การจัดการศึกษาสมัยใหม่ยุคร.5 ชาวบ้าน-พระยังต้านใช้ศาลาวัดเป็นที่สอนหนังสือ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงฉายร่วมกับพระราชโอรสที่ทรงศึกษาวิชาการอยู่ในยุโรป เมื่อคราวเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 1 พ.ศ. 2440

“—ถึงเจ้าสนั่น ข้าจะบอกลาภให้ วัดมีศาลาการเปรียญทุกวัด จงเอาศาลานั่นแหละเป็นโรงเรียน—”

เป็นข้อความตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงมีถึงเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี ตั้งแต่ครั้งยังมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวงไพศาลศิลปศาสตร์ โดยทรงเรียกนามเดิมว่า “เจ้าสนั่น”

ครั้งนั้นทรงพระราชดำริที่จะขยายการศึกษาให้เข้าถึงประชาชนอย่างกว้างขวาง แต่มีปัญหาเรื่องสถานที่เรียน ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณมาก หากต้องสร้างโรงเรียนให้เพียงพอกับความต้องการ จึงทรงพระราชดำริเห็นถึงความเหมาะสมของวัดในอันที่จะเป็นสถานศึกษาของเยาวชนโดยมิต้องเปลืองงบประมาณแผ่นดิน

การศึกษาของคนไทยสมัยโบราณ เป็นการศึกษาตามประเพณีนิยม ศูนย์รวมของศิลปวิทยาการต่างๆ อยู่ที่วัด ดังนั้น เมื่อบุตรชายโตพอสมควร บิดามารดาก็จะนำไปฝากพระภิกษุ เพื่อให้ได้รับทั้งการศึกษาและการอบรมบ่มนิสัยเบื้องต้น คือ อ่านเขียนอักขรวิธีและศึกษาเกี่ยวกับพุทธศาสนา คุณธรรม และจริยธรรม ส่วนวิชาชีพนั้น เป็นผลพลอยได้จากการที่พระภิกษุผู้เป็นอาจารย์มีความรู้ในวิชาชีพด้านใดด้านหนึ่ง เช่น ความรู้ด้านการช่าง การต่อสู้ แต่ส่วนใหญ่เด็กชายมักฝึกวิชาชีพต่อจากบรรพบุรุษของตน

ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากวัด สามารถที่จะประกอบวิชาชีพดำรงชีวิตทำหน้าที่เป็นพลเมืองดีของชาติได้ทั้งในยามที่บ้านเมืองสงบ หรือแม้เมื่อเกิดสงคราม ชายฉกรรจ์ที่มีความรู้ด้านอาวุธยุทธภัณฑ์ ก็จะสมัครเข้ามาทำหน้าที่ต่อสู้ข้าศึกป้องกันบ้านเมือง เป็นโอกาสที่จะได้แสดงฝีมือเพื่อแสวงหายศศักดิ์ต่อไป แต่ไม่นานเมื่อบ้านเมืองสงบ ผู้คนก็จะกลับเข้าสู่อาชีพและความเป็นอยู่ตามแบบเดิม การศึกษาวิชาการจากวัดและครอบครัวจึงเป็นการเพียงพอแก่การดำรงชีวิตทั้งของตนเองและของบ้านเมืองในสมัยนั้น

การศึกษาจากวัด พระสงฆ์เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้

จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเกิดภัยคุกคามจากจักรวรรดินิยมตะวันตก เป็นเหตุให้เพื่อนบ้านของไทยต้องตกเป็นอาณานิคมของชาวตะวันตก พระองค์ต้องทรงปรับเปลี่ยนพระบรมราโชบายในการบริหารประเทศใหม่ เพื่อป้องกันภยันตรายจากนักล่าอาณานิคม โดยเฉพาะพระบรมราโชบายในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ ป้องกันการเข้ามาก้าวก่ายการบริหารบ้านเมืองของชาวตะวันตก

ทรงพบว่าการพัฒนาประเทศจะสำเร็จได้ผลรวดเร็วในทุกๆ ด้าน ทุกคนในชาติจะต้องมีความรู้วิทยาการสมัยใหม่ เข้าใจในสถานการณ์ของประเทศและหน้าที่ของตนเอง ซึ่งความรู้ความเข้าใจดังกล่าวจะได้มาจากการศึกษาเท่านั้น

เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา)

การศึกษาจากวัดเริ่มไม่เพียงพอที่จะดำเนินชีวิตและปกป้องประเทศชาติ ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การคุกคามของนักล่าอาณานิคมยิ่งทวีความเข้มข้นรุนแรงขึ้น จึงยิ่งตระหนักพระราชหฤทัยถึงความสำคัญของการศึกษามากขึ้น โดยเฉพาะการศึกษาวิทยาการสมัยใหม่ เพราะการศึกษาตามแบบเดิมของไทยนั้นไม่เพียงพอที่จะดำเนินชีวิตในสถานการณ์คับขันของบ้านเมือง การศึกษาในหมู่พระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งกำลังดำเนินอยู่ในเวลานั้นก็ไม่เพียงพอ

ประชาชนทุกชั้นวรรณะจำเป็นต้องได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง เพื่อจะได้เข้าใจถึงสถานการณ์ของบ้านเมือง และเป็นกำลังในการพัฒนาประเทศให้ได้ผลอย่างรวดเร็ว ยิ่งเมื่อได้เสด็จประพาสยุโรปก็ยิ่งทรงตระหนักถึงคุณค่าของการศึกษาเป็นทวีคูณ ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาที่ทรงชมฝรั่งผู้ปฏิบัติหน้าที่ในเรือ Dampfer Sachsen ซึ่งเป็นผู้ได้รับการศึกษา ความว่า

“—คำที่ว่านี้ไม่ได้แกล้งยกย่องเขาด้วยหมายจะข่มคนเราเลย น่าเสียดายว่ากิเลศเอ๋ยกิเลศ มันช่างหยาบช้ากว่ากันเสียกะไรเลย ทั้งนี้ทั้งนั้น เพราะขาดความรู้ ไม่ได้รับการเสี้ยมสอน ว่าเป็นมนุษย์จำจะต้องประพฤติอย่างไร—”

การให้การศึกษาสมัยใหม่กับประชาชนชาวไทยประสบปัญหาและอุปสรรคมากมาย นับแต่ประชาชนยังไม่เห็นถึงคุณค่าและคุณประโยชน์ของการศึกษาแบบใหม่ จึงมักไม่ยอมให้ลูกหลานเข้าเรียนหนังสือ ยิ่งมีข่าวเล่าลือว่าการตั้งโรงเรียนของหลวงเป็นการหลอกเพื่อจับเด็กไปเป็นทหาร ผู้คนก็ยิ่งตกใจ เพราะการเป็นทหารในสมัยนั้นทำให้ชายฉกรรจ์ขาดโอกาสการทำมาหากินเลี้ยงครอบครัว

ระยะเวลาที่เป็นทหารก็มิได้ประโยชน์หรือความรู้ใดๆ ได้แต่รับใช้มูลนายตามแต่มูลนายจะสั่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานหนัก ทำให้เกิดความรังเกียจที่จะเป็นทหาร พยายามหาทางหลีกเลี่ยง เช่น บวชเป็นพระ ในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนเณรแก้วลาสึก สมภารได้กล่าวเตือนเณรแก้วว่าหากสึกออกไปแล้วจะต้องพบกับความลำบากในการเป็นทหาร ดังนี้

“—มึงจะสึกให้เขาสักมึงหรือหวา ข้อมือดำแล้วระกำทุกเวลา โพล่กับบ่าแบกกันจนบรรลัย—”

สะท้อนให้เห็นถึงความลำบากของการเป็นทหาร ซึ่งมีสัญลักษณ์คือการสักข้อมือดำ ดังนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับประชาชนขึ้น มีการเชิญชวนให้บิดามารดานำบุตรหลานมาสมัครเข้าเรียน การสมัครจะต้องจดทะเบียน บอกชื่อ อายุ ชื่อบิดามารดา ตลอดจนที่อยู่ไว้เป็นหลักฐาน ทำให้คิดไปได้ว่า เมื่อมีหลักฐานปรากฏเช่นนี้ จะทำให้การหลีกเลี่ยงหรือหนีทหารลำบากขึ้น บิดามารดาจึงพากันระแวงและเกรงกลัว ไม่ยอมให้บุตรหลานสมัครเข้าเรียนหนังสือ

วัดและพระสงฆ์เมื่อเริ่มสนับสนุนการจัดการศึกษาในรูปแบบโรงเรียน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้พระบรมราโชบายค่อยเป็นค่อยไปไม่หักหาญ จนในที่สุดประชาชนค่อยคลายความหวาดระแวง และเริ่มเห็นคุณประโยชน์ของการศึกษา เมื่อผู้ที่เรียนหนังสือจบออกมามีความรู้ ได้ทำงานดีมีเกียรติยศ อีกทั้งเจ้านายยังแสดงให้เห็นว่า

“มิใช่ดีเพราะลูกใคร แต่ดีเพราะทำอะไรบ้าง

ผู้ที่มีความรู้ไม่เลือกว่าจะเป็นเจ้าเป็นไพร่ หากทำงานเก่งก็สามารถที่จะมีความก้าวหน้าในทางราชการได้ทุกคน เมื่อปัญหาเรื่องความหวาดระแวงของผู้คนหมดไป ผู้คนก็นิยมส่งบุตรหลานเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนหลวงเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี จนเกิดปัญหาใหม่ขึ้น คือ สถานที่ไม่เพียงพอที่จะรับนักเรียน และการที่จะให้การศึกษาเข้าถึงประชาชน ก็จะต้องสร้างสถานที่ศึกษาคือโรงเรียนให้มากขึ้นในแต่ละชุมชน แต่ติดปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการสร้างโรงเรียน

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า การศึกษาของคนไทยสมัยโบราณเริ่มขึ้นและจบลงที่วัด และทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ทุกอำเภอ จะต้องมีวัด แต่ละวัดก็ล้วนมีอาณาบริเวณกว้างขวาง โดยเฉพาะศาลาการเปรียญของทุกวัดนั้นกว้างขวาง เหมาะแก่การจัดเป็นสถานที่เรียนได้อย่างสบาย และประการสำคัญที่มีพระราชดำริถึง คือ วัดมีอิทธิพลเหนือจิตใจคนในสมัยนั้น เพราะประกอบด้วยความสงัดเงียบ ความสะอาดเรียบร้อย

คุณสมบัติดังกล่าวของวัด น่าจะชักจูงจิตใจของทั้งครูและเด็กให้อยู่ในระเบียบวินัยและกรอบศีลธรรมอันดีงาม การสำรวมและมีเมตตาตลอดจนวัตรปฏิบัติของพระภิกษุน่าจะช่วยกล่อมเกลาจิตใจของทั้งครูและนักเรียนให้มีคุณธรรม ด้วยความเหมาะสมทั้งมวลที่มีพระราชดำรินี้ จึงปรากฏในพระราชหัตถเลขาที่ว่า “—เจ้าสนั่น ข้าจะบอกลาภให้—”

บรรยากาศในห้องเรียนที่จัดการศึกษาวิทยาการสมัยใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5

แต่การที่จะใช้ศาลาวัดเป็นโรงเรียนนั้น ก็มิใช่ว่าจะเป็นไปได้โดยสะดวก เพราะในเบื้องแรกทางวัดก็ยัง
ไม่เห็นถึงคุณประโยชน์ของการศึกษาวิทยาการสมัยใหม่ อีกทั้งประชาชนบางส่วนที่อยู่ห่างไกลเมืองหลวงก็ยังคงมีความเชื่อแบบเดิมและยังไม่เห็นคุณประโยชน์ของการศึกษา ทำให้ทั้งประชาชนและพระสงฆ์พากันต่อต้านในการที่จะใช้ศาลาวัดเป็นสถานที่สำหรับสอนหนังสือเด็ก

แม้จะทรงมอบหมายให้สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นประธานในการจัดวัดให้เป็นโรงเรียนทั่วพระราชอาณาจักร โดยอาศัยประเพณีโบราณและความนิยมของไทย โรงเรียนก็น่าจะเกิดขึ้นได้ไม่ยากนัก

แต่การณ์กลับไม่เป็นดังที่ทรงคาดคิด เพราะเมื่อไปแจ้งความประสงค์กับวัด วัดก็จะอ้างว่าเป็นการเบียดเบียนพระศาสนา เจ้าหน้าที่ไทยสมัยนั้นก็มักจะเห็นด้วย และเกรงใจพระสงฆ์ ทำให้การเจรจาขออนุญาตใช้ศาลาวัดเป็นสถานที่เรียนไม่ใคร่ได้ผล

ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาถึงพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ ทรงปรารภถึงความล่าช้าของการขยายการศึกษาโดยการใช้วัดเป็นสถานที่เรียนว่า “—แต่เพราะเหตุที่กระทรวงไม่มีความเห็นต้องกัน และเพราะเพื่อจะเอาใจพระ ซึ่งไม่สมัครให้กระทรวงที่วางตัวเป็นนาย แต่ไม่มีความสามารถพอบังคับบัญชา—”

ครั้งนั้นจึงโปรดให้เรื่องนี้ขึ้นตรงต่อพระองค์ “—จึงให้โรงเรียนนั้นขึ้นตรงต่อตัวเรา หวังใจว่าใน 3 ปี คงจะได้เห็นผลอันดี—”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมอบหมายงานนี้ให้มิสเตอร์ดับเบิลยู ยี ยอนสัน ผู้จัดการศึกษาของกรมศึกษาธิการ เป็นผู้ดำเนินการในเรื่องนี้

มิสเตอร์ดับเบิลยู ยี ยอนสัน ได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์อย่างเคร่งครัด แม้บางครั้งบางสถานที่ต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรคถึงขั้นอันตรายก็มี เช่น ที่วัดเสาปโคน พวกมัคนายกรวมตัวกับชาวบ้าน ห้ามและขู่ไม่ให้มิสเตอร์ยอนสันเข้าไปในวัด แต่มิสเตอร์ยอนสันก็ได้ใช้ปัญญาและปฏิภาณไหวพริบประกอบกับจิตใจที่เข้มแข็งมุ่งมั่น ทำให้งานได้รับผลสำเร็จลุล่วงไปได้ และก้าวหน้าตามพระราชประสงค์

สถานศึกษาทุกระดับในปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นสถานที่ทั่วไปที่เหมาะสมกว้างขวางต่อการสร้างอาคารสถานศึกษา แต่ก็ยังคงมีโรงเรียนที่สร้างอยู่ในวัดหรือในเนื้อที่ของวัด

แม้จะมิได้อาศัยศาลาการเปรียญเหมือนสมัยโบราณ แต่การสร้างโรงเรียนภายในวัดก็ยังคงเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งถึงพระปรีชาสามารถและสายพระเนตรอันยาวไกลในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจากพระราชดำรัสที่ว่า

“—ถึงเจ้าสนั่น ข้าจะบอกลาภให้ วัดมีศาลาการเปรียญทุกวัด จงเอาศาลานั่นแหละเป็นโรงเรียน—”


หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดจากนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2558 เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กรกฎาคม 2560