รู้หรือไม่? “กัปตันอเมริกา” เคยต่อยหน้าฮิตเลอร์มาแล้ว!!!

ภาพ กัปตัน อเมริกาต่อยฮิตเลอร์ จาก คอมมิค Captain America Comics #1 (ภาพจาก www.marvel.com)

กัปตันอเมริกา เป็นหนึ่งในฮีโร่ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง และเป็นตัวละครที่แฟน ๆ ชื่นชอบจำนวนมาก แต่รู้หรือไม่ว่าเมื่อหลายสิบปีก่อน ซูเปอร์ฮีโร่ขวัญใจเด็ก ๆ คนนี้ เคยต่อยหน้า อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ มาแล้ว ส่วนที่มาของกัปตันอเมริกาก็ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสนับสนุนสงครามโดยเฉพาะการปรากฏตัวครั้งแรกของกัปตันอเมริกาบนโลกใบนี้ ไม่ได้เกิดจากภาพยนตร์อย่างที่เราคุ้นตา แต่มาจากสื่ออย่าง “คอมิค” หรือหนังสือการ์ตูนสี่สีนั่นเอง

คอมิค มีพัฒนาการมาจากการ์ตูนในหนังสือพิมพ์รายวันที่มักจะลงเรื่องตลกขบขันในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เมื่อถึงต้นศตวรรษที่ 20 จึงพัฒนามาเป็นเรื่องแนวผจญภัยและการต่อสู้ มีการนำการ์ตูนที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มารวมเล่มเป็นครั้งแรกในชื่อ New Fun Comics โดยสำนักพิมพ์ National Comics Publications (DC Comics ในปัจจุบัน) เมื่อ ค.ศ. 1935 ก่อนจะพัฒนามาเป็นแนวเรื่องซูเปอร์ฮีโร่ในที่สุด

คอมิคยุคนั้นเป็นสื่อความบันเทิงราคาถูก ประกอบกับการที่ยังไม่มีสื่อบันเทิงให้เลือกเสพมากมายเหมือนยุคปัจจุบัน คอมิคจึงเป็นที่นิยมในวงกว้าง และมีสำนักพิมพ์เกิดขึ้นมากมาย หนึ่งในนั้นคือ ไทม์ลี คอมิคส์ (Timely Comics)

ช่วงปลายทศวรรษ 1930 ต่อต้นทศวรรรษ 1940 สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังระอุในทวีปยุโรปและเอเชีย การขยายอำนาจของลัทธิฟาสซิสต์ทั้งนาซีเยอรมันในยุโรป และกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่นในเอเชีย ทำให้สังคมอเมริกันหวาดผวาต่อการขยายอำนาจของลัทธิฟาสซิสต์ ซึ่งอาจคุกคามประชาธิปไตยของอเมริกาได้ จึงมีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลอเมริกาส่งกองทัพไปช่วยฝ่ายสัมพันธมิตรรบในยุโรป

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอเมริกาไม่มีนโยบายเข้าร่วมสงครามในยุโรป เพราะให้ความสำคัญกับนโยบายภายในประเทศ เร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจอันเป็นผลจากวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) ในปี 1929 รวมถึงแนวนโยบายต่างประเทศที่รัฐบาลอเมริกาดำเนินมาตลอดนับแต่ก่อตั้งประเทศ นั่นก็คือการไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการหรือความขัดแย้งนอกสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ ชาวอเมริกันจำนวนมากก็ไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วมสงครามในยุโรป แต่ก็มีอีกไม่น้อยเช่นกันที่ต้องการให้สหรัฐอเมริกากระโจนสู่สงคราม

โจ ไซมอน (Joe Simon) และ แจ็ค เคอร์บี (Jack Kirby) นักเขียนและนักวาดของไทม์ลี คอมิคส์ จึงออกแบบตัวละคร “กัปตันอเมริกา” ขึ้น เล่าถึงชายหนุ่มชื่อ สตีฟ โรเจอร์ส เขามีความฝันอยากเป็นทหาร แต่ร่างกายอ่อนแอทำให้ไม่ผ่านการเกณฑ์ทหาร วันหนึ่งเขาอาสาเข้าร่วมการทดลองของนักวิทยาศาสตร์แห่งกองทัพอเมริกา เพื่อสร้างสุดยอดทหารของกองทัพ โดยฉีดเซรุ่มเสริมสร้างพลังกล้ามเนื้อและความฉลาด ระหว่างนั้นสายลับนาซีเข้ามาขัดขวางการทดลอง ฆ่านักวิทยาศาสตร์ตายหมด และทำลายฐานทัพ แต่สตีฟรอดมาได้ เขาสวมชุดลายธงชาติไปสู้กับเหล่าทหารนาซีและกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ในชื่อกัปตัน อเมริกา โดยมีผู้ช่วยคือ บัคกี้ บาร์นส์ (Bucky Barnes)

ไซมอนและเคอร์บีเปิดตัวซูเปอร์ฮีโร่คนใหม่ ในวันที่ 20 ธันวาคม ปี 1940 ในหัวเล่ม Captain America Comics #1 ที่มีหน้าปกเป็นซูเปอร์ฮีโร่สวมชุดลายธงชาติพร้อมโล่วิ่งเข้าไปชกหน้า อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำพรรคนาซี คอมิคเล่มนี้ทำยอดขายได้ถึง 1 ล้านฉบับภายในเวลาไม่กี่วัน เทียบชั้นแบทแมนและซูเปอร์แมน สองซูเปอร์ฮีโร่ดังของยุค

เคอร์บีเล่าถึงเบื้องหลังการออกแบบตัวละครกัปตันอเมริกาว่า เพราะนาซีทำให้โลกวุ่นวาย ทางเดียวที่จะหยุดยั้งได้คืออเมริกาต้องเข้าร่วมสงครามและชกหน้าคนอย่างฮิตเลอร์ให้คว่ำ เพราะคนแบบนี้คงไม่รู้จักหลาบจำ ขณะที่ไซมอนเผยในอีกหลายปีให้หลังว่า “สมัยนั้นทุกคนเลือดรักชาติสูบฉีดแรง”

การสร้างกัปตันอเมริกาของทั้งสอง จึงเป็นการปลุกให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการเข้าร่วมสงคราม เพื่อหยุดยั้งวายร้ายที่กำลังจะครองโลกอย่างกองทัพนาซีเยอรมัน จึงไม่เกินเลยไปนักหากจะบอกว่า กัปตันอเมริกาเป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่ถือกำเนิดขึ้นมาเพราะบริบทการเมืองอย่างชัดเจน

ภาพ กัปตัน อเมริกาต่อยฮิตเลอร์ จาก คอมมิค
Captain America Comics #1 ซึ่งเป็นการปรากฏตัวครั้งแรกของกัปตัน อเมริกา (ภาพจาก www.marvel.com)

หนังสือการ์ตูนกัปตันอเมริกา เป็นหนึ่งในสื่อที่โฆษณาชวนเชื่อให้ชายหนุ่มทั่วอเมริกาไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมถึงตอกย้ำความรักในแผ่นดินเกิดของชาวอเมริกัน และเป็นการ์ตูนที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ยิ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่กองทัพญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ล ฮาร์เบอร์ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 1941 ทำให้สหรัฐอเมริกาตัดสินใจเข้าร่วมสงครามในเวลาต่อมา กัปตันอเมริกาก็ยิ่งได้รับความนิยมเข้าไปใหญ่และขายดีตลอดสงคราม ตามกระแสรักชาติของชาวอเมริกันขณะนั้น

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด ความนิยมในตัวกัปตันอเมริกาก็ถอยลงเรื่อย ๆ สาเหตุเกิดจากความนิยมในคอมิคซูเปอร์ฮีโร่ลดลง รวมถึงภาวะสงครามที่ผ่านพ้นไป จึงกล่าวได้ว่าหน้าที่เบื้องแรกของฮีโร่คนนี้ได้จบลงแล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 1960 คอมิคแนวซูเปอร์ฮีโร่กลับมาบูมอีกครั้ง กัปตันอเมริกาจึงได้รับการฟื้นฟูบทบาทขึ้นในปี 1964 โดยเปลี่ยนแนวเรื่องให้เป็นการสู้กับกลุ่มองค์กรอาชญากรรมลับต่าง ๆ และได้เข้าเป็นสมาชิกของทีมฮีโร่ “ดิ อเวนเจอร์ส” ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มฮีโร่ที่กำลังได้รับความนิยมของมาร์เวล (ชื่อใหม่ของสำนักพิมพ์ไทม์ลี คอมิคส์)

เมื่อมีการนำตัวละครซูเปอร์ฮีโร่จากค่ายมาร์เวลมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ทำให้กัปตันอเมริกาเป็นที่ชื่นชอบของแฟน ๆ ทั่วโลกมาถึงปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

FILMAX Collection : Marvel Superheroes Part 2

ธีทัต จันทราพิชิต. “การเมืองเรื่องฮีโร่: ความสัมพันธ์ของซุปเปอร์ฮีโร่กับสังคมการเมืองจากยุคทองถึงปัจจุบัน” จาก https://democracyxinnovation.com/2021/07/15/politics-of-hero/

พิทักษ์ ศศิสุวรรณ. 2562. “ซูเปอร์ฮีโร่”จากคนดีในอุดมคติ สู่รุ่งอรุณแห่งความวุ่นวาย. วารสารนิติ รัฐกิจ และสังคมศาสตร์. ปีที่ 3 ฉบับที่ 1.

FILMAX Collection : Marvel Superheroes Part 2

Peter Sandersen. 2017. Marvel Year By Year A Visual History. London: DK.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2566