ลายกนก-ลายกระหนก เป็นของไทย เป็นเรื่องไม่จริง!?

กนกใบเทศ ลายกนก ลายกระหนก
กนกใบเทศ (ภาพต้นฉบับจากหนังสือ คู่มือลายไทย สนพ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2552)

คนทั่วไปเข้าใจตรงกันว่า กนก คือ ลายไทย เลยเรียกปนกันทั้ง ลายไทย ลายกนก ลายกนกไทย คำว่า กนก เขียนเป็น กระหนก ก็ได้ เป็นคำว่า ลายกระหนก

บางคนเลยทึกทักว่า ลายกนก เป็นงานสร้างสรรค์ของไทยโดย “ช่างไทย” แท้ ๆ งดงามอ่อนช้อยกว่าใครในโลก แต่ไม่จริง !

ลายกนก – ลายกระหนก – ลายไทย ได้ต้นแบบจาก “ครู” แขกชมพูทวีป หรือแขกอินเดียสมัยคุปตะและหลังคุปตะ ราวหลัง พ.ศ. 800 – 1200 (มีรายละเอียดอยู่ในหนังสือ กระหนกในดินแดนไทย โดย ศ.ดร. สันติ เล็กสุขุม สำนักพิมพ์เมืองโบราณ พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2547 หน้า 22)

ลายกระหนกอินเดียแพร่หลายมากับศาสนาพราหมณ์และพุทธ สู่ดินแดนสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์คราวเดียวกัน ไม่ต้องไปหลงทางหาตรงไหนก่อน – หลัง เสียเวลาเปล่า ๆ

เพราะมีต้นแบบพ่อแม่เดียวกัน คือ ลายกนกชมพูทวีปอินเดีย ในแง่ตัวลายจึงไม่มีอะไรต่างกัน เว้นเสียแต่พบอยู่ในเขตประเทศไหน? ก็สมมุติเรียกว่า ลายของดินแดนนั้น

ถ้าอยู่ผิดที่ผิดทางก็บอกไม่ได้หรอกว่า ลายใครเป็นลายใคร เพราะเป็นกระหนกเดียวกัน เช่น เอาลายไทยไปวางในเขมร, เอาลายเขมรไปวางในลาว, เอาลายลาวไปวางในพม่า, เอาลายพม่าไปวางในมอญ, เอาลายมอญมาวางในไทย, ฯลฯ

ลายดั้งเดิมก่อนรับกระหนกอินเดีย

ก่อนรับกระหนกจากอินเดีย ช่างเขียนสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์วาดรูปลวดลายธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (หรือเบสิก) อย่างแข็งแรงแล้ว

มีหลักฐานเป็นลายเส้นบนหน้าผา, ผนังถ้ำ, โขดหิน, ฯลฯ เป็นภาพเขียนดึกดำบรรพ์ มีอายุเก่าแก่มากกว่า 2,500 ปีมาแล้ว พบทั่วไปในดินแดนไทยตั้งแต่ ภาคเหนือ, ภาคอีสาน, ภาคกลาง, ภาคใต้ แล้วพบกระจายอยู่ในดินแดนเพื่อนบ้านโดยรอบด้วย

ทุกแห่งที่พบล้วนเป็นภาพเขียนศักดิ์สิทธิ์ เกี่ยวข้องกับระบบความเชื่อในศาสนาผีพื้นเมืองดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ แล้วสะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนและชุมชนยุคนั้น บริเวณนั้น ตั้งแต่ก่อนรับศาสนาพราหมณ์-พุทธ และก่อนรับลายกระหนกจากอินเดีย

บริเวณโดยรอบของหน้าผา, ผนังถ้ำ, โขดหิน, ฯลฯ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ (เทียบเท่าโบสถ์, วิหารสมัยหลัง) ใช้ทำพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์ เช่น ขอฝน, ฯลฯ

กนกใบเทศ (ภาพจากหนังสือ คู่มือลายไทย สนพ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2552)

คนเขียนลายเส้นเป็นรูปต่าง ๆ เหล่านั้น เช่น คน, สัตว์, ฯลฯ ได้รับการยกย่องเป็นบุคคลพิเศษ (ที่ยุคต่อไปจะเรียกว่าช่าง) มีอำนาจระดับหมอผี หมายถึง ผู้มีวิชามากกว่าคนอื่นในท้องถิ่นชุมชนนั้น

ทั้งหมดล้วนเป็นหลักฐานอันมั่นคงว่า คนพื้นเมืองดั้งเดิมกลุ่มหนึ่งของสุวรรณภูมิในอุษาคเนย์เมื่อหลายพันปีมาแล้ว มีประสบการณ์ชำนาญ และความสามารถระดับสูงแล้วในทางวาดรูป เขียนภาพ ทั้งเหมือนจริง และเหนือจริง เป็นเส้นสัญลักษณ์ ยุคก่อนรับลายกระหนกจากอินเดีย

งานช่างอื่น ๆ ก็ไม่ต่างจากงานช่างเขียน ไม่ว่าช่างฟ้อน ช่างขับ รวมถึงช่างดีดสีตีเป่า ซึ่งรู้จักทั่วไปทุกวันนี้ว่างานดนตรีและนาฏศิลป์ ล้วนมีรากเหง้าร่วมกันมาแต่ยุคดึกดำบรรพ์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

“ลายกระหนก”. จากหนังสือ “วัฒนธรรมร่วม อุษาคเนย์ในอาเซียน”. โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ. สำนักพิมพ์นาตาแฮก. 2559


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2561