ศึกอะแซหวุ่นกี้ ตีเมืองพิษณุโลก และอะแซหวุ่นกี้ ขอดูตัวเจ้าพระยาจักรี?

เจ้าพระยาจักรี (ด้วง) สมุหนายกสมัยธนบุรี ผู้ใช้นามเจ้าพระยาจักรีเป็นคนสุดท้าย ต่อมาได้เป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และปราบดาภิเษกเป็นรัชกาลที่ ๑ (ภาพวาดฝีพระหัตถ์รัชกาลที่ ๖)

“ข้อความที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมอีกตอนหนึ่งได้แก่ การป้องกันเมืองพิษณุโลกในศึกอะแซหวุ่นกี้

ข้อความในฉบับพันจันทนุมาศ และบริติชมิวเซียม กล่าวเหมือนเหลือกำลังที่ไทยจะรับไว้อยู่ได้ เพราะพม่าทุ่มกำลังจะยึดเอาเมืองให้ได้ ทั้งการที่พิษณุโลกแตกในที่สุดก็ดูเหมือนเป็นการแตกอย่างไม่มีขบวน เช่นกล่าวว่า “…เจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์เห็นเหลือกำลังก็พาทหารฝ่ากองทัพพม่าหนีออกจากเมืองพิษณุโลก ฝ่ายกองทัพทั้งปวงก็แตกกันเป็นอลหม่าน กองทัพพม่าก็ได้ที่ยกไล่ติดตาม…” (ปช.-65 : 104)

ซึ่งแน่นอนว่าเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับการขอดูตัวเจ้าพระยาจักรีย่อมไม่มีรายงานไว้ในพระราชพงศาวดารทั้งสองฉบับนี้ด้วย ซึ่งถ้าจะมองจากกฎหมายทั้งของไทยและพม่า ออกจะเป็นการกระทำถึงขั้นขบถศึกอยู่ทีเดียว

untitled-1พระราชพงศาวดารฉบับพระพนรัตน์เพิ่มเติมข้อความในการศึกครั้งนี้มาก ดูเหมือนอิทธิพลจากสามก๊กจะแทรกเข้ามาไม่น้อยด้วย (เช่น การเจรจาขอดูตัว เป็นต้น) การถอยจากเมืองพิษณุโลกก็ทำกันอย่างมีระเบียบ เจ้าพระยาจักรีให้ทิ้งค่ายนอกเมืองมารบในเมือง แล้วให้เอาพิณพาทย์ขึ้นตีบนกำแพงเป็นกลลวง (อิทธิพลสามก๊กเช่นกัน) ได้โอกาสก็ยกทัพแหวกวงล้อมออกมาอย่างมีระเบียบ (กองซึ่งรั้งหลังก็รอสกัดต่อรบต้านทานที่กลางทางเป็นสามารถ” ซ้ำการเสียมืองพิษณุโลกก็ยังเปิดโอกาสที่พระราชพงศาวดารฉบับพระพนรัตน์จะ “เสก” กรุงรัตนโกสินทร์ให้ปลอดภัยจากพม่าตลอดไปอีกด้วย เพราะอะแซหวุ่นกี้แม่ทัพจะกล่าวเมื่อเข้าพิษณุโลกได้แล้วว่า

“…และพม่าจะมารบเมืองไทยสืบไปภายหน้านั้น ถ้าแม่ทัพมีสติปัญญาและผีมือแต่เพียงเสมอเรา ต่ำกว่าเรานั้นอย่ามาทำสงครามตีเมืองไทยเลย จะเอาชนะเขามิได้” (พร :154-156)

ในขณะเดียวกันพระราชพงศาวดารฉบับนี้ก็ยังเติมข้อความเกี่ยวกับประวัติความสามารถของอะแซหวุ่นกี้ไว้ในเรื่องที่สอบสวนมาได้จากพม่าคือความสามารถของอะแซหวุ่นกี้ที่สามารถถึงขนาดรบชนะกองทัพจีน (พร : 76-78) อันเป็นสิ่งที่ไม่มีในฉบับบริติชมิวเซียมหรือฉบับพันจันทนุมาศ

ความจริงในเรื่องเกี่ยวกับการเสียเมืองพิษณุโลกจะเป็นอย่างไรก็ยังไม่สามารถสอบสวนได้ เนื่องจากไม่มีหลักฐานภายนอกที่น่าเชื่อถือในเรื่องนี้ไว้สอบสวน แต่ที่น่าเป็นไปได้นั้น การเสียเมืองพิษณุโลกคงมิใช่อยู่ในลักษณะเมือง “แตก” แม้ว่าการถอยออกจากเมืองอาจจะไม่มีระเบียบและเต็มไปด้วยชั้นเชิงการศึกอย่างที่กล่าวในฉบับพระพนรัตน์ แต่เป็นการตีแหกจากวงล้อมจามรับสั่งของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเอง เหตุฉะนั้นจึงได้เลื่อนยศเจ้าพระยาจักรีขึ้นไปเป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ในพ.ศ.2320 หลังการศึก

ถ้าเสียทีพม่าโดยสิ้นเชิงถึงทำให้เมืองแตก คงจะถูกลงโทษมากกว่าได้บำเหน็จ”

 


ข้อมูลจาก :

หนังสือ ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ ในพระราชพงศาวดารอยุธยา ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ (ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, 2543)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2559