เปิด “เมนูอาหาร” ชนะที่ 1 งานกาชาด ปี 2477 อาหาร 1 วัน 3 มื้อ ถูกจริงและคุ้มจัง

งานกาชาด ซุ้มกองอนามัย
ซุ้มของกองอนามัยที่มีให้ความรู้เรื่องอาหาร, สุขอนามัย ฯลฯ คือ หนึ่งหน่วยงานของรัฐที่มีออกงานกาชาด (ภาพจาก สมุดภาพสภากาชาดไทย ภาค1 : คณะกรรมการและงานกาชาดยุคแรก โดยสภากาชาดไทย, 2557)

“เมนูอาหาร” ชนะเลิศที่ 1 งานกาชาด ปี 2477 อาหาร 1 วัน 3 มื้อ สำหรับ 4 คน อลังการมีทั้งคาว-หวาน ถูกทั้งเงินและหลักโภชนาการ

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท (2427-2477)

หนังสือ ตำรับสายเยาวภา มีพระยาสีหศักดิ์สนิทวงศ์ เป็นบรรณาธิการ ได้รวบรวมวิธีปรุงอาหารคาวหวาน ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท โดยมีวิธีปรุงอาหารของบรรดาพระประยูรญาติและข้าหลวงรวมอยู่ด้วย ตลอดจนความรู้อื่นๆ เกี่ยวกับการทำอาหาร

หนึ่งในจำนวนนั้น คือ “ตำรับอาหาร” ของโรงเรียนสายปัญญา ที่ชนะรางวัลที่ 1 งานกาชาด ปี 2477

“ตำรับอาหาร” จะอธิบายสัดส่วนของเครื่องปรุงแต่ละชนิด, วิธีปรุง และประโยชน์ได้รับ ขอยกมาเป็นตัวอย่าง ตำรับอาหารสำหรับ 4 คน (ได้แก่ พ่อ,แม่, ลูก และคนใช้) ในครอบครัวที่มีรายได้เดือนละ 150 บาท และไม่ต้องการให้หมดเปลืองมาก มาดูกันว่ากันใน 1 วัน ที่มีอาหารคาว และหวาน 3 มื้อ เขากินอาหารอะไร

มื้อเช้า-แกงบะฉ่อ, ผัดผักกาดหอมกับเลือดหมู, ปลาช่อนเจี๋ยนพริกสด และกล้วยหักมุกเชื่อม

มื้อกลางวัน-แกงจืดเกาเหลา, ผัดหมี่กรอบ และขนมต้มขาว

มื้อเย็น-แกงเผ็ดหมู, เมี่ยงหมู, เนื้อเค็มฉีกฝอยผัด และกล้วยหอมทอด

โดยค่าใช้จ่ายสำหรับซื้อเนื้อสัตว์, ผักสด, กะปิน้ำปลา ฯลฯ (ไม่รวมข้าวสาร) เพื่อทำอาหารทั้งหมดดังกล่าว ใช้เงิน 1.25 บาท (ท่านใดอยากทราบว่าเป็นเงินเท่าไรในปัจจุบัน ก็ลองเปรียบเทียบกับราคาทองคำเป็นเกณฑ์)

เพื่อให้จินตนาการหน้าตาอาหารและรสชาติได้ชัดเจนยิ่งขึ้น จึงลงรายการอาหารไว้ข้างท้ายนี้เป็นตัวอย่าง

ซ้าย-บัญชีแสดงราคาเครื่องปรุงต่างๆ ขวา-รายละอียดของเครื่องปรุง และวิธีทำแกงเกาเหลา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

หนังสือตำหรับสายเยาวภา. พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเยาวภาพงศ์สนิท ณ พระเมรวัดเบญจมบพิตร พ.ศ. 2478, โรงพิมพ์บรรณาคาร พระนคร


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 ตุลาคม 2561