สีขาวของ “เศวตฉัตร” มีความหมายอย่างไร

เศวตฉัตร เป็นเครื่องสูงประกอบอิสริยยศอันสำคัญยิ่ง ไม่เฉพาะแต่ในดินแดนประเทศไทยปัจจุบันเท่านั้น แต่แพร่หลายในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้รับอิทธิพลทางด้านการปกครองและวัฒนธรรมจากอินเดีย ซึ่งถือว่า เศวตฉัตรเป็น ๑ ใน ๕ สิ่งของเครื่องราชกกุธภัณฑ์ สัญลักษณ์แห่งพระราชาธิบดี ประกอบด้วย เศวตฉัตร แส้จามรีคู่ ฉลองพระบาท ผ้าโพกพระเศียร และบัลลังก์ แม้บางตำราจะใช้พระแสงขรรค์แทนบัลลังก์ แต่ก็ยังคงนับเศวตฉัตรเป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์เสมอ (Gonda, 1969, 37)

คัมภีร์พุทธศาสนาของลังกาที่ไทยรับเป็นแบบอย่าง เช่นคัมภีร์มหาวงส์และคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา ต่างก็กล่าวถึงเศวตฉัตรว่าเป็น ๑ ใน ๕ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ไม่ต่างจากคติอินเดีย อันได้แก่ เศวตฉัตร อุณหิส ฉลองพระบาท วาลวิชนี (แส้จามรี) และฉลองพระบาท (มหาวงษ์พงษาวดารลังกาทวีป เล่ม ๑, ๒๔๕๓, ๒๗๘; ชินวรสิริวัฒน์ ๒๕๔๑, ๙๖)

Advertisement

สีขาวของเศวตฉัตรยังมีความหมายเชิงสัญลักษณ์หลายประการด้วยกัน ในวัฒนธรรมอินเดียสีขาวเป็นสัญลักษณ์แทนความบริสุทธิ์ ไม่แปดเปื้อนหม่นหมอง คัมภีร์พระมนูธรรมศาสตร์กล่าวว่าพระราชาซึ่งมีพระราชภาระในการประกอบยัญพิธีและศาสนพิธีย่อมไม่โน้มเอียงไปสู่ “อาเศาจะ” คือ ความหม่นหมอง

ทั้งนี้ในเบื้องต้นเมื่อพระราชาประทับบนพระราชบัลลังก์ พระองค์ย่อมมีสถานะดุจพระอินทร์ แต่ก็ทรงบริสุทธิ์ประดุจพราหมณ์ผู้เป็นพรหมจารินในท้ายที่สุด อุปัทวันตรายใดจากอาเศาจะ ย่อมไม่มาแผ้วพานพระองค์ พระราชาผู้ทรงรับราชสมบัติจึงย่อมกระทำความบริสุทธิ์ให้พระองค์เองด้วยมีพระราชภาระในการปกป้องและอำนวยความยุติธรรมให้กับพสกนิกร (Gonda, 1969, 15 – 16)

ในที่นี้สีขาวของเศวตฉัตรจึงควรสื่อถึงความบริสุทธิ์ของพระราชาจากอาเศาจะและในฐานะพราหมณ์ผู้เป็นพรหมจาริน

(ที่มาของภาพ) ๑. พระที่นั่งภัทรบิฐมนังคศิลารามราชอาสน์ (สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร) ๒. พระที่นั่งมหาเศวตฉัตรในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย (ที่มา: จุลทัศน์ ๒๕๕๔, ๑๒๘) ๓. พระนพปฏมหาเศวตฉัตรเหนือพระแท่นราชบรรจถรณ์(ม.ร.ว. แน่งน้อย ศักดิ์ศรี, สถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวัง, เล่ม ๑: น. ๕๒)

อีกประการหนึ่งสีขาวของเศวตฉัตร ยังเกี่ยวข้องกับพระราชาผ่านพระโสมในยุคพระเวทของอินเดีย

หรือภายหลังเทียบได้กับพระจันทร์ ด้วยพระโสมทรงได้รับสมญาว่า “ราชัน” เพราะทรงเป็นใหญ่ในหมู่ดาวเคราะห์ ทั้งยังทรงได้รับการยกย่องว่าเป็นราชาของพราหมณ์ วรรณะกษัตริย์ทั้งหลายต่างอ้างว่าตนเป็นจันทรวงศ์สืบสายจากพระโสมหรือพระจันทร์ (Gonda, 1969, 30, 50, 52)

คู่กับสูรยวงศ์ที่สืบสายมาจากพระอาทิตย์ดังพบการกล่าวเปรียบเศวตฉัตรว่าเหมือนพระจันทร์ในมหากาพย์มหาภารตะบ่อยครั้งที่ชัดเจนสุดปรากฏในภีษมบรรพ บทที่ ๒๐ กล่าวถึงทุรโยธน์ขณะประทับบนหลังคชาธาร มี “เศวตฉัตรแห่งรัศมีจันทร์กั้นเหนือเศียรงามวิจิตรด้วยโซ่ทอง” (Vyasa 1965, Vol.V: 47)

ปรารภเหตุข้างต้น สีขาวของเศวตฉัตรจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งพระราชาสัมพันธ์กับสีขาวของพระโสมหรือพระจันทร์ผู้เป็นราชัน ทั้งยังแสดงให้เห็นว่าพระราชาไม่ทรงแปดเปื้อนจากสิ่งเศร้าหมอง แต่ทรงไว้ซึ่งราชธรรมและยุติธรรม อำนวยความสุขสวัสดิ์

ให้กับพสกนิกรของพระองค์ ดังความในจารึกปราสาทพนมรุ้ง ๗ จ.บุรีรัมย์ พุทธศตวรรษที่ ๑๘ กล่าวถึงเศวตฉัตรเป็นความเปรียบถึงรัชสมัยอันรุ่งเรืองของพระเจ้าสูรยวรมันที่ ๒ ว่า

“สิ่งที่ไม่มีที่เปรียบได้ก็คือเศวตฉัตรคันเดียวและน่าเกรงขามของพระองค์ เป็นเศวตฉัตรอันประเสริฐไม่โยกคลอนและปกป้องผู้ที่ตั้งตนอยู่ในความดีให้พ้นจากความยากลําบาก” (ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ๒๕๕๙, ออนไลน์)


บรรณานุกรม

๑. จุลทรรศน์ พยาฆรานนท์. ๒๕๕๔. หมู่พระมหามณเฑียร. กรุงเทพฯ: สำหนักพระราชวัง.

๒. ชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า, พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่น. ๒๕๔๑. พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกาหรือพจนานุกรมภาษาบาลีแปลเป็นไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๕. กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย.

๓. ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย. ๒๕๕๙. “จารึกปราสาทหินพนมรุ้ง ๗.”http://www.sac.or.th/databases/inscriptions/uploads/file/247_1.pdf (สืบค้นเมื่อ ๖ มิถุนายน ๒๕๖๐).

๔. แน่งน้อย ศักดิ์ศรี, ม.ร.ว. ไขแสง ศุขะวัฒนะ และผุสดี ทิพทัส. ๒๕๓๑. สถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวัง.๒ เล่ม. กรุงเทพฯ: สำนักราชเลขาธิการ.

๕. มหาวงษ์พงษาวดารลังกาทวีป เล่ม ๑. ๒๔๕๓. พระนคร: โรงพิมพ์ไทย.

๖.Gonda, J. 1969. Ancient Indian Kingship from the Religious Point of View. second edition. Leiden: E.J. Brill.

๗.Vyasa, Krishna Dwaipayana. 1965. The Mahabharata of Kriasna Dwaipayana Vyasa. 12 vols. Pratap Chandra Roytrans. second edition. Calcutta: Oriental Publishing.


© 2017 by Pitchaya Soomjinda, https://www.facebook.com/ArtHistoryClassroom

ทุกท่านสามารถแชร์บทความพร้อมภาพประกอบได้โดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาต ยกเว้นการเรียบเรียงใหม่ ตัดทอนเนื้อหา เชิงอรรถ บรรณานุกรม หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความ ต้องได้รับอนุญาตจากผู้เขียนเสมอ และขอสงวนสิทธิ์ตามกฎหมายในการนำบทความทั้งหมดหรือบางส่วนไปใช้ในนามของท่านไม่ว่ากรณีใด