“ยอนเดวา” กวีนิยายชวนหัวเกี่ยวกับ “สุราสงคราม”

“ยอนเดวา” กวีนิยายชวนหัวเกี่ยวกับ “สุราสงคราม” ระหว่าง วิสกี้กะแช่-สาเก ฯลฯ

ผู้หลักผู้ใหญ่สอนกันหนักหนาว่าชีวิตต้องมีวินัย มีระเบียบ แต่ในความจริงมันต้องมี “อารมณ์ขัน” ด้วย ถ้าโลกเราขาดอารมณ์ขันเมื่อไหร่ คงสยองพิลึก

ในแวดวงวรรณกรรมก็เช่นกัน นักเขียนกวีที่แต่เรื่องขำขันสมัยก่อน ตั้งแต่ พระมหามนตรี (ทรัพย์), คุณสุวรรณ, นายเสม, แสงทอง (หลวงบุณยมาณพ พาณิชย์), นายตำรา ณ เมืองใต้ (เปลื้อง ณ นคร), อ.ร.ด. (เอื้อม รุจิดิษฐ์), ป.อิทรปาลิต, นายรำคาญ (ประหยัด ศ.นาคะนาท) ฯลฯ

เรื่องชวนหัวส่วนใหญ่เขียนเป็นร้อยแก้ว แต่ “จำรัส สายะโสภณ” เขียนเป็นร้อยกรองชื่อเรื่อง เมรัยละคร “ยอนเดวา”

สุจิตต์ วงษ์เทศ กล่าวถึงยอนเดวาว่า “อ่านแบบหยุดไม่ได้ต้องอ่านจนจบ และอ่านไปขําไปคนเดียวเหมือนกินแกงเขียวหวานเนื้อใส่กัญชา” และให้ความคิดเห็นว่า

“จํารัส สายะโสภณ ต้องเป็นนักอ่านวรรณคดีเก่าอย่างเชี่ยวชาญและโชกโชนที่เดียว โดยเฉพาะพวกบทละครโบราณ เช่น รามเกียรติ์, อิเหนา, ดาหลัง รวมทั้งบท ละครตลกอย่าง ระเด่นลันได, พระมะเหลเถไถ, อุณรุทร้อยเรื่อง, งานของเปโมรา, และ เอ๋งติ๋งห้าว ของตลกโวหาร”

ยอนเดวา พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ “เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์” เมื่อ พ.ศ. 2466 ที่เขียนการสู้รบของสุราชนิดต่าง ๆ อย่างดุเดือด เหมือนการต่อสู้ทางการตลาดทุกวันนี้

ซึ่งของยกบางส่วนจากคำนำเสนอของหนังสือที่สุจิตต์ วงษ์เทศ เขียน สรุปมาบางส่วนดังนี้

จำรัส สายะโสภณ เกิดเมื่อ พ.ศ. 2445 ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. 2496 สิริรวม อายุราว 50 ปี สืบสกุลมาจากพระยาพิชัยดาบหัก เคยเรียนหนังสือที่จังหวัดนครสวรรค์ เคยอยู่วังพญาไท เคยเขียนนิราศไว้หลายเรื่อง และเป็นทั้งคนจนและคนเมาอย่างต่อเนื่อง

กลอนตอนหนึ่งใน นิราศเมืองสมุทรปราการ อาจสะท้อนให้รู้จักท่านจํารัส “กวีสยาม” ที่แต่งเรื่อง ยอนเดวา นี้ได้ดี เพราะท่านเขียนว่า

อันนงรามงามค่าราคาประดับ    ก็เหมือนกับลิขวิดวิสกี้
ยอห์นเดวาตราอาร์มขามฤทธี   เกินดีกรีคุณจํารัสคราวขัดแคลน
อันพวกเราเขาก็รู้กันอยู่ทั่ว       เราทั้งตัวมีแต่ตนคือจนแสน
ถึงหรูหราท่าทางอย่างผู้แทน     มันก็แผนพวกพ้องกินยองดา

ยองดา ก็คือยาดองหรือเหล้าพื้นเมืองแบบจีนนั่นเอง แสดงว่าท่านจํารัสคุ้นเคยกับวิสกี้ประเภท ยอห์นเดวาตราอาร์ม” จนถึง ยาดอง เพราะเป็นกวี มีพรรคพวกมาก มีเหล้ากินไม่ขาดดังกลอนนิราศที่เขียนไว้หลายตอน นี่กระมังที่ทําให้ท่านจํารัสสามารถเขียน กวีนิยายเรื่อง ยอนเดวา ได้วิเศษนัก

คิงก์ยอร์ชวิสกี้ ยอนเดวา

กวีนิยายหรือเมรัยละครเรื่อง ยอนเดวา แต่งด้วยลีลากลอน บทละครแบบโบราณ ใช้ขนบบทละครโบราณอย่างชํานิชํานาญ ใช้คําโบราณผสมคําสแลงสมัยนั้นได้กลมกลืนอย่างน่าอัศจรรย์

เมื่อท่านสุนทรภู่แต่งเรื่อง พระอภัยมณี ใช้ฉากทะเลอันดามันเป็นหลัก แต่พาดพิงถึงบ้านเมืองประเทศต่าง ๆ ที่มีบทบาทอยู่ในสมัยนั้นเกือบทั่วโลก นับเป็นมหากวีสยามท่านแรกที่อ้างอิงกว้างขวาง

ส่วนท่านจํารัสแม้จะพาดพิงไม่ไพศาลเท่าท่านสุนทรภู่ แต่ก็กว้างไกลถึงอเมริกา แคนาดา สกอตแลนด์ อังกฤษ จีน พม่า ญี่ปุ่น ฯลฯ และจินตนาการขึ้นมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงซึ่งเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ-การเมืองในสมัยนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการค้าเหล้าระหว่างประเทศ และการสร้างกองทัพสยามให้ทันสมัย ดังกรณีเรือรบพระร่วง เป็นต้น

ด้วยวิธีการเดินเรื่องและถ้อยคําสมัยใหม่ปนสมัยเก่า จึงจําต้องยกกลอนตามลําดับเรื่องไปด้วยดังต่อไปนี้

สงครามวิสกี้ กับอเมริกา

คิงก์ยอร์ชวิสกี้หรือยอนเดวา เป็นพระราชาครองอยู่อัษฎงค์ประเทศ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สก๊อตแลนยาร์ดบุรีศรี” มีกลอน เริ่มเรื่องว่า

๏ มาจะกล่าวบทไป        ถึงคิงก์ยอร์ชวิสกี้นาถา
หน่อเนื้อเชื้อยอนเดวา    ราชามีฤทธิ์ลือไกล
ตลอดทั่วยุโรปประเทศ   เกรงเดชพระผู้เป็นใหญ่
ครองกรุงรุ่งเรืองศรีวิไลซ์ เวียงไชยอัษฎงค์ภารา

มีน้องชายเป็นรัชทายาทชื่อ ฮาร์วี และมีมเหสีนามว่าพระนางโซดา

อันองค์เอกอรรคมเหษี   ภูมีแสนสุดเสน่หา
โฉมยงทรงนามโซดา     โสภาเพียงอมรเทพี

เมืองอัษฎงค์มีการค้าต่างประเทศ “ทําการติดต่อค้าขาย ต่างเทศทั้งหลายทั่วหล้า สินค้ามีชื่อลือชา คือสุราอย่างดีมีรส” ทุกวันนี้ ก็ยังมีสินค้าอย่างนี้

เหตุเกิดเมื่ออเมริกาห้ามเหล้าจากอัษฎงค์ประเทศไปขาย

แต่การค้าขายฝืดเคือง    เกิดเรื่องด้วยท่านวิลสัน
ปิดสินค้าเหล้าเรานั้น    ห้ามเข้าอเมริกันภารา
แต่ในบูรพประเทศ    ทุกเขตแว่นแคว้นภาษา
เช่นในกรุงศรีอยุธยา    สุราคงขายจ่ายดี ๆ

พระราชายอนเดวาให้ยกทัพไปตีอเมริกาทันที

๏ กองน่าห้าร้อยนาวี    บรั่นดีเป็นผู้กํากับ
ปีกซ้ายร้อยลําสําทับ    ในความบังคับทรีสตาร์
ให้แชมเปญปอมเมอรี่    คุมหมู่นาวีปีกขวา
ม้าขาวผู้เรืองฤทธา    ตําแหน่งเสนาธิการ
อันกองสภากาชาด    จัดผู้สามารถอาจหาญ
เป๊บเปอมินช่ำชํานาญ    คุมพลพยาบาลมากมี
พร้อมสรรพอาวุธน้อยใหญ่    นายไพร่พลรบกลาสี
ประจําทุกลํานาวี    จึงมีฮูเรเฮฮา ฯ

แต่เทวดา (จีน) ชื่อ เอ้หมึง ขัดขวางไว้ที่มหาสมุทรแคนาดา

๏ มาจะกล่าวบทไป    ถึงเอ้หมึงเรืองฤทธิ์ทิศา
กับนางกุ๊ยโล่โสภา    สถิตในมหาไพชยันต์
เร่าร้อนฤทัยดังไฟจี้    แทบซี้ตกจากฟากสวรรค์
อาสน์อ่อนเป็นสุขทุกวัน    เกิดอถรรพ์แขงกระด้างอย่างศิลา

…………………………        ……………………………

มิช้าก็แจ้งแคลงจิตต์    เทวฤทธิ์หมดข้อสงสัย
ชิ! ยอนเดวาบ้ากระไร    ทนงใจก่อความลามลวน
จะนิ่งดูดายใช่ที่    พิภพโลกีย์จะป่วน
นา ๆ ประเทศทั้งมวล    จะฮ้วนยุบยับจับอาวุธ ฯ
๏ คิดพลางทางมีพจนาตถ์    ประสาทสั่งเกาเหลียงเทพบุตร์
ลื้อจงลงไปในมนุษย์    ยังมหาสมุทคนาดา
กําราบปราบปรามวิสกี้    อวดดีกําเริบนักหนา
รีบรัดจัดการอย่าช้า    ก่อนถึงอเมริกาเวียงไชย ฯ

เทพบุตรเกาเหลียง [เหล้าวขาวทำจากลูกเดือย] ได้รับบัญชาก็เหาะไปมหาสมุทรแคนาดา แล้วแสดงอภินิหารเรียกพายุ ทําให้กองทัพเรือของยอนเดวาล่มจมทะเล

ฝ่ายเทวดา (ญี่ปุ่น) ชื่อ ซาเก (สาเก) เห็นใจคิงก์ยอร์ช จึงช่วยไว้ได้

๏ มาจะกล่าวบทไป    ถึงซาเกเทเวศเรืองศรี
เป็นใหญ่ในมหานที    สถิตที่เจแปนแสนสราญ
เปนที่นับถือญี่ปุ่น    เกรงบุณยาภินิหาร
วันนั้นนั่งเล่นน่าวิมาน    แลเห็นเหตุการณ์ตกใจ
ซาเกยิ่งนึกปรานี    มิช่วยคงชีพิตักษัย
เทเวศรําพึงคนึ่งใน    พระทัยสมเพชเวทนา

ในที่สุดยอนเดวารอดตาย เรือลอยไปปากอ่าวเจ้าพระยาของกรุงสยามหรือเมืองไทย “ด้วยฤทธิ์แห่งลมสลาตัน เรือองค์ทรงธรรม์วิสกี้ ลอยฉิวลิ่วตามชลธี สู่ที่ปากอ่าวเจ้าพระยา” แต่ยอนเดว่าไม่รู้ว่าเป็นแห่งหนตําบลใด เมื่อสอบถามนายด่านจึงรู้ว่าเป็นแดนกรุงสยาม

เมืองไทยขณะนั้นมีอัครมหาเสนาบดีชื่อ “บางยี่ขันชาญไชยศรี เอกอรรคเสนาบดี นั่งเก้าอี้ยศซดน้ำชา”

ยอนเดวาขอเข้าเมืองไทย แต่ท่านบางยี่ขันยังไม่แน่ใจ ถามที่ปรึกษาชื่อ กะแช่ หรือ น้ำตาลเมา ว่าคิดอย่างไร กะแช่ตอบว่า

๏ บัดนั้น    กะแช่นั่งนิ่งพิงฝา
ยินข้อมธุรสพจนา    นบนิ้ววันทาตอบไป
อันตามความเห็นของเกล้า    มิควรใต้เท้ายอมให้
พวกเหล้าเหล่านั้นเข้าใน    เวียงไชยกรุงศรีอยุธยา
เท่าที่พวกชาวต่างประเทศ    หลายพวกมากเพศภาษา

………………………      ………………………………

ควรแล้วประเทศสยามเรา    เอาเยี่ยงอย่างเขาดีกว่า
ออกกฎหมายห้ามสุรา    เข้าอยุธยาธานี

บางยี่ขันมหาเสนาบดีเห็นด้วย จึงสั่งห้ามยอนเดวาเข้าพระนคร ฝ่ายยอนเดวาจําต้องกลับอัษฎงค์หรือสกอตแลนด์ด้วยความเจ็บใจ

หลงเมีย เสียน้อง ต้องเนรเทศไปเมืองจีน

กล่าวถึงอัษฎงค์ภาราหรือสก๊อตแลนยาร์ดประเทศ เมื่อพระนางโซดารู้ว่าพระสวามีคิงก์ยอร์ชวิสกี้หายไปในมหาสมุทร ก็ระแวงว่า ฮาร์วี่ซึ่งเป็นอนุชาและรับที่รัชทายาทจะได้ราชสมบัติแทน ตัวเองก็จะต้องหมดอํานาจ จึงวางแผนร่วมกับพี่ชายชื่อลอร์ดเฮกแอลเฮกเพื่อกําจัดฮาร์วี่ แต่ความลับแตก ฮาร์วี่จึงสั่งให้ตํารวจจับพระนางโซดา กับลอร์ดเฮกแอลเฮกใส่คุกเสียก่อน

ครั้นคิงก็ยอร์ชวิสกี้นั่งเรือรอนแรมกลับมาถึงอัษฎงค์ประเทศ เกิดเข้าพระทัยผิดคิดว่าอนุชาฮาร์วี่คิดขบถชิงราชสมบัติ จึงให้ถอดมเหสีโซดากับพี่ชายออกจากคุก แล้วให้จับฮาร์วี่เข้าคุกแทน

ขุนนางที่จงรักภักดีและเข้าใจเรื่องราวมาแต่ต้นช่วยให้ฮาร์วี่ลงเรือหนีไปเมืองจีน แล้วได้หลงรักราชธิดาพระเจ้ากรุงจีน ทําอุบายจนได้พบแล้วเกี้ยวพาราสี ผลสุดท้ายราชธิดาพระเจ้ากรุงจีนก็ยินยอมร่วมเสพสามัคคีรสกับฮาร์วี่

สุราสงคราม สยาม-สกอตช์วิสกี

ลีลากลอนบทละครตอนยอนเดวายกกองทัพเรือไปตีกรุงสยาม นับเป็นตอนที่วิจิตรบรรจงอย่างยิ่ง และกวีสยามท่านนี้อวดลีลาโบราณ แต่ก็วิเศษด้วยกวีโวหารร่วมสมัยที่มีอารมณ์ขันลุ่มลึก เริ่มด้วยความคิดคํานึงถึงเหตุการณ์ในอดีตของคิงก์ยอร์ชว่า

๏ มาจะกล่าวบทไป    ถึงคิงก์ยอร์ชฤทธิรงค์ทรงศรี
เนาในอัษฎงค์ธานี    กับศรีโซดาลาวรรณ
ท้าวไทไร้สุขทุกข์หนัก    แค้นนักเปรสิเดนท์วิลสัน
อวดอ้างอํานาจอาธรรม์    แกล้งกันสินค้าสุราดี
ครั้นยกทัพใหญ่ไปแก้แค้น    มิทันถึงแดนกรุงศรี
โชคร้ายในกลางนที่    ป่นปี้ย่อยยับทัพไชย
กลับถูกบางยี่ขันกลั่นกล้า    ขับจากอยุธยากรุงใหญ่
ถึงเมืองเกิดเรื่องร้อนใจ    เจ้าน้องร่วมไส้อันธพาล

คิงก์ยอร์ชจึงปรึกษาหารือกับขุนนางข้าราชการทั้งหลายเรื่อง แก้แค้นกับสยาม เสนาผู้ใหญ่ของอัษฎงค์ประเทศกราบทูลพระเจ้ายอนเดวาว่า

คอนแบ็กที่ส่งเป็นสปาย    ค้าขายในสยามภาษา
ตั้งห้างรับแก้นาฬิกา    รายงานลับมาเมื่อเย็นวาน
บอกว่ายุคนี้พี่ไท    เกิดการสไตร๊ก์ทั่วสถาน
กลับใจไม่ดื่มสุราบาน    จัดการตั้งข้อกติกา

ผลที่สุดคิงก์ยอร์ชตัดสินพระทัยให้แชมเปญกรีธากองทัพเรือไปรบสยามว่า “เหวย ๆ แชมเปญอย่าช้า จะกรีธาทัพใหญ่ไปสยาม” ฝ่ายแชมเปญก็เร่งจัดกองทัพเรือทันที จะเห็นว่ามีชื่อเหล้าเพิ่มขึ้นมาอีกว่า

๏ จึงสั่งมิสเตอร์เวอร์มุท    ฤทธิรุทร์ดังพระสุริฉัน
คุมหมู่นาวีสี่พัน    กองน่าป้องกันไพรี
ปีกซ้ายกล้าหาญหลานเธอ    ปรินซ์ยอนนี่วอกเกอร์วิสกี้
ปีกขวาให้ท่านบรั่นดี    บังคับนาวีสี่พัน

ตามขนบบทละครแต่โบราณ กษัตริย์จะต้องลงสรงแล้วแต่งองค์ทรงเครื่องก่อนเสด็จไปทําอย่างใดอย่างหนึ่งที่สําคัญ ๆ ในเรื่องนี้คิงก์ยอร์ชก็ลงสรงด้วยน้ำฝักบัว แล้วแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าอย่างยุโรป แต่กลบเกลื่อนไว้ด้วยกวีโวหารแบบโบราณ ดังมีกลอนว่า

๏ พระชําระสระสรงทรงสนาน    ประทุมมาลย์โปรยปรอยฝอยฝน
ครั้นเสร็จโสรจสรงทรงสุคนธ์    ปรุงปนกลั่นกลิ่นมาลา
ทรงเสื้อเชอร์ทแพรแลลับ    มันวับอกแขงหรูหรา
เน็กไทผูกศอคอลาร์    เนื้อผ้าลินนินอย่างดี

………………………..     ………………………..

ครั้นเสร็จทรงเครื่องเรืองอร่าม    แง่งามดังเทพนาถา
กรกุมกระบี่ศักดา    ไคลคลามาลงนาวี ฯ

ฝ่ายสยามมีบางยี่ขันเป็นเอกอัครมหาเสนาบดี เมื่อรู้ข่าวว่าคิงก์ยอร์ชวิสกี้ยกกองทัพมาประชิด จึงสั่งให้จัดกองทัพออกสู้รบ ชื่อนายทหารฝ่ายสยามล้วนมาจากชื่อเหล้าพื้นบ้านทั้งนั้น ดังต่อไปนี้

กะแช่นั้นไปโคราช    จัดยานอากาศไว้สังหาร
ลูกป่านาวิกชํานาญ    รีบรัดจัดการนาวา ฯ
๏ จัดเป็นกองยุทธนาเวศ    “น้ำชาว”เรืองเดชเป็นปีกขวา
ปีกซ้ายลือฤทธิ์ “ปิดตา”    บัญชากิจใหญ่ใช้การ
กองน่าหัวลำสําหรับ    “โมกผา” บังคับว่าขาน
พร้อมกลาสีเขี้ยวเชียวชาญ    มินานเสร็จพลันดังบัญชา ฯ

ต่อจากนั้นก็ต้องอาบน้ำแต่งตัวชุดนายทัพสยาม มีกลอนว่า

๏ หยิบพันสุวรรณบรรจง    ตักน้ำรดลงเหนือเกศ
ใช้สบู่กลิ้นอินทรีย์    ขดลวีเหงื่อไคลราดิน
ครั้นเสร็จสนานการด่วน    แป้งนวลเจือปนสุคนธ์สินธุ์
ลูบไล้พักตรากายน    จรุงกลิ่นมือกลั่นสุนันทา

น่าสังเกตว่ายอนเดวาลงสรงด้วยน้ำฝักบัว แต่บางยี่ขันของกรุงสยามต้องใช้ขันตักน้ำจากตุ่ม ใช้สบู่ถูตัว ครั้นถึงกองทัพ แทนที่จะชมกองเรือตามขนบเก่า แต่กวีท่านนี้แสดงความรู้สึกร่วมสมัยผ่านบางยี่ขันนายทัพว่า

๏ เห็นทัพเรือไทใจลด    รวมหมดห้าสิบล่ากว่า
ล้วนแต่แก่เก่าเข้าชรา    ให้การยุทธมาไม่ทันใจ
เห็นแล “พระร่วง” ลําเดียว    ยุทธการชาญเชียวลมสมัย
เป็นศรีประเทศเขตไท    แต่ลําเดียวไหนจะทันการ

กองทัพเรือสยามสู้กองทัพเรือยอนเดวาไม่ได้ แต่โชคดีที่อากาศยานของสยามไปช่วยทัน มีกลอนว่า

๏ มาจะกล่าวบทไป    ถึงกะแช่อยู่ในเวหา
คุมฝูงเครื่องบินร่อนมา    เห็นฝ่ายอยุธยาเสียที
ร่อนลงต่ำใต้ได้ระดับ    เหนือหมู่กองทัพวิสกี้
โฉบเฉียวเชี่ยวชาญราวี    ได้ที่จึงพลันสัญญาณ

ท่านบางยี่ขันดีใจนักหนาที่ชนะศึกครั้งนี้ แล้วชื่นชมเครื่องบินกองอากาศยาน พร้อมทั้งเรียกร้องให้ราษฎรช่วยกันสนับสนุนกองอากาศยานว่า

๏ เมื่อนั้น    บางยี่ขันเอกอรรคศักดิ์ศรี
เห็นไทมีชัยไพรี    เปรมปรีดิ์ปลื้มในใจครัน
กางกรซ้อนกอดเจ้ากรม    เธอเอ๋ยทําสมใจฉัน
แม้นเครื่องบินมามทัน    คงพลันสิ้นลือชื่อไท

หาพันธมิตร หวังพิชิตสยาม

เมื่อพ่ายแพ้สยาม คิงก์ยอร์ชวิสกี้หรือยอนเดวาก็ให้เรือมุ่งไปเมืองจีนเพื่องอนง้อขอกําลังจากอนุชาฮาร์วี่ช่วยตีสยามอีกครั้ง

ในตอนนี้ กวีจํารัสสอดแทรกให้ตัวละครต่างชาติชื่นชมกองทัพสยามเป็นช่วง ๆ เช่น คิงก์ยอร์ชรําพึงว่า

ไม่นึกเลยหนอแคว้นแดนไท    มีรั้วป้องภัยเวหา
คาดผิดคิดเทศชาวนา    มีทรัพย์ซื้อหาเรือบิน
กลับแกล้วกล้าสามารถ    บอมบาร์ดพักเดียวหมดสิ้น
กองทัพมหึมานาวิน    ไม่ได้สับมารินคงตาย

เมื่ออนุชาฮาร์วี่รับจะช่วยรบก็สั่งเมียว่า

สงครามครั้งนี้ทีเนิ่น    เพราะสยามสู่เจริญนักหนา
บกเรือรอบรู้ฟูวิชชา    กระนั้นไซร้ไม่กว่าเกินปี

น่าประหลาดที่การสงครามคราวนี้กวีจํารัสกําหนดให้กองทัพจีนมาทางบก เข้าทางอีสานที่เมืองอุดร ภูเขียว ภูเวียง แต่แล้วก็ต้องแพ้กองทัพสยามอีกครั้ง

คิงก์ยอร์ชวิสกี้กับอนุชาฮาร์วี่หนีไปขอพึ่งพ่อค้าไม้สักเมืองมอญ ที่มะละแหม่ง ขอเรือไปญี่ปุ่นเพื่อขอกําลังมาช่วยรบกรุงสยามอีก จักรพรรดิญี่ปุ่นยินดีช่วยเหลือ จัดกองทัพใหญ่ให้ทันทีเพื่อพิชิตกรุงสยาม

แต่เทวดาบนสวรรค์ไม่เป็นใจ บันดาลให้เกิดมหาพายุร้าย แผ่นดินไหว ทําลายบ้านเรือนและกองทัพญี่ปุ่นพังทลายลงทะเลหมดสิ้น แล้วเทวดาก็ประกาศก้องกลางเวหาว่า

๏ ดูรามนุษย์ทั้งหลาย    หญิงชายทุกชาติศาสนา
จงจําคําเราพรรณนา    ตรึงตราจิตต์ไว้ให้คง
กาลีโลกหรือคือเหล้า    หลายเหล่าหลากฤทธิ์พิษสง
แอลกอฮอล์หน่อเนื้อเชื่อวงศ์    ใครหลงคบมันอันตราย
พวกหนึ่งเป็นยารักษาโรค    บริโภคมื่นเมาเขาขาย
อวดอ้างวางเล่ห์เภทุบาย    จดหมายสรรเสริญเยิรยอ
ชนใดไร้คิดจิตต์ทราม    เห่อห่ามเชื่อคําหมอ
หลงปลื้มดื่มยากํามะลอ    แอลกอฮอล์จําแลงแปลงกาย
นอกจากสุรายาพิษ    ยังมีอิทธิฤทธิ์มากหลาย
สุดร่ำรําพรรณบรรยาย    ฉิบหายทุกอย่างทางมันฯ

อ่านกลอนบทละครเรื่อง ยอนเดวา ของท่านจํารัส สายะโสภณ นาน ๆ เข้าชักจะมึน ๆ ออกอาการเมา ๆ


ข้อมูลจาก

ณรงค์ จันทร์เรือง. มนตร์น้ำหมึก, สำนักพิมพ์มติชน 2553

สุจิตต์ วงษ์เทศ. “คำนำเสนอ”, เมรัยละคร ยอนเดวา, สำนักพิมพ์มติชน 2537


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 ธันวาคม 2561