เผยแพร่ |
---|
งานพระเมรุของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ในคำให้การขุนหลวงหาวัด มีอยู่ตอนหนึ่งบอกว่า
“กระบวรแห่พระบรมศพมีม้านำริ้ว 1 คู่ แล้วมีธงต่างๆ และมีเครื่องผ้าย่ามทำบุญแห่หน้าด้วย ถัดมามีรูปสัตว์แรตรับบุษบกไฟ มีคันชิงหน้าแรต คู่ 1…”

และมีภาพแผนผังริ้วกระบวนพระบรมราชอิสริยยศ พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แล้วในรูปนั้นจะมีภาพแรดรับบุษบกไฟ

ทำไมต้องเป็น แรด?
เพราะเชื่อกันว่า ไฟที่อยู่บนหลังแรดเป็นตัวแทนของเทพเจ้าคือ พระเพลิงหรือพระอัคนีซึ่งทรงระมาดหรือแรดเป็นพาหนะ
และ อ. สมบัติ พลายน้อย อธิบายถึง แรด ไว้ว่า
“แรด ช่างเขียนไทยสมัยแรกคงไม่รู้จักแรด เมื่อจะเขียนรูปแรดจึงทำเป้นรูปมีงวงคล้ายตัวสมเสร็จ ดังที่ปรากฏในดวงตราพระเพลิงทรงระมาด ซึ่งเคยใช้เป็นตราประจำตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงธรรมการอยู่สมัยหนึ่ง
ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 5 เจ้าเมืองน่านส่งลูกแรดมาถวายตัวหนึ่ง คนกรุงเทพฯ จึงรู้จักแรดตัวจริงกันในครั้งนั้นและเคยเอาบุษบกเพลิงตั้วบนหลังแรดตัวนั้นแห่พระศพครั้งหนึ่ง (ตามปรกติใช้รูปหุ่น) ที่เอาบุษบกเพลิงตั้งบนหลังแรดก็เพราะมีตำนานว่า พระเพลิงบันดาลให้บังเกิงแรดขึ้นเป็นพาหนะ
ตั้งแต่ได้เห็นแรดตัวจริงแล้ว รูปแรดในตำราสัตว์หิมพานต์ก็ยกเลิกไป ไม่มีใครเขียนรูปแรดเป็นตัวแบบตัวสมเสร็จอีก”