
ผู้เขียน | อดิเทพ พันธ์ทอง |
---|---|
เผยแพร่ |
วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกๆ ปี ถือเป็นวันงดสูบบุหรี่โลก ตามมติขององค์การอนามัยโลก ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศนักสูบไม่สามารถสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะได้อีกต่อไป การจำหน่ายบุหรี่ในบางประเทศยังกำหนดให้ซองบุหรี่นอกจากจะต้องมีภาพที่น่ากลัวเพื่อให้นักสูบเห็นถึงอันตรายแล้ว ยังไม่อนุญาตให้แสดงเครื่องหมายการค้าอันเป็นเอกลักษณ์ของตน ซึ่งเป็นผลสำเร็จมาจากความพยายามในการรณรงค์อย่างต่อเนื่องของกลุ่มต่อต้านการสูบบุหรี่มานานหลายสิบปี
เมื่อผู้เขียนลองค้นหาข้อมูลย้อนกลับไปว่า ประเทศใดเป็นประเทศแรกๆ ที่นำนโยบายห้ามการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะมาบังคับใช้ คำตอบที่ได้ทำให้ผู้เขียนประหลาดใจเล็กน้อยในเบื้องต้นว่า ประเทศดังกล่าวคือ เยอรมนีในยุคของ “นาซี”
แต่เมื่อนึกดูอีกทีก็เข้าใจได้ เพราะท่านผู้นำนาซี อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เป็นคนรักสุขภาพมาก รายงานของนิวยอร์กไทม์ระบุว่า ฮิตเลอร์เป็นคนที่ไม่สูบบุหรี่และไม่กินเหล้า และยังเป็นมังสวิรัติ (แม้จะมีนักประวัติศาสตร์บางคนทักท้วงว่า อย่างฮิตเลอร์ยังเรียกว่าเป็นมังสวิรัติไม่ได้ เพราะเขายังคงกินเนื้อแปรรูปอย่างไส้กรอก แฮม รวมไปถึงคาเวียร์ในบางโอกาส)
นโยบายรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ในเยอรมนียุคนั้น นอกจากจะเป็นสิ่งที่ต้องจริตท่านผู้นำแล้ว ยังมีผลวิจัยโดย ฟรานซ์ มุลเลอร์ (Franz Muller) นักวิทยาศาสตร์เยอรมันที่สามารถพิสูจน์ความเชื่อมโยงของการเกิดมะเร็งจากการสูบบุหรี่เป็นครั้งแรกเมื่อปี 1939 มารองรับ
คำว่า “การสูบบุหรี่ทางอ้อม” (Passivrauchen) ก็ถูกประดิษฐ์ขึ้นโดยองค์การสันนิบาตต่อต้านยาสูบแห่งเยอรมนี ช่วงเวลาดังกล่าว เยอรมนีได้กลายเป็นผู้นำในด้านการวิจัยผลกระทบต่อสุขภาพจากการสูบบุหรี่ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องถึงการกำหนดนโยบายของรัฐ มีการจัดเก็บภาษีบุหรี่อย่างหนัก พร้อมกับการควบคุมการโฆษณา และจำกัดการจ่ายบุหรี่ให้กับทหารในแนวหน้าที่วันละไม่เกิน 6 ตัว
การรณรงค์ที่เริ่มต้นจากสเกลเล็กๆ ด้วยการปิดประกาศและลงโฆษณาในนิตยสารสุขภาพ สุดท้ายได้นำไปสู่นโยบายห้ามการสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะอย่างโรงเรียน โรงภาพยนตร์ รถราง และหลุมหลบภัย ซึ่งบางแห่งมีการจัดพื้นที่ให้สำหรับผู้สูบบุหรี่โดยเฉพาะ นอกจากนี้ พนักงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ตำรวจยังถูกสั่งห้ามสูบบุหรี่ขณะสวมเครื่องแบบ
ขณะเดียวกัน การรณรงค์ของนาซีก็ยังหมกหมุ่นกับเรื่องความยิ่งใหญ่ของเชื้อชาติอารยัน อ้างว่า บุหรี่เป็นภยันตรายต่อชนชาติที่ถูกเลือก มีการโฆษณาชวนเชื่อตอกย้ำว่าการสูบบุหรี่เป็นพฤติกรรมอันน่ารังเกียจของพวกยิว ยิปซี คนดำ และปัญญาชน (นาซีเป็นพวกต่อต้านนักเหตุผลนิยม ยกย่องความยิ่งใหญ่ในสายเลือด ความภักดี ความรักชาติ และการอุทิศตนเพื่อหน้าที่เป็นหลัก) ผู้หญิงที่สูบบุหรี่ยังถูกตราหน้าว่าไม่มีความเหมาะสมที่จะเป็นแม่ หรือเมีย ในเยอรมนีอีกด้วย
แต่ถึงแม้ว่านาซีจะวาดภาพให้บุหรี่ไม่ต่างไปจากปีศาจร้าย พวกเขาก็ไม่เคยกำหนดให้บุหรี่เป็นยาเสพติดต้องห้าม ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะรายได้จำนวนมากที่รัฐบาลได้จากภาษีบุหรี่ซึ่งถือเป็นงบประมาณที่จำเป็นในช่วงสงคราม
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงพร้อมกับการล่มสลายของนาซี บุหรี่กลับมาเป็นที่แพร่หลายอีกครั้ง โดยมีสหรัฐฯ เป็นผู้ส่งออกบุหรี่รายใหญ่ ตามแผนมาร์แชล (แผนฟื้นฟูยุโรปหลังสงครามของสหรัฐฯ) ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมบุหรี่ของสหรัฐฯ เอง
ด้วยเหตุนี้ การรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่ในปัจจุบันจึงมีนักสูบ (หรือไม่สูบแต่สนับสนุนการสูบ) หลายคนออกมาโจมตีว่า การต่อต้านบุหรี่มีรากฐานมากจากนโยบายของพวกฟาสซิสต์ ถือเป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ทาคาโอะ ไซโตะ (Takao Saito) นักหนังสือพิมพ์ผู้ประดิษฐ์คำว่า “การต่อต้านการสูบบุหรี่แบบฟาสซิสต์” ในภาษาญี่ปุ่นยังอ้างตรรกะจากคำขวัญต่อต้านนาซีของ มาร์ติน นีโมลเลอร์ (Martin Niemoller) ที่ขึ้นต้นว่า “ตอนแรกพวกเขามาจับคอมมิวนิสต์ ฉันไม่ว่าอะไรเพราะฉันไม่ใช่คอมมิวนิสต์…” ขึ้นมาสนับสนุนข้ออ้างของตนว่า
“ตอนแรกเราสั่งห้ามการสูบบุหรี่โดยไม่มีหลักฐานอันน่าเชื่อถือ…หากสิ่งนี้ได้รับการยอมรับ ต่อไปก็จะเป็นคราวของพวกดื่มเหล้า จากนั้นก็อาจถึงคราวที่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจะถูกปิดกั้น ด้วยตรรกะที่ว่ามัน ‘เป็นอันตราย’ หากขบวนการต่อต้านบุหรี่ยังคงได้รับอนุญาตให้ออกอาละวาดต่อไป มันจะไม่จบที่นักสูบแน่ๆ” ไซโตะกล่าวโดยอ้างถึงสถานการณ์ของนักสูบในญี่ปุ่นที่กำลังถูกคุกคามจากการรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่
อย่างไรก็ดี เสียงสะท้อนจากผู้ได้รับผลกระทบจากการต่อต้านการสูบบุหรี่ยังคงแผ่วเบาไม่มีน้ำหนัก เนื่องจากนักสูบยังไม่มีการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนที่ชัดเจนเหมือนฝ่ายต่อต้าน ขณะที่งานวิจัยซึ่งเผยแพร่ในสื่อส่วนใหญ่ล้วนแสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่ร้ายแรงจากบุหรี่ว่าเป็นเรื่องจริง รวมถึงอันตรายจากควันบุหรี่มือสอง ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญของการห้ามการสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ แม้ผู้สนับสนุนนักสูบหลายคนจะยืนยันว่า งานวิจัยหลายชิ้นยังมีข้อโต้แย้งที่น่ากังขาก็ตาม
อ้างอิง :
1. “Fuehrer Ascetic in Personal Life”. The New York Times. The New York Times Company, 2 May 1945. Web. 31 May 2016. <http://query.nytimes.com/gst/abstract.html?res=9E02E5DB1F3FE532A05751C0A9639C946493D6CF>
2. Ash, Alec. “Defining Moment: The Nazis launch the first public anti-smoking campaign.” The Financial Times. The Financial Times LTD, 18 Sep. 2010. Web. 31 May 2016. <http://www.ft.com/cms/s/2/3d78d24a-c068-11df-8a81-00144feab49a.html#axzz4ADWZCPB2>
3. Hamilton, Tracy Brown. “The Nazis’ Forgotten Anti-Smoking Campaign”. The Atlantic. The Atlantic Monthly Group, 9 Jul. 2014. Web. 31 May 2016. <http://www.theatlantic.com/health/archive/2014/07/the-nazis-forgotten-anti-smoking-campaign/373766/>
4. Kuchikomi. “Anti-Smoking ‘Monsters’ Have Smokers on the Run.” Japan Today. GPlusMedia Inc., 10 Apr. 2010. Web. 31 May 2016. <https://japantoday.com/category/features/kuchikomi/anti-smoking-monsters-have-smokers-on-the-run>
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 31 พฤษภาคม 2559