นักวิทย์พบแบคทีเรียจาก “เครื่องในมัมมี่” อายุนับพันปี “ดื้อ” ยาปฏิชีวนะเกือบทุกชนิด

หน้ากากไม้แกะสลัก เป็นใบหน้าและเครื่องประดับแสดงฐานะของผู้ตาย หรือมัมมี(ภาพ-AFP)

อาการ “ดื้อยา” ปฏิชีวนะของแบคทีเรียอาจมีมานานนับพันปี หลังนักวิทยาศาสตร์พบว่า แบคทีเรียที่พบในลำไส้ของมัมมี่จากอารยธรรมอินคา สามารถต้านทานยาปฏิชีวนะได้เกือบทุกชนิดที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน แม้ยาบางตัวจะเพิ่งค้นพบได้ไม่นานก็ตาม

ทาชา ซานเตียโก-โรดริเกซ (Tasha Santiago-Rodriguez) จากมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิครัฐแคลิฟอร์เนีย ผู้ทำการศึกษาระบบทางเดินอาหารของมัมมีอินคา 3 ร่าง ซึ่งมีอายุระหว่างศตวรรษที่ 10-14 และมัมมี 6 ร่างจากอิตาลี อายุระหว่างศตวรรษที่ 15-18 กล่าวว่า

“ตอนแรกเราตกใจมากๆ…[แต่] เมื่อคุณลองคิดดูให้ดียาปฏิชีวนะทั้งหมดถูกสร้างขึ้นด้วยกระบวนการตามธรรมชาติ มันจึงเป็นไปได้ที่จะเจอยีนส์ที่มีคุณลักษณะ [ต่อต้าน] ยาปฏิชีวนะเช่นกัน”

รายงานของ New Scientist กล่าวว่า การค้นพบครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ยีนส์ซึ่งมีคุณลักษณะต่อต้านยาปฏิชีวนะมีการแพร่กระจายค้นข้างแพร่หลายตั้งแต่ก่อนที่ อเล็กซานเดอร์ เฟลมิง (Alexander Fleming) จะค้นพบเพนิซิลลินในปี 1928 (พ.ศ. 2471)

“มันเป็นเรื่องตลกที่จะคิดว่า วิวัฒนาการของการต่อต้านยาปฏิชีวนะจะเพิ่งมาเริ่มตอนค้นพบเพนิซิลลิน” ราอูล คาโน (Raul Cano) หนึ่งในทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยโพลีเทคนิครัฐแคลิฟอร์เนียกล่าว

ที่มา: https://www.newscientist.com/article/2096495-antibiotic-resistance-discovered-in-the-guts-of-ancient-mummies/


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ : 12 กรกฎาคม 2559