สำรวจเจริญธรรมแบบเซนที่กรุงโซล พักวัด Temple stay ค้างคืนทำกิจแบบสงบถึงเช้า

ประตูวัดบงกึนซา วัดนิกายเซนที่ใหญ่ที่สุดและสวยที่สุดในกรุงโซล

ผู้เขียนปลีกเวลาทัวร์เกาหลี 10 วัน มาเจริญธรรมเสีย 2 วัน เริ่มตั้งแต่บ่ายวันพฤหัสบดี ค้างวัดคืนหนึ่ง มาจบการเจริญธรรมบ่ายวันศุกร์ ใช้เวลาเจริญธรรมเต็มๆ 24 ชั่วโมง

การเจริญธรรมที่นี่เขาเรียกว่า เทมเปิลสเตย์ (Temple stay) คือพักวัด ซึ่งต่างจากพักบ้านโฮมสเตย์ (Home stay) ตรงที่ไม่พักอย่างสบายๆ แต่ต้องมีกิจกรรมต่างๆ อันทำให้เกิดความสุขเชิงพุทธตลอดรายการ จะพักเกินคืนหนึ่งก็ไม่ได้ เพราะกำหนดตายตัวไว้ให้พักคืนเดียวเท่านั้น

วัดบงกึนซา (Bongeunsa Temple) นี้ เป็นวัดนิกายเซนที่ใหญ่ที่สุดและสวยที่สุดในกรุงโซล อยู่ทางทิศใต้ของเมืองหลวงแห่งนั้น

ดอกแมกโนเลีย

คำว่า เซน (Zen) มาจากภาษาบาลี คือคำว่าฌาน แต่ที่นี่ออกเสียงนุ่มๆ ว่า ซีออน (seon)

(เชื่อกันว่าจุดกำเนิดของนิกายเซนเริ่มมาจากพระมหากัสสปเถระ โดยวันหนึ่งบรรดาพระอรหันต์นั่งประชุมกัน พระพุทธเจ้าทรงยกดอกบัวดอกหนึ่งขึ้น มองดูดอกบัว บรรดาพระอริยเจ้าทั้งหลายไม่รู้ว่าพระพุทธเจ้าทำอะไร แต่พระมหากัสสปะยิ้มน้อยๆ เข้าใจความหมายของพระพุทธองค์ว่า เป็นการถ่ายทอดธรรมะแบบจิตสู่จิต เรื่องนี้มีอยู่ในคัมภีร์ของเซน… – ดูธุดงค์ญี่ปุ่น ธรรมบรรยาย เล่มที่ 38 ของพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก เจ้าอาวาสวัดสุนันทวนาราม)

กลุ่มเจริญธรรมวันนั้น เป็นกลุ่มเล็กๆ 12 คน เป็นสตรี 10 คน บุรุษ 2 คน คือ จอห์น วิศวกรจากฟินแลนด์ กับผู้เขียนจากสยาม (หลวงพ่อผู้สอนธรรม ท่านชอบเรียกชื่อนี้มากกว่าไทยแลนด์) ทั้งนี้รวมทั้งล่ามสตรีวัย 60 ต้นๆ กับผู้ช่วยของเธอวัยใกล้เคียงกันอีกคนหนึ่ง

การโค้งทำความเคารพแบบเกาหลี

กลุ่มเรานัดพร้อมกันที่หน้าประตูใหญ่ของวัด สถาปัตยกรรมเกาหลี มุงกระเบื้องลูกฟูกสีเข้ม ชายคาโค้งงอ ดุจรูปทรงสำเภา อันเป็นสัญลักษณ์ของนาวาซึ่งจะพาพวกเราไปสู่ธรรมพิภพ หรือแดนธรรม-ยูโทเปีย

ล่ามอธิบายเนิบๆ ว่า การเจริญสติของพวกเราเริ่มต้นแล้วที่ตรงนี้ บริเวณนั้นมีพระรูปของจักรพรรดิเกาหลี 4 พระองค์ ผู้เคยเป็นองค์อุปถัมภ์วัด และทรงเคยมาเจริญธรรมที่นี่เหมือนกัน ผู้เขียนจำพระนามจักรพรรดิเหล่านั้นไม่ได้หมด จำได้ว่ามีพระราชาซันต๊อกองค์หนึ่ง ก่อนผ่านประตูไปต้องแสดงอาการคารวะ ด้วยการโค้งตัวและศีรษะลงพองาม กับกระพุ่มมือรูปดอกบัวทำความเคารพครั้งหนึ่ง บางคนอาจทำความเคารพหรือโบว์ (bow) เท่ากับจำนวนพระรูป คือ 4 ครั้ง หรือมากกว่าก็ได้

วัดบงกึนซา สร้างเมื่อ ค.ศ. 794 โดยครูผู้สอนธรรมะผู้หนึ่ง เป็นวัดเซนที่เด่นมาก แม้จะเคยตกอับไปบ้าง สมัยที่แข่งขันกับลัทธิขงจื๊อ แต่ก็ได้รับความนิยมต่อเนื่อง โดยอุปถัมภ์ของปฐมจักรพรรดิดังกล่าวนั้น

พระรูปของพระจักรพรรดิแกะด้วยไม้ขนาดใหญ่เท่าคนจริง มีพระโอษฐ์ที่แย้มยิ้มอย่างเมตตาทุกพระองค์

ลำธารหน้าวัด

เราเดินตรงจากประตูสู่อาคารใหญ่ ที่ห่างออกไปสัก 150 เมตร เรียกว่า หอธรรมพระจักรพรรดิ ข้างทางเดินด้านซ้าย เป็นสายธารที่ใสสะอาด ไหลเอื่อยๆ มาจากเนินหลังวัด ส่วนทางขวามือ เป็นสวนหิน สัญลักษณ์ของนิกายเซน ที่จัดเรียงไว้เรียบร้อยน่าชม

เหนือศีรษะของพวกเราเต็มไปด้วยโคมกระดาษสารพัดสี ที่แขวนไว้กับเชือกหลายสายผูกโยงจากประตูใหญ่ไปยังหอธรรมพระจักรพรรดิ พลิ้วรับลมพัดอ่อนๆ ดูงดงามสว่างไสว ชาวพุทธผู้หนึ่งอธิบายว่า เป็นสีสัญลักษณ์ของฉัพพรรณรังสีพระพุทธองค์ และหากแยกแขวนสีแดงล้วน ย่อมหมายถึงการส่งความระลึกถึง ส่งความดีงามให้ผู้จากไป และถ้าเป็นสีเขียวล้วน ย่อมหมายถึงความหวังของผู้แขวนเอง

“กรุณาอย่าลืมการดูโคมก็ขอให้เจริญสติไว้ให้มั่น” เป็นเสียงเตือนจากล่ามที่อยู่ข้างหน้า

แล้วเราก็มาถึงหอธรรมพระจักรพรรดิ เป็นหอใหญ่กว้างขวาง สะอาดและงดงาม มีพระพุทธรูปปางสมาธิ พิมพ์ทรงเกาหลีที่น่าชม เราได้คำบอกเล่าว่า เราจะมาทำวัตรเช้า ถกปริศนาธรรม สวดมนต์และเจริญสมาธิที่นี่ ตรงแท่นบูชา มีพระรูปพระโพธิสัตว์เล็กๆ วางเรียงเรียบร้อยถึง 3,000 องค์ บนฝ้าเพดานและฝาผนังมีภาพเขียนพุทธประวัติ ฝีมือจิตรกรที่ประณีตบรรจงอย่างยิ่ง

กลองใหญ่

ด้านซ้ายของหอธรรมพระจักรพรรดิ เป็นวิหารขนาดย่อมที่เคยใช้เป็นศูนย์สอบพระธรรมวินัย สมัยราชวงศ์โจซอน (Joseon) เป็นวิหารที่มีสถาปัตยกรรมพิเศษ แตกต่างจากอาคารหลังอื่น คือที่หน้ามุข ประดับเครื่องหมายสวัสดิกะ (swastika)

เหนือหอสอบพระธรรม เป็นอาคารขนาดใหญ่ มีพระเจดีย์ตั้งอยู่ข้างหน้า เป็นพระอุโบสถ ภายในตั้งพระรูปพระศรีศากยมุนีไว้ตรงกลาง ด้านข้างเป็นพระสาวก อมิตาภะ และพระชีวกโกมารภัจจ์ด้วย เป็นที่สวดมนต์สำหรับชาวพุทธทั่วไปและผู้ที่ประสงค์จะอุทิศส่วนกุศลให้บรรพบุรุษและผู้จากไป ที่ริมระเบียงแขวนโคมสีแดงล้วน อาคารหลังนี้เป็นศูนย์กลางของวัด

ตรงด้านข้างเป็นอาคารขนาดย่อม ประดิษฐานพระโพธิสัตว์องค์หนึ่ง ที่เชื่อว่าจะเป็นผู้พาวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปสู่สุคติภพ

เหนือพระอุโบสถขึ้นไปบนเนิน เป็นวิหารขนาดกลาง ชื่อยองสาน เป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธเจ้าและพระมหาสาวกกัสสปะ (ผู้แม่นยำในหลักธรรม) กับพระอานนท์ (ผู้มีความจำเป็นเลิศ) ที่ผนังเป็นภาพวาดงามวิจิตรของพระอรหันต์ 16 รูป

หุ่นปลา

เหนือวิหารยองสาน ขึ้นเนินไปอีกชั้นหนึ่ง มีวิหารเล็กเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปคติขงจื๊อ คือพระผู้เจริญการเกษตร สุขภาพ ความร่ำรวยมั่งคั่ง และอายุยืน

ที่วิหารหลังนี้ คล้ายมีผู้คนมาบูชาหนาตา

คราวนี้เราลงมาที่ลานกว้าง เป็นพระพุทธรูปยืนสูงถึง 29 เมตร สลักเสลาด้วยหินขาวงามสง่า ล่ามบอกว่าเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต (Future Buddha) นัยหนึ่งคือ พระศรีอริยเมตไตรย ส่วนอาคารหลังเล็ก เก่าโบราณถัดไป เป็นหอไตรปิฎกที่เก็บพระสูตรไว้ภายใน จารึกบนแผ่นไม้ถึง 3,438 ชิ้น เป็นหอหรือวิหารที่เก่าแก่ที่สุดของวัด

พระโพธิสัตว์กวนอิม

แล้วเราก็มาถึงหอระฆังโบราณขนาดมหึมาใบหนึ่ง กับกลองสองหน้าขนาดยักษ์อีกใบหนึ่ง รวมทั้งฆ้องโลหะ และปลาใหญ่ทำด้วยไม้แขวนอยู่ ของ 4 อย่างนี้ถือว่าเป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับผู้เจริญธรรม

ระฆัง คือระฆังธรรม เมื่อเคาะจะส่งเสียงหวานแหลม ปลุกวิญญาณมรณะในนรกภูมิให้ตื่นขึ้น (สดับธรรม)

กลองธรรม ตีเพื่อปลุกวิญญาณสรรพสัตว์บนพื้นโลก ส่วนฆ้อง ปลุกวิญญาณของหมู่นกในอากาศที่สูงขึ้นถึงสวรรค์

ส่วนเสียงเคาะจากปลาไม้ ย่อมส่งถึงเหล่าปลาทั้งหลายในน้ำ ซึ่งไม่เคยหลับ (ลืมตาเสมอ) สอนให้ผู้ปฏิบัติธรรมได้รู้ว่าต้องปฏิบัติธรรมยาวนานด้วยความอดทนโดยไม่เห็นแก่การหลับนอน-การเจริญธรรมแบบเซน ต้องลืมตา ไม่ใช่หลับตา

ที่นั่งเจริญสติ

ผู้เขียนรู้สึกว่าล่ามเน้นข้อนี้มาก ซึ่งผู้เขียนก็เห็นด้วย แต่รู้สึกว่าขณะนั้น เหนื่อย หนาว และหิวน่าดู

ช่วงเวลาตอน 4-5 โมงเย็น อากาศเย็นลงถึง 4-5 องศาเซลเซียส แถมมีลมโชยผ่านให้ด้วย ซัมเมอร์โค้ตของผู้เขียนทำท่าจะไม่แข็งแรงพอจะต่อต้านความหนาว แต่ก็จำทน

“อีกแห่งเดียวเท่านั้น เราจะได้ดื่มพุทธที – Buddhist Tea” ล่ามหันมาบอกอย่างกะอ่านใจผู้เขียนออก เธอพูดพลางชี้มือไปที่รูปปั้นหินอ่อนกลางสระกลม เธอออกเสียงว่า เฮสุ กวางนำ ซัง เป็นรูปปั้นสีขาว สวยสะอาดและแสนจะงดงาม คือรูปโพธิสัตว์กวนอิมนั่นเอง มีช่อดอกไม้หลายสีตั้งบูชาขอพรอยู่แทบพระบาท

ผู้เขียนรู้สึกอบอุ่นขึ้นเล็กน้อย เพราะมันหมายถึงจุดหมายของทัวร์รอบวัดถึงจุดสุดท้ายแล้ว และจะได้ดื่มน้ำชาอุ่นๆ สักถ้วย

เราพากันเข้าไปในอาคารหลังหนึ่งที่อยู่ใกล้ๆ กัน ที่มีห้องโถงกว้างขวางและมุมหนึ่งจัดเป็นที่ทำพิธีชงชา

พุทธที หรือน้ำชาธรรมอุ่นๆ ชงโดยวิถีพุทธอันประณีต ส่งถึงมือและยกขึ้นดื่มอย่างมีสติ ทำให้มีกำลังวังชาและได้ความอบอุ่นคืนมา

ช่วงเย็นมีเวลาพักผ่อนค่อนข้างยาว แถมได้ดื่มน้ำผลไม้เพิ่ม ทำให้หายหิวได้ด้วย สักครู่หนึ่งเสียงระฆังก็ดังแว่วกังวานขึ้น ซึ่งก็คงได้ยินถึงสรรพวิญญาณในนรกภูมิ เสร็จแล้วก็เสียงกลองปลุกสัตว์โลกให้ตื่น (จากกองกิเลส) สลับด้วยเสียงฆ้องเพื่อนกในอากาศ และเสียงเคาะหุ่นปลา เพื่อปลาในน้ำ แท้จริงแล้วเสียงทั้งหมด เตือนผู้เจริญธรรมให้ตื่นอยู่เสมอ

หลวงพ่อ (มาสเตอร์) วัย 70 เศษๆ ดูสุขภาพดี มีเมตตา เป็นผู้นำสวดมนต์ทำวัตรเย็น สวดเป็นภาษาเกาหลี สรรเสริญพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ โดยมีเสียงเคาะเกราะเป็นจังหวะสไตล์เกาหลี เพื่อให้สติจับกันมั่นคงอยู่ที่จังหวะนั้นเรื่อยไป แม้จะไม่รู้ความหมายเลยก็ตาม

ทุกคนนั่งขัดสมาธิ ประสานนิ้วมือไว้บนตัก นิ้วหัวแม่มือชนกันแบบเซน แบ่งนั่งเป็น 2 แถว หันหลังให้กัน จับจังหวะสวดผ่านเสียงเคาะค่อนข้างนาน เสร็จแล้วหลวงพ่อให้ถอนสมาธิออกไปเปลี่ยนอิริยาบถริมระเบียง เวลานั้นเสียงกลอง ระฆัง และฆ้องเงียบหายไปนานแล้ว อากาศเย็นเยือก แต่ฟ้าโปร่งจนเห็นดาว

(ซ้าย) พระพุทธเจ้าในอนาคต พระศรีอริยเมตไตรย (คติไทย), (ขวา) พระพุทธเจ้าในอนาคต (คติเกาหลี)

ผู้เจริญธรรมต่างทยอยกลับเข้าไปสวดมนต์เจริญสติกันใหม่อีกครั้ง ชั่วครู่ใหญ่ผู้เขียนรู้สึกว่าจอห์นกลับออกไปที่ริมระเบียงอีก จึงลุกตามเขาออกไป แลเห็นเขายืนโค้งตัวทำความเคารพสิ่งอันควรเคารพไปรอบๆ วัด 180 องศา เริ่มที่หอไตร พระพุทธรูปพระพุทธเจ้าในอนาคตซึ่งประทับยืนขาวโพลนอยู่ในความมืด วิหารพระศากยมุนี หอระฆังใหญ่ หอกลอง รูปปั้นพระโพธิสัตว์กวนอิม และเลยออกไปถึงประตูใหญ่เข้าวัด

“ผมโค้งบูชาไปร้อยแปดครั้ง” จอห์นกระซิบบอก “มันดีต่อพลังกายและพลังใจของผม หายหิว หายง่วงเลย” เขากระซิบต่อก่อนจะเดินกลับเข้าไปข้างใน แล้วผู้เขียนก็เริ่มโค้งคารวะต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ร้อยแปดครั้งตามคำแนะนำของกัลยาณมิตร ซึ่งทำให้หายหิว หายง่วงได้จริง

ผู้เขียนกลับมานั่งเจริญสติต่ออีกนานพอควร จึงได้ยินเสียงกลองและเสียงระฆังดังขึ้นปลุกสัตว์โลกบนพื้นพิภพและปลุกวิญญาณในนรกภูมิให้ตื่นขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

เป็นเวลาราวๆ ตีสามเศษๆ รู้สึกว่าผู้เจริญธรรมฝ่ายสตรีมุ่งมั่นและมีความพร้อมมาก พวกเธอแต่งตัวเสร็จพร้อมสรรพ ผู้เขียนกับจอห์นยังคงยืดยาดอยู่ กว่าจะเสร็จเรียบร้อย โยมสตรีเหล่านั้นก็ชักแถวออกไปที่หอธรรมพระจักรพรรดิเรียบร้อยแล้ว

เสียงกลองและเสียงระฆังยังคงแผ่ซ่านแทรกอยู่ในบรรยากาศทั่วบริเวณวัด

ผู้เขียนกระชับเสื้อคลุมสีเทาที่หลวงพ่อกรุณานำมาให้ รู้สึกอบอุ่นขึ้นมาก จนเมื่อเรามาถึงหอธรรมพระจักรพรรดิ ทุกอย่างก็พร้อม การสวดมนต์ทำวัตรเช้าก็เริ่มต้น นานพอควรก่อนจะถึงเวลาไขปริศนาธรรม

มีคำถามเกี่ยวกับภพชาติ อดีตชาติ และอนาคตชาติว่ามีจริงหรือไม่ หลวงพ่อตอบว่ามีจริง อดีตชาติคือเมื่อวาน หรือวันที่ผ่านมา ปัจจุบันชาติคือเวลานี้ขณะนี้ ส่วนอนาคตชาติคือวันพรุ่งนี้ หรือวันข้างหน้า

ได้ยินหลวงพ่อตอบปัญหาธรรมเรื่องนกน้อย 2 ตัว คือนกน้อย 2 ตัว ติดบ่วงนายพราน นายพรานนำไปเลี้ยงในกรงสบายๆ เมื่อปล่อยนก 2 ตัว ให้เป็นอิสระ นกกลับไม่บินไป แปลว่านกติดอยู่ในความสบาย มนุษย์บางคนก็เป็นเช่นนั้นที่ติดอยู่กับบ่วงความสะดวกสบาย (บ่วงกิเลส) ไม่สามารถหลุดพ้นไปสู่อิสรภาพได้

หลวงพ่อตอบปัญหาเรื่องการทำอานาปานัสสติ คือการกำหนดลมหายใจเข้าออกเพื่อเจริญสติ หลวงพ่อยืนยันว่าเป็นวิธีที่ดีวิธีหนึ่ง และการสวดตามจังหวะเสียงเกราะเคาะแบบเกาหลี ก็เป็นวิธีที่ดีอีกวิธีหนึ่งด้วย

การเจริญสติกับเสียงสวดมนต์ดำเนินต่อจนรุ่งสาง เสร็จแล้วเรามีเวลาพักเป็นส่วนตัวสักครึ่งชั่วโมง อากาศยังคงเย็นเยือก ตะวันทอแสงอรุณงดงาม แมกโนเลียชูช่อดอกขาวบริสุทธิ์สวยสดมีกลิ่นหอมจางๆ โชยมาจากที่ใกล้ๆ ตรงไหนสักแห่ง อาจเป็นกลิ่นดอกเชอรี่ที่กำลังแย้มบานก็ได้

จอห์นกับผู้เขียนออกไปกวาดลานวัดครู่หนึ่ง ก่อนจะกลับเข้ามารับถ้วยน้ำชาอุ่นๆ ยกขึ้นดื่มช้าๆ เจริญสติ จากนั้นพวกเราก็นั่งนิ่งๆ อยู่สักครึ่งชั่วโมง เป็น the art of doing nothing ตามที่หลวงพ่อบอก เสร็จแล้วก็ไปเจริญอาหารเช้าซึ่งมีปริมาณเท่ากับให้เราสามารถมีชีวิตอยู่ได้เพื่อการเจริญสติต่อไป

การประดิษฐ์ติดกระดาษโคมรูปเพชรและดอกบัวสีต่างๆ เพื่อนำไปแขวนที่ระเบียงโบสถ์และวิหาร อันเป็นการเจริญสติอีกอย่างหนึ่ง หลังจากการสวดมนต์ เคาะเกราะแบบเกาเลียนสไตล์จบลง

ผู้เขียนปะกระดาษได้โคมสีแดง ซึ่งหมายถึงความทรงจำ และการส่งผลบุญไปยังพ่อแม่ ญาติสนิทและมิตรผู้จากไปแล้ว เสร็จจากการประดิษฐ์โคมซึ่งใช้เวลานานพอควร ก็ถึงเวลาอาหารกลางวันและการจากกัน

หลวงพ่อให้พรพวกเรามากมาย และมีเมตตามาส่งถึงที่ประตูวัด ตรงริมธารน้ำใส เห็นปลาแหวกว่ายไปมา หลวงพ่อชี้ไปที่ปลา ซึ่งพวกมันลืมตาอยู่เสมอ เสมือนผู้ประพฤติธรรมเจริญสติ ต้องตื่นตาอยู่เนืองๆ


แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2560