“แห้ว” สุสานตุตันคามุนไม่มีห้องลับ, เนเฟอร์ติติอยู่ไหนต้องค้นหากันต่อไป

รูปปั้นครึ่งตัวของ เนเฟอร์ติติ ถ่ายในการจัดแสดงที่กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี เมื่อเดือนธันวาคม 2012, AFP / POOL / MICHAEL SOHN

หลังจากมีข่าวที่น่าตื่นเต้นเป็นอย่างมากในวงการโบราณคดีและผู้สนใจในเรื่องราวของอียิปต์โบราณตั้งแต่เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า ทีมสำรวจได้ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่สแกนพบสิ่งผิดปกติซึ่งอาจเป็นห้องลับภายในสุสานของฟาโรห์ตุตันคามุน แต่ล่าสุดผลวิเคราะห์จากข้อมูลที่ทีมนักวิจัยจากเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกที่เข้าไปตรวจสอบซ้ำกลับให้ผลลัพธ์ที่ตรงกันข้าม

ภาพถ่ายโลงทองคำของตุตันคามุนภายในสุสานที่ลักซอร์ ถ่ายเมื่อเดือนกันยายน 2015, AFP / Khaled DESOUKI
ภาพถ่ายโลงทองคำของตุตันคามุนภายในสุสานที่ลักซอร์ ถ่ายเมื่อเดือนกันยายน 2015, AFP / Khaled DESOUKI

ทฤษฎีห้องลับในสุสานตุตันคามุนที่อาจเป็นห้องเก็บพระศพของราชินีเนเฟอร์ติติ พระชายาในฟาโรห์อเคนาเตน เบื้องต้นมีนักอียิปต์วิทยาชาวบริเตน ดร.นิโคลาส รีฟส์ (Nicolas Reeves) ออกมาเสนอเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว จากนั้นฮิโรคัทซึ วาตานาเบะ (Hirokatsu Watanabe) ผู้เชี่ยวชาญด้านเรดาร์ชาวญี่ปุ่นได้เข้าไปพิสูจน์ทฤษฎีดังกล่าวในเดือนพฤศจิกายน และออกแถลงการณ์ค้นพบสิ่งผิดปกติเบื้องหลังผนังของสุสานในเดือนมีนาคมปีนี้ ทางเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกจึงได้ส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปตรวจสอบซ้ำในเดือนเดียวกัน

รายงานของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกระบุว่า การสแกนครั้งที่สองทำโดยวิศวกรชื่ออีริค เบอร์เกนพาส (Eric Berkenpas) ก่อนส่งข้อมูลดิบที่ได้ไปให้ผู้เชี่ยวชาญหลายรายทั้งในสหรัฐฯและอียิปต์ทำการวิเคราะห์ซ้ำ ดีน กูดแมน (Dean Goodman) นักธรณีฟิสิกส์ ผู้พัฒนา GPR-SLICE ซอฟท์แวร์ที่ใช้สำหรับสร้างภาพจากเรดาร์แบบทะลุพื้นผิว (Ground-penetrating radar) ซึ่งเป็นที่นิยมในบรรดาผู้เชี่ยวชาญจำนวนมาก ได้วิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวก่อนสรุปว่าไม่พบหลักฐานว่ามีห้องลับใดๆในสุสานตุตันคามุน เช่นเดียวกับผู้เชี่ยวชาญรายอื่นๆที่ได้ผลออกมาตรงกัน

“หากเราเจอช่องว่าง เราก็ควรจะได้สัญญาณสะท้อนที่ชัดเจน…แต่มันไม่มีเลย” กูดแมนกล่าว ก่อนเสริมว่า “ข้อมูลเรดาร์มักขึ้นกับอัตวิสัย แต่ที่แห่งนี้มันไม่ใช่ เป็นเรื่องดีที่พื้นที่ที่มีความสำคัญเช่นนี้ได้ผล (วิเคราะห์ข้อมูลเรดาร์) ที่ชัดเจนและน่าเชื่อถือออกมาเหมือนกัน”

กูดแมนยังกล่าวว่า วาตานาเบะมิได้เผยแพร่ข้อมูลดิบของเขาเพื่อการทบทวนโดยผู้เชี่ยวชาญรายอื่นๆ และในช่วงการประชุมเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา วาตานาเบะกล่าวว่า จากประสบการณ์กว่า 40 ปีในการทำงานกับเรดาร์ เขาได้ดัดแปลงเครื่องมือของตัวเองจนทำให้ข้อมูลที่ได้ไม่มีผู้ใดสามารถเข้าใจได้ พร้อมยืนยันว่าเขามั่นใจในผลการวิเคราะห์ข้อมูลของตน

ภาพถ่ายในงานประชุมด้วยเรื่องฟาโรห์ตุตันคามุนที่จัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์แกรนด์อียิปเชียน เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2016 (AFP PHOTO / MOHAMED EL-SHAHED)
ภาพถ่ายในงานประชุมด้วยเรื่องฟาโรห์ตุตันคามุนที่จัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์แกรนด์อียิปเชียน เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2016 (AFP PHOTO / MOHAMED EL-SHAHED)

นอกจากนี้ การประชุมว่าด้วยเรื่องฟาโรห์ตุตันคามุนที่จัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์แกรนด์อียิปเชียน (Grand Egyptian Museum) เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมายังมีประเด็นที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เมื่อทีมนักวิจัยที่ได้รับอนุญาตให้นำเสนอรายงานมีแต่ฝ่ายของวาตานาเบะและรีฟส์ ที่เชื่อว่าสุสานของตุตันคามุนมีห้องลับ ทั้งนี้จากรายงานของ Live Science และยังมีการปะทะคารมระหว่าง ซาฮี ฮาวาสส์ (Zahi Hawass) นักวิชาการคนสำคัญของอียิปต์และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงโบราณคดีแห่งอียิปต์ กับมัมดูห์ เอลดามาตี (Mamdouh Eldamaty) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงโบราณคดีแห่งอียิปต์อีกคนที่ดำรงตำแหน่งในช่วงที่มีการแถลงการค้นพบห้องลับดังกล่าว

ฮาวาสส์อ้างว่าเรดาห์ไม่เคยช่วยหาอะไรเจอในอียิปต์ก่อนกล่าวว่า “เราต้องยุติการเล่นกับสื่อแบบนี้ เพราะมันไม่มีอะไรให้เผยแพร่ ไม่มีอะไรเลยไม่ว่าวันนี้หรือเมื่อวาน” ก่อนกล่าวหาว่า เอลดามาตี แอบยื่นหนังสือขออนุญาตเจาะสุสานตุตันคามุนเพื่อติดตั้งกล้องแบบใยแก้ว แต่เอลดามาตีปฏิเสธพร้อมอ้างคำพูดที่เขาเคยกล่าวว่าจะไม่ทำอะไรจนกว่าจะแน่ใจ 100 เปอร์เซนต์ ก่อนกล่าวหาฮาวาสส์กลับไปว่า ฮาวาสส์เองในสมัยที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นผู้สั่งในเจาะพีระมิดแล้วมาขออนุญาตในภายหลัง (เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก)

อย่างไรก็ดี ถึงขณะนี้กระทรวงโบราณคดีแห่งอียิปต์ ยังคงไม่ยอมรับผลการวิเคราะห์ซ้ำที่อำนวยการโดยเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ล่าสุดทางกระทรวงกล่าวกับ Live Science ว่า “เรดาร์และเทคนิคการตรวจจับระยะไกลอื่นๆจะถูกนำมาใช้ในลำดับต่อไป เมื่อการตรวจสอบเสร็จสิ้นเราจะเผยแพร่รายงานล่าสุดออกมาอีกครั้ง”

ข้อมูลจาก:

1. In Egypt, Debate Rages Over Scans of King Tut’s Tomb (National Geographic)

2. Nefertiti Still Missing: King Tut’s Tomb Shows No Hidden Chambers (Live Science)

3. พบห้องลับ 2 ห้องในสุสาน “ตุตันคามุน” อาจเป็นที่ฝังศพ “ราชินีเนเฟอร์ติติ” (ศิลปวัฒนธรรม)