หลังเสียกรุงศรีอยุธยา ไทยเปลี่ยนแปลงอะไร? ที่ทำให้มีแต้มเหนือพม่า

ภาพจิตรกรรมแสดงเหตุการณ์กองทัพพม่าโจมตีกรุงศรีอยุธยา สมัยเสียกรุงครั้งที่ 2 จากอนุสรณ์สถานแห่งชาติ

พ.ศ. 2319 พระเจ้ามังระเสด็จสวรรคต ต่อมาในรัชกาลพระเจ้าซินกูในช่วงปี พ.ศ. 2319-2325 ราชสำนักคองบองตอนต้นมิได้กรีธาทัพไปปราบปรามดินแดนต่างๆ ที่ก่อกบฏรวมทั้งอาณาจักรสยาม กว่าจะทำสงครามกับสยามอีกครั้งก็ล่วงเข้า พ.ศ. 2328 ในรัชกาลพระเจ้าปดุง ซึ่งตรงกับรัชกาลที่ 1 ของไทย

เท่ากับว่าราชสำนักพม่าว่างเว้นการทำสงคราม และปราบปรามศูนย์กลางอำนาจต่างๆ ในไทยเกือบหนึ่งทศวรรษ

เวลาหนึ่งทศวรรษนั้น ไทยมีพัฒนาการอย่างไรบ้าง ภมรี สุรเกียรติ ได้อธิบายไว้ในหนังสือ “เมียนมาร์-สยามยุทธ์” (มติชน, 2553) เนื้อหาส่วนหนึ่งมีดังนี้ (จัดย่อหน้าใหม่และจัดเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม)


 

ผู้นำสยามทั้งพระเจ้ากรุงธนบุรี และพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้มีเวลาและโอกาสในการจัดการรวบรวมอำนาจ สถาปนาศูนย์กลางอำนาจของอาณาจักรสยามขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งนอกจากจะสามารถสถาปนาศูนย์กลางอำนาจของอาณาจักรใหม่ขึ้นแทนที่กรุงศรีอยุธยาได้แล้ว ผู้นำสยามยังได้ขยายขอบเขตปริมณฑลอำนาจแผ่ครอบคลุมยังดินแดนต่างๆ โดยรอบ อาทิ อาณาจักรล้านนา และอาณาจักรลาวล้านช้าง ฯลฯ เป็นต้น

ปัญหาภายในราชสำนักคองบอง และปัญหาการควบคุมอำนาจระหว่างราชสำนักคองบองและหัวเมืองประเทศราช ประกอบกับพลวัตและการเปลี่ยนแปลงภายในราชอาณาจักรสยาม ได้ส่งผลให้โฉมหน้าของการศึกสงครามระหว่างไทยและพม่า ในสมัยพระเจ้าปดุงเป็นต้นมา เปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดเจน กล่าวคือ ฝ่ายพม่าได้กลับกลายเป็นผู้ปราชัย และฝ่ายสยามเป็นผู้มีชัยเหนือกว่าในการศึกสงครามแต่ละครั้ง

จากการศึกษาของสุเนตร [สุเนตร ชุตินธรานนท์] วิเคราะห์ไว้ว่าการพ่ายแพ้ในสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยาปี ค.ศ. 1717/พ.ศ. 2310 ส่งผลกระทบโดยตรงต่อยุทธศาสตร์ทางการเมืองและทางการทหารอย่างน้อย 2 ประการ คือ

ประการแรก ทำให้ผู้ปกครองไทยยุคต่อมาเห็นถึงความจำเป็นในการขยายเขตอิทธิพลทางการเมืองของอาณาจักรไปถึงล้านนา หลวงพระบาง เวียงจันทน์ และจำปาศักดิ์ อย่างเหนียวแน่นและสืบเนื่องเพื่อป้องกันไม่ให้พม่าได้อาศัยพื้นที่ตามกล่าวเป็นฐานกำลังในการโจมตีพระนครหลวง ดังที่เนเมียวสีหบดีได้กระทำสำเร็จมาแล้วในสงครามคราวเสียกรุง

ประการที่สอง ทำให้ผู้ปกครองไทยต้องหันมาปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การตั้งรับพม่าเสียใหม่ จากการอาศัยตัวพระนครเป็นฐานรับศึก ซึ่งใช้ไม่ได้ผลในสงครามคราวเสียกรุง มาเป็นการใช้หัวเมืองสำคัญที่ตั้งอยู่บนเส้นทางเดินทัพเป็นฐานรับศึกสำคัญ โดยในทางปฏิบัติผู้นำทัพซึ่งอาจได้แก่องค์พระมหากษัตริย์เอง หรือวังหน้าจะเป็นผู้นำกำลังส่วนใหญ่ยกออกจากพระนครไปตั้งรับศึกที่หัวเมืองด้วยตนเอง

จากการศึกษาของชาญ ชัยวรรณวงศ์ เรื่อง “การศึกษาวิเคราะห์ สงครามไทยรบพม่าเฉพาะเรื่องยุทธศาสตร์และยุทธวิธีทางการทหาร พ.ศ. 2310-2352” ได้วิเคราะห์ให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์และยุทธวิธีการเมือง และการทำสงครามของฝ่ายผู้นำสยามได้อย่างละเอียดชัดเจน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้นำสยามมีความพร้อมในการต้านศึกพม่าอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านการควบคุมกำลังคน พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงพยายามรวบรวมกำลังคนเข้ามาอยู่ใต้อำนาจหลายวิธีการ วิธีหนึ่งคือการทำสงครามเพื่อเพิ่มพูนกำลังคนในเวลาอันรวดเร็ว ด้วยการปราบปรามชุมนุมต่างๆ ที่ยังตั้งตนเป็นอิสระ ทำให้พระองค์ทรงได้กำลังคนเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้พระองค์ทรงรื้อฟื้นการควบคุมกำลังคนในระบบไพร่โดยการสักเลกเฉกเช่นที่เคยมีใช้ในสมัยอยุธยาขึ้นอีกครั้ง เพื่อควบคุมและจัดสรรกำลังคนที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์แก่อาณาจักร

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีความพยายามในการจัดระเบียบและวางกฎเกณฑ์ของระบบการควบคุมกำลังคนปรากฎอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้นในกฎหมายตราสามดวง ซึ่งรัชกาลที่ 1 ทรงโปรดให้ชำระขึ้นเพื่อใช้เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณาพิพากษาคดีความต่างๆ ในปี ค.ศ. 1904/พ.ศ. 2357 ในกฎหมายตราสามดวงกำหนดไว้ว่า ราษฎรทุกคนต้องมีสังกัดขึ้นต่อมูลนายหรือกรมกองต่างๆ โดยเริ่มแบ่งสังกัดตั้งแต่ผู้นั้นอายุได้ 5 ปีขึ้นไป ฯลฯ เป็นต้น

ด้านการข่าว การข่าวจัดได้ว่าเป็นหัวใจของการกำหนดแผนการรบ ข่าวที่ถูกต้องและรวดเร็วแน่นอน ทำให้ผู้นำทัพสามารถตัดสินใจกำหนดแผนการรบได้ทันท่วงที ความสำเร็จของพระเจ้ากรุงธนบุรีในการสถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นศูนย์กลางอำนาจทางการเมืองภายใต้การยอมรับของเจ้าผู้ครองหัวเมืองต่างๆ ตามภูมิภาค

ตามข่ายงานระบบราชการเดิมที่ได้ปรับปรุงขึ้นมาใหม่ ทำให้แหล่งข่าวขยายตัวออกไปทั้งในด้านปริมณฑลและบุคลากร ระดับประสิทธิภาพหรือความสามารถในการควบคุมการปฏิบัติราชการของขุนนางหัวเมือง โดยเฉพาะเมืองบริเวณชานพระราชอาณาเขตมีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการข่าว ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 1 ในกฎหมายตราสามดวงได้ระบุถึงการแต่งตั้งพวกกองมอญมีศักดินาและมีหน้าที่สืบแนมทางด้านพม่าโดยเฉพาะ ซึ่งเรียกกันทั่วๆ ไปว่ากองอาทมาต

การวางแผนยุทธศาสตร์ ผู้นำสยามหลังสงครามคราวเสียกรุง ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การสงครามกับพม่า มาเป็นการตั้งรับเชิงรุก คือเข้าโจมตีข้าศึกก่อนที่ข้าศึกจะถึงพระนคร ในลักษณะการเดินทหารเส้นในเพื่อตัดกำลังข้าศึกก่อนที่จะมาถึงเมืองหลวง ในการวางแผนยุทธศาสตร์ระยะยาว อาทิ การสร้างจุดยุทธศาสตร์การป้องกันในเขตพระนคร การสะสมอาวุธ, การขยายตัวเมือง, การสร้างจุดยุทธศาสตร์การป้องกันนอกเขตพระนคร กล่าวคือ การตัดกำลังศึกของพม่าทางด้านเหนือ โดยเฉพาะอาณาจักรล้านนา โดยการขยายอำนาจเข้าผนวกล้านนาให้เป็นส่วนหนึ่งของปริมณฑลอำนาจ และการสำรวจระยะทางที่จะเดินทัพเข้าตี กล่าวคือ การสำรวจสภาพภูมิศาสตร์ของสมรภูมิรบ และเส้นทางเดินทัพ ฯลฯ เป็นต้น

พลวัตภายในราชอาณาจักรสยาม และการปรับเปลี่ยนทางยุทธศาสตร์การทำสงครามของผู้นำทำให้สามารถตั้งรับศึกสงครามขนาดใหญ่ของพม่าได้เป็นอย่างดี ดังจะสะท้อนให้เห็นได้จากคราวสงครามเก้าทัพ ปี ค.ศ. 178/พ.ศ. 2328 กล่าวคือ เมื่อฝ่ายพม่ายกเข้ามาถึง 5 ทาง การปรับยุทธศาสตร์การรกของฝ่ายพม่าเป็นเหตุให้ทางฝ่ายไทยจำเป็นต้องกำหนดแผนยุทธศาสตร์การตั้งรับให้รัดกุมเช่นกัน เห็นได้ว่าเมื่อตกมาถึงปีที่เกิดสงครามเก้าทัพนี้ แม้ว่ากรุงรัตนโกสินทร์เพิ่งจะแรกสถาปนาได้เพียง 3 ปี แต่ทว่าในด้านกำลังคนนั้นกล่าวได้ว่าอยู่ในสภาพที่พร้อมรบกว่าสมัยกรุงธนบุรี โดยเฉพาะในด้านกำลังพลฝ่ายสยามจึงสามารถกำหนดแผนการตั้งรับได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ฝ่ายสยามได้แบ่งกองทัพออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก เป็นทัพที่ยกไปรับศึกนอกเมือง อีกส่วนหนึ่งเป็นทัพหนุนที่พร้อมจะให้การสนับสนุนทัพที่ยกออกไปรับข้าศึกในกรณีเกิดเพลี่ยงพล้ำ ทัพที่ยกออกไปรับข้าศึกนอกเมืองยังได้จำแนกความสำคัญ เป็นทัพที่ยกออกไปเพื่อยับยั้งกองทัพข้าศึกที่จะเข้าที่หลัก คือตีพม่าให้แตกพ่ายไป กับทัพที่ยกไปเพื่อยันหรือชะลอไม่ให้ทัพพม่ายกล่วงเข้ามาถึงพระนคร และรอกำลังหนุนในภายหลัง

ดังเช่นในศึกเก้าทัพ ทัพหลักของสยามคุมโดยสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทได้ยกออกไปรับทัพใหญ่ของฝ่ายพม่าทางด่านพระเจดีย์สามองค์ ซึ่งเข้ามา 5 ทัพ เพื่อให้แตกพ่ายไป อีกทัพหนึ่งให้เจ้าพระยาธรรมา (บุญรอด) กับเจ้าพระยายมราช ไปตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรี รักษาเส้นทางลำเลียงของกองทัพที่ 2 และคอยต่อสู้พม่าซึ่งจะยกมาทางด้านใต้จากเมืองทวาย ส่วนทัพสุดท้ายกรมพระราชวังหลัง (กรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์) ยกไปยันทัพพม่าที่นครสวรรค์ไม่ให้ล่วงล้ำเข้าสู่พระนคร ส่วนทัพที่เมืองหลวงนั้นเป็นทัพหลวงทำหน้าที่เป็นส่วนหนุน ซึ่งรัชกาลที่ 1 ทรงคุมทัพด้วยพระองค์เอง

ผลของสงครามเก้าทัพเป็นที่ยืนยันยุทธศาสตร์ของฝ่ายไทย ว่าสามารถจะต้านรับยุทธศาสตร์ของฝ่ายพม่าที่ปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพขึ้นใหม่ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ความปราชัยของกองทัพพระเจ้าปดุงในสงครามเก้าทัพนี้ มีสาเหตุมาจากปัญหาการขาดแคลนเสบียงอาหารและความไม่พร้อมของทัพหลวงที่ยกพลมาทางเส้นทางท่าไร่ด้วยเช่นเดียวกัน

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 พฤษภาคม 2564