ถังไท่จง “แหกกฎ” ขอดูบันทึกประวัติศาสตร์ กลัวบันทึกเรื่องเลวร้าย (?) ของตนเอง

ถังไท่จง จักรพพรดิจีน ราชวงศ์ถัง
ถังไท่จง (หลีซื่อหมิน) กษัตริย์ราชวงศ์ถัง

ราชวงศ์ถัง เป็นหนึ่งในยุคที่รุ่งเรืองของจีน หากดูพระนามจักรพรรดิในราชวงศ์ถังแล้ว “ถังไท่จง” คือหนึ่งในจักรพรรดิที่สร้างชื่อเสียงในราชวงศ์ สร้างคุณูปการให้กับประเทศ หากจักรพรรดิถังไท่จง (หลี่ซื่อหมิน) คือผู้นำสูงสุดเพียงไม่กี่พระองค์ที่ “แหกกฎ” ขอดูบันทึกประวัติศาสตร์ ซึ่งถือเป็นข้อห้ามในการบันทึกประวัติศาสตร์ของจีน เนื่องจากเหตุ “การสังหารที่ประตูเสวียนอู่”

การสังหารที่ประตูเสวียนอู่ เป็นเรื่องที่เกิดก่อนที่จะขึ้นครองราชย์ ขณะนั้นจักรพรรดิถังเกาจู พระราชบิดา ได้ตั้งหลี่เจี้ยนเฉิง-พระโอรสองค์โตเป็นรัชทายาท และตั้งหลี่ซื่อหมิน-อุปราช หากหลี่ซื่อหมินมีผลงานโดดเด่นกว่า คบหาคนมีฝีมือหลากหลาย ทำให้หลี่เจี้ยนเฉิงไม่วางใจ จึงร่วมกับหลี่หยวนจี-น้องชาย วางแผนลอบสังหารหลี่ซื่อหมิน แต่ข่าวล่วงถึงหลี่ซื่อหมิน จึงตลบหลังสังหารพี่ชายและน้องชายสำเร็จที่ประตูเสวียนอู่ และครองแผ่นดิน ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่ถังไท่จงกังวลใจอย่างมาก

การฆ่าพี่ฆ่าน้องเป็นเรื่องเลวร้าย แต่ที่เลวร้ายกว่าคือเมื่อมันบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์

ด้วยการบันทึกประวัติศาสตร์ของจีน ไม่ใช่การบันทึกเพื่อเฉลิมพระเกียรติ แต่เป็นการบันทึกตามเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องที่เป็นเกียรติยศ และเรื่องที่บกพร่อง โดยอาลักษณ์คนหนึ่งจะบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะที่อีกคนจะบันทึกคำพูด

เพื่อให้ข้อมูลดังกล่าวเที่ยงตรงที่สุด จึงมีขนบว่าจักรพรรดิจะก้าวก่ายขอดูบันทึกเรื่องราวในรัชกาลของพระองค์ไม่ได้ เพื่อให้อาลักษณ์ทำหน้าที่ได้เต็มที่อย่างไม่ต้องกังวล และไม่ให้มีการใช้อำนาจบิดเบือนข้อมูลตามใจชอบ (แน่นอนว่าในทางปฏิบัติอาจไม่ได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์)

อาจารย์ถาวร สิกขโกศล นักวิชาการจีนวิทยา ช่วยอธิบายเพิ่มในเรื่องนี้ว่า การบันทึกประวัติศาสตร์ของจีนในลักษณะข้างต้นเริ่มมีตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจว (579 ปีก่อนพุทธศักราช-พ.ศ. 322) ด้วยเห็นความล้มเหลวของราชวงศ์ซาง (1,223-579 ปีก่อนพุทธศักราช) จึงต้องการใช้ประวัติศาสตร์เป็นบทเรียน นอกจากบันทึกเรื่องของบุคคลสำคัญ ยังบันทึกเรื่องธรรมชาติเพื่อรวบรวมข้อมูลทำปฏิทิน และช่วยเรื่องการเกษตร

กลับมาที่เรื่องของ “ถังไท่จง” อาจารย์ถาวรเล่าว่า พระองค์เคยขอดูบันทึกประวัติศาสตร์ หรือ จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ในรัชกาลของพระองค์ ถึง 3 ครั้ง

ครั้งแรก ถูกอาลักษณ์ปฏิเสธ ถังไท่จงก็ไม่กล้าดึงดัน ล้มเลิกความตั้งใจ

ครั้งที่ 2 ถูกอาลักษณ์ปฏิเสธเช่นเดิม หากถังไท่จงยืนยันเจตนารมณ์ แต่ฉู่ซุ่ยเหลียง ตำแหน่งมนตรีทักท้วง และประธานบันทึกจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน และหลิวจี-ปลัดกรมขันที ทักท้วงว่า ไม่เคยมีธรรมเนียมที่จักรพรรดิจะมาขอดูบันทึกประวัติศาสตร์ในรัชกาลของพระองค์เอง

ถังไท่จง จึงถามว่าเรื่องไม่ดีงามที่พระองค์เคยทำก็บันทึกด้วยหรือไม่

ฉู่ซุ่ยเหลียง ยืนยันว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องบันทึกเรื่องราวต่างๆ ทุกเรื่อง ทั้งกล่าวเปรียบจักรพรรดิก็เหมือนกับดวงอาทิตย์ดวงจันทร์ที่ยิ่งใหญ่และให้แสงสว่าง แต่บางครั้งก็เกิด “คราส” (สุริยคราส, จันทรคราส) ได้เป็นเรื่องปกติ

ขณะที่หลิวจี กล่าวเสริมว่า แม้อาลักษณ์ไม่บันทึก (เรื่องไม่ดีงามของพระองค์) ราษฎรก็บันทึก (บันทึกไว้ในใจ และบันทึกไว้ในปูมประจำตระกูล ที่นอกจากบันทึกเรื่องสำคัญในครอบครัว ยังบันทึกเหตุการณ์สำคัญของบ้านเมือง)

เมื่อเป็นเช่นนี้ถังไท่จงจึงล่าถอยกลับไป

ครั้งที่ 3 อาลักษณ์ยังคงปฏิเสธไม่ให้ดูเช่นเดิม หากถังไท่จงยืนยันหนักแน่นว่าจะต้องดูให้ได้ สุดท้ายฝั่งเสี่ยนหลิง-นายกรัฐมนตรี จึงจำยอมผ่อนผัน โดยแจ้งกับถังไท่จงว่า เมื่อพระองค์มาดูจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในรัชกาลของพระองค์ อาลักษณ์ก็จะต้องบันทึกว่าพระองค์เคยมาขอดู  

เมื่อถังไท่จงได้ดูบันทึกประวัติศาสตร์ในรัชกาลของพระองค์ ก็มีเรื่อง “การสังหารที่ประตูเสวียนอู่” จริง ดังที่พระองค์ทรงวิตก หากก็ทรงแก้เก้อว่าอาลักษณ์บันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวเบาเกินไป และกล่าวว่าพระองค์ก็ทำเหมือนกับโจวกง (ขุนนางคนสำคัญในสมัยราชวงศ์โจว) ที่ต้องฆ่าพี่ฆ่าน้องที่ก่อกบฏเพื่อรักษาความสงบของบ้านเมือง

อย่างไรก็ตาม การที่ถังไท่จงขอดู “จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน” ซึ่งบันทึกประวัติศาสตร์ในรัชกาลของพระองค์ ทำให้นักวิชาการรุ่นหลังไม่ให้ความน่าเชื่อถือในเอกสารประวัติศาสตร์ของราชวงศ์ถัง โดยเฉพาะตั้งแต่รัชกาลของถังไท่จงลงมา

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

หลี่เฉวียน-เขียน, เขมณัฏฐ์ ทรัพย์เกษมชัย-แปล. ประวัติศาสตร์จีนฉบับย่อ , สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรกมกราคม 2556.

นยา สุจฉายา. “การบันทึกเหตุการณ์ : รากฐานจดหมายเหตุของไทยและพัฒนาการสู่สังคมร่วมสมัย” ใน, วารสารอักษรศาสตร์ ปีที่ 50 ฉบับที่ 2 (2564): 66 – 85.

สัมภาษณ์ อาจารย์ถาวร สิกขโกศล. วันที่ 14 มีนาคม 2566.


เผยแพร่ในระบบออนำลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มีนาคม 2566