บันทึกประวัติศาสตร์ นานาชาติว่าไทยเป็นเสียงเดียวกัน “ขี้เกียจ ขี้ขลาด ขี้โกง”

ภาพ ชาวบ้าน จิตรกรรม วัดเขียน จังหวัดอ่างทอง
ภาพประกอบเนื้อหา ภาพชาวบ้านสามัญชนขณะเดินทางค้าขายหรือค้าเร่ มีโจรผู้ร้ายฉุดคร่าชิงทรัพย์และข่มขืนด้วย, จิตรกรรม วัดเขียน จังหวัดอ่างทอง (จากหนังสือ มนุษย์อยุธยา ประวัติศาสตร์สังคม จากข้าวปลา หยูกยา ตำรา Sex)

ท่านเคยได้ยินได้ฟังมาบ้างหรือไม่ว่ามีฝรั่งหลายชาติหลายภาษานินทา นิสัยคนไทย ว่า “ขี้เกียจ ขี้ขลาด ขี้โกง”

ข้อกล่าวหาดังกล่าวนี้ เราทุกคนยากที่จะยอมรับ เพราะเราดูตัวเราเองก็เป็นคนขยัน ทำมาหากินตัวเป็นเกลียว…

แต่เราไม่อยากรู้บ้างหรือว่าทำไมต่างชาติจึงมองเราเช่นนั้น?

คำกล่าวหานี้มีมาทุกยุคทุกสมัย

เมื่อ 500 ปีที่แล้ว ฝรั่งโปรตุเกสเริ่มเข้ามาเมืองไทยในรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราช ก็เขียนหนังสือกล่าวว่า “การคิดอ่านที่โหดร้ายและการกระทำอันร้ายกาจ (ในการแย่งชิงอำนาจ) ได้แย่งชิงเอาความมีภูมิธรรมสูงส่วนใหญ่ไป”

เมื่อ 400 ปีที่แล้ว มีชาวฮอลันดาเข้ามาตั้งห้างค้าขาย ก็กล่าวในลักษณะเดียวกัน

เมื่อ 200 ปีที่แล้ว เป็นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ชาวอังกฤษก็โจมตีอย่างหนัก ในรัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 ชาวเยอรมัน ฝรั่งเศส และอังกฤษ ก็ยืนยันว่า ขี้เกียจ ขี้ขลาด ขี้โกง

ทัศนะดังกล่าว เป็นของฝรั่งชาติต่าง ๆ 5 ชาติ จำนวน 9 นาย ได้แก่

1. นายปินโต ชาวโปรตุเกส เข้ามาเป็นทหารรับจ้างอยู่ในกองทัพพระไชยราชาธิราช ในการทำสงครามกับรัฐเชียงใหม่ โดยนำปืนใหญ่ไปใช้รบครั้งแรกในเมืองไทย

2. นายเซาเตน ชาวฮอลันดา เข้ามาเป็นหัวหน้าสถานีการค้าฮอลันดา ในรัชกาลพระเจ้าทรงธรรม

3. นายวันวลิต เป็นหัวหน้าสถานีการค้าสืบจากนายเซาเตน เขาเขียนประวัติศาสตร์ไทย นับเป็นฉบับแรกของประเทศนี้

4. นายฟอร์บัง เป็นนายทหารฝรั่งเศส เข้ามารับราชการเป็นขุนนางไทย ได้ยศออกพระศักดิ์สงคราม คุมทหารที่ฝึกแบบยุโรป (มีปืนและหอกเป็นอาวุธ ประจำกาย) จำนวน 2,000 คน ที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ ธนบุรี

5. นายยอห์น ครอเฟิด คนไทยเรียก “กาลาผัด” เป็นทูตอังกฤษ เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 2 ของกรุงรัตนโกสินทร์ เขาเขียนรายงานไปยังรัฐบาลอังกฤษ เจาะลึกในทุกด้านของไทย จำนวน 183 หัวข้อ

6. นายคาร์ล กุตสลาฟ คนไทยเรียกว่า “หมอกิศลับ” ชาวเยอรมัน เป็นมิชชันนารีฝ่ายโปรเตสแตนต์คนแรกที่เข้ามาเมืองไทย เขารู้ภาษาไทยขนาดทำพจนานุกรมอังกฤษ-ไทย เป็นฉบับแรก

7. นายมัลลอก พ่อค้าอังกฤษ มาในสมัยรัชกาลที่ 4 เขามาสำรวจอย่างละเอียดในเรื่องทรัพยากร การค้าและเศรษฐกิจของเมืองไทย ตลอดทั้งความมั่นคง เป็นรายงานที่ยาวถึง 122 หน้า

8. นายมูโอต์ นักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศส เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 4 เขาใช้เวลา 3 ปี สำรวจภูมิประเทศและการดำรงชีวิตของคนไทย

9. เซอร์เฮนรี นอร์แมน เป็นขุนนางอังกฤษ เข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 5

รายชื่อ “ฝรั่ง” ที่กล่าวหาไทย ไม่ใช่แค่ตัวฝรั่งปากพล่อย ๆ ที่ไม่มีความรู้ ไม่มีวุฒิภาวะ ฯลฯ แต่เป็นคนที่มีภูมิปัญญา

ตัวอย่างคำวิจารณ์จุดอ่อนของคนไทยในสายตาชาวต่างชาติ 2-3 ราย มีตัวอย่างดังนี้

หมอกิศลับ กล่าวถึง ความโลเล ของคนไทยว่า “ชาวสยามเป็นพวกโลเลมาก วันนี้มีความคิดอย่างหนึ่ง พรุ่งนี้เปลี่ยนเป็นอีกอย่างหนึ่ง มิตรภาพของพวกเขาจึงเอาแน่นอนไม่ค่อยได้ การยอมรับคำสอนของพระเยซูเป็นไปอย่างไม่จริงใจ พวกเราจึงไม่ประสบผลสำเร็จเท่าใดนัก…”

เรื่อง ความไม่ซื่อสัตย์ ที่หมอกิศลับกล่าวไว้ว่า “โดยส่วนใหญ่แล้ว ชาวสยามเป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในด้านความซื่อสัตย์สุจริต แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ข้าพเจ้ากลับไม่ได้เห็นชาวสยามที่มีชื่อเสียงเช่นนี้เลยสักคน เท่าที่สำรวจดูจากคนใกล้ ๆ ตัว ชาวสยามค่อนข้างปราศจากในข้อนี้เหมือนกันหมด”

ขณะที่ รายงานเกี่ยวกับเมืองไทย 183 ข้อ ของ นายครอเฟิด เสนอต่อรัฐบาลอังกฤษ ก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน เช่น

“ข้อ 84 ถ้าพิจารณาในแง่ที่ว่า ชาวสยามมีนิสัยขี้ขลาดตาขาว อันเป็นผลจากการบีบคั้นทางด้านสถาบันการเมือง เราก็อาจลงความเห็นว่า ชาวสยามไม่น่าจะทำศึกมีชัยชนะ และสามารถรักษาความเหนือกว่าพวกชาติเล็ก ๆ ที่กล้าหาญชาญชัยที่อยู่โดยรอบกรุงสยาม สิ่งที่น่าจะเป็นได้ตามความคิดเห็นของข้าพเจ้า ก็คือเรื่องทั้งหลายคงเกิดจากความเหนือกว่าในแง่ความเจริญ ซึ่งก็คงขึ้นอยู่กับความเหนือกว่าในแง่ทรัพยากร ความมั่งคั่งร่ำรวยที่เหนือกว่า และจำนวนประชากรที่มีมากกว่า มีความรู้สึกเคารพผู้มีอำนาจดีกว่า และความสามารถที่จะปรองดองกันกิจการบางอย่าง ที่ต้องการความคิดอ่านร่วมกัน ที่ดีกว่าชาติอื่น”

ส่วนดีก็มีเพียงความใจกว้างในการถือศาสนา และรู้จักเพียงพอ

นิสัยคนไทย เป็นอย่างไรต้องดูกันนาน ๆ ดูให้ลึกลงไปถึงปู่ย่าตายาย ก็พอจะมองเห็นกรรมพันธุ์ได้บ้าง แต่นั่นก็เป็นเพียงส่วนเดียวเท่านั้น ยังมีกฎของโลกที่สำคัญไม่น้อยกว่ากัน คือ มี “ความเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นนิรันดร” คนไทยวันนี้ย่อมไม่เหมือนคนไทยในอดีต

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

จำนง เทพหัสดิน ณ อยุธยา. จุดอ่อนคนไทย ในสายต่างชาติ, นิตยสารศิลปวัฒนธรรม พฤศจิกายน 2549, มีนาคม 2550 และเมษายน 2550


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 25 พฤศจิกายน 2561