เปิดหลักฐาน “ฟอลคอน” เคยถูก “ออกหลวงสรศักดิ์” ชกฟันหัก 2 ซี่ เลือดกบปาก!

คอนสแตนติน ฟอลคอน ออกญาวิไชเยนทร์
ฟอลคอน หรือออกญาวิไชยเยนทร์ขุนนางชาวกรีกที่มีอำนาจมากที่สุดคนหนึ่งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ

พระราชพงศาวดารฯ ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว) กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อคราว ออกญาวิไชเยนทร์ หรือ คอนสแตนติน ฟอลคอน อัครมหาเสนาบดีสมุนายก ถูกออกหลวงสรศักดิ์ (เดื่อ) ซึ่งเป็นโอรสลับของสมเด็จพระรามาธิบดี พระองค์ที่ 6 (สมเด็จพระนารายณ์) อันประสูติแต่เจ้าหญิงเชียงใหม่ ลุแก่โทษะชกปากจนฟันหัก ขณะกำลังนั่งว่าราชการในพระราชวังเมืองลพบุรี ว่า

“ฝ่ายหลวงสรศักดิ์ ครั้นเห็นเจ้าพระยาวิชาเยนทร์สึกเอาภิกษุสามเณรออกมากระทำราชการเป็นอันมาก ให้ร้อนในพระพุทธศาสนาดังนั้น ก็เอาเหตุนั้นขึ้นกราบทูลพระกรุณา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสทรงทราบเหตุดังนั้น ก็มิได้เอาโทษแก่เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ และมิได้ตรัสเป็นประการใด และหลวงสรศักดิ์จึงคิดว่าอ้ายฝรั่งคนนี้มันโปรดปรานยิ่งนัก จะกระทำผิดสักเท่าใดๆ ทรงพระกรุณามิได้เอาโทษ และกูจะทำโทษมันเองสักครั้งหนึ่ง จึงเข้าไปคอยเจ้าพระยาวิชาเยนทร์อยู่ที่เคยนั่งว่าราชการในพระราชวังนั้น ครั้นเช้าเจ้าพระยาสมุหนายกฝรั่งเข้าไปในพระราชวัง แล้วก็นั่งว่าราชการในที่นั้น และหลวงสรศักดิ์เห็นได้ทีก็เข้าชกเอาปากเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ฟันหักสองซี่ แล้วก็หนีออกไปยังบ้าน และลงเรือเร็วรีบล่องลงไปยังกรุงเทพมหานคร

ส่วนเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ เมื่อหลวงสรศักดิ์ชกเอานั้นล้มลงอยู่ ครั้นได้สติแล้วก็ลุกขึ้นและบ้วนฟันออกเสียแล้ว ก็เข้าไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีโลหิตไหลออกจากปากพลางกราบทูลว่า อาชญาเป็นล้นเกล้าฯ บัดนี้หลวงสรศักดิ์ชกเอาปากข้าพระพุทธเจ้าฟันหักสองซี่ ข้าพระพุทธเจ้าสิ้นสมปฤๅดีล้มสลบลงอยู่ปิ้มประหนึ่งจะถึงแก่สิ้นชีวิต ข้าพระพุทธเจ้าได้ความเจ็บอาย แก่ข้าราชการทั้งหลายเป็นอันมาก ขอทรงพระกรุณาโปรดลงพระราชอาญาแก่หลวงสรศักดิ์จงหนัก แล้วข้าพระพุทธเจ้าจึงจะสิ้นความเจ็บอาย  สมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวตรัสได้ทรงฟังดังนั้น ก็ทรงพระพิโรธแก่หลวงสรศักดิ์

คอนสแตนติน ฟอลคอน หรือออกญาวิไชเยนทร์ ขุนนางชาวกรีกที่มีอำนาจมากที่สุดคนหนึ่งในสมัยสมเด็จพระนารายณ์อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ที่มา :

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุทธยา และพงศาวดารเหนือ เล่ม 2, (กรุงเทพฯ : องค์การค้าของคุรุสภา, 2504), น. 97-101.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มีนาคม 2561