ที่มา | วารสารเมืองโบราณ ฉบับ มกราคม - มีนาคม ๒๕๕๖ |
---|---|
ผู้เขียน | สุรินทร์ เหลือลมัย |
เผยแพร่ |
ชาวเล (ชาวทะเล) เป็นคำภาษาปักษ์ใต้ที่ใช้เรียกกลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองทางภาคใต้ของประเทศไทย มีภาษาพูด ประเพณีวัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์ มีอาชีพประมงเร่รอน อาศัยตายชายฝั่งทะเลและหมู่เกาะแถบมหาสมุทรอินเดีย ทะเลอันดามัน ตั้งแต่หมู่เกาะเมอร์กุยทางตอนใต้ของประเทศพม่า ทางภาคใต้ฝั่งตะวันตกของประเทศไทยตั้งแต่ระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ไปจนถึงสตูล รวมมีประชากรประมาณ ๑๒,๐๐๐ คน
“ชาวเล” เป็นคำที่มีความหมายเชิงลบ หมายถึงชนเผ่าเร่ร่อน ล้าหลัง ด้อยพัฒนา หน่วยงานรัฐจึงเปลี่ยนให้เป็นชาวไทยใหม่ หมายถึงกลุ่มคนที่ได้รับการพัฒนาแล้ว โดยมีบัตรประจำตัวประชาชน ลูกหลานได้รับการศึกษาจากโรงเรียนจนต่อมาชาวเลก็พูดภาษาไทยได้ทุกคน พวกเขาหันมานับถือศาสนาพุทธ และตั้งถิ่นฐานถาวร
ในอดีต หน่วยงานรัฐและเอกชนมีอคติทางชาติพันธุ์กับชาวเล มักจัดให้เป็นชนกลุ่มน้อยที่ด้อยโอกาส ชอบทำลายสิ่งแวดล้อมทางทะเลและมักจะปฎิบัติต่อชาวเลในฐานะบุคคลชั้นสองทางสังคม บางแห่งเห็นชาวเลทำการประมงบริเวณใด เจ้าของโรงแรมและรีสอร์ทก็จะขับไล่ โดยบอกว่าที่นี่มีเจ้าของและเป็นของเอกชน
จากชนพื้นเมืองดั้งเดิม ชาวเลกลับกลายมาเป็นผู้บุกรุก หลังเกิดเหตุการณ์สึนามิเมื่อปลายปี ๒๕๔๗ ชาวเลก็ได้รับความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินอย่างมาก บางแห่งถูกฟ้องขับไล่ให้ย้ายถิ่นฐานจนไร้สุสานฝังศพ แต่ที่อยู่อาศัยของพวกเขากลับถูกพัฒนาเพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่กำลังขยายตัวอยู่เรื่อย ๆ
ณ วันนี้ เอนจีโอในนามเครือข่ายชาวเลกำลังติดตามช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชาวเลอย่างจริงจัง โดยให้มีเขตวัฒนธรรมพิเศษ เพื่อพวกเขาจะได้มีวันรวมญาติชาติพันธุ์ ชาวเลสร้างเครือข่ายชาวเลให้เข้มแข็ง ให้โอกาสทางการศึกษามากขึ้น ต่อไปจะได้เป็นกระบอกเสียงให้ชาวเลทุกกลุ่ม เด็กรุ่นใหม่ต้องปรับชีวิตให้เข้ากับบริบทวัฒนธรรมสมัยใหม่ โดยยังภูมิใจในวัฒนธรรมและจิตวิญญานของตนเอง