ย้อนปมเหตุการณ์ ชาวญี่ปุ่นพยายามฆ่า “เจ้าชายนิโคลัส” รัชทายาทแห่งรัสเซีย

ภาพชาวญี่ปุ่นพยายามฆ่ารัชทายาทแห่งรัสเซีย ภาพขยายจากหน้าหนังสือพิมพ์ Le Progrès Illustré (ภาพจากบทความ “การรอดชีวิต” และ “เบื้องหลัง” การลอบปลงพระชนม์ราชวงศ์รัสเซีย คำให้การของผู้รู้เห็นเหตุการณ์ โดย ไกรฤกษ์ นานา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับ กรกฎาคม 2552

ภาพที่เห็นเป็นภาพประกอบข่าวของหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส ลงวันที่ 24 พฤษภาคม 1891 (พ.ศ. 2434) แสดงเหตุการณ์ที่ชายชาวญี่ปุ่นเงื้อดาบหมายปลิดชีวิตเจ้าชายนิโคลัส อเล็กซานโดรวิช (Nicholas Alexandrovich, Tsesarevich of Russia) รัชทายาทแห่งจักรวรรดิรัสเซีย (ซึ่งภายหลังขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2) ขณะเสด็จเยือนประเทศญี่ปุ่น โดยเจ้าชายจอร์จแห่งกรีซ (Prince George of Greece) พระญาติของเจ้าชายนิโคลัสทรงเข้าขัดขวางได้ทัน แต่เจ้าชายนิโคลัสก็ยังทรงได้รับบาดเจ็บเป็นบาดแผลยาว 9 เซนติเมตร

จากบทความ “การรอดชีวิต” และ “เบื้องหลัง” การลอบปลงพระชนม์ราชวงศ์รัสเซีย คำให้การของผู้รู้เห็นเหตุการณ์ โดย ไกรฤกษ์ นานา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2552 ระบุว่า แท้จริงเหตุการณ์ครั้งนี้มิได้เกิดขึ้นบนเรือตามภาพของสื่อตะวันตก แต่เกิดบนถนนหลังการเสด็จทางชลมารคในทะเลสาบบีวา (Biva Lake) แต่ข่าวที่ส่งไปยังยุโรปไม่แน่ชัดว่าเกิดขึ้น ณ จุดใดแน่

ภาพหนังสือพิมพ์ Le Progrès Illustré วันที่ 24 พฤษภาคม 1891 รวมรวมโดย ไกรฤกษ์ นานา
ภาพหนังสือพิมพ์ Le Progrès Illustré วันที่ 24 พฤษภาคม 1891 รวมรวมโดย ไกรฤกษ์ นานา

เหตุการณ์ดังกล่าวถูกเรียกว่าเป็น “กรณีเมืองโอทฉุ” (Ōtsu incident) ไกรฤกษ์ กล่าวว่า ก่อนเกิดการลอบสังหารครั้งนี้ รัสเซียมีโครงการสร้างทางรถไฟขนาดมหึมา (ทรานไซบีเรียเชื่อมมอสโควกับภูมิภาคตะวันออกไกลและทะเลญี่ปุ่น) ทำให้กระทบต่ออิทธิพลของญี่ปุ่นในจีนและเกาหลี

ไกรฤกษ์ระบุว่า ชาวญี่ปุ่นเป็นพวกชาตินิยม และมักจะต่อต้านชาวตะวันตก ในปี 1868 (พ.ศ. 2411) ก็เคยเกิดเหตุการณ์ซามูไรรับจ้างบุกทำร้ายเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำกรุงโตเกียวมาแล้ว

ขณะเดียวกัน ไกรฤกษ์ ได้ยกคำให้การของเจ้าชายอุคทอมสกี้ (Prince Esper Ukhtomsky) หนึ่งในผู้ร่วมขบวนเสด็จและอยู่ในเหตุการณ์ลอบสังหาร ซึ่งกล่าวว่า เหตุที่เกิดขึ้นไม่น่าจะเป็นเพียงความโกรธแค้นต่อชาวต่างชาติของคนญี่ปุ่น แต่น่าจะเป็นที่การเกลียดชังชาวรัสเซียโดยตรง

เจ้าชายอุคทอมสกี้ยังสันนิษฐานต่อไปว่า ผู้ก่อเหตุทำหน้าที่เป็นตำรวจมา 8 ปี และเคยต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองบ่อยครั้ง จึงน่าจะมีความเบื่อหน่ายชาวต่างชาติเป็นทุนเดิม เมื่อได้เห็นรัชทายามของรัสเซียได้รับการต้อนรับอย่างเอิกเกริกอาจเกิดความอิจฉาริษยา จนเก็บอารมณ์ไว้ไม่อยู่

ทั้งนี้ ซูดะ ซานโช (Tsouda Santso) ผู้ก่อเหตุ ภายหลังถูกศาลตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต แต่กลับเสียชีวิตลงหลังมีคำพิพากษาได้เพียง 4 เดือน ด้วยการป่วยตายตามธรรมชาติ ซึ่งไกรฤกษ์กล่าวว่า มิได้มีการยืนยันทางการแพทย์ หรือแจ้งสาเหตุการตายต่อสาธารณะอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด

 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 กรกฎาคม 2559