“ฉลองปีใหม่” ชาวกรีกเชื่อเรื่องโชค กินเค้กใส่ “เหรียญ”

ขนมเค้ก ใส่ เหรียญนำโชค ชาวกรีก ศาสนาคริสต์ นิกายออโธดอกซ์ รับประทาน ในช่วง เทศกาลปีใหม่
"เค้ก Vasilopita" หรือขนมเค้กใส่เหรียญนำโชคที่ชาวกรีกศาสนาคริสต์ นิกายออโธดอกซ์รับประทานกันในช่วงเทศกาลปีใหม่ (ภาพจาก Youtube/CuzinaGias συνηθισμένοι στη νοστιμιά)

“ฉลองปีใหม่” ในแต่ละที่ แต่ละวัฒนธรรมทั่วโลกนั้นก็มีธรรมเนียมประเพณีที่แตกต่างกันออกไปมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการตีระฆัง 108 ครั้งที่ญี่ปุ่น การโยนเหรียญลงแม่น้ำที่โรมาเนีย การกินแพนเค้กของชาวฝรั่งเศส การปาขนมปังใส่กำแพงที่โรมาเนีย และอีกหลากหลายธรรมเนียมจากทั่วโลก หนึ่งในธรรมเนียมการฉลองวันปีใหม่ที่น่าสนใจนั้นคือธรรมเนียมการอบเค้กที่มีส่วนผสมของ “เหรียญ” ในวัฒนธรรมของ “ชาวกรีก”

เค้กใส่ เหรียญ ที่อบกินกันในช่วง ฉลองปีใหม่ ของ ชาวกรีก มีชื่อว่า “Vasilopita” เป็นเค้กรสหวาน หรือบางครั้งก็พบว่ามีบางบ้านที่ใส่พริกเพื่อให้ความเผ็ดกับเค้กเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าสูตรการอบขนมเค้กกรีกก้อนนี้จะแตกต่างกันไป แต่สิ่งที่เหมือนกันก็คือ ทุกบ้านจะใส่เหรียญทองเข้าไปในส่วนผสมของแป้งเสมอ นอกจากนี้ สิ่งที่เหมือนกันอีกประการคือธรรมเนียมการกินเค้ก กล่าวคือช่วงเวลาเที่ยงคืนของวันสิ้นปีนั้น คนในครอบครัวจะอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาตัดเค้กแบ่งกัน การแจกชิ้นเค้กจะเริ่มแจกให้กับผู้ที่อายุมากที่สุดในบ้านไล่ไปจนสมาชิกที่อายุน้อยที่สุด และเมื่อสมาชิกทุกคนในครอบครัวได้รับเค้กเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ถึงเวลาที่ต้องมาลุ้นกันว่าเค้กของใครจะมีเหรียญทองซ่อนอยู่

ธรรมเนียมการใส่เหรียญลงไปในเค้กที่รับประทานกันในครอบครัวชาวกรีกในวันปีใหม่นี้เป็นธรรมเนียมที่มีเรื่องเล่าที่มาอยู่หลายแบบด้วยกัน โดยเรื่องที่ได้รับความนิยมมากที่สุดนั้นเล่าว่า ครั้งหนึ่งในขณะที่บ้านเกิดของนักบุญเบซิล (St.Basil) คือที่เมืองซีซาเรียในแคปพาโดเชีย (Caesarea in Cappadocia) หรือในปัจจุบันคือเมืองไกเซรี (Keyseri) ประเทศตุรกี ถูกปิดล้อมโดยศัตรูจากภายนอก นักบุญเบซิลได้พยายามช่วยเหลือเมืองให้รอดพ้นจากภัยด้วยการขอร้องให้ชาวบ้านช่วยกันมอบเงินและสิ่งของมีค่าทั้งหมดให้กับศัตรู

ชาวบ้านซึ่งเห็นด้วยกับความคิดดังกล่าวก็ร่วมมือร่วมใจกันมอบสิ่งของมีค่าที่ตนมีทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทอง แก้วแหวนและของมีค่าทั้งหลายให้กับศัตรู แต่ผลปรากฏว่าเมื่อศัตรูเห็นถึงความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้าน และตระหนักถึงจิตใจแห่ง “การให้” ก็รู้สึกละอายจึงได้ตัดสินใจล้มเลิกแผนการการล้อมเมือง พร้อมทั้งปฏิเสธที่จะรับของมีค่าเหล่านั้น

ในเวลาต่อมา เมื่อเหตุการณ์ทุกอย่างคลี่คลายลง นักบุญเบซิลก็ได้รับหน้าที่ให้เอาสิ่งของมีค่าเหล่านั้นไปคืนชาวเมือง แต่ปัญหาก็คือ นักบุญเบซิลไม่รู้ว่าสิ่งของมีค่าชิ้นไหนเป็นของใคร ดังนั้นจึงได้ตัดสินใจอบขนมเค้กหรือขนมปังชิ้นใหญ่ที่มีส่วนผสมเป็นของมีค่านั้น และเมื่ออบเสร็จก็เอาขนมเค้กไปแจกให้กับชาวบ้านทุกคน

เรื่องเล่ายังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะหลังที่แจกเค้กให้กับชาวเมืองครบทั่วถึงกันแล้ว ก็เกิดความมหัศจรรย์ขึ้นอย่างหนึ่งคือ เค้กที่ชาวเมืองได้รับนั้นบรรจุของที่มีมูลค่าเท่ากันทุกชิ้น หมายความว่าชาวเมืองได้รับสิ่งของคืนเท่าเทียมกันทุกคน!

นอกจากเรื่องเล่าดังกล่าวนี้แล้วก็ยังมีตำนานอื่น ๆ ที่มีเค้าโครงคล้ายกันแต่แตกต่างกันในรายละเอียด เช่นเรื่องของตัวร้ายในตำนานที่ว่าความจริงแล้วก็ไม่ใช่ศัตรูที่ไหนแต่เป็นจักรพรรดิผู้ครองเมืองนี้เองที่ขูดรีดภาษีประชาชน อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าตำนานที่มาของ เค้ก Vasilopita จะมีหลากหลาย แต่ประเด็นสำคัญที่เหมือนกันของเรื่องเล่าต่าง ๆ นี้ก็คือการยกย่องนักบุญเบซิล

สำหรับธรรมเนียมการรับประทานเค้ก Vasilopita ในวันสิ้นปีนี้ถือเป็นธรรมเนียมที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานในบ้านของชาวคริสต์ นิกายออร์โธดอกซ์ รวมถึงในโบสถ์ในประเทศกรีซ โดยมีความเชื่อกันว่าหากใครที่ได้เค้กชิ้นที่มีเหรียญไปแล้วล่ะก็ จะมีโชคในปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

Alloush, Abed . “Origins of Greek Vasilopita”. Greek Reporter. 26 Dec 2018, <https://greece.greekreporter.com/2013/12/31/origins-of-greek-vasilopita/>

Pegg, Devid . “25 Strangest New Year’s Traditions From Around The World”. List 25. 26 Dec 2018, <https://list25.com/25-strangest-new-years-traditions-from-around-the-world/4/>

The Historical Background of the Vasilopita”. St.Andrew Greek Orthodox Church. 26 Dec 2018 <saintandrewgoc.org/home/2017/1/16/the-historical-backgrouพnd-of-the-vasilopita>

Vasilopita History and Recipe”. The National Herald. 26 Dec 2018 <https://www.thenationalherald.com/145772/vasilopita-history-recipe/>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 ธันวาคม 2561