การปฏิวัติวัฒนธรรม (ที่ถูกทำให้ลืม) ระบอบกวาดล้างคนเห็นต่างแบบจีนๆ

พรรคคอมมิวนิสต์ การปฏิวัติวัฒนธรรม จีน
ภาพแรงงานสตรีขณะทำการแสดงในมณฑลเจียงซู โดยเรื่องราวที่แสดงมีเนื้อหาวิจารณ์งานของขงจื๊อ นักปราชญ์จีนยุคศักดินา ทั้งนี้จากข้อมูลของเอเอฟพี ภาพถูกเผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคม 1974 โดยสื่อจีน (AFP PHOTO / XINHUA)

ในประเทศไทยยุคหนึ่งสมัยหนึ่งการถูกกล่าวหาว่าเป็น “คอมมิวนิสต์” ถือเป็นอาชญากรรมร้ายแรง ขณะที่ในประเทศที่ปกครองด้วย พรรคคอมมิวนิสต์ อย่างจีน ครั้งหนึ่งการเป็นคอมมิวนิสต์ก็ต้องเป็นคอมมิวนิสต์แบบจีนๆ เช่นกัน หากถูกกล่าวหาว่าเป็นพวก “ลัทธิแก้” อันเป็นการตราหน้าศัตรูร่วมชาติว่ามีอุดมการณ์อย่างพวกฝักใฝ่ศักดินา กระฎุมพี ก็ถือเป็นอาชญกรรมร้ายแรง มีโทษมหันต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง “การปฏิวัติวัฒนธรรม” ที่ปัจจุบันรัฐบาลจีนพยายามจะไม่พูดถึง

ภาพแรงงานจีนขณะอ่านกระดานประกาศซึ่งเขียนด้วยลายมือหรือ “ต้าจือเป้า” (Dazibao) เรื่องราวจำนวนมากมักประณามค่านิยมดั้งเดิมของชาวจีนที่ถูกมองว่าขัดต่อหลักสังคมนิยม ภาพถูกเผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคม 1974 โดยสื่อจีน (AFP PHOTO / XINHUA)
ภาพแรงงานจีนขณะอ่านกระดานประกาศซึ่งเขียนด้วยลายมือหรือ “ต้าจือเป้า” (Dazibao) เรื่องราวจำนวนมากมักประณามค่านิยมดั้งเดิมของชาวจีนที่ถูกมองว่าขัดต่อหลักสังคมนิยม ภาพถูกเผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคม 1974 โดยสื่อจีน (AFP PHOTO / XINHUA)

จุดเริ่มต้นการปฏิวัติวัฒนธรรม 

การปฏิวัติวัฒนธรรม ในจีน มีรากฐานมาจากความขัดแย้งภายในของ พรรคคอมมิวนิสต์ เหมา เจ๋อตุง ประธานพรรคคอมมิวนิสต์ในยุคนั้นกล่าวหาสมาชิกชั้นนำระดับบนของพรรคหลายคนว่า เป็นพวก “กระฎุมพี” ที่คอยขัดขวางการดำเนินนโยบายของพรรค และประกาศว่า การกำจัดพวกลัทธิแก้คือ ภารกิจอันเร่งด่วน มิเช่นนั้นระบอบสังคมนิยมของประเทศอาจถึงกาลอวสานได้

การปฏิวัติวัฒนธรรม ของเหมา นับว่าเริ่มขึ้นตั้งแต่ 16 พฤษภาคม 1966 หลังคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ออกจดหมายเวียน แสดงถึงแนวคิดในการปฏิวัติวัฒนธรรมของเหมา ก่อนสิ้นสุดลงในปี 1976 หลังเหมาเสียชีวิต และ “แก๊งสี่คน” (เจียง ชิง, เหยา เหวินหยวน, จาง ชุนเฉียว และหวัง หงเหวิน) กลุ่มผู้นำคนสำคัญของการปฏิวัติวัฒนธรรมถูกคุมขัง

ช่วงเวลาหนึ่งทศวรรษดังกล่าวได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างร้ายแรง ซึ่งมติว่าด้วยประวัติศาสตร์แห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน (Resolution on CPC History) ยังยอมรับว่า ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นการสูญเสียที่ร้ายแรงที่สุด สร้างความถดถอยที่สุดในประวัติศาสตร์นับแต่การก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน

หนึ่งในต้นตอของการปฏิวัติวัฒนธรรมมาจากบทประพันธ์ชิ้นหนึ่งชื่อ “การปลด ไฮ รุย ออกจากตำแหน่ง” (The Dismissal of Hai Rui From Office) ของ หวู่ ฮั่น (Wu Han) นักประวัติศาสตร์ และรองผู้ว่ากรุงปักกิ่งในสมัยนั้น เป็นเรื่องราวของขุนนางราชวงศ์ซ่งที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ฮ่องเต้

เหมามองว่าบทประพันธ์ชิ้นนี้มีเจตนาโจมตีเขา และให้การสนับสนุน เผิง เตอหวย (Peng Dehuai) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมที่ถูกปลด หลังออกมาชี้ถึงความล้มเหลวของนโยบายการก้าวกระโดดครั้งใหญ่ของเหมา ทำให้ หวู่ ฮั่น เป็นปัญญาชนรายแรกๆ ที่ถูกเล่นงานในการปฎิวัติวัฒนธรรม

“กองทัพพิทักษ์แดง” (Red Guards) กลุ่มเยาวชนจากสถาบันการศึกษาตั้งแต่มัธยมถึงมหาวิทยาลัยคือกองกำลังสำคัญของเหมาที่เขาเปรียบว่าเป็น “เห้งเจีย” เทพเจ้าวานรที่เคยอาละวาดทั้งเมืองบาดาลและสรวงสวรรค์มาแล้ว และเขาต้องการเห้งเจียจำนวนมากเพื่อทำลายปีศาจร้าย ภายใต้การรณรงค์เพื่อกำจัด “สี่เก่า” อันประกอบด้วย อุดมคติ, จารีต, วัฒนธรรม และสันดาน ที่ถูกอ้างว่าเป็นของพวกระบอบเก่า ด้วยวิธีการอันรุนแรงต่อกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม ทั้งการใช้กำลังต่อกายหมายเอาชีวิต การเหยียดหยามต่อสาธารณะ การทำลายโบราณสถาน และวัตถุทางวัฒนธรรม

เบื้องต้นกลุ่มพิทักษ์แดงเริ่มการโจมตี ทำร้ายเจ้าหน้าที่ในสถานศึกษา ก่อนขยายตัวไปถึงเจ้าหน้าที่ของพรรค และผู้ที่ถูกตราหน้าว่าเป็น “ศัตรูทางชนชั้น” ในวงกว้าง เกิดการสังหารหมู่ในปักกิ่งและหลายเมืองทั่วประเทศ

บางครั้งกลุ่มพิทักษ์แดงก็ตีกันเอง หลายครั้งมีการใช้อาวุธหนัก และกองทัพก็เข้ามามีส่วนร่วมในความขัดแย้งด้วย เอกสารลับของจีนยังเคยบันทึกถึงเรื่องราวสุดโหดของกลุ่มพิทักษ์แดงว่า พวกเขาไม่เพียงทรมานเหยื่อจนเสียชีวิต บางครั้งถึงกับ “กินเนื้อ” ของเหยื่อเหล่านี้ด้วย ส่วนตัวเลขผู้เสียชีวิตที่แน่นอนยังไม่อาจหาข้อสรุปได้ มีการประเมินตั้งแต่ 5 แสนราย ไปจนถึง 8 ล้านราย

แต่สุดท้าย “เห้งเจีย” เหล่านี้ก็สิ้นฤทธิ์ด้วยฝีมือของเหมาเองที่ใช้ประโยชน์ของเด็กๆ ได้สมปรารถนา กำจัดเหล่าเสี้ยนหนามสำคัญอย่าง หลิว เซ่าฉี และเติ้ง เสี่ยวผิง รวมถึงกลไกของพรรคที่เป็นอุปสรรคได้สำเร็จ ก็ออกมาตำหนิการใช้ความรุนแรงของเรดการ์ด

สุดท้ายกองทัพปลดปล่อยประชาชนก็เข้ามาสลายกลุ่มปัญญาชนรุ่นเยาว์ที่มีสมาชิกกว่า 20 ล้านคน ด้วยการส่งตัวพวกเขาไปใช้ชีวิตในไร่นาในชนบทจนเสร็จสิ้นในเวลาเพียง 6 เดือน ทำให้พวกเขาแทบหมดอนาคต

แผ่นปิดบนกำแพงริมถนนในกรุงปักกิ่งช่วงปลายปี 1956 แสดงภาพการจัดการกับ “ศัตรูประชาชน” ระหว่างการปฏิวัติวัฒนธรรมซึ่งเริ่มขึ้นราวเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน AFP PHOTO / JEAN VINCENT

การปฏิวัติวัฒนธรรมอันล้มเหลว

โจว เอินไหล เป็นผู้นำอาวุโสลำดับสองของพรรคในยุคนั้น ซึ่งสามารถรอดพ้นการกวาดล้างมาได้ด้วยการแสดงถึงความภักดีที่มีต่อเหมา ขณะเดียวกันชาวจีนก็ยกย่องว่า เขาเป็นผู้ที่ช่วยจำกัดกรอบความรุนแรงในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

แต่เขาก็ไม่อาจต้านทานความบ้าคลั่งจากการใช้อำนาจของเหมาได้เช่นเดียวกับสมาชิกพรรครายอื่นๆ ที่มองเห็นถึงความผิดพลาดของเหมา แต่ก็ไม่อาจทำอะไรได้ ต้องรอจนเหมาตาย จึงมีการประมวลให้เห็นถึงความเลวร้ายของการปฏิวัติวัฒนธรรม ดังที่เห็นในมติว่าด้วยประวัติศาสตร์แห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในการประชุมใหญ่วาระที่ 6 ของการประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนครั้งที่ 11 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 1981

ถึงวันนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวได้ผ่านมาเกือบ 60 ปี แม้ครั้งหนึ่งพรรคจะยอมรับความผิดพลาดของอดีตผู้นำ แต่รัฐบาลในปัจจุบันพยายามลบภาพความทรงจำในอดีต การจัดงานรำลึกรวมถึงการรวมตัวรณรงค์ทางการเมืองและกิจกรรมอื่นๆที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุการณ์นี้ ต่างไม่ได้รับการอนุญาตจากทางการ

พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งส่วนตัวเล็กๆ ในเมืองซัวเถา (Shantou) ที่เสนอเรื่องราวเหตุการณ์ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม ทั้งการทรมานเหยื่อของกลุ่มเรดการ์ด และถ้อยคำปลุกระดมในสมัยนั้น ถูกบันทึกเรียงรายบนป้ายสลักหินแกรนิตจำนวนมาก ทางเข้าพิพิธภัณฑ์มีถ้อยคำประกาศว่า “ประวัติศาสตร์เป็นดั่งเงาสะท้อนของเรา เราจงอย่าปล่อยให้โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมเกิดขึ้นซ้ำอีก”

แต่วันนี้พิพิธภัณฑ์ถูกบดบังด้วยแผ่นป้ายโฆษณาชวนเชื่อกล่อมประสาทประกาศ “ค่านิยมของสังคมนิยม” และ “ความฝันของชาวจีน” โครงการรณรงค์ที่ถูกผลักดันโดยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เพื่ออำพรางเรื่องราวที่รัฐต้องการจะปกปิด

“พรรคเสียหน้าอย่างมาก พวกเขารู้สึกอับอายจากการปฏิวัติวัฒนธรรม รวมถึง (การประจาน) จากพิพิธภัณฑ์แห่งนี้” พนักงานร้านขายของชำจากหมู่บ้านไม่ไกลจากตัวพิพิธภัณฑ์กล่าว

เส้นทางในการเดินทางมายังพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดจับตาผู้เข้าออก คัลลัม แมคลาว (Calum Macleod) ผู้สื่อข่าวของเดอะไทม์กล่าวว่า เขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบถามนานราวหนึ่งชั่วโมงบริเวณทางเข้า และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอีก 5 คน คอยติดตามเขาตลอดเวลาที่เขาชมสวนในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้

ถึงวันนี้ ชาวจีนยุคใหม่รับรู้ประวัติศาสตร์ในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมน้อยมาก ลัว จื่อ (Luo Zhi) อดีตนักเรียนหญิงวัย 18 ปี ผู้เห็นเพื่อนนักเรียนรุมทุบตีครูใหญ่วัย 50 ปี ตายต่อหน้าต่อตากล่าวว่า “ดูเหมือนคนจะไม่ค่อยใส่ใจกันแล้ว…พอคุณพูดขึ้นมา เขาก็จะบอกว่า ‘ตอนนี้เราก็อยู่กันอย่างสงบสุขแล้วจะมาพูดเรื่องนี้กันอีกทำไม’…” (รายงานจาก ABC)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

ประวัติศาสตร์จีน โดย ทวีป วรดิลก

China by Charles O. Hucker (Encyclopedia Britannica)

Explaining China’s Cultural Revolution by Austin Ramzy (New York Times)

A Tale of Red Guards and Cannibals by Nicholas D. Kristof (New York Times)

Resolution On CPC History (https://www.marxists.org/subje…/china/documents/cpc/history/)

Cultural Revolution is officially forgotten by Calum MacLeod (The Times)

China silent on Mao’s ‘big mistake’ 50 years after Cultural Revolution (ABC)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ กันยายน 2559