อาร์ทีมิส เทพีเพศพรหมจรรย์และการให้กำเนิด (ขัดกันไหม?) มี “สิบเต้า” จริงหรือ?

อาร์ทีมิส เทพี เทพปกรณัมกรีก
ภาพเทพีอาร์ทีมิส (ไดอานา) แห่งอีเฟซุส โดย Joseph Werner ศิลปินชาวสวิสในยุคศตวรรษที่ 17 (ปัจจุบันภาพจัดแสดงอยู่ที่สถาบันศิลปะแห่งชิคาโก)

อาร์ทีมิส เป็นเทพเจ้าหญิงใน “เทพปกรณัมกรีก” (หรือ “ไดอานา” ในเทพปกรณัมโรมัน) ฝาแฝดของเทพอพอลโล ซึ่งเป็นบุตรแห่งซุสและไททันชื่อว่าเลโต เธอได้รับการนับถือในฐานะเทพีแห่งดวงจันทร์ และการล่าสัตว์ นอกจากนี้ เธอยังเป็นเทพีแห่งการถือเพศพรหมจรรย์และการให้กำเนิด ซึ่งฟังดูแล้วเหมือนจะไม่เข้ากันยังไงชอบกล

เหตุที่เป็นเช่นนั้น คงเป็นเพราะก่อนที่ อาร์ทีมิส จะมาเป็นเทพี ท้องถิ่นต่างๆ ล้วนมีเทพีแห่งผืนป่า การล่าสัตว์ หรืออะไรต่อมิอะไร ก่อนที่ความเชื่อในเทพีอาร์ทีมิสแบบกรีกจะแผ่กระจายไปถึงท้องถิ่นนั้นๆ และหลอมรวมความเชื่อเดิมเข้าไปกับความเชื่อใหม่

ลักษณะเช่นนี้ทำให้คุณสมบัติของเทพและเทพีแต่ละองค์ของกรีกมีความหลากหลายมาก ซึ่งเป็นเรื่องปกติในระบบความเชื่อแบบพหุเทวนิยม เช่นเดียวกับเทพฮินดูในอินเดีย (แต่ถ้าเป็นระบบความเชื่อแบบเอกเทวนิยม การนำเสนอเทพในความเชื่อนั้นๆ ผิดแผกไปจากวิถีปกติถือเป็นเรื่องใหญ่ เนื่องจากความเชื่อที่ถูกต้องมีได้เพียงหนึ่งเดียว)

รูปปั้นเทพีอาร์ทีมิสในโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก (By Michael Button from Norwich UK, England (Copenhagen views May 2013) [CC BY 2.0 (http://creativecommons.org/licenses/by/2.0)], via Wikimedia Commons)
รูปปั้นเทพีอาร์ทีมิส ในโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก (By Michael Button from Norwich UK, England)
เทพีอาร์ทีมิส ใน “เทพปกรณัมกรีก” ที่เรามักเห็นบ่อยๆ จะอยู่ในรูปเด็กสาวสวมผ้าคลุมสั้นเหนือเข่าดูทะมัดทะแมง บางครั้งก็จะถือธนูและสะพายกระบอกธนู แต่ อาร์ทีมิส ยังมี “ปาง” ที่ต่างไปจากรูปลักษณ์ปกติ นั่นคือเทพีอาร์ทีมิสแห่งอีเฟซุส เมืองใหญ่ที่สุดในเอเชียไมเนอร์ในยุคคริสต์ศตวรรษแรก (ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศตุรกี)

อาร์ทีมิสแห่งอีเฟซุส ปรากฏในท่ายืนตรงขาชิดเหมือนถูกมัดไว้ สวมเครื่องทรงศีรษะแบบเมโซโปเตเมีย และยังมี “นม” จำนวนมากนับสิบเต้า แสดงให้เห็นว่า ในอีเฟซุส เทพีองค์นี้ถูกเน้นย้ำถึงความสำคัญในด้าน “การเจริญพันธุ์” ยิ่งกว่า “การรักษาพรหมจรรย์”

By Murray, A. S. (Alexander Stuart), 1841-1904 [No restrictions], via Wikimedia Commons
อาร์ทีมิสแห่งอีเฟซุส By Murray, A. S. (Alexander Stuart), 1841-1904
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีนักวิชาการหลายรายออกมาโต้แย้งว่า สิ่งที่ห้อยย้อยเป็นพวงๆ บริเวณตั้งแต่หน้าอกลงมาของเทพีอาร์ทีมิสแห่งอีเฟซุส แท้จริงแล้วอาจไม่ใช่ “นม” แต่น่าจะเป็น “อัณฑะวัว” ที่ผู้คนนำมาบูชาให้กับเธอมากกว่า บ้างก็ว่าน่าจะเป็น “ไข่ผึ้ง” ด้วยชาวกรีกเชื่อกันว่า ผึ้งสามารถสืบพันธุ์วางไข่ได้โดยไม่อาศัยการร่วมเพศ จึงสอดคล้องกับความเชื่อในเรื่องพรหมจรรย์ของเทพีอาร์ทีมิสด้วย

ทั้งนี้ แม้ว่าความเห็นเรื่องวัตถุที่ห้อยย้อยจากหน้าอกของเทพีอาร์ทีมิสจะยังไม่ต้องตรงกันว่าเป็นสิ่งใดแน่ แต่สัญลักษณ์ทั้งสามประการที่ถูกอ้างถึงต่างก็สื่อถึงการเจริญพันธุ์ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญของชีวิตของผู้คนในยุคโบราณทั้งสิ้น

อ่านเพิ่มเติม:

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กันยายน 2559