“เครื่องรางโจร” มีไว้แล้วจะ “ไม่ตาย”

เครื่องรางโจร เครื่องราง พระเครื่อง พระปิดตา แร่บางไผ่ หลวงปู่จัน วัดโมลี พระปิดตามหามงคล อาจารย์ศรีเงิน วัดดอนศาลา พระมเหศวร กรุวัดพระศรีรัตนมหาชธาตุ
พระเครื่องที่เชื่อกันว่าเมื่อนำไปบูชาขึ้นคอแล้วจะแคล้วคลาดอยู่ยงคงกระพันรอดจากอันตราย จากซ้าย พระปิดตาแร่บางไผ่ หลวงปู่จันวัดโมลี จ.นนทบุรี, พระปิดตามหามงคล อาจารย์ศรีเงิน วัดดอนศาลา จ.พัทลุง และ พระมเหศวร กรุวัดพระศรีรัตนมหาชธาตุ จ.สุพรรณบุรี (ภาพจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ พฤษภาคม 2540 ขอขอบคุณ คุณอรรถภูมิ บุณยเกียรติ ผู้อำนวยการนิตยสารสนามพระคอลเลคชั่น ที่เอื้อเฟื้อภาพพระเครื่อง)

“เครื่องราง” มีไว้แล้วจะไม่ตาย แคล้วคลาดปลอดภัย อยู่ยงคงกระพัน จริงหรือ?

อักขระ เช่น เสื้อยันต์ และธง เป็นต้น ลูกอมขี้ผึ้ง ลูกอมปรอท แหวนสวมนิ้ว แหวนสวมแขนซึ่งทำด้วยผ้า ด้วยเงิน ทอง นาก หรือโลหะต่างชนิด หวายคาดเอว ตระบองและมีด เช่นมีดหมอ ปลัดขิกหรือไอ้ขิก (ตัวเล็กขนาดนิ้วนางหรือนิ้วก้อย หยักหัวเหมือนขุนเพ็ด) และลูกสะกดซึ่งทำด้วยตะกั่ว ไม้หรือวัตถุอื่น หนังหน้าเสือ ขี้ผึ้ง สีปาก ของเหล่านี้ลงด้วยเลขยันต์คาถาและอักขระ เว้นแต่ลูกอม ขี้ผึ้งสีปากและลูกสะกด ส่วนปลัดขิก เคยเห็นมีลงบ้างไม่ลงบ้าง

คาถาและอักขระ ต้องลงอักษรขอมจึงจะขลัง ส่วนเลขลงเลขไทย เช่น ยันต์ ตรีนิสิงเห หรือตรีสิงเห เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เมื่อปลุกเสกแล้วย่อมเกิดสิทธิคือความขลัง มีเพลงสรรเสริญ เครื่องราง และ เครื่องปลุกเสก ซึ่งโบราณผูกไว้ว่า “กระตุดโทนต้นทุน ของหลวงพ่อจุ่นวัดแจ้ง ลูกประดู่ทองแดง แช่น้ำก็เดือด หลอกหลาวอย่าเลย มันไม่เคยกิน-เอยเลือด”

เสื้อยันต์ เครื่องรางที่เชื่อว่ามีติดตัวแล้วจะอยู่ยงคงกระพัน (ภาพจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับ พฤษภาคม 2540)

ตัวอย่าง “เครื่องราง” ที่เชื่อกันว่าอยู่ยงคงกระพัน เช่น ตะกรุดหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง จ. นนทบุรี เป็นที่นิยมอันดับ 1 ในบรรดาตะกรุด หาได้ยากมาก สนนราคาก็สูง มงคลสวมหัว หลวงพ่อขัน วัดนกกระจาบ จ. พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น

แม้แต่ “พระเครื่อง” ที่เชื่อกันว่ามีอิทธิคุณก็เป็นเครื่องรางอีกประเภทหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นพระที่ปั้นด้วยดินผสมว่าน พระพิมพ์ด้วยโลหะ แล้วแต่เกจิอาจารย์องค์นั้นจะคิดขึ้นมา พระแกะสลักด้วยไม้ เช่น ไม้โพ ไม้จันทน์ ไม้รัก แม้แต่ทำจากงาช้าง เขี้ยวเสือก็มี ซึ่งพระเครื่องบางองค์เชื่อกันว่าเป็นที่เลื่องลือทางด้านคงกระพันแคล้วคลาด

โดยเฉพาะ “พระปิดตา” หรืออีกชื่อหนึ่งคือ พระมหาอุด มีทั้งที่เป็นพระผงและพระที่ทำจากเนื้อโลหะ เหตุที่เรียกว่า พระปิดตา เพราะลักษณะของพระปิดตาที่เป็นพระที่มือปิดตา จมูก หู หรือที่เรียกว่าทวารทั้ง 9 อาจจะให้ผู้ที่บูชานั้นระวังต่อ รูป รส กลิ่น เสียง ที่จะเข้ามาทางทวารทั้ง 9 ให้มีสติมั่นคง แต่ในวงการนักเลงพระต่างเชื่อกันว่าเป็นนักเลงเมื่อใส่แล้วมักมีเรื่องมาหาอยู่เสมอ

หรือเชื่อว่าพระปิดตาเมื่อขึ้นคอบูชาแล้วจะทำให้แคล้วคลาดอยู่ยงคงกระพัน ดูเหมือนว่าจะเป็น พระเครื่อง ที่พวกเสือต้องขึ้นคอบูชากันเป็นประจำ

ตัวอย่างพระปิดตาที่พวกเสือชอบห้อย เช่น พระปิดตา “แร่บางไผ่” หลวงปู่จัน วัดโมลี จ. นนทบุรี ที่ขุนโจรชื่อดังอย่าง “เสือจำเรียง ปางมณี” และ “เสือผาด แก้วสนธิ” ยังต้องขึ้นคอบูชา กล่าวกันว่าราคาของพระองค์นี้มีราคาสูงถึงเลข 6 หลัก พระปิดตาเนื้อผงขาวผสมว่านยา หลวงปู่จีน วัดท่าลาดเหนือ จ. ฉะเชิงเทรา ที่เสือไหล พระภูมิ และเสือทีทุยโท ขุนโจรย่านชายฝั่งทะเลตะวันออก นำติดกายตลอดเวลา เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีพิธีทางไสยศาสตร์ที่เชื่อกันว่า เมื่อผ่านพิธีนี้แล้วจะอยู่ยงคงกระพัน เช่น การทำพิธีที่สำนักวัดเขาอ้อ จ. พัทลุง ในอดีตสำนักแห่งนี้โจรแห่งบ้านดอนทราย รวมทั้ง ขุนพันดาบแดง เป็นศิษย์เอกแห่งวัดนี้ ซึ่งมีการทำพิธีแช่่ว่านยา ถือเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด พอเสร็จจากการแช่ว่านยาก็ขึ้นมากินเหนียว คือกินข้าวเหนียวดำ ต่อด้วยกินมัน คือกินน้ำมันงาดิบ ซึ่งเป็นน้ำมันปลุกเสกแล้วใส่ว่านยา

ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของเครื่องรางเท่านั้น ในเรื่องความศักดิ์สิทธ์จะมีจริงหรือไม่ก็ต้องพิจารณากันเอาเอง ต้องขึ้นอยู่กับความศรัทธาของผู้ที่บูชา แต่ก็เห็นเสือหลายรายที่มีเครื่องรางประดับกายต้องพบกับความตายอยู่เสมอ (ฮา)

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “เครื่องรางของโจร” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2540


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 สิงหาคม 2561