“หัวล้านพลอยตาย” สุภาษิตที่ไม่มีในแบบเรียน แต่มีเขียนเป็นนิทาน ยังมีภาพให้ชม?

หัวล้านพลอยตาย จิตรกรรม บานแผละ วัดโสมนัสวิหาร

หัวล้านพลอยตายสุภาษิต” ที่ไม่มีในแบบเรียน แต่มีเขียนเป็นนิทาน และมีภาพให้ชมที่ วัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพมหานคร

อนุสนธิจดหมายถึงบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรมของคุณทิพย์ฉัตร ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 35 ฉบับที่ 8 (มิถุนายน 2557) ได้ถามถึงภาพและโคลงสุภาษิตที่ “วัดโสมนัสวิหาร” โดยมีประเด็นว่าเคยมีการจัดพิมพ์เผยแพร่โคลงสุภาษิตและจิตรกรรมเหล่านี้หรือไม่ และในตอนท้ายจดหมายได้กล่าวถึงว่า

“ส่วนโคลงสุภาษิตคำพังเพยที่จารึกบนแผ่นหินอ่อนใต้ภาพนี้ก็เป็นสุภาษิตคำพังเพยของไทยรุ่นที่ยังไม่มีในแบบเรียน ถ้าไม่มีข้อมูลในสมองก็คงอ่านและดูภาพเขียนมิเข้าใจเป็นแน่แท้ เพราะแต่ละภาพมิได้ระบุจารึกบอกชื่อสุภาษิตคำพังเพยไว้เลย…”

จากข้อมูลในเว็บไซต์ของวัดโสมนัสวิหาร ได้ระบุว่าจิตรกรรมประกอบโคลงสุภาษิตซึ่งจารึกอยู่บนแผ่นศิลาที่กรอบประตูและหน้าต่าง (บานแผละ) ในพระวิหารวัดโสมนัสวิหาร มีโคลงสุภาษิตทั้งสิ้น 119 โคลง และระบุเพิ่มเติมด้วยว่า วัดโสมนัสวิหารได้คัดลอกโคลงสุภาษิตทั้งหมดจัดพิมพ์เผยแพร่แล้ว 3 ครั้ง คือ เมื่อ พ.ศ. 2501, 2530 และ 2545 แต่การพิมพ์สองครั้งแรกมิได้พิมพ์ชื่อสุภาษิตคำพังเพยกำกับไว้ ในการพิมพ์ครั้งที่ 3 จึงได้เพิ่มเติมชื่อสุภาษิตคำพังเพยด้วย ซึ่งในเว็บไซต์ของวัดโสมนัสวิหาร ได้
ลงเผยแพร่โคลงสุภาษิตในพระวิหารจำนวน 100 โคลง[1]

การประดับรูปสุภาษิตคำพังเพย

การประดับรูปสุภาษิตคำพังเพยนี้ ปรากฏหลักฐานว่าในรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้รวมสุภาษิตไทยมาเขียนรูปภาพไว้ที่คอสองฝาผนัง (พระล่อง) ฉนวนที่ทรงบาตรในบริเวณพระอภิเนาว์นิเวศน์เป็นแห่งแรก[2] ดังปรากฏในโคลงลิขิตมหามกุฏราชคุณานุสรณ์ พระนิพนธ์ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ตอนหนึ่งว่า

                              “…ท้องฉนวนกันมรรคา
ผนังเขียนสุภาษิตบุราณ   เช่นหัวล้านสร้างเมือง
เบื้องทรงบาตพระล่อง    พ้นช่องฉนวนอุทยาน…”[3]

ครั้นทรงปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จึงโปรดให้ ขรัวอินโข่ง เขียนจิตรกรรมที่ผนังกรอบประตูหน้าต่าง (บานแผละ) พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นช่องๆ เรียงกันลงมา อีกทั้งยังโปรดให้จารึกโคลงสุภาษิตไทยลงบนแผ่นหินติดไว้ใต้ภาพ[4] สำหรับการประดับจิตรกรรมสุภาษิตคำพังเพยที่บานแผละพระวิหาร วัดโสมนัสวิหาร ก็น่าที่จะเป็นพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยเช่นกัน

จิตรกรรม สุภาษิต หัวล้านพลอยตาย
จิตรกรรม สุภาษิต หัวล้านพลอยตาย บนบานแผละหน้าต่างพระวิหารวัดโสมนัสวิหาร

ในรัชกาลที่ 5 เมื่อแรกเสวยราชสมบัติก็ปรากฏหลักฐานการประดับรูปสุภาษิตคำพังเพยด้วย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้พระองค์เจ้าประดิษฐวรการหล่อรูปภาพตะกั่วตามเรื่องสุภาษิต ตกแต่งกระถางต้นไม้ที่ตั้งรายริมกำแพงแก้วพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย[5]

จะเห็นว่าหลักฐานส่วนใหญ่ระบุว่าการเขียนภาพสุภาษิตคำพังเพยเริ่มในช่วงรัชกาลที่ 4 อย่างไรก็ดีที่เชิงบานหน้าต่างพระอุโบสถวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามก็เริ่มปรากฏจิตรกรรมลายรดน้ำนิทานต่างๆ ซึ่งบางภาพเป็นภาษิตด้วย เช่น ถ่อแพไล่เสือ โดยจิตรกรรมลายรดน้ำเหล่านี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าน่าจะสร้างมาแต่รัชกาลที่ 3[6]

หัวล้านพลอยตาย

มีประเด็นจากโคลงสุภาษิตลำดับที่ 42 ของจิตรกรรมบนบานแผละหน้าต่างพระวิหารวัดโสมนัสวิหาร เหนือแผ่นหินที่จารึกโคลงนี้ เป็นภาพต้นตาลสูง ที่พื้นด้านล่างสุดมีชายศีรษะล้าน 4 คนนอนทับกันอยู่ ถัดขึ้นไปเป็นชายคว่ำหน้าอีกคนหนึ่ง และบนสุดเป็นภาพชายศีรษะไม่มีผมกำลังตกลงมาทับผู้ชายทั้ง 5 คนเบื้องล่าง โดยมีร่องรอยว่าผ้านุ่งของชายคนบนสุดเป็นสีเหลือง และโคลงสุภาษิตที่จารึกมีเนื้อความดังนี้

เถนตรงลงเผ่นต้น   ตาลสูง
ถูกเหล่าล้านทั้งฝูง   สี่ม้วย
พลอยตายเพื่อจะพยูง   เถนโง่ นั้นนา
มีใช่การพสมด้วย   ดั่งนั้นพลอยตาย ๚ะ

โคลงสุภาษิตบทนี้ในเว็บไซต์ของวัดโสมนัสวิหารระบุว่าคือสุภาษิตคำพังเพย “เถนตรง” แต่หากเปรียบเทียบกับหนังสือโคลงสุภาษิตประจำภาพ ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2472 โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตนศิริเชษฐ โปรดให้พิมพ์เป็นมิตรพลีขึ้นปีใหม่ ซึ่งมีการระบุว่าโคลงแต่ละบทนั้นคือสุภาษิตคำใด โคลงสุภาษิต “หัวล้านพลอยตาย” ซึ่งจารึกที่บานแผละหน้าต่างพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีเนื้อความใกล้เคียงกัน โดยกล่าวถึง เถร และหัวล้าน 4 คน ดังนี้

คนซื่อถือเชื่อถ้อย   คำพาล
พลอยพินาศฦๅนาน   น่าเก้อ
เฉกล้านสี่คนหาญ   เข้าช่วย เถรแฮ
ตายเพราะไป่ตรึกเน้อ   เยี่ยงนี้จงระวัง ฯ [7]

เชื่อว่าทุกท่านที่อ่านคงเกิดคำถามสงสัยว่า หัวล้าน 4 คนช่วยเหลือเถรด้วยวิธีใด จึงเป็นที่มาของสำนวนสุภาษิต “หัวล้านพลอยตาย” และสุภาษิตนี้น่าที่จะมีนิทานหรือเรื่องเล่าประกอบ ดังเช่น หัวล้านนอกครู แต่ปัจจุบันสำนวนหัวล้านพลอยตายไม่ปรากฏในหนังสือภาษิต คำพังเพย สำนวนไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน หรือแม้แต่ในพจนานุกรมบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ก็ไม่ปรากฏสำนวนคำว่า “หัวล้านพลอยตาย” เช่นกัน

เมื่อสืบค้นต่อจากนิทานวชิรญาณ มีนิทานเรื่องหนึ่งที่มีชื่อตรงกันคือ เรื่องหัวล้านพลอยตาย ของ ขุนมหาวิไชย (จันทร์) ท่านได้เล่าถึงนิทานภาษิตเรื่องนี้ไว้ ดังนี้

เถรตรงเป็นคนที่เดินไปไหนก็จะเดินไปแต่ทางตรง เมื่อเดินถึงต้นตาลก็ไม่หลบขึ้นปีนไปถึงยอดตาล ขาลงก็จับทางตาลห้อยโหนอยู่เป็นเวลาหลายชั่วโมง มีชายคนหนึ่งขี่ช้างมาทางนั้น เถรเห็นก็เรียกให้ช่วย ชายคนนั้นจึงไสช้างเข้าไปช่วย โดยใช้มือยึดเท้าเถรจะลากลงมาที่คอช้าง บังเอิญใบตาลแห้งบนต้นกระทบกันเสียงดังช้างตกใจเลยวิ่งหนีไป คนขี่ช้างจึงต้องเหนี่ยวเท้าเถรห้อยโตงเตงกับทางตาลเข้าอีกเป็น 2 คน

หัวล้าน 4 นาย เป็นเพื่อนรักกัน เดินมาทางนี้พอดี เถรและคนขี่ช้างก็ร้องให้ช่วย หัวล้าน 4 คนก็ถามกลับไปว่า จะให้ช่วยอย่างไร เถรจึงบอกว่าให้ทั้ง 4 คนเอาผ้าผูกคอกันทำเป็นเปลอยู่กลาง จะได้กระโจนลงไปบนเปล หัวล้านทั้ง 4 ก็ทำตาม เถรกระโจนลงมาถูกเปลผ้าอย่างแรงก็ตวัดเอาหัวล้านทั้ง 4 คน ศีรษะกระแทกกันตาย

รายละเอียดของจิตรกรรมสุภาษิตหัวล้านพลอยตาย

เถรกับคนขี่ช้างไม่ตาย แต่ด้วยกลัวความผิด ทั้งสองจึงหามเอาศพหัวล้านทั้ง 4 ศพ ไปทิ้งที่ท้ายสวนของหญิงหม้ายคนหนึ่ง ครั้นหญิงหม้ายมาสวนพบศพชายหัวล้านทั้งสี่นอนเรียงกันอยู่ ก็กลัวจะเกิดคดีความว่าฆ่าคนตาย จึงออกอุบายนำศพไปซ่อนเสีย 3 ศพ ให้เหลือศพเดียว แล้วไปบอกแก่ทิดสึกใหม่คนหนึ่งให้เอาศพไปเผาเสีย และสัญญาว่าถ้าเผาศพให้ไหม้หมดแล้วจะยอมเป็นภรรยา

ทิดสึกใหม่ดีใจเพราะหมายปองหญิงหม้ายคนนี้มานานแล้ว จึงรีบนำศพไปเผา เมื่อทิดสึกใหม่ลากศพไปพ้นที่นั้นแล้ว หญิงหม้ายก็ไปลากศพที่ 2 มาทิ้งไว้แทนที่ เมื่อทิดเผาศพแรกจนไหม้หมดแล้วก็กลับมาที่สวน ได้เห็นศพหัวล้านคล้ายที่นำไปเผาแล้วนั้นยังนอนอยู่นึกประหลาดใจว่า ผีหัวล้านคงจะกลับมาเกิดได้อีกแน่ ก็ลากเอาศพไปเผาใหม่อีกทยอยกันดังนี้จนครบ 4 ศพ เมื่อเผาศพหัวล้านคนที่ 4 ไหม้เป็นเถ้าหมดแล้ว ก็เดินกลับมาตามทาง

เวลานั้นชายแก่เผาถ่านขายคนหนึ่งศีรษะล้านคล้ายกับหัวล้าน 4 คนที่เผาไปแล้วนั้น ตัวเปื้อนถ่านมอมแมมเดินสวนทางมา ทิดสึกใหม่เห็นเข้าก็คิดว่าผีหัวล้านที่ตนเผาแล้วถึง 4 ครั้ง กลับฟื้นมาจะไปนอนที่เก่าอีก จึงตรงเข้าไปฉวยข้อมือชายแก่แล้วร้องตวาดว่า “หัวล้านนี้ดื้อจริง ข้าเอาไปเผาถึง 4 ครั้งแล้วยังกลับมาได้อีก ดูดู๋ตัวยังเปื้อนถ่านไฟมอกลอกเป็นรอยไฟลนอยู่นี่ แกจะทนไฟไปถึงไหนเล่า”

ชายแก่เผาถ่านไม่รู้สาเหตุตกตะลึง เห็นหน้าทิดสึกใหม่ซึ่งโกรธตนมาก คิดว่าเจ้าภาษีถ่านจะจับไปลงโทษก็สะบัดมือหลุดวิ่งหนีไป ทิดสึกใหม่ก็รีบวิ่งตามไป พอตามทันก็กอดรัดไว้ด้วยมือทั้งสอง ชายแก่จะดิ้นหนีไปทางใดก็ไม่หลุด ชายแก่จึงตะโกนถามขึ้นว่า “โทษข้ามีอย่างไรจึงต้องจับกุมดังนี้?” ทิดสึกใหม่ไม่ตอบ เพราะมั่นใจว่าเป็นผีหัวล้านที่ตนนำไปเผาแล้วกลับมาได้อีก ก็ปลุกปล้ำเอาไปเผาจนได้ หัวล้านเผาถ่านขายมาตายด้วยความคล้ายคลึงกับศพที่เขาเผาแล้ว โดยไม่มีโทษที่ควรตายแต่อย่างใด ท่านจึงได้บัญญัติเรียกว่า “หัวล้านพลอยตาย”[8]

โคลงสุภาษิตโบราณหาอ่านได้ที่ไหน?

เมื่อค้นต่อไปอีกก็พบว่า ในกัมพูชามีนิทานพื้นบ้านที่มีเรื่องราวคล้ายคลึงกันนี้ด้วย จากประชุมเรื่องตำนานและนิทานพื้นบ้านเขมร แปลโดย รองศาสตราจารย์ประยูร ทรงศิลป์ ปรากฏนิทานพื้นบ้านเขมร เรื่องชายหัวล้าน 4 คน ซึ่งตอนต้นเรื่องคล้ายคลึงกับนิทานสุภาษิตเรื่องหัวล้านนอกครูของไทย และตอนท้ายคล้ายคลึงกับเรื่องหัวล้านพลอยตาย แต่เปลี่ยนจากเถรเป็นชายสานสมุกขาย และเหตุที่ช้างหนีไปนั้นเป็นเพราะว่าเมื่อชายขี่ช้างยืนบนหลังช้างพยายามเขย่งตัวขึ้นไปจับขาคนสานสมุก แต่เท้าที่อยู่บนหลังช้างสั่นเหมือนกับสัญญาณบอกให้ช้างเดินไปข้างหน้า ช้างเข้าใจเช่นนั้นจึงเดินออกไป[9]

จากจิตรกรรมสุภาษิตหัวล้านพลอยตายที่วาดบนบานแผละหน้าต่างพระวิหารวัดโสมนัสวิหาร จะเห็นว่าน่าที่จะวาดขึ้นตามเรื่องราวนี้นั่นเอง ด้วยมีรูปผู้ชายอยู่จำนวน 6 คนตามท้องเรื่อง แต่สำหรับจิตรกรรมบนบานแผละหน้าต่างพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จะปรากฏเพียงรูปชาย 2 คนนอนคว่ำใต้ต้นไม้ และต้นไม้ก็มีรูปลักษณะที่ไม่ใช่ต้นตาล

สุภาษิต “หัวล้านพลอยตาย” จึงเป็นหนึ่งในสำนวนสุภาษิตคำพังเพยไทยที่ไม่มีในแบบเรียน ซึ่งยากแก่การอ่านและตีความจิตรกรรมสมดังที่คุณทิพย์ฉัตรได้มีจดหมายถึงบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม

หากท่านใดสนใจศึกษาโคลงสุภาษิตโบราณ สามารถศึกษาจากหนังสือโคลงสุภาษิตประจำภาพ ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพิมพ์ในโอกาส สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเจริญพระชันษาครบ 100 ปี 3 ตุลาคม 2556 ซึ่งมีการตีพิมพ์จิตรกรรมสุภาษิตคำพังเพยทั้งหมดของพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่แนะนำว่าควรอ่านประกอบกับฉบับตีพิมพ์คราวก่อนๆ เนื่องจากการตีพิมพ์ครั้งนี้มิได้พิมพ์ชื่อสุภาษิตกำกับไว้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เชิงอรรถ :

[1] ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน www.watsomanas.com

[2] ดู พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. “อธิบาย,” ใน โคลงสุภาษิตประจำภาพ ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม. (พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2472, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตนศิริเชษฐ โปรดให้พิมพ์เป็นมิตรพลีขึ้นปีใหม่).

[3] พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์. โคลงลิขิตมหามกุฏราชคุณานุสรณ์. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2547), น. 204.

[4] พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. “อธิบาย,” ใน โคลงสุภาษิตประจำภาพ ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม. และ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. สาส์นสมเด็จ เล่ม 18. (พระนคร : องค์การค้าของคุรุสภา, 2504), น. 12.

[5] สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ และ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. สาส์นสมเด็จ. เพิ่งอ้าง.

[6] เรื่องเดียวกัน, น. 38.

[7] โคลงสุภาษิตประจำภาพ ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม, (พระนคร : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2472, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสมรรัตนศิริเชษฐ โปรดให้พิมพ์เป็นมิตรพลีขึ้นปีใหม่), น. 11.

[8] สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร. นิทานวชิรญาณ เล่ม 3-4. (กรุงเทพฯ : สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, 2556), น. 1354-1357.

[9] ดู ประยูร ทรงศิลป์ แปล. ประชุมเรื่องตำนานและนิทานพื้นบ้านเขมร ภาคที่ 1-9. (กรุงเทพฯ : คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฏธนบุรี, 2540), น. 462-471.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มีนาคม 2562