หน้าตาเมืองเชียงใหม่ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ภาพถ่ายทางอากาศเมืองเชียงใหม่ภาพแรก โดยบุญเสริม สาตราภัย มองเห็นแม่น้ำปิงและสะพานนวรัฐ (ที่ยังเป็นสะพานเหล็ก) ถ่ายเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2496 (ภาพจาก “กบฏกริช บาหลี” สนพ.มติชน)

บุญเสริม สาตราภัย (พ.ศ. 2471-2560) เป็นชาวเชียงใหม่ บิดาของท่านเป็นนายไปรษณีย์โทรเลขคนแรกของจังหวัดเชียงใหม่ การเกิดและโตที่บ้านพักไปรษณีย์ ทำให้บุญเสริมคุ้นเคยกับภาพโปสต์การ์ดสวยๆ จากต่างประเทศ ซึ่งบางครั้งก็เป็นรูปเหตุการณ์สำคัญ เช่น สงครามโลกครั้งที่ 1, ขบวนแห่พระบรมศพกษัตริย์ในทวีปยุโรป ฯลฯ นี่อาจเป็นแรงบันดาลใจหนึ่งให้เขาสนใจการถ่ายภาพ โดยเฉพาะภาพถ่ายเกี่ยวกับเชียงใหม่และล้านนาที่เขาถ่ายสะสมไว้เป็นจำนวน

แต่นอกจากภาพถ่ายแล้ว บุญเสริม สาตราภัย ยังมีงานเขียนสารคดีอีกด้วย และเคยเผยแพร่ในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2539 ที่ว่าด้วยเรื่องราวของเมืองเชียงใหม่ 700 ปี ด้วยบทความชื่อ “เชียงใหม่เมื่อวาน” ซึ่งได้คัดย่อเนื้อหาบางส่วนมานำเสนอดังนี้


 

บันไดนาคทางขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพฯ

…สภาพบ้านเมืองเชียงใหม่ช่วงปลายปี พ.ศ. 2460 ต่อ 2470 ก่อนและหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 75 มาจนถึงยุคก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นช่วง “รอยต่อ” ของบ้านเมืองในสมัยก่อนกับสมัยปัจจุบัน ว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

ถ้าจะมองย้อนภาพเชียงใหม่ยุคก่อน เห็นจะขอเอาสะพานนวรัฐเป็นศูนย์กลาง มองย้อนไปทางฝั่งตะวันตกซึ่งถือว่าเป็นฝั่ง “ในเมือง”

สะพานนวรัฐ นี้สร้างขึ้นมาถึง 3 ยุคแล้ว สะพานนวรัฐอันแรกนั้น สร้างขึ้นมาในสมัยที่เชียงใหม่ยังใช้การคมนาคมทางน้ำ โดยอาศัยเรือหางแมงป่องบรรทุกสินค้า และคนโดยสารติดต่อธุรกิจและการค้าขายกับหัวเมืองทางภาคกลางและกรุงเทพมหานคร เมื่อยังไม่มีถนนหนทางติดต่อระหว่างเมืองใหญ่ๆ และยังไม่ได้สร้างทางรถไฟขึ้นมาถึงภาคเหนือ เพราะเรือหางแมงป่องนี้สามารถบรรทุกสินค้าได้มากกว่าการขนส่งทางบกซึ่งอาศัยวัวต่าง ม้าต่างบรรทุกของ และเรือหางแมงป่องนี้เช่นกัน ที่ชาวเชียงใหม่ติดต่อค้าขายกับพม่า โดยนำสินค้าบรรทุกเรือไปขึ้นที่เมืองระแหง จังหวัดตาก แล้วเดินทางโดยทางบกไปยังเมืองเมาะละแหม่ง ประเทศพม่า นำสินค้าจากพม่าเข้ามาขายในเชียงใหม่ด้วย

สะพานนวรัฐอันแรกสร้างด้วยไม้สักล้วน เป็นสะพานแบบคานยื่น วิศวกรชาวอิตาเลียนชื่อ เคานต์ โรเบอร์ตี้ เป็นผู้ออกแบบและก่อสร้าง สร้างบนตอม่อไม้สัก 6 ตอม่อด้วยกัน โครงส่วนบนสร้างด้วยไม้สักล้วน ทำเป็นรูปโค้งครึ่งวงกลมมีอยู่ 5 ช่วงด้วยกัน

เคานต์ โรเบอร์ตี้ ผู้นี้ยังเป็นผู้สร้างสะพานข้ามแม่น้ำวังที่จังหวัดลำปางก่อนที่จะสร้างสะพานรัชฎาภิเษกขึ้นมาอีกด้วย

สะพานนวรัฐที่ 1 นี้ ไม่ใช่สะพานข้ามแม่น้ำปิงแห่งแรกของเชียงใหม่ สะพานข้ามแม่น้ำปิงอันแรกของเชียงใหม่ หรือสะพานข้ามแม่น้ำขนาดใหญ่อันแรกของประเทศไทย คือ สะพานที่วัดเกตุ เชื่อมฝั่งตะวันออกที่หลังวัดเกตุการาม กับฝั่งตะวันตกตอนเหนือตลาดต้นลำไย ออกแบบและสร้างโดย ดร.มาเรียน เอ็ม. ชิค มิชชันนารีอเมริกัน ซึ่งมาทำงานเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในสมัยของ ดร.แมคกิลวารี มิชชันนารีอเมริกันคนแรกที่ขึ้นมาเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในเชียงใหม่และภาคเหนือของไทยเมื่อกว่า 100 ปีมาแล้ว

สะพานที่วัดเกตุนี้ ไม่มีชื่อเป็นทางการ แต่ชาวบ้านมักเรียกว่า “ขัวกุลา” คำว่า “ขัว” เป็นภาษาเมืองเหนือ แปลว่า “สะพาน” คำว่า “กุลา” เป็นคำที่ชาวเหนือเรียกขานชาวอินเดีย คงหมายถึงแขกบังกะลา หรือบังกลาเทศ ต่อมาเมื่อมีฝรั่งขึ้นมาเผยแพร่ศาสนามีรูปร่างสูงใหญ่ จมูกโด่ง เหมือนคนแขกอินเดีย เลยเรียกเป็น “กุลา” เช่นกัน แต่ฝรั่งมีผิวขาวผิดกับแขกอินเดียจึงเรียกว่า “กุลาขาว” ที่เรียกว่า “ขัวกุลา” ก็เพราะเป็นสะพานที่ “กุลาขาว” หรือฝรั่งสร้างนั่นเอง เพียงแต่ตัดคำว่า “ขาว” ออกให้สั้นเข้า

สะพานนวรัฐที่ 1 ซึ่งสร้างด้วยไม้สักนี้ถูกไฟไหม้เสียหายบางส่วน ต่อมาถูกซุงไม้สักจำนวนมากกระแทกพังเสียหาย กอปรกับได้มีการสร้างทางรถไฟขึ้นมาถึงเชียงใหม่ในเวลาต่อมา จึงได้รื้อออกแล้วสร้างเป็นสะพานนวรัฐที่ 2 ขึ้นมา สะพานนวรัฐที่ 2 นี้ก็ใช้ ชื่อว่า “สะพานนวรัฐ” เพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าแก้วนวรัฐเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่สมัยนั้น เป็นสะพานโครงเหล็ก สร้างบนตอม่อคอนกรีตเสริมเหล็ก 6 ตอม่อ ส่วนบนเป็นโครงเหล็กล้วนมี 5 ช่วง สร้างโดย มาควิส กัมเบียโซ่ วิศวกรชาวอิตาเลียน โครงเหล็กทั้งหมดส่งมาจากบริษัทคลิฟแลนด์ ประเทศอังกฤษ

ในยุคที่สร้างสะพานนวรัฐ หรือ “ขัวเหล็ก” นี้ ได้มีการสร้างทางรถไฟมาถึงเชียงใหม่แล้ว สะพานนี้รับใช้ชาวเชียงใหม่ได้หลายสิบปี เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น ยวดยานพาหนะมีจำนวนมากขึ้น สะพานซึ่งสร้างมานานมีความคับแคบไม่เหมาะสมกับสภาพการจราจรในสมัยนี้ ทางการจึงได้รื้อออกแล้วสร้างเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กที่ใช้ในปัจจุบันนี้

ทิวทัศน์เมือง พ.ศ. 2506 ที่บุญเสริม สตราภัย ถ่ายไว้ อาคารร้านค้าส่วนใหญ่ยังสูงไม่เกิน 2 ชั้น แต่ก็เริ่มมีบางแห่งที่สร้างเป็น 3-4 ชั้น ถนนกลางภาพคือถนนท่าแพ ตอนบนภาพคือแม่น้ำปิง และสะพานนวรัฐ

จากสะพานนวรัฐ ถ้าไปยืนที่เชิงสะพานฝั่งตะวันตก มองไปทางซ้ายมือ บริเวณที่เป็นสวนสาธารณะข้างบ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ สมัยก่อนที่นั่นเป็น “ศาลต่างประเทศ” เป็นอาคารไม้ขนาดใหญ่ มีใต้ถุนสูงจากพื้นประมาณ 2 เมตร หลังคามุงกระเบื้องซีเมนต์สี่เหลี่ยม หรือกระเบื้องว่าว มีประตูด้านหน้าออกทางด้านถนนเจริญประเทศ ด้านตะวันออกจดแม่น้ำปิง ด้านเหนือจดถนนท่าแพตรงเชิงสะพานนวรัฐ ด้านใต้จดรั้วบ้านผู้ว่าฯ

ถ้าอยู่เชิงสะพานนวรัฐฝั่งตะวันตก มองไปทางขวามือ จะเห็นบ้านพักอธิบดีผู้พิพากษา ภาค 5 สมัยก่อนเมื่อแรกสร้าง เป็นบ้านไม้สองชั้นขนาดใหญ่ ทาสีขาวตลอด หลังคามุงกระเบื้องซีเมนต์ เรียกว่าบ้านพักข้าหลวงยุติธรรมประจำมณฑลพายัพ มีพระยาเจริญราชไมตรี (จำนง อมาตยกุล) เป็นข้าหลวงยุติธรรมมณฑลพายัพเป็นคนแรก ที่ทำงานของท่านอยู่ที่ศาลมณฑล ตรงกันข้ามบ้านพักของท่านนั่นแหละ (ภายหลังจึงได้ย้ายที่ทำการศาลไปอยู่ที่ถนนพระปกเกล้า หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่หลังเดิม หรือศาลแขวงในปัจจุบัน) เมื่อย้ายศาลไปแล้ว ตรงนั้นจึงสร้างเป็นที่ทำการธนาคารออมสิน ภาค 5 ซึ่งเปิดใช้ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่กี่เดือน ปัจจุบันธนาคารออมสินก็ย้ายออกไปอีก ที่นั่นจึงเป็นสำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยวของเทศบาลนครเชียงใหม่จนถึงทุกวันนี้

พระยาเจริญราชไมตรี (จำนง อมาตยกุล) ผู้นี้ยังเป็นคนแรกที่นำรถยนต์เข้ามาใช้ในเชียงใหม่เป็นคันแรก รถยนต์ของท่านเป็น รถฝรั่งเศส ยี่ห้อ เดอ เดียง บูตอง นอกจากนี้ท่านยังเป็นคนแรกที่นำกล้องถ่ายภาพมาใช้ในเชียงใหม่อีกด้วย

ถัดจากสี่แยกพุทธสถานไปตามถนนท่าแพ ทางซ้ายมือคือวัดอุปคุตพม่า (ปัจจุบันคือบริเวณพุทธสถานเชียงใหม่)

ถ้ายืนที่สี่แยกอุปคุตหันหน้าไปทางทิศใต้ หรือทางด้านถนนช้างคลาน เดิมถนนสายนี้ปลูกต้นมะขามไว้ทั้งสองฟาก ทางตะวันตกหรือฝั่งขวามือ ตรงหัวมุมทั้งทางด้านถนนช้างคลานและถนนท่าแพ เดิมตรงนั้นเป็น “ที่ว่าการแขวงเมืองเชียงใหม่” หรือที่ว่าการอำเภอเมือง เป็นอาคารไม้ทั้งหลัง หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ที่ว่าการแขวงเมืองเชียงใหม่นี้ใช้งานมาจนถึงสมัยการปกครองแบบเทศาภิบาลมณฑลพายัพ พอยกเลิกการปกครองแบบเทศาภิบาล จึงได้ย้ายไปสร้างใหม่ที่ถนนอินทวโรรส อาคารที่ว่าการแขวงเมืองเดิมจึงถูกรื้อแล้วสร้างเป็นห้องแถวไม้ชั้นเดียวขึ้นแทนที่ (ปัจจุบันเป็นธนาคาร)

ขบวนเกวียนรุ่นสุดท้ายที่เข้ามาในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่บุญเสริมถ่ายไว้เมื่อ พ.ศ. 2510

ต่อจากสี่แยกอุปคุตล่องไปตามถนนช้างคลาน ตรงใกล้ๆ กับสี่แยกนั้น เดิมเป็นที่จอดพักของรถม้าที่มาคอยรับผู้โดยสารที่ไปดูหนังที่โรงหนังพัฒนากร บริเวณนี้ถ้าเป็นฤดูฝนจะเฉอะแฉะไปด้วยโคลนเลนผสมกับอุจจาระ ปัสสาวะม้าเหม็นหึ่งทีเดียว ถัดลงไปจะเป็นห้องแถวไม้บ้าง บ้านเรือนบ้างสลับกันไปจนถึงโรงพิมพ์ “อุปติพงศ์” ของขุนอุปติพงศ์พิพัฒน์ เจ้าของหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของเชียงใหม่ คือหนังสือพิมพ์ “ดัดจริต” ซึ่งมีชื่อเสียงมากในสมัย 60-70 ปีมาแล้ว

ถัดจากโรงพิมพ์อุปติพงค์ลงไปคือโรงหนังชั้นนำของเชียงใหม่สมัยก่อน (ยุคหนังเงียบ) คือโรงหนัง “พัฒนากร” เป็นโรงขนาดใหญ่สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง หลังคามุงสังกะสี โรงนี้ฉายตั้งแต่หนังเงียบมาจนถึงยุคหนังเสียงในฟิล์ม

เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงหนังนี้เปลี่ยนเจ้าของเปลี่ยนชื่อเป็น “ศรีเวียง” แล้วเปลี่ยนอีกเป็น “รัศมีศรีเวียง” ที่สุด จึงเปลี่ยนอีกเป็น “เวียงพิงค์” กระทั่งเลิกกิจการไป

เลยโรงหนังพัฒนากรไป จะมีบ้านเรือนและกระต๊อบของชาวบ้านอีกไม่กี่หลัง จึงถึงโรงเรียนจีนมีชื่อโรงเรียนหนึ่ง คือโรงเรียน “ฮั่วเอง” (ปัจจุบันคือบริเวณทั้งหมดของไนท์บาซาร์ ย่านการค้ามีชื่อของเชียงใหม่ที่ใครๆ ก็รู้จักดีนั่นเอง) โรงเรียน “ฮั่วเอง” นี้ ย้ายมาจากโรงเรียนเดิมที่ข้างวัดเกตุการาม เพราะที่เดิมคับแคบ เนื่องจากต่อมามีนักเรียนเพิ่มมากขึ้นตามความเจริญของบ้านเมือง เพราะโรงเรียนเดิมตั้งขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2444 แล้ว

หมดเขตโรงเรียน “ฮั่วเอง” ไปแล้ว เป็นอันหมดความเจริญของถนนสายนี้ จะเป็นที่ว่างสลับกับบ้านเรือนประปรายไปจนถึงสโมสรพาณิชย์สามัคคีและสามแยกแสงตะวัน เลยสามแยกแสงตะวันไปจะเป็นทุ่งนาโดยตลอด เรียกว่า “ทุ่งช้างคลาน”

คราวนี้กลับมาตั้งต้นที่สี่แยกอุปคุตกันใหม่ เลยสี่แยกอุปคุตไปตามถนนท่าแพ ฝั่งขวามือจะมีโรงแรมมีชื่อของเชียงใหม่สมัยก่อนอยู่แห่งหนึ่ง คือโรงแรมจิ้นหน่ำ เป็นโรงแรมก่ออิฐถือปูนชั้นเดียวของชาวจีน คนมาพักส่วนมากเป็นพ่อค้าชาวจีนที่มาจากกรุงเทพฯ โรงแรมนี้อยู่ใกล้ๆ กับร้านรัตนผล

โรงหนัง

โรงหนังโรงแรกของเชียงใหม่เป็นโรงหนังญี่ปุ่น ตั้งขึ้นใกล้สี่แยกป่าแพร่ง ระหว่างถนนวิชยานนท์กับถนนเมืองสมุทร โรงหนังแห่งนี้ นายเอ็น ทานาคา ชาวญี่ปุ่น เจ้าของร้านถ่ายรูปทานาคา เชิงสะพานนวรัฐ ได้ชักชวนเพื่อนชาวญี่ปุ่น 2 คนมาตั้งขึ้นที่นั่น ฉายทั้งหนังญี่ปุ่นและหนังจีนยุคหนังเงียบ เมื่อโรงหนังพัฒนากร ตงเฮง ตงก๊ก และตงชัน เปิดดำเนินกิจการแล้ว โรงหนังญี่ปุ่นนี้ก็เลิกกิจการไปเพราะขาดทุน ชาวญี่ปุ่นทั้ง 2 คนก็ม้วนเสื่อแบกจอกลับไปกินข้าวต้มกับหัวไชโป๊ที่ญี่ปุ่นตามเดิม

บนถนนท่าแพนี้ มีโรงหนังมีชื่ออยู่ 2 โรง คือโรงหนัง “ตงเฮง” (เมื่อเลิกกิจการโรงหนังไปแล้ว จึงได้กลายเป็นโรงยาฝิ่น สำหรับให้พวกขี้ยาระดับเจ้าสัว อาเสี่ย อาเฮีย อาแป๊ะ ตลอดทั้งพวกกุลีจับกังเข้าไปสูบฝิ่นให้เป็นที่สำราญบานใจ กระทั่งเมื่อจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ สั่งเลิกซื้อขายและสูบฝิ่น โรงยาฝิ่นนี้จึงเลิกกิจการไปตามระเบียบ) ต่อมาจึงได้สร้างห้างตันตราภัณฑ์ขึ้นแทนตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบันนี้

ยังมีโรงหนังอีกโรงหนึ่งของเชียงใหม่สมัยก่อน ซึ่งคนเชียงใหม่ปัจจุบันไม่ค่อยมีใครทราบ โรงหนังนี้ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันออกแม่น้ำปิง หรือฝั่งสันป่าข่อย โรงนี้ตั้งอยู่ด้านหลังตลาดสันป่าข่อย ตรงหัวมุมระหว่างถนนนายพล กับถนนกองทราย ใกล้กับประตูค่ายกาวิละในปัจจุบัน คือโรงหนัง “ตงซัน” โรงนี้ฉายแต่หนังจีนล้วนๆ เป็นโรงสร้างด้วยไม้ หลังคามุงสังกะสี แต่มีขนาดเล็กกว่า “พัฒนากร” “ตงเฮง” “ตงก๊ก” เมื่อเลิกกิจการแล้วจึงกลายเป็นโรงยาฝิ่นเช่นเดียวกับ “ตงเฮง” (ปัจจุบันเป็นบริเวณตลาดสันป่าข่อย)

โรงละคร

สมัยก่อนเชียงใหม่มีโรงละครอยู่ 2 โรง โรงแรกเป็นของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ พระเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เป็นโรงไม้ขนาดใหญ่ หลังคามุงกระเบื้องว่าว หรือกระเบื้องซีเมนต์ ตัวละครส่วนมากเป็นคนในรั้วในวังของเจ้าผู้ครองนคร โรงนี้ตั้งอยู่ในบริเวณคุ้ม ปัจจุบันคือบริเวณตลาดนวรัฐ โรงนี้เลิกกิจการไปในสมัยเจ้าแก้วนวรัฐเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ต่อมาจึงได้สร้างเป็นโรงภาพยนตร์ศรีนครพิงค์ โรงหนังนี้สร้างแบบทันสมัยที่สุดในสมัยปี พ.ศ. 2481-82 ซึ่งเข้าสู่ยุคหนังเสียงในฟิล์มเต็มตัว มีทั้งหนังฝรั่ง หนังไทย หนังจีน หนังญี่ปุ่น และหนังอินเดีย

โรงละครอีกโรงหนึ่งซึ่งคนปัจจุบันไม่ค่อยได้รู้จักกัน คือโรงละครของเจ้าไชยสงคราม ณ เชียงใหม่ ท่านบิดาของเจ้าไชยสุริวงศ์ ณ เชียงใหม่ เจ้าคุณปู่ของท่านรัฐมนตรีช่วย ธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่ ส.ส. เชียงใหม่ นั่นเอง เป็นโรงไม้ขนาดใหญ่ หลังคา มุงสังกะสี ตั้งอยู่ที่ถนนท่าแพ ใกล้กับประตูท่าแพ โรงละครนี้เมื่อเลิกกิจการจึงตกเป็นของหลวงคุรุวาทพิทักษ์ อดีตเทศมนตรี เทศบาลนครเชียงใหม่ โดยหลวงคุรุฯ ได้ใช้เป็นโรงงานผลิตวัสดุจากปูนซีเมนต์ และต้องเลิกกิจการไปเมื่อหลวงคุรุฯ ถึงแก่กรรม

การคมนาคมทางรถไฟ

นับตั้งแต่ได้มีการสร้างทางรถไฟไปถึงเชียงใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2464 เวลานั้นมีการเดินรถไฟไปถึงเชียงใหม่ 2 อย่าง คือ รถด่วน และรถธรรมดา

สำหรับรถด่วนใช้รถดีเซล เดินทางจากกรุงเทพฯ ไปถึงเชียงใหม่สัปดาห์ละ 2 วัน คือจากกรุงเทพฯ ไปถึงเชียงใหม่ทุกวันจันทร์ เวลา 8 น. กับถึงเชียงใหม่วันพฤหัสบดี เวลา 8 น. และออกจากเชียงใหม่ทุกวันอังคารเวลา 16 น. กับวันศุกร์เวลา 16 น. ไม่ได้มีรถด่วนเดินทุกวันเหมือนปัจจุบันนี้ รถด่วนเริ่มเปิดเดินทุกวันก่อนเกิดสงครามอินโดจีน พ.ศ. 2483 ไม่นาน

อีกขบวนหนึ่งเป็นรถธรรมดาซึ่งมีเดินทุกวัน ใช้รถจักรไอน้ำใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง เดินเป็นประจำระหว่างเชียงใหม่กับลำปางเท่านั้น รถธรรมดานี้ออกจากเชียงใหม่ตอนเช้าเวลา 7 น. ถึงสถานีปลายทางที่ลำปางเวลา 11 น. เที่ยวบ่ายออกจากเชียงใหม่เวลา 13 น. ถึงปลายทางที่ลำปางเวลา 17 น. เศษ วันเดียวกัน และออกจากลำปางตอนเช้า 7 น. ถึงเชียงใหม่เวลา 11 น. กับเที่ยวบ่าย ออกจากลำปางเวลา 13 น. ถึงเชียงใหม่เวลา 14 น. เศษ

เรื่องรถด่วนกรุงเทพฯ-เชียงใหม่นี้ ตอนปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อเครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรมาทิ้งระเบิดที่สถานีเชียงใหม่เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2486 สถานีรถไฟเชียงใหม่รวมทั้งโกดังสินค้า บ้านเรือนราษฎรพังพินาศเสียหายหมดสิ้น รวมทั้งชีวิตผู้คนกว่า 300 คน และยุทธสัมภาระของทหารญี่ปุ่น จนทางการรถไฟต้องงดใช้สถานีเชียงใหม่ไปปีเศษ ผู้โดยสารจากกรุงเทพฯ จะไปเชียงใหม่ หรือจากเชียงใหม่จะไปกรุงเทพฯ ต้องไปขึ้นรถลงรถที่สถานีป่าเส้า ของจังหวัดลำพูน ผู้โดยสารต้องหาทางนั่งรถยนต์โดยสาร (ซึ่งหาได้ยากมากเวลานั้น) ไปเชียงใหม่เอาเอง ยิ่งเมื่อสถานีรถไฟต่างๆ ถูกระเบิดหนักเข้า รถไฟต้องเสียเวลามากกว่าจะถึงปลายทางก็เป็นเวลาค่ำมืด ทำให้การเดินทางขลุกขลักมากทีเดียว

ข่าวสาร

โดยที่สมัยก่อนมีรถด่วนจากกรุงเทพฯ ถึงเชียงใหม่สัปดาห์ละ 2 วันดังกล่าว ไม่ได้มีทุกวันเหมือนปัจจุบันนี้ คนเชียงใหม่จะได้อ่านหนังสือพิมพ์รับข่าวสารต่างๆ ที่มากับขบวนรถด่วนเพียงทางเดียวนี้เท่านั้น (ไม่นับการฟังข่าวจากวิทยุกระจายเสียง ซึ่งเวลานั้นในเชียงใหม่มีเครื่องรับวิทยุไม่เกิน 30-40 เครื่อง)

หนังสือพิมพ์ที่มากับขบวนรถด่วนยุคก่อนสงครามโลกก็มีหนังสือพิมพ์ข่าวรายวัน, ศรีกรุง, ไทยราษฎร์, ไทยใหม่รายวัน, ไทยใหม่วันจันทร์, ไทยสมิต, สหายราษฎร์, ประชาชาติ, ประชามิตร, นิกร, สุภาพบุรุษ, สุภาพสตรี, หลักเมือง, ผดุงชาติ, วารศัพท์, ประมวญวัน, ประมวญสาร, ข่าวภาพ และ Bangkok Chronicle

นอกจากนั้นก็มีพวกออกรายปักษ์ รายเดือน ราบคาบ รวมทั้งหนังสือนิยายต่างๆ ทั้งไทย จีน ประเภทกำลังภายใน เช่น “ชั้นบอเหมา” เป็นต้น พอถึงวันจันทร์ กับวันพฤหัสบดี ชาวเชียงใหม่ (ส่วนมากเป็นพวกข้าราชการ) จะไปหาซื้อหนังสือพิมพ์มาอ่านดูข่าวสารบ้านเมือง

การไฟฟ้า

โรงไฟฟ้าของเชียงใหม่โรงแรกตั้งอยู่ข้างสถานีรถไฟเชียงใหม่ ใกล้กับถังน้ำขนาดใหญ่ของรถไฟนั่นแหละ โรงไฟฟ้านี้เป็นของเทศบาลนครเชียงใหม่ เป็นโรงใช้เครื่องดีเซล ส่วนที่ทำการของแผนกไฟฟ้าอาศัยสถานที่เดิมของธนาคารสยามกัมมาจล จำกัด ที่ถนนเจริญเมืองติดกับโรงแรมรถไฟ ตอนนั้นธนาคารสยามกัมมาจลได้ย้ายไปเปิดทำการที่ถนนบำรุงราษฎร์ เปลี่ยนชื่อเป็นไทยในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ว่า “ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด” ต่อมาแผนกไฟฟ้าเทศบาลนี้ได้ย้ายไปเปิดทำการที่หัวมุมสี่แยกชินทัศนีย์ด้านใต้ เป็นอาคารไม้สองชั้นขนาดใหญ่ และอีกไม่นานก็ย้ายอีกครั้งไปอยู่ที่บ้านเด่นจนถึงทุกวันนี้ ส่วนอาคารแผนกไฟฟ้าเดิมที่มุมสี่แยกชินทัศนีย์นั้นกลายเป็นโรงฟอกหนังไป

สำหรับเรื่องไฟฟ้านี้ ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 น้ำมันเชื้อเพลิงขาดแคลนและถูกจำกัด จะเปิดไฟให้ประชาชนใช้ในเวลา 17 น. เป็นต้นไปจนถึง 3 ทุ่มจึงปิด เมื่อไฟฟ้าปิดแล้ว ใครต้องการแสงสว่างก็หาตะเกียงเจ้าพายุ หรือตะเกียงน้ำมันก๊าดมาจุดเอาเอง การใช้ไฟฟ้าในระหว่างสงครามทุกบ้านจะต้องหาผ้าสีดำ หรือสีกรมท่ามาหุ้มรอบโป๊ะไฟไว้ให้มิดชิด ป้องกันมิให้มีแสงสว่างลอดออกไปนอกบ้านเป็นอันขาด มิฉะนั้นจะมีความผิด ทั้งนี้ที่ต้องพรางแสงไฟเพื่อป้องกันมิให้เครื่องบินข้าศึกเห็นแสงไฟได้

ยุคมาลานำไทย

ก่อนเกิดสงครามอินโดจีน พ.ศ. 2483 ไม่นาน ในสมัยของ ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี ท่านเห็นว่าประเทศไทยใกล้จะเป็นประเทศมหาอำนาจเต็มแก่แล้ว ท่านเห็นว่าคนไทยส่วนมากยังด้อยพัฒนา ยังนุ่งผ้าโจงกระเบน ยังกินหมากอยู่ ท่านจึงสั่งให้คนไทยเลิกนุ่งโจงกระเบน เลิกกินหมาก ให้คนไทยปฏิบัติตามรัฐนิยม ให้คนไทยทุกคนต้องสวมหมวกไม่ว่าชายหรือหญิง ใครไม่ปฏิบัติตามถือว่ามีความผิด

ที่เชียงใหม่ก็เอากับเขาบ้าง ในเชียงใหม่มีการปลูกต้นหมากกันมาก โดยเฉพาะที่อำเภอสันทราย เจ้าของบ้านเจ้าของสวนหมาก พากันตัดต้นหมากเสียสิ้น ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่ค่อยมีใครกินหมากกัน นอกจากคนแก่ แต่ก็ต้องแอบกินอย่าให้ตำรวจเห็น ทั่วทั้งเมืองจะเห็นแต่คนสวมหมวกกันทุกคน พวกแม่ค้าตามบ้านนอกเวลาหาบกระบุงตะกร้านำสินค้ามาขายที่ตลาด แต่บังเอิญแม่ค้าจากบ้านนอก เหล่านั้นไม่รู้ว่าทางการสั่งให้ทุกคนสวมหมวก ตัวเองไม่มีหมวกมาด้วยก็เดือดร้อน เพราะตำรวจที่อยู่หน้าตลาดไม่ยอมให้นำสินค้า เข้าไปขายในตลาด เนื่องจากแม่ค้าเหล่านั้นไม่สวมหมวก

ทีนี้เกิดมีคนหัวใสนำหมวกไปตั้งวางให้คนเช่าเพื่อสวมเดินเข้าตลาดพอให้พ้นตาตำรวจไปได้ พวกนำหมวกไปให้แม่ค้าเช่าเจ้าตลาดนี้ทำรายได้ไม่เลว พอแม่ค้าออกมาจากตลาดจะกลับบ้านก็เอาหมวกไปคืนให้คนเช่า เป็นอันเสร็จพิธีแหกตาตำรวจ วันต่อไปมาหัวเปล่าอีก ค่อยไปหาเช่าหมวกเอาที่หน้าตลาดก็แล้วกัน

ยังมีเรื่องอื่น ๆ อีกมากไม่สามารถนำมาเขียนในที่นี้ได้ เพราะหน้ากระดาษจำกัด จึงขอยุติเพียงแค่นี้ก่อน

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กันยายน 2565