดขึ้นของศูนย์ข้อมูลความหลากหลายทางเพศแห่งประเทศไทย (Thai Queer Resources Centre) ซึ่งจะทำหน้าที่เก็บรวบรวมสื่อนานาชนิด และเป็นแหล่งศึกษาและให้ข้อมูลไม่ว่าจะเป็นสิ่งพิมพ์ ภาพยนตร์ เพลง หนังสั้น หรือรายการโทรทัศน์ต่างๆ

แม้จะเป็นเพียงงานเล็กๆ ที่ดูเหมือนจัดขึ้นเฉพาะกลุ่ม แต่ก็น่าตื่นตาด้วยสิ่งพิมพ์และสื่อหลากหลายที่มีในคอลเล็กชั่นส่วนตัวเหล่าชาวสีรุ้ง ได้นำมาจัดแสดงให้ได้ชมกันอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะสิ่งพิมพ์ที่มีการผลิตมาในสังคมไทยค่อนข้างยาวนานกว่าสื่ออื่นๆ

อย่างไรก็ตาม แนวคิดเรื่องการอนุรักษ์มรดกสีรุ้งนั้น รศ.ดร. ปีเตอร์ แจ็กสัน อธิบายว่าบันทึกประวัติศาสตร์ของประเทศต่างๆ ในโลก มักมีแต่เรื่องราวของผู้ที่มีอำนาจ ประวัติศาสตร์ของคนกลุ่มน้อยต่างๆ มักจะถูกมองข้ามเสมอ คนรักเพศเดียวกันก็มักจะถูกมองข้ามเสมอเช่นกัน ไม่มีห้องสมุดหรือหอจดหมายเหตุที่ไหนที่จะมาเก็บข้อมูลของชาวสีรุ้ง เพราะบรรณารักษ์จะมองว่าเอกสารเหล่านี้ไม่มีความสำคัญ

ทั้งนี้คงเพราะทัศนคติที่ว่าด้วยความเบี่ยงเบนและผิดปกตินั่นเอง แต่จริงๆ แล้ว ชาวสีรุ้งเป็นกลุ่มคนที่มีประวัติศาสตร์ และมีความสำคัญมากใน Popular Culture แล้วถ้าชาวสีรุ้งไม่เป็นผู้ลุกขึ้นมาริเริ่มเก็บเอกสาร เก็บข้อมูลที่บอกเล่าเรื่องราวไว้ มรดกที่มีค่าเหล่านี้จะสูญหายไปในไม่ช้าอย่างแน่นอน

อาจารย์ปีเตอร์ยกตัวอย่างว่า ในประเทศที่มีศูนย์ข้อมูลสีรุ้ง เช่น สหรัฐ อังกฤษ และนิวซีแลนด์นั้น ชายรักชายและหญิงรักหญิงที่เป็นนักประวัติศาสตร์สมัครเล่น ได้พยายามริเริ่มเก็บรักษาเอกสารประวัติศาสตร์ของตนไว้ แล้วหลังจากนั้นจึงค่อยส่งมอบให้หอสมุดหรือหอจดหมายเหตุแห่งชาติที่เห็นความสำคัญของข้อมูลเหล่านี้ ในบางประเทศ เช่น ออสเตรเลีย จนถึงขณะนี้ก็ยังเป็นของเอกชน

งานวันนั้นยังมีนักศึกษาและนักวิชาการไทยหลายท่านมาช่วยย้ำเตือนให้เราเห็นความสำคัญของการเก็บข้อมูลสีรุ้ง เพราะขณะนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อนักศึกษาและนักวิชาการจะศึกษาเรื่องราวของเพศที่แตกต่างนั้น มักไม่สามารถค้นหาข้อมูลจากห้องสมุดได้ เพราะห้องสมุดบ้านเรายังไม่ให้ความสำคัญ บางทีก็มองว่าเป็นสื่อลามกด้วยซ้ำไป ทำให้การศึกษาวิจัยเป็นไปได้ยาก (ทั้งที่เมืองไทยได้ชื่อว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของชาวสีรุ้ง แต่การรวบรวมงานทางวิชาการและเรื่องราวที่เป็นปรากฏการณ์สังคมเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศกลับไม่ค่อยมีผู้สนใจนัก)

ในคอลเล็กชั่นของ รศ.ดร. ปีเตอร์ แจ็กสัน เอง ก็มีภาพของหน้าปกหนังสือเรื่อง เผยชีวิต ดาวกะเทยยอดกระหรี่ (สะกดตามหน้าปก-หมายเหตุฉบับออนไลน์) พิมพ์เมื่อประมาณปี 2497-98 แต่เรื่องราวในหนังสือเกิดขึ้นก่อนหน้านั้นนานทีเดียว ซึ่งอาจจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์เล่มที่เก่าที่สุดที่พบว่ามีเรื่องของกะเทยเป็นตัวเดินเรื่อง เป็นชีวประวัติของกะเทยคนหนึ่งที่เกิดและเติบโตในกรุงเทพฯ เมื่อประมาณ 80 ปีก่อน และเป็นเจ้าของกิจการซ่องโสเภณี แต่น่าเสียดายว่า อาจารย์ปีเตอร์มีเพียงภาพถ่ายของหนังสือที่มาจากแฟ้มของคุณเอนก นาวิกมูล และคุณเอนกเองก็มีแต่ภาพ ไม่มีหนังสือฉบับจริง แล้วก็จำไม่ได้แล้วว่าหนังสือเล่มนี้อยู่ที่ไหน

เล่มต่อมา คือหนังสือชาวเกย์ ที่เขียนโดย ป.อินทรปาลิต เจ้าของเรื่องฮิต พล นิกร กิมหงวน เล่มนี้ อาจารย์ปีเตอร์ซื้อเก็บเป็นสมบัติส่วนตัวเมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้ว ต่อมาในยุค 30 ปีที่แล้ว สำหรับชาวเกย์ น้อยคนที่จะไม่รู้จักคอลัมน์ ชีวิตเศร้าชาวเกย์ และ คุยกับอาโก๋ (ตอบปัญหาหญิงรักหญิง) ของ โก๋ ปากน้ำ ในหนังสือ แปลก อันเป็นคอลัมน์ตอบปัญหาเรื่องของชาวเกย์ยอดฮิตในยุคสมัยนั้น เป็นสื่อยุคแรกๆ ที่เริ่มมีเรื่องเกี่ยวกับเกย์ และทำให้แปลกกลายเป็นหนังสือที่ดังมาก และต่อมาได้รวมพิมพ์เป็นพ็อคเก็ตบุ๊กชื่อชีวิตเศร้า เล่มนี้ก็อยู่ในคอลเล็กชั่นของ รศ.ดร. ปีเตอร์ แจ็กสัน เช่นกัน

ในช่วง 30 ปีหลังนี้เป็นช่วงที่เริ่มมีสื่อสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับชาวสีรุ้งมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนวนิยาย เรื่องสั้น และโดยเฉพาะสิ่งพิมพ์เฉพาะกลุ่ม (แน่นอนว่าบางเล่มก็เข้าข่ายอนาจาร) สำหรับเกย์หรือชายรักชาย เล่มที่โด่งดังเป็นที่นิยมของชาวเกย์ในอันดับต้นๆ ได้แก่ นีออน มรกต มิถุนา มิดเวย์ ฯลฯ ที่นิยมนำเอารูปชายหนุ่มหล่อแนวนู้ดมาขึ้นปก และได้รับความนิยมอย่างสูง ทั้งที่ขายบนแผงและใต้แผง และหลากหลายดีกรีความแรง ยังไม่นับอีกหลายสิบหัวที่ออกมาอย่างต่อเนื่องนับแต่ช่วงเวลานั้นจนปัจจุบัน

สำหรับชาวหญิงรักหญิง วรรณกรรม สื่อ หรือสิ่งพิมพ์นับว่ามีน้อยมากเมื่อเทียบกับของเกย์ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่รวบรวมสื่อแนวหญิงรักหญิงไว้ค่อนข้างมากก็คือ คุณฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ แห่งกลุ่มสะพาน

ทั้งนี้ เนื่องจากคุณฉันทลักษณ์เป็นผู้ทำงานในวงวรรณกรรมและมีความสนใจที่จะเก็บรวบรวมสื่อสิ่งพิมพ์เหล่านี้ไว้ โดยเฉพาะปกที่ใครเห็นต้องกรี๊ด คือเธอกับฉัน ที่มีพี่ปุ๊ อัญชลี จงคดีกิจ คู่กับคุณนิตย์ ทำให้ใครหลายคนระลึกความหลังได้ไม่ยาก เล่มนี้น่าจะออกมาในช่วงที่คำว่า ทอม-ดี้ เริ่มเป็นที่รู้จักในบ้านเรา ไม่เพียงสิ่งพิมพ์ที่เป็นสารของความบันเทิงเท่านั้น

หากงานวิชาการที่เป็นวิทยานิพนธ์ งานวิจัยต่างๆ ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของ มรดกสีรุ้ง หรือ สื่อชาวสีรุ้ง ที่จะถูกรวบรวมไว้ให้ศึกษาในศูนย์ข้อมูลแห่งนี้ด้วยเช่นกัน

ขอขอบคุณ หลิน สำหรับรูปประกอบและข้อมูล

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 สิงหาคม 2562