“นางประเเดะ” จากเรื่อง “ระเด่นลันได” งามแหวกขนบนางในวรรณคดีไทย

นางประแดะ แขกระเด่นลันได ระเด่นลันได
ภาพนางประแดะกับแขกระเด่นลันได จากหน้าปกหนังสือ บทละครเรื่อง ระเด่นลันได ของ พระมหามนตรี (ทรัพย์)

คิ้วโก่งดังคันศร ใบหน้าใสผุดผ่องดังพระจันทร์ ดวงตางดงามราวตากวาง
รูปร่างบอบบางดั่งเทพกินรา และผิวพรรณขาวนวลกระจ่าง

ข้อความข้างต้น ล้วนเป็นลักษณะที่บ่งบอกถึงความงามตามขนบของนางวรรณคดีไทย ที่คนทั่วไปเห็นว่างาม แต่นางในวรรณคดีไทยนางนี้ ทำให้ต้องเปลี่ยนความคิดแบบเดิมๆ ไปทันที เธอคือ นางประแดะ นางในวรรณคดีจากบทละครเรื่อง “ระเด่นลันได”

ระเด่นลันไดแต่งโดยพระมหามนตรี (ทรัพย์) เป็นวรรณคดีขบขันยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ช่วงสมัยรัชกาลที่ 3 ร่วมสมัยเดียวกับกวีแห่งยุคอย่างสุนทรภู่ ระเด่นลันไดเป็นวรรณคดีบทละครที่ยังคงความนิยมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้กวีสามารถนำเรื่องจริง มาเรียงร้อยในรูปของบทละคร เพื่อล้อเลียนบทละครเรื่อง อิเหนา ได้อย่างคมคายและขบขัน ด้วยฝีมือการประดิษฐ์แห่งชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ ทั้งในการวางตัวละครและศิลปะการใช้ภาษา อันยากที่จะหาวรรณกรรมล้อเรื่องใดโดดเด่นเท่า

สิ่งที่ทำให้วรรณคดีเรื่องนี้ถูกกล่าวถึงอย่างแพร่หลาย คือ การพรรณนาความงามตัวนางในวรรณคดีได้แตกต่างไปจากวรรณคดีเรื่องอื่น ๆ หากกล่าวว่า นางประไหมสุหรีเป็นนางวรรณคดีงามตามขนบ นางประแดะก็เป็นความงามที่แหวกขนบนางในวรรณคดีไทย โดยพระมหามนตรีทรัพย์ตั้งใจแต่งล้อขนบเดิม จากพระนางศักดิ์สูง ประไหมสุหรีของอิเหนาแห่งวงศ์เทวัญ กลายมาเป็นคนธรรมดาสามัญ ภรรยาของนายประดู่แขกเลี้ยงวัว จากรูปลักษณ์งดงามตามขนบ ก็กลายเป็นความงามแหวกขนบอย่างนางประเเดะที่ทำให้ภาพนางในวรรณคดีของผู้อ่านเปลี่ยนไปจากเดิม ดังบทละคร ความว่า…

สูงระหงทรงเพรียวเรียวรูด
งามละม้ายคล้ายอูฐกะหลาป๋า
พิศแต่หัวตลอดเท้าขาวแต่ตา
ทั้งสองแก้มกัลยาดั่งลูกยอ

คิ้วก่งเหมือนกงเขาดีดฝ้าย
จมูกละม้ายคล้ายพร้าขอ
หูกลวงดวงพักตร์หักงอ
ลำคอโตตันสั้นกลม

สองเต้าห้อยตุงถุงตะเครียว
โคนเหี่ยวแห้งรวบเหมือนบวบต้ม
เสวยสลายาจุกพระโอษฐ์อม
มันน่าเชยน่าชมนางเทวี

บทละครตอนหนึ่งที่ยกมาข้างต้น พรรณนาความงามของนางประแดะว่า ผอมสูงราวกับเปรต ดูไปก็งามคล้ายๆ กับอูฐ เมื่อพิจารณาตั้งแต่หัวจรดเท้ามีดวงตาเท่านั้นที่เป็นสีขาว แก้มทั้งสองข้างขรุขระเหมือนกับผิวของลูกยอ คิ้วโก่งคล้ายกงที่เอาไว้ดีดฝ้าย มีลักษณะโค้งงอคล้ายคันธนู จมูกงองุ้มเหมือนเคียวข้าว ใบหูเป็นโพรง ส่วนปลายของใบหน้าหักโค้งเข้าหากัน ลำคอมีลักษณะสั้นและใหญ่ หน้าอกนั้นก็ยานยาวเหมือนกับถุงตะเคียว ซ้ำที่โคนยังเหี่ยวแห้งเหมือนกับบวบที่ต้มแล้ว ส่วนปากใช้เคี้ยวหมากอมยาจุก

การนำลักษณะของ อูฐ ลูกยอ กงดีดฝ้าย เคียวข้าว ถุงตะเคียว และบวบต้ม มาพรรณนาความงามของนางประแดะ เป็นสิ่งตรงกันข้ามกับขนบการพรรณนาความงามของตัวนางในวรรณคดี ซึ่งส่วนใหญ่กวีจะพรรณนาความงามของนางว่า ใบหน้าขาวเหมือนพระจันทร์ คิ้วโก่งเหมือนคันสร ดวงตางามเหมือนตากวาง ฯลฯ

จึงกล่าวได้ว่า ความงามของ “นางประแดะ” เป็นความงามแหวกขนบการพรรณนาความงามนางในวรรณคดีเรื่องอื่นๆ แต่ถึงอย่างไร ความงามของนางในวรรณคดีเรื่องนี้ มิได้ทำให้คุณค่าและความงามทางการประพันธ์ลดน้อยลง แต่เป็นการสร้างความตลกขบขันให้กับผู้อ่าน หนึ่งในจุดประสงค์ของการอ่านวรรณคดี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

พระมหามนตรี (ทรัพย์). บทละครเรื่อง ระเด่นลันได. กรุงเทพฯ : ศิลปาบรรณาคาร, 2518


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2561