พบหลักฐาน “ชาวเปอร์เซีย” ไปทำมาหากินที่“ญี่ปุ่น” เมื่อกว่า “พันปีก่อน” คาดเป็นครูสอนเลข

แผ่นไม้ที่พบชื่อชาวเปอร์เซีย เผยแพร่เมื่อ 5 ตุลาคม 2016 (AFP PHOTO / Nara National Research Institute for Cultural Properties / HO), ฉากหลังเป็นวิหารโตไดจิ (Tōdai-ji) ในนาระ (Lynn0927, via Wikimedia Commons)

จากรายงานของเอเอฟพี, นักวิจัยชี้ สังคมญี่ปุ่นโบราณอาจมีความหลากหลายกว่าที่คิด หลังพบหลักฐานล่าสุด มีชาวเปอร์เซียเดินทางมาทำงานที่นาระเมืองหลวงเก่าของญี่ปุ่นเมื่อกว่าพันปีก่อน

หลักฐานที่ระบุอัตลักษณ์ของชาวเปอร์เซียที่เดินทางมายังญี่ปุ่นรายนี้ คือ “ชื่อ” ที่ปรากฏอยู่บนแผ่นไม้ที่ถูกพบตั้งแต่เมื่อทศวรรษที่ 1960 ซึ่งเดิมไม่อาจอ่านออกได้ แต่ด้วยกรรมวิธีสร้างภาพด้วยอินฟาเรดทำให้นักวิจัยสามารถอ่านอักขระดังกล่าวได้สำเร็จ

“แม้การศึกษาก่อนหน้านี้ชี้ว่ามีการแลกเปลี่ยน [ระหว่างญี่ปุ่น] กับเปอร์เซียตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 7 แต่นี่เป็นครั้งแรกที่พบว่ามีคนที่อยู่ไกลถึงเปอร์เซียเดินทางมาทำงานที่ญี่ปุ่น”

“นี่แสดงให้เห็นว่า นาระ เป็นมหานครที่ชาวต่างชาติได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม” อากิฮิโระ วาตานาเบะ นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยแห่งชาติด้านสมบัติทางวัฒนธรรมแห่งนาระกล่าว

วาตานาเบะกล่าวว่า ชาวเปอร์เซียรายนี้เข้ามาทำงานให้กับสถาบันศึกษาของทางราชสำนักซึ่งมีหน้าที่ให้ความรู้แก่ข้าราชบริพาร โดยเขาเชื่อว่า ชาวเปอร์เซียรายนี้น่าจะสอนวิชาเลข ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ชาวเปอร์เซียมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษ

ทั้งนี้ นาระ เป็นนครหลวงของญี่ปุ่นในราวปี ค.ศ. 710-784 (พ.ศ. 1253-1327) ในชื่อเฮโจเกียว (Heijō-kyō) ก่อนย้ายไปยังเกียวโต และโตเกียวในยุคปัจจุบันตามลำดับ